ในยุคสมัยปัจจุบัน ที่ข้าวของเครื่องใช้รอบๆ ตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์เทคโนโลยี ต่างถูกผลิตขึ้นมาอย่างพิถีพิถัน เรียบเนียน เกลี้ยงเกลา มันวาว และสมบูรณ์แบบ จนแทบมองไม่เห็นรอยต่อ หากในโลกศิลปะ มีศิลปินผู้หนึ่งที่ใช้ผลงานศิลปะของเขาสำรวจขั้วตรงข้ามของความสมบูรณ์แบบ และเพียรพยายามในการเปิดเผยแง่งามของความบกพร่อง ไม่สมบูรณ์แบบ ให้ผู้คนได้สัมผัสรับรู้ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า ทอม แซกส์ (Tom Sachs) ศิลปินร่วมสมัยชาวอเมริกัน ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมที่จำลองวัตถุสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมสมัยใหม่ขึ้นมาใหม่ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมและวัฒนธรรมบริโภคนิยมด้วยการใช้วัสดุธรรมดาสามัญที่หาได้รอบๆ ตัวทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์หรูชั้นนำที่ถูกทำขึ้นใหม่จากสมุดโทรศัพท์และเทปกาว หรือแบบจำลองอาคารของสถาปนิกระดับตำนานที่ทำขึ้นจากแผ่นโฟมและปืนกาว, ไปจนถึงยานสำรวจดวงจันทร์ หรือหอบังคับการของเรือบรรทุกเครื่องบินรบที่ทำจากไม้กระดานถูกๆ และวัสดุเก็บตกเหลือใช้ในบ้าน
ถึงแม้วัตถุเหล่านี้จะถูกจำลองขึ้นมาใหม่อย่างประณีตละเอียดลออ แต่ในขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นร่องรอยของกระบวนการสร้างมันขึ้นมาอย่างชัดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นตะเข็บ รอยเชื่อม ข้อต่อ บานพับ ตะปู น็อต หรือเทปกาวที่ยึดวัสดุเหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกันจนเป็นรูปเป็นร่าง ร่องรอยเหล่านี้ถูกปล่อยเอาไว้อย่างไร้การปิดบังซ่อนเร้นหรือทำให้เรียบร้อยเกลี้ยงเกลาไร้รอยต่อ กระบวนการเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์แบบของสิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้ ที่สามารถถอดรื้อ ปรับปรุง แก้ไข และสร้างขึ้นใหม่ได้เสมอ แม้จะเป็นโครงการใหญ่ๆ ระดับอวกาศก็ตามที
เขายังสำรวจบทบาทของสินค้าแบรนด์เนมหรูหราในสังคม และผลกระทบจากการครอบงำทางการตลาดของสินค้าเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน ด้วยความที่เขาเคยทำงานในห้างสรรพสินค้าหรูในนิวยอร์ก และบริษัทเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำในลอสแอนเจลิส แซกส์ใช้กระบวนการเชิงช่างและงานฝีมือ เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์และถุงช้อปปิ้งของสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมหรูหราต่างๆ ให้กลายเป็นข้าวของดาษดื่นสามัญไปจนถึงสามานย์ ที่มีความขัดแย้งกันอย่างสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นชุดอาหารแดกด่วนยอดนิยมสัญชาติอเมริกันอย่าง McDonald’s ไปจนถึง โถฉี่ หรือ โถส้วม หรือเครื่องมือเครื่องใช้ธรรมดาๆ อย่างเลื่อยไฟฟ้าและกับดักหนู หรือแม้แต่วัตถุที่เป็นตัวแทนของความรุนแรงและความตายอย่าง ระเบิดมือ, ปืนพก, ค่ายกักกันนาซี, เก้าอี้ไฟฟ้า และกิโยติน
ล่าสุด ทอม แซกส์ เป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 กับผลงาน Infinity ประติมากรรมในรูปของเรือศิลปะที่ล่องในแม่น้ำเจ้าพระยาได้จริงๆ
ในครั้งนี้ เรามีโอกาสได้นั่งจับเข่าสนทนาพาทีกับ ทอม แซกส์ เกี่ยวกับแนวคิดและแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานศิลปะทำมือของเขา ขอเชิญทุกท่านมาร่วมสัมผัสประสบการณ์ในโลกของ Sachs ร่วมกันจากบทสนทนาครั้งนี้ได้เลย
แรกสุด ยินดีต้อนรับสู่กรุงเทพฯ ประเทศไทย เราตื่นเต้นมากที่จะได้ชมงานของคุณในเทศกาล Bangkok Art Biennale (BAB) ในครั้งนี้ ช่วยเล่าถึงโครงการศิลปะของคุณที่แสดงในเทศกาลนี้ให้เราฟังหน่อย
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมเจอกับ ชมวรรณ วีรวรวิทย์ และได้ร่วมเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ด้วยกัน เราใช้เวลาด้วยกันเยอะมาก และเราตกลงใจตั้งแต่ตอนนั้น ว่าเราจะทำโครงการเรือ(ศิลปะ)ด้วยกัน มันจะเป็นอะไรที่มีทั้งความเป็นไทยและความเป็น Sachs อยู่ด้วยกัน, 10 ปีผ่านไป ความฝันของเรากลายเป็นจริงขึ้นมา ดังนั้น สำหรับงานของเราใน BAB เราเสาะหาเรือหัวโทงจากภาคใต้ สร้างเก๋งเรือ ทาสีเรือด้วยสีเทาทหาร (Military Gray) และใส่ทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการเป็นสตูดิโอของผมในกรุงเทพฯ ลงไป เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งแม่น้ำ ก็น่าจะเหมาะดีที่จะมีเรือที่เป็นสตูดิโอของผมอยู่ริมแม่น้ำ
แล้วผู้ชมชาวไทยจะชมงาน หรือสัมผัสประสบการณ์ในงานของคุณชิ้นนี้ได้ยังไง
