×

เปิดเบื้องหลังการ ‘ปิดฉาก 35 ปี’ ของห้างโตคิว MBK และการเข้ามาของ ‘ดองกิ’ สาขาใหญ่สุดในไทย เป็นแห่งแรกที่ติด BTS

01.02.2021
  • LOADING...

ปิดฉากไปเรียบร้อยแล้วสำหรับ ‘ห้างสรรพสินค้าโตคิว’ สาขาศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ หลังเปิดดำเนินการผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิกฤตการเงินในเอเชีย และความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามา 35 ปีด้วยกัน 

 

การปิดตำนานในครั้งนี้ถูกมองว่าเกิดจากเงินบาทที่แข็งค่า ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ตลอดจนการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ จากการพัฒนาศูนย์การค้าต่างๆ ได้เข้ามากดดันธุรกิจของโตคิว กระทั่งเกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้ห้างที่อยู่มาตั้งแต่เอ็ม บี เค เปิดดำเนินการเป็นวันแรกไม่สามารถเดินไปต่อได้

 

แต่แท้จริงแล้วนั้นไม่ใช่ ‘สาเหตุ’ เดียวที่ทำให้ ‘ห้างโตคิว’ ตัดสินใจปิดตำนานของตัวเอง ทั้งๆ ที่เพิ่งต่อสัญญาการเช่าไปหมาดๆ 

 

โควิด-19 ไม่ใช่สาเหตุเดียว

 

จริงอยู่ที่ผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้จำนวนลูกค้าที่มาเดินเอ็ม บี เค ลดลงมากกว่าครึ่ง จากเฉลี่ย 80,000 คนต่อวัน เหลือเพียง 20,000-30,000 คนต่อวัน ซึ่งทั้งหมดเป็น ‘คนไทย’ ส่วนที่หายไป 100% คือ ‘นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ’ ที่ถือเป็นฐานลูกค้าหลักกว่าวันละ 50,000 คนด้วยกัน 

 

วิกฤตโควิด-19 กระทบก็จริง ทว่าเมื่อรวมกับเหตุผลอื่นๆ แล้วน้ำหนักกลับมีมากกว่า หนึ่งในนั้นคือการต้องใส่ ‘เม็ดเงินลงทุน’ เข้าไปอีก 

 

การต่อสัญญาที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2563 ต่อไปอีก 9 ปี (สัญญาเบื้องต้น 3 ปี แต่ต่อได้อีก 2 รอบ) จะเริ่มนับอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2564 หนึ่งในสัญญาที่พูดคุยกันไว้ทั้ง 2 ฝ่ายคือ การที่ห้างโตคิวต้องใส่เงินเพิ่มอีก 120 ล้านบาท เพื่อรีโนเวตให้สมกับเป็น ‘ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น’

 

เพราะการมีอยู่ของห้างโตคิว ทางเอ็ม บี เค ก็หมายมั่นว่าจะกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘แม่เหล็ก’ ในการดึงดูดลูกค้าให้เดินเข้ามา ทว่าแท้จริงแล้ว ความเป็นญี่ปุ่นอย่างแท้จริงมีแค่ชั้น 4 ที่เป็นโซนซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น (โซนนี้มีร้านอาหารญี่ปุ่นตั้งอยู่ด้วย) ในขณะพื้นที่อีก 3 ชั้น ได้จัดสรรให้กับร้านค้าอื่นๆ เข้ามาเช่าแทน และสินค้าก็ไม่ได้แตกต่างจากศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าที่อยู่รายรอบเท่าไรนัก

 

 

โดยส่วนหนึ่งที่ทำให้เสน่ห์ของห้างโตคิวหายไปคือ หนึ่งในสินค้าขึ้นชื่อของญี่ปุ่นอย่าง ‘ยาและอาหารเสริม’ ที่หากใครได้บินลัดไปเยือนด้วยตัวเองก็มักจะขนกลับมาด้วยทุกครั้ง แต่ในแง่ของการนำเข้าต้องใช้เวลาและขั้นตอนจำนวนมาก ทำให้ส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่นำเข้ามา แม่เหล็กส่วนนี้จึงหายไป 

 

ดังนั้นหากมีการรีโรเวตใหม่ (ที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับการรีโนเวตเอ็ม บี เค ทั้งศูนย์) ก็จะทำให้ภาพของความเป็น ‘ห้างญี่ปุ่น’ มีความชัดเจนยิ่งขึ้น แต่เมื่อมองไปยังสถานการณ์การแข่งขั้น ผลประกอบการที่แม้จะมีรายได้ ‘หลักพันล้าน’ ก็จริง แต่เป็นตัวเลขที่ลดลงทุกปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 

