×

วิทยาศาสตร์ของการอายุ 40s (และแถม 70s ให้นิดหน่อย)

09.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • จากการสำรวจคนสองล้านคนใน 80 ประเทศพบว่า ‘ความสุข’ ของคนที่เข้าสู่วัย 40s ถ้าเอามาพล็อตเป็นกราฟ จะเป็นกราฟรูปตัว U คือเริ่มแรกก่อนเข้าวัย 40 ความสุขก็สูงดีอยู่ แต่พอเข้าวัย 40 ปุ๊บ ความสุขก็เริ่มลดน้อยถอยลงในทันที จนไปเริ่มสูงขึ้นอีกครั้งก็หลังวัย 50 ไปโน่น
  • อัตราการเป็นภาวะซึมเศร้าของคนในกลุ่มตัวอย่างสองล้านคนในอังกฤษนั้น จะสูงที่สุดเมื่ออยู่ในวัย 44 ปี ที่สำคัญก็คือ รูปแบบนี้ไม่ได้เกิดแค่ในอังกฤษที่เดียว แต่มันเหมือนกันไปหมดในอีก 70 ประเทศด้วย
  • ถ้าเราผ่านวัยสี่สิบไปได้ก็มีข้อมูลบอกว่า เราจะค่อยๆ ผงาดขึ้นมามีความสุขกันใหม่ได้อีกรอบ นักวิจัยบอกว่ากราฟความสุขจะสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากวัยห้าสิบไปแล้ว และเมื่อถึงวัยเจ็ดสิบ ถ้าหากว่าสุขภาพร่างกายยังดีอยู่ มนุษย์โดยเฉลี่ยจะมีความสุขทั้งทางกายและทางใจมากพอๆ กับเมื่ออายุ 20 ปีเลยทีเดียว

     ฝรั่งบอกว่า ชีวิตเริ่มต้นเมื่อสี่สิบ

     ที่จริงแล้ว ถ้าจะบอกว่าคือการเริ่มต้นอะไรสักอย่าง สำหรับหลายคน สี่สิบน่าจะเป็นการเริ่มต้น ‘ปิดม่าน’ ละครแห่งชีวิตมากกว่าอะไรอื่น

     บอกแบบนี้ หลายคนที่เลยสี่สิบไปแล้วอาจจะนึกค้านว่า โอ๊ย! ปิดม่านปิดฉากอะไรกัน ฉันห้าสิบหกสิบ (หรือบางคนไปถึงเจ็ดสิบเก้าสิบก็ยังมี) แล้ว, ยังเตะปี๊บดังอยู่เลย บางคนยังแหวกม่านออกมาร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อวางยาวไปอีกยี่สิบปีสามสิบปีให้เด็กรุ่นหลังที่ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมต้องเดินตามไปบนหนทางอันผ่องแผ้วอยู่เลย

     ปิดม่งปิดม่านอะไรกัน!

     นั่นแหละครับ ถ้าคุณอยู่ในวัยหกสิบเจ็ดสิบปีขึ้นไปแล้ว เชื่อไหมครับว่าคุณจะอยู่ในช่วงวัยที่คิดถึง ‘วาระสุดท้าย’ น้อยเสียยิ่งกว่าคนวัยสี่สิบ

     อ้าว! นี่ไม่ได้พูดกันไปเรื่อยเปื่อยนะครับ แต่มีการสำรวจครั้งใหญ่ที่บอกไว้แบบนั้นจริงๆ

     นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Dartmouth College ในเมืองฮันโนเวอร์ของเยอรมนี และจากมหาวิทยาลัยแห่งเมือง Warwick ในอังกฤษ ได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากคนถึงสองล้านคนใน 80 ประเทศ โดยเป็นข้อมูลที่เก็บกันมายาวนานถึง 35 ปี ปัจจุบันนี้เราทำอะไรแบบนี้ได้ก็ด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ที่ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลขนาดนี้ออกมาได้

     เขาดูข้อมูลพวกนี้แล้วก็ได้ข้อสรุปที่น่าพิศวงออกมา เพราะว่าเป็นข้อมูลที่สอดคล้องต้องกันในคนวัย 40s ในทุกกลุ่มตัวอย่าง จนถึงขั้นต้องเขียนออกมาเป็นรายงาน ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Social Science & Medicine

     ผลที่ว่าก็คือ ‘ความสุข’ ของคนที่เข้าสู่วัย 40s นั้น ถ้าเอามาพล็อตเป็นกราฟ จะเป็นกราฟรูปตัว U คือเริ่มแรกก่อนเข้าวัย 40 ความสุขก็สูงดีอยู่ (สอดคล้องกับที่คุยให้คุณฟังไปในตอนที่แล้วว่าคนเราจะรู้สึกว่าตัวเองมีความสุขในวัย 35 ปี) แต่พอเข้าวัย 40 ปุ๊บ ความสุขก็เริ่มลดน้อยถอยลงในทันที จนไปเริ่มสูงขึ้นอีกครั้งก็หลังวัย 50 ไปโน่น

     เขาพบว่า อัตราการเป็นภาวะซึมเศร้าของคนในกลุ่มตัวอย่าง (ที่มีตั้งสองล้านคน) ในอังกฤษนั้น จะสูงที่สุดเมื่ออยู่ในวัย 44 ปี (ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวเลขจากอีกการสำรวจหนึ่งที่ว่าคนวัยนี้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด) ที่สำคัญก็คือ รูปแบบนี้ไม่ได้เกิดแค่ในอังกฤษที่เดียว แต่มันเหมือนกันไปหมดในอีก 70 ประเทศด้วย

     คำถามก็คือ อ้าว! แล้วอะไรทำให้คนรู้สึกซึมเศร้าเป็นทุกข์ในวัยสี่สิบกันเล่า คำตอบของนักวิจัยที่ว่า (คือ Andrew Oswald แห่งมหาวิทยาลัย Warwick และ David Blanchflower แห่งมหาวิทยาลัย Dartmouth) ก็คือ-ไม่รู้

     เฮ้ย! ไม่รู้ได้ยังไงกัน-หลายคนอาจจะกรีดร้องถาม

     สิ่งที่พวกเขารู้แน่ๆ ก็คือ แนวโน้มแบบนี้เกิดกับคนได้ทุกเพศ ไม่ว่าจะชายหญิงหรือเพศไหน ไม่ว่าจะยังเป็นโสดอยู่หรือแต่งงานแล้ว ไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวย ไม่ว่าจะมีลูกหรือไม่มีลูก เขาบอกว่ามันมีแนวโน้มที่ ‘คงที่’ (มี Consistency) เอามากๆ

     สำหรับสาเหตุนั้น นักวิจัยของเรายืนยันหัวเด็ดตีนขาดอีกรอบว่าไม่รู้แน่ชัด แต่ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งก็คือ ตลอดชีวิตของมนุษย์ที่ผ่านมา เราต้องพยายามเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง บางเรื่องเราแข็งแกร่ง แต่บางเรื่องเราอ่อนแอ ทว่าเมื่อชีวิตเดินหน้ามาจนถึง ‘กึ่งกลาง’ แล้ว ก็คล้ายๆ มาถึงทางตัน การพัฒนาตัวเองทั้งหลายแหล่เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นอีกแล้ว เพราะเรามาถึงที่สุดของตัวตนแล้ว

     อีกสาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ก็คือ คนวัยนี้เริ่มตระหนักว่า ถึงอย่างไรตัวเองก็จะต้องตาย จากที่เคยไปร่วมงานแต่งงาน พอถึงวัยนี้ก็เริ่มไปงานศพกันมากขึ้น แล้วไม่ใช่ศพของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ด้วยนะครับ เป็นงานศพของคนรุ่นตัวเองนี่แหละ วัยนี้เป็นวัยที่อัตราการเสียชีวิตเริ่มสูงขึ้น นั่นทำให้คนที่อยู่ในวัยสี่สิบหันมาดูว่าตัวเองยังเหลือเวลาอยู่อีกมากน้อยแค่ไหน และเริ่มประเมินว่าชีวิตที่มีอยู่ทั้งหมดนั้นมันดีหรือไม่ดีอย่างไร

     แน่นอน-คนส่วนใหญ่มักคิดว่าชีวิตของตัวเองยังไม่ดีพอทั้งนั้น!

     อาการความสุขรูปตัว U นั้น ทำให้เกิดผลลัพธ์ได้หลายอย่าง ถ้าคุณยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างท่ีคาดหมายเอาไว้ ก็อาจเกิดอาการซึมเศร้าจิตตกในระดับรุนแรง แต่ถึงคุณจะประสบความสำเร็จตามสมควร คุณก็จะยังเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่า ส่งผลในด้านลบกลับมา ทำให้คุณไม่พึงพอใจในชีวิตตัวเอง และที่สุดก็อาจจิตตกได้เหมือนกัน

     ส่วนใครที่ประสบความสำเร็จจริงจังในสายตาคนอื่นจนไม่อาจบ่นได้ว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ เช่น มีฐานะดี ร่ำรวย มีความสัมพันธ์หรือชีวิตครอบครัวที่ดี มีความมั่นคง มีลูกที่ดี ฯลฯ ก็อาจจะเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์อยู่ลึกๆ ข้างใน เกิดความไม่พึงพอใจในสิ่งที่มองไม่เห็นหรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไม่พึงพอใจอะไร เนื่องจากทุกอย่างรอบตัวล้วนแต่น่าพึงพอใจ สุดท้ายก็เลยเกิด Midlife Crisis ในแบบที่อยากกลับไปเป็นหนุ่มเป็นสาว ซื้อรถสปอร์ต ทำศัลยกรรมตกแต่ง รวมไปถึงมีความสัมพันธ์กับคนอื่นนอกสมรส ซึ่งเกิดจากการตกหลุมรักครั้งใหม่ ฯลฯ

     ผลลัพธ์ก็คือ-เรื่องเหล่านี้กลายเป็นปัญหามุมกลับ ส่งผลให้เกิดอาการจิตตกอีกนั่นแหละครับ!