ในระหว่างที่เรือของผมจัดแสดงในนิทรรศการที่นี่ ผู้ชมบางคนสามารถร่วมทัวร์ไปกับเรือ หลังจากนั้นเรือนี้ก็จะขึ้นไปตั้งอยู่บนบกที่หน้ามิวเซียมสยามให้ผู้ชมได้ชมกัน เป็นเหมือนประติมากรรมชิ้นหนึ่ง คือถ้าคุณเอาเรือลงน้ำ มันก็จะกลายเป็นเรือ แต่ถ้าคุณเอาเรือขึ้นมาตั้งบนบก มันก็จะกลายเป็นประติมากรรม พอเราเอาประโยชน์ใช้สอยของมันออก ก็เหมือนกับเรายกระดับคุณค่าทางจิตวิญญาณของมันขึ้นมา
คุณคิดว่าเรือของคุณเชื่อมโยงกับบริบทของกรุงเทพฯ หรือเมืองไทยยังไง
สิ่งสำคัญในงานของผมตลอดมาคือการร่วมมือกัน งานครั้งนี้ของผมคือการร่วมงานกับประเทศไทย กับชมวรรณ เธอคือมิสไทยแลนด์ (ยิ้ม) และเป็นผู้ร่วมงานในโครงการนี้ของผม นี่เป็นสิ่งที่ผมไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียว แต่ในทางกลับกัน ผมก็สามารถกล่าวได้ว่า โครงการนี้เป็นอะไรที่ประเทศไทยไม่สามารถทำได้โดยปราศจากผมเช่นกัน เป็นการร่วมงานกันแบบคนละครึ่ง 50-50
เรือลำนี้ก็ถูกสร้างขึ้นมาด้วยฝีมือช่างชาวไทย?
ใช่ ช่างไทยชาวกระบี่เป็นคนสร้างเรือขึ้นมา ทีมงานของผมก็ทำให้มันเป็นสตูดิโอของผม
เรือนี้มีฟังก์ชันพิเศษอะไรไหม นอกจากการเป็นเรือที่ล่องในแม่น้ำ
มีนะ นอกจากเป็นเรือแล้ว มันยังเป็นสตูดิโอของผมด้วย เรามีดนตรีเปิดในเรือ เราสามารถมีกิจกรรมต่างๆ ในสตูดิโอ อย่าง สถานีซ่อมแซม ที่เอาไว้ซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ทั้งตัวเรือและอื่นๆ นอกจากนี้ ในเรือยังเป็นสถานีทำแผนที่ทั้งของกรุงเทพฯ และที่อื่นๆ ถ้าเข้าไปในเรือ คุณจะเห็นแผนที่อยู่ข้างใน พวกเราพัฒนาแผนที่กันตลอดเวลา เราออกไปสำรวจแม่น้ำลำคลองกันแทบทุกวัน และเสาะหาสิ่งที่เรายังไม่เคยรู้เกี่ยวกับกรุงเทพฯ ถึงแม้ชมวรรณจะอยู่ที่นี่มาทั้งชีวิต แต่ก็ยังมีพื้นที่บางแห่งที่เธอยังไม่เคยไปมาก่อน ส่วนตัวผมเองก็ไม่รู้จักกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นจึงมีสิ่งใหม่ๆ ให้ผมพบเจอมากมาย
ภาพ: ปิยทัต เหมทัต
เหมือนคุณเป็นนักทำแผนที่โบราณที่เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ และเขียนแผนที่ขึ้นมา?
การทำแผนที่โบราณและ Google Earth นั้นใช้กระบวนการแบบเดียวกันโดยไม่แตกต่างกันเลย มันคือการนำร่องและช่วยเราให้เข้าใจอาณาเขตที่เราอยู่
พูดถึงแนวความคิดในการทำงานของคุณ เราเคยได้ยินคุณบอกว่า คุณไม่ชอบให้งานของคุณสมบูรณ์แบบเหมือนผลิตภัณฑ์ของ Apple คุณชอบความบกพร่อง คุณชอบในสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ ทำไมคุณถึงไม่ชอบสิ่งที่สมบูรณ์แบบล่ะ
ผมชอบสิ่งที่สมบูรณ์แบบนะ อย่างเช่นเคส iPad สวยๆ ที่มีช่องเก็บ Apple Pencil ด้วย เพราะผมชอบทำ Apple Pencil หายบ่อยๆ (หัวเราะ) แต่ผมยังเชื่อว่ามีความดีงามและพลังอยู่ในสิ่งของทำมือ เพราะมันมีหลักฐานของความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้นอย่างแท้จริง ทุกวันนี้เราแทบไม่เห็นหลักฐานของความเป็นมนุษย์ในสิ่งต่างๆ เลย คอมพิวเตอร์ต้องการให้เราเป็นเหมือนๆ กันหมด แต่ความเป็นปัจเจกนั้นขึ้นอยู่กับตัวเราแต่ละคน ความบกพร่องเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นปัจเจกของเรา
แต่เวลาคุณมาถึงกรุงเทพฯ ไม่รู้คุณสังเกตเห็นบนท้องถนนของเราไหม ว่าเรามีสิ่งบกพร่องเต็มไปหมด อย่างเช่น สะพานลอยที่มีสายไฟร้อยอยู่ตรงกลางบันไดทางขึ้น (เราหยิบเอารูปให้เขาดู) หรือสายไฟรกรุงรังข้างทาง, ฟุตปาธชำรุดทรุดโทรม คุณคิดว่าความบกพร่องเหล่านี้แสดงถึงความด้อยพัฒนาของเมืองนี้ไหม
มันไม่ใช่ความบกพร่องนะ ผมว่ามันแค่เป็นความขี้เกียจมากกว่า แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์แหละ ผมว่ามันค่อนข้างอันตรายนะที่คุณพูดคำว่า ‘ความด้อยพัฒนา’ เพราะสิ่งที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันคือ ‘ความพัฒนาที่ล้นเกิน’ สิ่งสำคัญคือการหาสมดุลระหว่างสองขั้วนี้ เพราะตอนนี้พวกเรากำลังพัฒนาโลกใบนี้อย่างล้นเกิน ผมคิดว่าเราต้องบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติของเรา นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะเรียนรู้ได้จากการเดินทางไปยังโลกใบอื่น เพื่อให้เรารู้จักที่จะให้ความเคารพต่อทุกชีวิตบนโลกที่เราอาศัยอยู่ใบนี้ ผมก็ไม่ชอบเห็นภาพสะพานลอยร้อยสายไฟหรอกนะ มันไม่ใช่อะไรที่ให้แรงบันดาลใจผมเท่าไร มันเป็นแค่ความยุ่งเหยิง สิ่งที่ผมชอบคือสิ่งของเก่าๆ ที่ถูกซ่อมแซมด้วยความใส่ใจ ผมเห็นสิ่งเหล่านี้ในประเทศไทยเต็มไปหมด สิ่งที่ดูเหมือนเป็นของที่ดูไม่ค่อยเรียบร้อยสวยงาม แต่ผมว่ามันมีเสน่ห์ ผมเคยเดินไปเยาวราช แล้วเห็นคนตัดขวดพลาสติกสวมบนแม่กุญแจเพื่อกันไม่ให้มันเปียกน้ำฝน
เหมือน DIY?