 

ยิ่งกำไรไม่ต้องพูดถึง จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ของ ‘บริษัท กรุงเทพ-โตคิว สรรพสินค้า จำกัด’ พบว่า ขาดทุนทุกปีตั้งแต่ตัวเลขเกือบ 100 ล้าน ไปจนถึงเกือบ 300 ล้านบาท รวมๆ แล้วตัวเลขขาดทุนสะสม 5 ปี กว่า 670 ล้านบาทแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ ‘โตคิว กรุ๊ป’ จะตัดสินใจถอนตัวจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เพราะเมื่อมองเข้าไปลึกๆ แล้ว ‘ธุรกิจห้างสรรพสินค้า’ ก็ไม่ได้เป็นธุรกิจหลักอีกแล้วของ ‘โตคิว กรุ๊ป’ ที่บ้านเกิดเองก็เหลือเพียง 4-5 สาขาเท่านั้น 

 

ขณะเดียวกัน การปิดฉาก 35 ปีของห้างโตคิวจึงถือเป็นเส้นทางที่เรียกว่า ‘Win-Win’ ของทั้ง 2 ฝ่ายเลยก็ว่าได้ เพราะห้างโตคิวเองก็ไม่ต้องแบกตัวเลขขาดทุนและการลงทุนใหม่หลัก 100 ล้านบาท  

 

ฝั่งเอ็ม บี เค เองก็ได้พื้นที่กลับมาพัฒนาใหม่ให้ตรงตามคอนเซปต์ที่ตัวเองต้องการ ด้วยพื้นที่ของห้างโตคิวไม่ใช่น้อยๆ รวม 4 ชั้นกว่า 12,000 ตารางเมตร ถือเป็นผู้เช่าพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากโรงภาพยนตร์ SF ซึ่งการปิดตัวของห้างโตคิวในครั้งนี้ ทางฝั่งเอ็ม บี เค ก็ใจดีให้ออกก่อนเวลาหมดสัญญา 3 เดือน ในขณะที่การยกเลิกสัญญาเช่าใหม่ก็เสียค่าธรรมเนียมไม่มากนัก

 

 

การมาของ ‘ดองกิ’

 

สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ ‘ใคร’ จะเข้ามาเช่าพื้นที่นี้ต่อจากห้างโตคิว โดยทันทีที่มีข่าวว่าจะมีการปิดตัว ‘Don Don Donki’ หรือที่คนไทยคุ้นเคยอยู่แล้วในชื่อ ‘ดองกิ’ ได้เป็นรายแรกที่ติดต่อเข้ามาโดยสนใจที่จะเช่าพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ทางดองกิสนใจที่จะมาเช่าพื้นที่ของเอ็ม บี เค ตั้งแต่สาขาแรกแล้ว แต่ด้วยความไม่ลงตัว หลายๆ อย่างจึงยังไม่เกิดขึ้น

 

เดิม ‘ดองกิ’ จะขอเช่าพื้นที่เพียงครึ่งเดียวของชั้น 2 ซึ่งเป็นชั้นที่เชื่อมต่อกับสถานีบีทีเอส หรือราว 1,500 ตารางเมตร แต่หลังจากคุยกันไปมา ในที่สุดจึงตกลงที่จะเช่า ‘ทั้งชั้น’ ขนาด 3,000 ตารางเมตร โดยมีสัญญาเช่าทั้งหมด 9 ปีด้วยกัน

 

เบื้องต้นสาขานี้ถูกระบุว่าจะเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดของไทยและเป็นแฟลกชิปสโตร์ อีกทั้งยังเป็นสาขาแรกที่อยู่ติดรถไฟฟ้าบีทีเอสอย่างแท้จริง โดยนอกเหนือจากซูเปอร์ที่จะเต็มไปด้วยสินค้า ‘Made in Japan’ ภายในจะมีร้านอาหารญี่ปุ่นอีกหลายๆ ร้านที่จะเข้ามาเปิด และสาขานี้จะยังเปิด 24 ชั่วโมง โดยทางเอ็ม บี เค เองก็จะได้ปรับปรุงลานจอดรถด้านข้างเพื่อรองรับในเรื่องนี้ด้วย 

 