     รูปแบบความสุขแบบ U Curve ในวัยสี่สิบนี้ ยังมีรายงานการศึกษาอีกหลายชิ้นนะครับ ชิ้นหนึ่งทำในสามประเทศ โดยการติดตามชีวิตของแต่ละคนไปเรื่อยๆ ตามช่วงอายุที่แตกต่างกันไป (แตกต่างจากการสำรวจแรกที่เล่ามาข้างต้น ที่เป็นการเอาข้อมูลจากสถิติมาวิเคราะห์) ปรากฏว่า ผลลัพธ์ก็ออกมาคล้ายๆ กัน นั่นคือคนวัยสี่สิบปลายๆ จะมีการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้ามากที่สุด

     ที่อาจทำให้คุณต้องอ้าปากค้างก็คือ มีการศึกษาในสัตว์จำพวกไพรเมต ไม่ว่าจะเป็นชิมแปนซีหรืออุรังอุตัง ก็พบว่าพวกมันมีกราฟความสุขเป็นแบบ U Curve เหมือนกับมนุษย์ด้วยเหมือนกัน โดยเขาให้ผู้ดูแลสวนสัตว์ นักวิจัย และคนดูแลสัตว์ทั่วโลก กรอกข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์จำพวกไพรเมตทั้งในออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา แล้วนำมาวิเคราะห์ พบว่าเจ้าสัตว์พวกนี้จะมีกราฟความสุขแบบ U Curve เมื่ออยู่ในวัยที่เปรียบเทียบกับมนุษย์แล้วเท่ากับ 45-50 ปี

     ฟังดูแล้วน่าหดหู่ชอบกล เพราะมันเหมือนพอเราอยู่ในวัยนี้แล้ว จะอย่างไรก็ต้องหดหู่ซึมเศร้า แม้ว่าจะมากน้อยแตกต่างกันไปก็ตามที

     อย่างไรก็ตาม ต้องขอกระซิบบอกคุณว่า ถ้าเราผ่านวัยสี่สิบไปได้ก็มีข้อมูลบอกว่า เราจะค่อยๆ ผงาดขึ้นมามีความสุขกันใหม่ได้อีกรอบ นักวิจัยบอกว่า กราฟความสุขจะสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากวัยห้าสิบไปแล้ว และเมื่อถึงวัยเจ็ดสิบ ถ้าหากว่าสุขภาพร่างกายยังดีอยู่ มนุษย์โดยเฉลี่ยจะมีความสุขทั้งทางกายและทางใจมากพอๆ กับเมื่ออายุ 20 ปีเลยทีเดียว

     นั่นคือเราจะกลับไปเป็นหนุ่มเป็นสาวครั้งใหม่!

     พอรู้อย่างนี้แล้ว ผมก็เลยถึงบางอ้อ เพราะได้ข้อสรุปมาสองอย่าง

     อย่างแรกก็คือ ที่ฝรั่งบอกว่าชีวิตเริ่มต้นเมื่อสี่สิบ จึงน่าจะเป็นการเริ่มต้นคล้ายๆ กับเมื่อเราเข้าสู่วัยรุ่นใหม่อีกครั้ง มันเหมือนชีวิตมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งใหม่ จึงต้องประคับประคองตัวเองให้ดี ไม่อย่างน้ันก็อาจเกิดอาการจิตตกแบบต่างๆ ได้ การเริ่มต้นของชีวิตก็คือการกลับไปเริ่มต้นที่จุดต่ำสุดของความสุขอีกครั้งนั่นเอง

     และอย่างที่สองก็คือ อ๋อ! เริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมคนอายุเจ็ดสิบทั้งหลายแหล่ทั่วโลก (ที่สุขภาพดีได้เพราะวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้า) ถึงได้ยังแอ็กทีฟ ไม่ค่อยปล่อยให้สังคมหรือประเทศชาติบ้านเมืองอยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ๆ แต่กลับยังลุกขึ้นมาทำโน่นทำนี่เต็มไปหมดจนคนรุ่นหลังไม่มีที่ทางให้ได้คิดได้ทำอะไรเลย

     พวกเขามีความสุขเหมือนอยู่ในวัยยี่สิบนี่เอง!

 

ภาพประกอบ: Thiencharas Wongpisetkul 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X