มันก็เป็น DIY แหละ ผมนับถือทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็น DIY หรือการแก้ปัญหาของมืออาชีพ ทั้งหมดเป็นเรื่องของความใส่ใจและให้ความเคารพ และเราไม่ต้องใช้เงินมากมายในการดูแลตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือ มันฟรี
คุณเรียกอะไรแบบนี้ว่าความคิดสร้างสรรค์ไหม
ผมคิดว่าความคิดสร้างสรรค์คือศัตรู ผมคิดว่าความคิดสร้างสรรค์ควรต้องถูกควบคุมด้วยวินัย ความคิดสร้างสรรค์ควรมีแค่ 1% อีก 99% ที่เหลือคือการทุ่มเททำงานหนักและความใส่ใจ นั่นเป็นเหตุผมที่ทำไมผมถึงไม่ชอบภาพสะพานลอยร้อยสายไฟ เพราะมันเป็นแค่ความไม่เอาใจใส่ การแก้ปัญหาแบบนี้ในแง่หนึ่งอาจเป็นความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบหนึ่งก็ได้ แต่ไม่ค่อยมีความใส่ใจ
งานของคุณหลายชิ้นมักหยิบเอาแบรนด์หรูหราราคาแพงมาเจอกับวัตถุที่เป็นตัวแทนของความรุนแรง อย่างอาวุธสงคราม ปืน, ระเบิดมือ, กิโยติน หรือค่ายมรณะของนาซี คุณคิดยังไงเกี่ยวกับแบรนด์หรูหราเหล่านี้ คุณทำงานเหล่านี้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิบริโภคนิยมหรือทุนนิยมใช่ไหม
ผมคิดว่าการที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิบริโภคนิยมหรือทุนนิยมได้ เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของมัน และผมยอมรับว่าผมเองก็เป็นส่วนหนึ่งของมัน เพราะผมเองก็เป็นผู้บริโภค และคนที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเหล่านี้เท่านั้นที่จะเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์มันได้อย่างแท้จริง ผมว่ามันมีทั้งด้านดีและด้านร้ายนะ ผมคิดว่ามันสำคัญที่เราใช้ศิลปะนำเสนอทุกแง่มุมอันหลากหลายในประสบการณ์ของมนุษย์ โฆษณาของ Chanel มักจะแสดงให้เราเห็นแค่ด้านที่สวยงาม แต่ไม่แสดงให้เห็นด้านมืดของมัน หน้าที่ของศิลปะคือการแสดงให้เห็นแง่มุมทุกด้าน เพื่อให้คุณได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง นั่นคือความแตกต่างระหว่างศิลปะกับ Propaganda (การโฆษณาชวนเชื่อ), Propaganda และการโฆษณาคือสิ่งเดียวกัน Propaganda และการโฆษณา คืองานศิลปะที่มีนัยยะซ่อนเร้น ศิลปะไม่มีนัยยะซ่อนเร้น ศิลปะคือการเปิดโอกาสให้คุณได้สร้างความหมายของคุณขึ้นมาเอง
ก่อนหน้านี้คุณทำงานในแวดวงดีไซน์มาก่อนใช่ไหม
สำหรับผมมันคือศิลปะทั้งหมด สมัยเป็นนักเรียนในโรงเรียน ผมเรียนศิลปะ, สถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์ ทุกอย่าง แต่ผมคิดว่าศิลปะไม่ต่างอะไรกับดีไซน์ มีดีไซเนอร์ที่แย่กับดีไซเนอร์ที่ยิ่งใหญ่ และมีศิลปินที่แย่กับศิลปินที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน แต่ผมสนใจในดีไซน์ เพราะดีไซน์คือทุกสิ่งทุกอย่าง สำหรับผมงานดีไซน์ที่ยิ่งใหญ่ คือการที่ธรรมชาติดีไซน์รหัสพันธุกรรมในร่างกายของเรา มันเป็นระบบที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน มีทั้งความสำเร็จและปัญหาเช่นเดียวกับระบบคอมพิวเตอร์
การทำงานในแวดวงดีไซน์ให้ประโยชน์กับการทำงานศิลปะของคุณไหม
ผมคิดว่าผู้คนมักจะมองคำว่า ‘ดีไซน์’ เฉพาะเจาะจงไปหน่อย ทุกอย่างคือดีไซน์ ภาพวาดคือดีไซน์ รถคือดีไซน์ ก่อนหน้า เรย์มอนด์ โลเวีย นั้นไม่มีคำว่า Industrial Designer (นักออกแบบอุตสาหกรรม) มันมีแค่วิศวกร ผมไม่ค่อยเชื่อใน Industrial Designer เท่าไร เวลาใครบอกว่าเรียน Industrial Design ผมมองว่าเขาน่าจะไปเรียนวิศวกรรมและนิเทศศาสตร์มากกว่า สำหรับผม การดีไซน์คือส่วนที่ง่าย ส่วนที่ยากคือการทำยังไงให้ของสิ่งหนึ่งใช้งานได้ และบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับมันมากกว่า
แต่ Apple เองก็เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ Industrial Designer มากเลยนะ เคยมีชาร์ตให้ดูว่า Industrial Designer เป็นตำแหน่งที่ได้รับเงินเดือนสูงที่สุดในองค์กรเลยด้วยซ้ำ
ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดของแบรนด์ Apple ไม่ใช่รูปลักษณ์ที่ปรากฏภายนอก แน่นอนว่ามันสวยและดูดีที่สุดแหละ แต่ส่วนสำคัญที่สุดของมันคือ User Interface (ส่วนต่อประสานผู้ใช้) มากกว่า เพราะไม่มีอะไรแตกต่างระหว่าง Apple กับ PC นอกจากวิธีที่ผู้ใช้งานเชื่อมต่อประสานกับอุปกรณ์เหล่านั้น นั่นเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุด เพราะคอมพิวเตอร์คือป้อมปราการอันหนาแน่นของระบบตัวเลข 0 และ 1 (ซึ่งยากและซับซ้อนในการเข้าถึงและทำความเข้าใจ / ไม่เชื่อลองหัดเขียนโค้ดดูเอาเองก็แล้วกัน) สิ่งที่ทำให้มันเข้าถึงได้ง่ายคือ User Interface และ Apple เป็นบริษัทที่คิดค้น Graphical User Interface และเมาส์ออกมา
เหมือนเคยดูจากหนังชีวประวัติ สตีฟ จ็อบส์ ว่าเขาจิ๊กระบบนี้มาจาก Xerox นะ
เคยได้ยินเหมือนกัน แต่ไม่ว่ายังไงพวกเขาก็เอามันมาใส่เข้าไว้ด้วยกัน ผมไม่คิดว่าใครจะเป็นเจ้าของอะไรจริง เหมือนคุณบอกว่า The Beatles ขโมยดนตรีคนผิวดำอเมริกันมา มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนคิดค้นขึ้นมาเป็นคนแรก แต่มันขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเอามันมาใส่ไว้ด้วยกันและบอกเล่าเรื่องราวให้คนได้รับรู้ มันเป็นเรื่องของการหยิบฉวยทางวัฒนธรรม (Cultural Appropriation) เป็นเรื่องของการสื่อสารกับผู้คน และช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงจังหวะของสิ่งต่างๆ
เหมือนที่ปิกัสโซเคยกล่าวว่า “Bad artists copy, Great artists steal” (ศิลปินชั้นเลวลอกเลียนแบบ ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ขโมย) ใช่ไหม
แน่นอน! (หัวเราะ) แต่ผมคิดว่า “Amateurs borrow, Professionals steal” (มือสมัครเล่นหยิบยืม, มืออาชีพขโมย) มากกว่านะ แต่ผมว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของอะไรจริงๆ หรอก ผู้คนมักคิดว่าพวกเขาเป็นเจ้าของบางสิ่งบางอย่างจริงๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วพวกเขาก็ตายไป บางคนก็ได้เป็นเจ้าของต่อ สิ่งเดียวที่จะอยู่ไปได้ชั่วนิรันดร์คือรหัสพันธุกรรม เว้นแต่เราจะสูญพันธุ์ไปจนหมด เพราะไม่มีอะไรอยู่ไปได้ตลอดกาล
พูดถึงการเป็นเจ้าของ คุณคิดยังไงกับประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ ที่คนประกาศความเป็นเจ้าของในทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ความคิดที่จับต้องไม่ได้
ผมไม่เชื่อในทรัพย์สินทางปัญญา ถึงแม้ว่าผมจะมีชีวิตและตายไปกับมันแน่นอน ผมคิดว่านั่นเป็นเหตุผลที่เกิดความขัดแย้งใหญ่หลวงระหว่างประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐอเมริกามีชุดความคิดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา แต่จีนเชื่อว่าสิ่งนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นเจ้าของ แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครเอามาขายก่อนมากกว่า นั่นเป็นเหตุที่เรามีประเด็นขัดแย้งมากมายเกี่ยวกับมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกันสองขั้ว แต่ผมไม่ได้คิดว่าแนวคิดไหนถูกหรือแนวคิดไหนผิดนะ เคยมีคนถาม มาร์เซล ดูชองป์ ว่าคุณจะห้ามคนอื่นเอาโถฉี่มาวางบนแท่นแสดงงานแบบคุณได้ยังไง เขาบอกว่า “เอาเลยเพื่อน ไม่มีอะไรหยุดคุณได้” ผมก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน เช่นเดียวกัน ถ้ามีใครอยากทำงานประติมากรรมของผมขึ้นมาใหม่เอง ผมก็จะบอกเขาว่า “โชคดีนะ!” เพราะมันจะเป็นงานที่หนักหนาเกินกว่าที่คุณจะจินตนาการได้ในช่วงเวลาหกชาติภพ ผมท้าให้ใครก็ได้มาทำเลย แต่ถ้าคิดจะทำแล้ว ก็ขอให้ทำออกมาให้ดีกว่าผมด้วยนะ
ได้ยินว่าสมัยก่อนคุณเองก็ทำภาพวาดของ มองเดรียน (Mondrian) ขึ้นมาด้วยตัวเองเหมือนกันนี่