แน่นอนว่าการเข้ามาของดองกิจะช่วยเติมเต็มความเป็น ‘ญี่ปุ่น’ และสร้างแม่เหล็กดึงดูดที่จะช่วยเพิ่มคนไทยให้เดินเข้าเอ็ม บี เค เป็นอย่างดี โดยมีการประเมินว่า หากเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงปลายไตรมาส 3/64 จะมีทราฟฟิกกว่าวันละ 20,000 คนด้วยกัน

 

โยซูเกะ ชิมานุกิ ประธานกรรมการ บริษัท ดองกิ (ประเทศไทย) จำกัด เคยให้ข่าวไว้เมื่อตอนต้นเดือนตุลาคม 2564 ว่า ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกและมองหาสถานที่ที่ตอบโจทย์กับการเปิดสาขาใหม่ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ และระยอง รวมถึงในส่วนของพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร 

 

“หากมีห้างสรรพสินค้าใดที่ตอบโจทย์ในการขยายสาขา ทางเราก็จะพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งปัจจุบันคาดว่าจะขยายสาขาใหม่ 2 สาขาภายในปีหน้า (2564) ”

 

โดยได้มีการวางเป้าหมายในอีก 5 ปี หรือปี 2568 จะขยายสาขาไว้ที่จำนวน 20 สาขา โดยคาดการณ์ว่าจะเป็นการขยายสาขาในนามของ Don Don Donki จำนวน 15 สาขา และเปิดธุรกิจรูปแบบใหม่อีกจำนวน 5 สาขา ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยว่าธุรกิจใหม่นี้จะเป็นแบบใด 

 

พื้นที่อื่นก็มีคนจองแล้ว

 

สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)

 

นอกเหนือจากการเข้ามาของ ‘ดองกิ’ แล้ว สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ระบุว่า พื้นที่อื่นๆ ของห้างโตคิวก็มีการจับจองไปหมดแล้ว โดยที่ชั้น 1 ทางเครือสหพัฒน์ขอเหมาทั้งชั้น 3,000 ตารางเมตร โดยจะมี ‘ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล’ เป็นแกนนำมาเปิด ซึ่งจะมีทั้งแบรนด์แฟชั่นและร้านร้านซูรูฮะ

 

ชั้น 2 เป็น Don Don Donki ส่วนชั้น 3 มีรายใหญ่ 2 รายที่ขอพื้นที่ แต่ยังไม่ได้ตกลงว่าจะเป็นอะไร โดยเบื้องต้นถูกระบุว่าจะเป็นร้านที่ทำแบบ O2O ขายสินค้าครบครัน ส่วนชั้น 4 ก็จะเป็นโซนไอที 

 

นอกจากการรีโนเวตพื้นที่ห้างโตคิวเก่าแล้ว ภายในศูนย์ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบ 36 ปี โดยจะจัดร้านให้เป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น ชั้น 1 กำลังเจรจาให้ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตขยายพื้นที่ จะมีโซนร้านอาหารที่จะเติมร้านใหม่ๆ และมีร้านที่เปิด 24 ชั่วโมงด้วย โดยจับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาโดยเฉพาะ

 

สำหรับชั้น 2 จับกลุ่มวัยทำงาน จึงจะมีร้านสำหรับแฮงก์เอาต์ มีร้านสไตล์ญี่ปุ่นด้วย ชั้น 3 จะเน้นจับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยจะเป็นร้านของฝาก ร้านทอง ร้านเพชร ชั้นไอทีจะปรับใหม่ทั้งหมด โดยร้านตู้จะลดลง 50% และไปรวมกันเป็นร้านใหญ่แทน ด้วยส่วนใหญ่เจ้าของ 1 รายจะมีร้านหลายตู้อยู่แล้ว การลดจำนานลงจะทำให้พื้นที่ดูโล่ง น่าเดินมากขึ้น 

 

“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เรียกว่า ไม้ผลัดใบอย่างแท้จริง แต่เป็นการผลัดใบที่ทำให้ดีขึ้น สวยงามขึ้น”

 

คาดว่าการปรับปรุงทั้งหมด 80% จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ส่วนไตรมาส 4 จะเสร็จ 100% คาดว่าอาจต้องใช้เงินหลัก ‘พันล้านบาท’ ซึ่งการปรับปรุงใหญ่ครั้งนี้จะอยู่ยาวไปอีก 13 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่สัญญาพื้นที่เช่าจะหมด 

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising