ทำไมเราถึงรู้สึกเศร้า
คำถามนี้ฟังดูบ้าๆ อยู่สักหน่อย เพราะใครๆ ก็รู้ว่าอาการเศร้าจะเกิดขึ้นเมื่อมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในชีวิตของเรา เช่น ความตาย ความสูญเสีย ล้มเหลว หรือแม้กระทั่งมีความขัดแย้งกับคนอื่น
ความเศร้าเป็นอารมณ์พื้นฐาน (Basic Emotions) อย่างหนึ่งของมนุษย์ จริงๆ แล้วมีการแบ่งอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์กันหลายแบบนะครับ บางแห่งก็แบ่งออกเป็น 7 อารมณ์ความรู้สึก เช่น ความรู้สึกร่าเริง (Joy), โกรธ (Anger), เศร้า (Sadness), กลัว (Fear), รัก (Love), ไม่ชอบ (Dislike) และชอบ (Like) แต่บางคน โดยเฉพาะนักจิตวิทยายุคศตวรรษที่ 20 จะแบ่งออกเป็น 6 อารมณ์ คือโกรธ, ขยะแขยง (Disgust), กลัว, สุข, เศร้า และประหลาดใจ (Surprise) บางคนก็แบ่งออกเป็นคู่ๆ เช่น ร่าเริง-เศร้า, โกรธ-กลัว, ไว้ใจ-ไม่ไว้ใจ, ประหลาดใจ-คาดเดาไว้แล้ว
แต่จะเห็นนะครับว่าไม่ว่าจะแบ่งแบบไหน ความเศร้าก็เป็นหนึ่งในอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์อยู่ดี นักจิตวิทยาวิวัฒนาการ (Evolutionary Psychologist) หลายคนมีทฤษฎีว่า ความเศร้าคือ ‘ราคา’ ที่เราต้องจ่าย เพื่อให้มนุษย์สามารถสร้างความสามารถในการที่จะ ‘สร้างพันธะ’ (Bonding) กับคนอื่นๆ ได้
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะมนุษย์เราต้องพึ่งพาคนอื่นๆ ถึงจะอยู่รอดได้ ความเศร้าจึงเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อ ‘ดึง’ เรากลับสู่ความจริงข้อนี้ สมมติว่าคุณเป็นเด็ก แล้วต้องไปอยู่ห่างไกลพ่อแม่ (หรือผู้เลี้ยงดูอื่นๆ ที่ไม่ใช่พ่อแม่) คุณจะรู้สึกเศร้า ซึ่งสำหรับหลายคนน่าจะเป็น ‘ความเศร้าใหญ่’ (Major Sadness) แรก นั่นคืออาการ ‘คิดถึงบ้าน’ (Homesick) ซึ่งนั่นก็คือร่องรอยที่ปรากฏอยู่ในวิวัฒนาการของเรา เพราะการอยู่ห่างจากบ้าน (หรือ ‘ฝูง’) นั้น ถ้าเราไม่รู้สึกเศร้า (รวมถึงความเหงาด้วย) เราก็อาจเตลิดออกไปไกลถิ่นที่อยู่ แล้วในที่สุดก็อาจถูกสัตว์ร้ายหรือภัยธรรมชาติกำจัดออกไปจากการมีชีวิตอยู่ก็ได้ ดังนั้น มนุษย์ที่เหลือรอดมาได้ถึงปัจจุบันจึงเป็นกลุ่มที่มีความเศร้าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการหล่อเลี้ยงสังคม
ยิ่งเราโตขึ้น ความเศร้าก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น ยิ่งสังคมซับซ้อนมากขึ้น ความเศร้าก็ยิ่งซ้อนทับหลายช้ัน เพราะเรายิ่งต้อง ‘ลงทุน’ ในความสัมพันธ์ต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนในสังคม หรือกระทั่งคนในจินตนาการของเรา (เช่น เพื่อนร่วมชาติที่เราไม่รู้หรอกว่าเป็นใครบ้าง) ในปัจจุบันยิ่งซับซ้อนเข้าไปใหญ่ เพราะมีความสัมพันธ์กับคนในสื่อสังคมหรือโซเชียลมีเดีย ที่เอาเข้าจริงแล้วเราไม่รู้จักเลยแม้แต่นิดเดียว แถมยังอาจไม่ได้มีอุดมการณ์หรือผลประโยชน์ร่วม (เหมือนเพื่อนร่วมชาติ) อีกต่างหาก แต่แค่ถูกบล็อกหรือถูกอันเฟรนด์ ก็อาจทำให้เราเศร้าได้มากมายอย่างคิดไม่ถึง