ผมทำภาพวาดของมองเดรียนด้วยเทปกาว ไม่ได้ใช้สีวาดภาพ เพราะผมอยากได้งานชิ้นนั้นของมองเดรียน แต่ผมไม่อยากใช้เวลาทำงานหาเงินเป็นล้านๆ มาซื้อภาพของมองเดรียน ผมก็เลยมุ่งไปสู่เหตุผลจริงๆ ที่ผมอยากได้งานมองเดรียน ก็เพราะรูปทรงของมัน ผมก็เลยทำขึ้นมาเอง และมันออกมาดีมากๆ
งานมองเดรียนที่คุณทำออกมาเองนี่เหมือนงานมองเดรียนของจริงเลยไหม
มันมีขนาดเดียวกัน สีเหมือนกัน และดูเหมือนกันมาก ถ้ามองจากอีกฟากหนึ่งของห้องน่ะนะ ขึ้นอยู่กับว่าคุณมองมันในแง่ไหน สำหรับผม ผมคิดว่ามันเหมือนกันมาก แต่มันไม่ใช่การปลอมแปลงงานนะ แต่เป็นมองเดรียนเวอร์ชันของผมมากกว่า ไม่ต่างอะไรกับเวลาที่คุณคัฟเวอร์เพลงของศิลปินสักคน มันอาจจะออกมาดีกว่าเดิมก็ได้ เหมือนเวลาคุณซื้อแว่นกันแดด Gucci ของปลอม แล้วคุณบังเอิญลืมมันไว้ในภัตตาคาร คุณก็ใช้ชีวิตในวันนั้นต่อไปได้ คุณก็แค่ซื้อมันใหม่ในราคา 5 ดอลลาร์ แต่ถ้าคุณซื้อแว่นกันแดด Gucci ของจริงในราคา 5,000 ดอลลาร์ แว่นกันแดดนั้นจะเป็นเจ้าของคุณแทน และคุณต้องรับใช้มัน ผมคิดว่าสิ่งที่ดีกว่าของแว่นกันแดดปลอมราคา 5 ดอลลาร์ คือมันรับใช้คุณในขณะที่คุณผจญภัยในชีวิตต่อไปได้ มันไม่สลักสำคัญอะไร ก็เป็นแค่วัตถุธรรมดาๆ อันหนึ่ง
แต่คุณก็ทำรองเท้าลิมิเต็ดเอดิชันกับ Nike ไม่ใช่เหรอ
ราคามันแค่ 110 ดอลลาร์เท่านั้นเองนะ
แต่คุณไม่คิดเหรอ ว่าต่อไปมันอาจจะมีราคาแพงหูฉี่ใน eBay ก็ได้นะ เหมือนที่ดูชองป์อยากให้ศิลปะเป็นวัตถุธรรมดาสามัญที่ใครๆ ก็หาได้จากทุกหนแห่ง แต่ปัจจุบันคนก็เอาโถฉี่ของเขาใส่ตู้กระจกนิรภัยแสดงในพิพิธภัณฑ์เหมือนเป็นของล้ำค่าอยู่ดี
ก็จริงอยู่ แต่ความตั้งใจของผมคือผมต้องการให้รองเท้าคู่นี้เป็นสิ่งที่ทุกๆ คนสามารถซื้อหามาใส่ได้ ช่างภาพของคุณก็สั่งมาคู่หนึ่งในราคา 100 กว่าดอลลาร์ อีกวันสองวันก็คงส่งมาถึงบ้านแล้ว ผมรู้ว่ารองเท้าของผมคงถูกเอาไปปั่นราคาสูงๆ ใน eBay สักวัน แต่นั่นไม่ใช่ความตั้งใจของผม และเราก็จะผลิตมันออกมาเรื่อยๆ ผมสัญญากับคุณว่า…ก็แค่สัญญานะ ใครจะรู้ว่ามันเป็นไปได้หรือเปล่า จริงไหม? (หัวเราะ) แต่ความตั้งใจของผมคือผมอยากให้มันเป็นของที่ทุกๆ คนซื้อหามาใส่ได้ และมันน่าจะเป็นแบบนั้นได้จริง เราคิดว่าเราทำได้ แล้วก็ไม่ใช่แค่รองเท้า แต่ยังรวมถึงหนังสารคดีที่เราทำด้วย เรากำลังทำหนังสารดคีลง YouTube เกี่ยวกับเรื่องของเรือที่เราทำขึ้นที่เมืองไทย คนที่นิวยอร์กอาจไม่มีโอกาสมาชมงานชิ้นนี้ที่กรุงเทพฯ แต่เขาก็จะได้ชมจากหนังที่เราเผยแพร่ ผมคุยกับชมวรรณว่า ด้วยหนังที่เราทำ น่าจะทำให้คนได้ดูเรือลำนี้มากมายกว่าคนที่ได้มาดูของจริงด้วยซ้ำไป ลองคิดดูว่าจะมีสักกี่คนที่ได้ดูภาพ โมนา ลิซา หลังกระจกนิรภัย แต่ก็มีหลายคนได้ศึกษาภาพนี้ ได้ดูรายละเอียดของมันจากภาพในอินเทอร์เน็ตหรือในหนังสารคดี อาจจะดีกว่าดูของจริงด้วยซ้ำไป
แต่มีบางคนเคยพูดถึง Aura (รัศมี) ในงานศิลปะ เหมือนเวลาที่คุณดูงานทางอินเทอร์เน็ตหรือในหนังสารคดีนั้นไม่อาจเทียบได้กับการได้ดูงานจริงๆ ด้วยสองตาคุณเอง เพราะสิ่งที่เรียกว่า Aura คุณยังเชื่อใน Aura ของงานศิลปะไหม
แน่นอน แต่ Aura ในงานศิลปะปรากฏในรูปแบบที่แตกต่างกัน Aura ของงานมองเดรียนของจริง แตกต่างกับ Aura ในงานมองเดรียนของผม หรืองานประติมากรรมของผม มันมีแรงดึงดูดใจที่แตกต่างกัน ผมไม่คิดว่าอะไรจะดีกว่าอะไร งานมองเดรียนของผมอาจจะราคาไม่แพงเหมือนงานมองเดรียนของจริงที่ราคา 50 ล้านดอลลาร์ แต่มันก็เป็นแค่เงินเท่านั้น เป็นคุณค่าที่แตกต่างกัน มันมี Aura ที่แตกต่างกัน จะเบียร์หรือแชมเปญก็มีความวิเศษไม่ต่างกัน ผมไม่อาจบอกได้ว่าอะไรดีกว่ากัน
นั่นเป็นเหตุผลที่คุณเคยบอกว่า คุณไม่ได้ทำสิ่งของให้พิพิธภัณฑ์หรือนักสะสมงานศิลปะใช่ไหม แล้วคุณทำสิ่งเหล่านี้ให้ใคร
งานของผมอาจกลายเป็นคอลเล็กชันของพิพิธภัณฑ์ก็ได้ แต่แรกสุดเลย ผมทำให้ตัวเอง และผมทำให้เพื่อนของผม ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่ลูกสาวของคุณทำให้ผม (ลูกสาวของผู้เขียนทำของที่ระลึก DIY มอบให้ทอมตอนที่เจอกัน) เธอจะทำด้วยความรัก ทำให้ตัวเอง หรือทำเป็นของขวัญให้เพื่อนๆ นั่นเป็นจุดเริ่มต้น ถ้ามันสามารถตอบสนองความเชื่อของเธอได้ นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้ามันทำให้คนที่ได้เห็นหรือได้รับพึงพอใจ ถึงแม้จะแค่คนเดียว มันก็เป็นสิ่งพิเศษเพียงพอแล้ว ผมคิดว่าเธอประสบความสำเร็จแล้ว นั่นคือความจริงแท้ของศิลปะ สิ่งนี้เป็นเหมือนก้อนหินที่ตกลงไปในสระน้ำ ทำให้น้ำกระเพื่อมเป็นวง ส่งพลังงานกระจายออกไปรอบข้าง ถ้ามีคนเอาเรื่องและรูปของที่ระลึกชิ้นนี้ไปลงนิตยสาร ให้คนได้เห็นว่าผมและลูกสาวของคุณมีวิธีการทำงานและแก่นความคิดแบบเดียวกัน ท้ายที่สุดมันอาจจะไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ก็ได้ ผมรู้สึกโชคดีและซาบซึ้งใจที่งานของผมได้เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เพราะจะมีคนมากมายได้ดูมัน และพวกเขาจะดูแลมันอย่างดี ตอนที่ผมอายุมากกว่าลูกสาวคุณนิดหน่อย แม่ของผมบอกกับผมว่า “งานของลูกยุ่งเหยิงมากไปหน่อย, ถ้าลูกไม่ทำให้ประณีตกว่านี้ เวลาลูกตาย คนที่อยู่ข้างหลังอาจจะโยนมันทิ้ง” ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมจริงจังกับการทำงานมากขึ้น ตอนนี้งานของผมก็ยังยุ่งเหยิงอยู่นะ แต่ผมก็ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากคนรอบข้าง แต่ถ้าผมตาย พวกเขาอาจจะโยนงานของผมทิ้งก็ได้ ใครจะไปรู้!
เราไม่คิดอย่างนั้นนะ
(หัวเราะ) ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ผมก็พยายามทำมันให้ดีที่สุดอยู่ ผมคิดว่าการเล่าเรื่อง อย่างการสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ช่วยอธิบาย หรือแบ่งปันเรื่องราวให้กระจายออกไป หรือแม้แต่หนังสารคดีที่ผมทำเกี่ยวกับเรือลำนี้ หรือแม้แต่ตัวเรือเองก็ตาม
ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด เวลาที่คุณทำงานในสตูดิโอ คุณมักลงมือทำงานด้วยตัวเอง ด้วยสองมือของคุณเอง ทั้งๆ ที่คุณเองก็มีผู้ช่วยมากมาย ต่างกับศิลปินคอนเซปชวลคนอื่น เช่น เจฟฟ์ คูนส์ หรือคนอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องลงมือทำงานด้วยตัวเองอีกต่อไป ทำไมคุณยังเชื่อในการทำงานด้วยมือตัวเองอยู่
ศิลปินบางคนเชื่อในทีมงาน กระบวนการ และเป้าหมายโดยรวม หรือความประณีตบรรจงบางอย่างของตัวงาน แต่สำหรับผม ผมสนใจในการเล่าเรื่องเส้นทางการเดินทางของผมมากกว่า สำหรับศิลปินอย่าง เจฟฟ์ คูนส์ ที่ประติมากรรมของเขาถูกขัดจนมันวาวเงางาม นั่นเป็นเป้าหมายของเขาในการแสดงถึงความเป็นเลิศของสิ่งที่อยู่ในสภาวะอันสมบูรณ์แบบ ซึ่งโอเคสำหรับเขา แต่สำหรับผม ผมสนใจในการแสดงที่เห็นร่องรอยของตะปู, รอยกาว เพราะผมเชื่อว่านี่เป็นเนื้อหาสาระในยุคสมัยของเรา อย่างที่ผมบอกว่า Apple ทำของที่สมบูรณ์แบบออกมามากมาย โดยที่ไม่มีร่องรอยหลักฐานของผู้ที่สร้างมันขึ้นมา เพราะถ้ามีร่องรอยเหลืออยู่ คนอาจไม่เชื่อมั่นพอที่จะซื้อมัน เพราะเขาอาจจะรู้สึกว่ามันสกปรก ผมคิดว่ามีศิลปินมากมายที่ทำงานในหลากหลายรูปแบบ ผมเชื่อว่ามีที่ทางของ เจฟฟ์ คูนส์ ในจักรวาลของเขา
คุณเองก็มีที่ทางในจักรวาลของคุณเหมือนกันนี่
แน่นอน แล้วผมก็ทำในวิธีที่ถูกต้องด้วย (หัวเราะกันลั่น) ผมคิดว่ามีหลายคนที่ทำงานในแบบที่สมบูรณ์แบบ ทั้งอาคารสถาปัตยกรรม หรืออุปกรณ์อะไรต่างๆ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมคิดว่าผมโชคดีมาก ที่สามารถทำวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงหลักฐานของผู้ที่สร้างมันขึ้นมา ในขณะที่ยังแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจอย่างถึงที่สุดด้วย ผมคิดว่าผมกับเจฟฟ์มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ผมไม่สามารถพูดแทนเขาได้ จริงๆ ตอนอายุน้อยกว่านี้ ผมพยายามทำสิ่งที่สมบูรณ์แบบเหมือนกันนะ แต่ผมหงุดหงิดที่ยิ่งผมทำมากเท่าไรก็ยิ่งออกมาเหมือนตัวผมน้อยลงเท่านั้น นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเลิกทำสิ่งที่สมบูรณ์แบบ กฎข้อหนึ่งในการทำงานสำหรับผมคือ คุณต้องจบโครงการของคุณให้ได้ และบางครั้ง ถ้าคุณนิยมความสมบูรณ์แบบเกินไปก็จะทำให้คุณจบงานได้ยากมากๆ เหมือนคุณจบมันไม่ลง เพราะแม้แต่สิ่งที่สมบูรณ์แบบที่สุดก็ยังมีความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ อยู่เสมอ ถ้าคุณโอบรับความบกพร่องเหล่านี้ คุณก็จะสามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงและก้าวต่อไปข้างหน้าได้
แต่ในทางกลับกัน คุณเองก็มีชื่อเสียงจากการ Knolling หรือระบบการจัดระเบียบอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ประณีต สะอาดตา มันไม่ได้เป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกับความบกพร่องหรอกหรือ
ไม่นะ คุณสามารถประณีตได้ และคุณต้องประณีต เรียบร้อย และมีระเบียบเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็ยังแสดงให้เห็นถึงหลักฐานการมีอยู่ของคุณได้ ผมเชื่อใน Knolling แล้วก็จัดเครื่องไม้เครื่องมือของผมในเรืออย่างเป็นระเบียบ แต่การแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นใครนั้นสำคัญ เช่นเดียวกับที่กางเกงยีนส์ Levi’s ของคุณมีรอยขาดที่เข่า มีสองวิธีที่กางเกงของคุณจะมีรอยขาดที่เข่า หนึ่ง คือซื้อกางเกงที่มีรอยขาดที่เข่าจากร้าน สอง คุณซื้อกางเกงยีนส์ใหม่มาและใส่มันจนมีรอยขาด และคุณก็สามารถซ่อมแซมรอยขาดนั้นได้สองวิธี หนึ่ง คือคุณซ่อมด้วยการทอใหม่จนไม่เหลือรอยขาดให้เห็น ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หรือสอง คุณเย็บปะให้เห็นชัดๆ เลยว่ามีการซ่อมแซมเกิดขึ้น ผมเลือกใช้วิธีหลัง เพราะมันแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของสิ่งของ ไม่ต่างอะไรกับแผลเป็นหรือริ้วรอย ความงามไม่ใช่สิ่งที่จำกัดอยู่แค่ความอ่อนเยาว์เท่านั้น ความงามยังเป็นการแสดงถึงร้ิวรอยแห่งประสบการณ์ ไม่ว่าจะบนร่างกายมนุษย์หรือบนสถาปัตยกรรมก็ตาม
บางคนนิยามความแตกต่างระหว่างงานศิลปะกับงานดีไซน์ด้วยประโยชน์ใช้สอย บางคนกล่าวว่างานดีไซน์ต้องมีประโยชน์ใช้สอย ในขณะที่ศิลปะไม่จำเป็นต้องมี
ผมคิดว่าศิลปะอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง สำหรับผม ไม่สำคัญว่ามันจะเป็นมหาวิหาร, หนัง, ภาพวาด ประติมากรรม หรือรองเท้าผ้าใบ ทุกอย่างเป็นศิลปะสำหรับผม มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำอะไร แต่มันขึ้นอยู่กับว่าคุณทำมันอย่างไร ด้วยความตั้งใจแค่ไหน มันเป็นเรื่องของความใส่ใจ ผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน เก้าอี้, รองเท้า, ประติมากรรม หรือเรือหางยาว (มีเรือหางยาวแล่นผ่านมาพอดี) คุณอาจสร้างชนชั้นของวัตถุ จากคุณค่าหรือคุณประโยชน์ของสิ่งต่างๆ เช่น ก้อนอิฐอาจจะมีคุณค่าน้อยที่สุด เก้าอี้อาจจะมีคุณค่ามากขึ้นกว่าหน่อย ภาพจิตรกรรมก็ยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นไปอีก, อิฐ < เก้าอี้ < ประติมากรรม < จิตรกรรม < เครื่องประดับ, เพชรพลอย แต่ผมไม่สนใจคุณค่าเหล่านี้ ศิลปินคนโปรดของผมคือ หลุยส์ อาร์มสตรอง งานของเขาไม่มีกายภาพให้จับต้องได้ด้วยซ้ำไป แต่ก็เป็นสิ่งที่ยืนยงข้ามกาลเวลา นั่นก็คือดนตรีไง
พูดถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้ คุณคิดยังไงกับศิลปะ NFT