เวลาเศร้ามากๆ เราจะร้องไห้กันใช่ไหมครับ หลายคนอยากจะซ่อนน้ำตาไม่ให้ใครเห็น แต่คุณรู้ไหมว่าแท้จริงแล้วน้ำตานั้นมี ‘เป้าหมายทางชีววิทยา’ อยู่ด้วยเหมือนกัน
น้ำตาไม่ได้มีเป้าหมายอยู่อย่างเดียวคือเพื่อแสดงความเศร้าเท่านั้น แต่น้ำตายังมีอีกหลายเป้าหมาย อย่างแรกก็คือการทำหน้าที่ ‘หล่อลื่น’ ด้านใน (เรียกว่า Basal Lubrication) ทำให้ตาของเราไม่แห้งผาก
นอกจากนี้ เวลามีฝุ่นผงเข้าตา น้ำตายังมีเป้าหมายอีกอย่างหนึ่งคือเป็นการหล่อลื่นที่เป็นปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ (Reflex Lubrication) คือเอาไว้ชะล้างสิ่งสกปรกออกมา ปฏิกิริยานี้เกิดขึ้นเพราะสมองปล่อยฮอร์โมนออกมากระตุ้นให้ต่อมน้ำตาหลั่งน้ำตาออกมา เวลามีอะไรเข้าตา เราจึงต้องหลั่งน้ำตาออกมาอย่างควบคุมไม่ได้
น้ำตาที่เป็นปฏิกิริยารีเฟล็กซ์เหล่านี้ จะมีองค์ประกอบทางเคมีแตกต่างไปจากน้ำตาที่เกิดจากอารมณ์นะครับ น้ำตารีเฟล็กซ์ (Reflex Tears) จะมีโปรตีนในระดับสูงกว่า ส่วนน้ำตาจากอารมณ์ (Emotional Tears) จะมีฮอร์โมนที่เรียกว่า ACTH (Adrenocorticotropic Hormone) มากกว่า
ฮอร์โมนนี้มีส่วนสัมพันธ์กับระดับความเครียดที่สูง ดังนั้น แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังตอบไม่ได้แน่ชัดว่าทำไมเวลาที่เราเศร้าหรือโกรธ (หรือบางทีก็มีความสุขมากๆ) เราถึงต้องหลั่งน้ำตาออกมา แต่ก็เชื่อว่าน้ำตาจากอารมณ์ที่มีฮอร์โมนนี้อยู่มาก เป็นเหมือนกับการ ‘ปลดปล่อย’ ความเครียดออกมา
ดังนั้น น้ำตาจึงมีประโยชน์ต่อความเศร้า เพราะคือกลไกปลดปล่อยความเครียด แต่กระนั้น ตัวความเศร้าเองก็มีประโยชน์กับมนุษย์อยู่เหมือนกันนะครับ
โจเซฟ พอล โฟร์กาส (Joseph Paul Forgas) จากเบิร์กลีย์ เขียนบทความไว้ใน Greater Good Science Center ว่าแม้คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเห็นคุณค่าของความเศร้า (เพราะไม่มีใครอยากเศร้าเท่าไรนักหรอก) แต่ที่จริงแล้ว ความเศร้ามีประโยชน์หลายอย่างเลยทีเดียว
งานวิจัยด้านสมองที่มีการสแกนสมองด้วยวิธีที่ก้าวหน้า ทำให้นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้ได้มากขึ้นว่า ความเศร้ามัน ‘ทำงาน’ อย่างไรในสมองของเรา และส่งผลอย่างไรต่อความคิดและพฤติกรรมของเรา เขาพบว่า
1. ความเศร้าช่วยให้ความจำของเราดีขึ้น