ผมคิดว่า Blockchain และ Smart Contract คือตัวอย่างที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาของศิลปะคอนเซปชวล (Conceptual Art) ผมรู้สึกเหมือนเรากำลังกลับไปยังยุค 1972 อีกครั้ง เหมือนได้กลับไปยังช่วงเวลาที่ โซล เลวิตต์ กำลังทำผลงานที่ยิ่งใหญ่ของเขาอีกครั้ง ผมเห็น CryptoPunks แล้วรู้สึกไม่ต่างอะไรกับตอนที่เห็นงาน Incomplete Open Cubes ของ โซล เลวิตต์ ผมคิดว่า NFT ส่วนใหญ่นั้นโคตรแย่ 99% ย่ำแย่จนไม่ควรเข้าไปข้องแวะ แต่แนวคิดของ Smart Contract และ Blockchain เป็นเหมือนฝันที่เป็นจริง ถ้าเรามี Blockchain ตั้งแต่ยุค 1974 ผู้คนส่วนใหญ่จะเข้าใจศิลปะคอนเซปชวลกันอย่างถ่องแท้มากขึ้น ทั้ง โยโกะ โอโนะ, มารีนา อบราโมวิช, โซล เลวิตต์, จอห์น บัลเดสซารี, โจเซฟ โคซุธ ศิลปินเหล่านี้มีจิตวิญญาณแบบเดียวกับ Art Blocks และ CryptoPunks ซึ่งผมว่าดีมากๆ รวมถึง Rocket Factory ของเราด้วย
พูดถึงโครงการ Rocket Factory ของคุณ น่าสนใจมากที่คุณรวมโครงการศิลปะที่เป็นวัตถุจริงๆ เข้ากับ NFT
เราเรียกมันว่า Meat Space เป็นพื้นที่ข้ามมิติที่เราสร้างสิ่งของใน Metaverse บน Blockchain และบนพื้นที่จริงๆ และ NFT เองก็เชื่อมต่อกับวิดีโอบันทึกการปล่อยจรวด รวมถึงภาพถ่ายต่างๆ ด้วย
คุณยังเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ของคุณด้วย
ใช่ มันเปิดกว้างมาก เรากำลังทำให้เปิดกว้างมากกว่านี้ ตอนนี้เรากำลังเริ่มเฟส 2 อยู่ ผมแนะนำอย่างยิ่งให้คุณเข้าไปซื้อ Mars Rocks ใน OpenSea เพราะตอนนี้ราคากำลังถูกมากๆ
คุณคิดยังไงที่ศิลปินหลายคนทำลายงานจริงของเขาเมื่อเอางานขึ้น NFT แล้ว
ผมว่ามันโอเคนะ เพราะเมื่องานเหล่านั้นเข้าไปอยู่ใน Blockchain มันจะอยู่ไปตลอดกาล เราก็ไม่จำเป็นต้องมีอะไรหลงเหลืออยู่ เหมือนที่ครั้งหนึ่ง เจเจ พีท (JJ PEET) อาจารย์สอนเซรามิกของผมเคยกล่าวว่า ถ้าคุณทำงานอะไรแล้วออกมาไม่ดี ทุบมันให้แหลกซะ เพราะถ้าไม่ทำแบบนั้นมันจะอยู่ไปอีก 15,000 ปี หลังจากที่คุณตายไปแล้ว
แล้วคุณทำแบบนั้นไหม
ตลอดเวลา มันมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า Sunk Cost Fallacy (การตัดสินใจผิดจากต้นทุนจม) เหมือนเราลงทุนไปกับโครงการนี้ เราต้องทำให้มันจบให้ได้ เราใช้เวลาไปกับโครงการนี้ไปเยอะแล้ว เราต้องใช้เวลามากขึ้นอีกเพื่อจบมันลงให้ได้ ทั้งๆ ที่บางครั้งเราก็แค่เลิกทำ แล้วก็เริ่มต้นใหม่ เพราะมันเสียเวลา มันเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกับกฎข้อหนึ่งของผมว่า จบโครงการของคุณซะ
คำถามสุดท้าย คุณคิดว่าบางครั้งศิลปินต้องจำกัดตัวเองไหม
ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะจำกัดขอบเขตของงาน เพื่อที่คุณจะทำให้มันเสร็จได้ ผมไม่คิดว่าไม่มีข้อจำกัดในสิ่งที่สมองมนุษย์จะทำได้นะ แต่ผมเชื่อในการสร้างข้อจำกัดเพื่อที่คุณจะทำโครงการบางอย่างให้สำเร็จลุล่วงได้ ยกตัวอย่างเช่น เราจะไม่ทำให้เรือของเราบินได้ (หัวเราะ) เราจะไม่ติดปีกให้เรือบินได้ ไม่! เพราะมันเป็นแค่เรือ การสร้างตัวแปรของงานช่วยให้เราทำงานให้จบลงได้ ว่าเราจะแค่ทำให้เป็นเรือที่ดีที่สุดเท่าที่มันจะเป็นได้ ทั้งขนาด, รูปทรง, และงบประมาณ แต่นอกจากนี้ ผมไม่คิดว่าเราต้องมีข้อจำกัดอะไรอีก บางทีข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวก็คือ เราต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการทำบางสิ่งบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ผมไม่ใช่หมอ แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่าถ้าผมได้ฝึกฝนเล่าเรียนสักหน่อย ผมน่าจะทำการผ่าตัดได้ดีกว่าคนอื่น แต่ผมก็ขอเชื่อใจมืออาชีพบางคนที่ใช้เวลาฝึกฝนเล่าเรียนสิ่งนี้มาเป็นสิบๆ ปีมากกว่านะ! (หัวเราะ)
- ผลงานของ Tom Sachs ในชื่อ Infinity เป็นส่วนหนึ่งในงาน Bangkok Art Biennale ปี 2565 โดยจัดแสดงที่มิวเซียมสยาม ตั้งแต่วันนี้ – 23 กุมภาพันธ์ 2566