ในการทดลองหนึ่งเขาพบว่า ในวันที่ฝนตก ซึ่งมักทำให้คนรู้สึกหม่นเศร้า ผู้คนมักจะจดจำรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ที่เพิ่งพบเห็นได้ดีกว่า แต่ถ้าเป็นวันที่แสงแดดจ้า คนรู้สึกมีความสุข ความทรงจำกลับเลือนรางไม่ชัดเจนเท่า
อีกการทดลองหนึ่ง เขาให้ผู้เข้าร่วมทดลองดูภาพสองแบบ คือภาพรถชนกับภาพงานแต่งงาน แล้วจากนั้นก็ให้ผู้เข้าร่วมลองนึกถึงความทรงจำที่ทั้งสุขและทุกข์จากอดีตเพื่อเปลี่ยนอารมณ์ ต่อมาก็ถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับภาพที่ได้รับ เพื่อดูว่าจำรายละเอียดในภาพได้มากน้อยแค่ไหน เขาพบว่า ผู้เข้าร่วมที่อยู่ในอารมณ์แง่ลบ (เช่น ได้รับภาพรถชนหรือนึกถึงความทรงจำที่เศร้าและเป็นทุกข์) จะจดจำรายละเอียดในภาพได้ดีกว่าคนที่มีอารมณ์ในแง่บวกหรือมีความสุข
การทดลองเหล่านี้ทำให้เห็นถึงข้อเท็จจริงพื้นฐานอย่างหนึ่งว่า อดีตที่เรารื้อฟื้นขึ้นมานั้นเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของเราในปัจจุบันด้วย อารมณ์เศร้าจะทำให้เราไม่ค่อยแต่งเติมหรือบิดเบือนความทรงจำดั้งเดิมมากเท่าเวลาที่เรามีอารมณ์สุข ความเศร้าจึงทำให้ความจำของเราถูกต้องมากกว่า
2. ความเศร้าทำให้เราตัดสินคนอื่นได้ดีขึ้น
เวลาที่เราจะ ‘ตัดสิน’ คนอื่น (เรียกว่ามี Social Judgment) นั้น เรามักจะมีอคติลำเอียงอยู่สองแบบใหญ่ ก็คือตัดสินว่าดีเกินจริงหรือเลวเกินจริง ซึ่งจากการทดลอง เขาพบว่า คนที่กำลังมีความสุขนั้นมักจะ ‘ตัดสินพลาด’ (Misjudgement) มากกว่าคนที่กำลังมีความเศร้า
ในการทดลองหนึ่ง เขาให้คนที่มีอารมณ์สุขและเศร้าดูคลิปคำให้การของคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นขโมย เขาพบว่าคนที่กำลังเศร้าจะแยกแยะรายละเอียดได้ดีกว่า (เช่น จับสังเกตคำพูดหรือสังเกตสีหน้า รอยย่นบนใบหน้า ฯลฯ ของผู้ให้การได้ดีกว่า) ทำให้บอกได้ชัดเจนมากกว่าว่า คำให้การตรงไหนเป็นจริง ตรงไหนหลอกลวง แต่คนที่มีความสุขมีแนวโน้มจะตัดสินว่าคนที่ให้การนั้นมีความผิดมากกว่าความเป็นจริง
ในอีกด้านหนึ่งก็เช่นเดียวกัน คนที่มีความสุขจะมีสิ่งที่เรียกว่า Halo Effect หรือเชื่อว่าคนที่ตัวเองคิดว่าดี เช่น หน้าตาดี ประสบความสำเร็จ หรือเป็นญาติของตัวเองนั้นไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ความเศร้ากลับไปลดอคติเรื่องนี้ลงอย่างไม่น่าเชื่อ
3. ความเศร้าเพิ่มแรงกระตุ้นในชีวิต
เวลาที่เรามีความสุข เรามักจะอยากรักษาความสุขเหล่านั้นเอาไว้ นั่นทำให้เราพยายามรักษาสถานการณ์รอบด้านทุกอย่างเอาไว้กับตัว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือพยายามรักษา Status Quo เอาไว้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู คนที่มีความสุขจึงมักจะไม่ค่อยอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่ต้องทำอย่างนั้น
ดังนั้น คนที่มีความสุขจึงมักจะมีแรงขับเคลื่อน (Motivation) ในชีวิตน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่กำลังเศร้าหรือมีอารมณ์ในแง่ลบ เพราะเอาเข้าจริง ความเศร้าทำหน้าที่เป็นสัญญาณเตือนอ่อนๆ ด้วย ว่าเราควรต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตที่เป็นอยู่ จึงไปกระตุ้นให้ใช้ความพยายามและลงทุนลงแรงเปลี่ยนแปลงตัวเองมากกว่าความสุข
เขายังบอกด้วยว่า คนที่อยู่ในอารมณ์เศร้าจะทำงานยากๆ และงานที่ต้องใช้ความอดทนทำ เช่น งานฝีมือ งานที่ต้องใช้ความละเอียดต่างๆ ได้ดีกว่าคนที่กำลังมีความสุข อย่างหนึ่งอาจเพราะคนที่กำลังเศร้าอยากเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเองไปจากเรื่องเศร้าด้วย
4. ในบางกรณี ความเศร้าทำให้ปฏิสัมพันธ์ดีขึ้น
โดยปกติแล้ว ความสุขจะไปเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนให้ดีขึ้น เพราะคนที่มีความสุขจะยิ้มง่ายกว่า อยากสื่อสารกับคนอื่นมากกว่า ทำให้คนทั่วไปชอบคนที่มีความสุขมากกว่าคนเศร้า
แต่ในบางสถานการณ์ก็กลับกันได้นะครับ
มีการทดลองหนึ่ง เขาให้ผู้เข้าร่วมไปดูหนังแฮปปี้กับหนังเศร้า แล้วหลังจากดูหนังแล้วก็ต้องไปขอเอกสารจากคนอื่น ปรากฏว่า คนที่เศร้าจะไปขอเอกสารด้วยท่าทีที่สุภาพกว่า ระมัดระวังตัวมากกว่า ค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า ในขณะที่คนที่ดูหนังสุขสนุกสนานมา จะตรงเข้าไปขอแบบดื้อๆ และใช้วิธีที่สุภาพน้อยกว่า ทำให้คนที่เศร้ามีโอกาสได้รับเอกสารมากกว่าคนที่มีความสุข
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดน้ีต้องเน้นย้ำไว้ด้วยนะครับว่า ‘ความเศร้า’ (Sadness) ในที่นี้ ไม่ใช่ ‘โรคซึมเศร้า’ (Depression) นะครับ ความเศร้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในคนทั่วไป แต่โรคซึมเศร้าเป็นอาการที่เกิดจากสารเคมีในสมอง ความเศร้าเป็นประโยชน์ก็จริง แต่ก็เป็นประโยชน์ไปถึงระดับหนึ่ง ทว่าถ้าคุณเศร้าดิ่งลึกถึงระดับเป็นโรคซึมเศร้า ก็ไม่สามารถบอกได้หรอกนะครับว่าเป็นประโยชน์
ทฤษฎีวิวัฒนาการบอกเราว่า ทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเราล้วนแล้วแต่มี ‘ที่มา’ บางอย่าง และทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ดังนั้น ในเวลาที่คุณเศร้า จึงอยากชวนคุณมาพลิกมุมมองดูความเศร้าของตัวเองบ้าง
บางทีเราอาจเห็นคุณค่าและประโยชน์ของความเศร้าอย่างที่เราคิดไม่ถึงก็เป็นได้
ภาพประกอบ: Thiencharas.w