×

เปิดผลสำรวจจากมุมคนต่างเพศ-วัย โดย TIJ คิดอย่างไรกับ #สมรสเท่าเทียม

โดย THE STANDARD TEAM
15.06.2022
  • LOADING...
TIJ

*Trigger Warning: รายงานนี้มีถ้อยคำซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายใจ

 

นอกจากเดือนมิถุนายนจะเป็นเดือน Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว วันนี้ (15 มิถุนายน) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยังมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่ง ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเป็นผู้เสนอ หลังจากคณะรัฐมนตรีได้ขอรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ ซึ่งมาในจังหวะที่รัฐบาลกำลังมีการผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศมองว่ายัง ‘ไม่เท่าเทียม’ อย่างแท้จริง

 

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวอันหลากหลาย คำถามพื้นฐานที่สุดที่น่าย้อนกลับมาสำรวจกันอีกครั้งคือ สังคมไทยมองสิทธิในความสัมพันธ์ และการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างไร

 

THE STANDARD และสื่อมวลชนอีกจำนวนหนึ่งได้รับผลสำรวจความคิดเห็น (Survey) ซึ่งสำรวจและประมวลผลโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (Thailand Institute of Justice-TIJ) เป็นความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อสิทธิในความสัมพันธ์และการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ การสำรวจนี้เป็นการสำรวจจากประชากรตัวอย่างทั้งสิ้น 1,034 คน โดยในจำนวนนี้ 120 คน เป็นการสำรวจผ่านการแจกแบบสอบถามที่เป็นกระดาษด้วยตนเอง และที่เหลือเป็นการสำรวจผ่านช่องทางออนไลน์ 

 

การสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดดำเนินการระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 25 พฤษภาคม 2565 ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบสองขั้น (Two-Stage Sampling) คือในขั้นตอนแรกเป็นการสุ่มแบบชั้นภูมิ (Stratified Sampling) เป็นประชากรไทย 4 ช่วงอายุ ได้แก่ Baby Boomer (อายุระหว่าง 57-75 ปี), Gen X (อายุระหว่าง 42-56 ปี), Gen Y (อายุระหว่าง 24-41 ปี) และ Gen Z (อายุระหว่าง 15-23 ปี) และต่อมาในขั้นตอนที่สองใช้การสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) จำนวนขั้นต่ำ 100 คนในแต่ละกลุ่ม เบื้องต้นก่อนการสำรวจกำหนดระดับความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 และได้ความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 0.05 และเมื่อพิจารณาจากจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจจริงได้ระดับความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 99.88

 

ในส่วนของแบบสำรวจจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือข้อมูลพื้นฐานของผู้ตอบแบบสำรวจ ได้แก่ เพศ อายุ ศาสนา ระดับการศึกษา อาชีพ และสถานะความสัมพันธ์ 

 

ส่วนที่สองคือ 10 คำถามที่วัดการรับรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการสมรสเท่าเทียม และหลังการสำรวจ TIJ ตัดสินใจใช้ 3 จาก 10 คำถามเป็นตัววัดว่ามีการรับรู้อยู่ในระดับใด (รับรู้, พอรับรู้, ไม่รับรู้) โดย 3 คำถามดังกล่าวประกอบด้วย “มีการเรียกร้องให้คู่รักหลากหลายทางเพศที่อยากใช้ชีวิตร่วมกัน จดทะเบียนสมรสได้และได้สิทธิตามกฎหมายเหมือนคู่รักชายหญิง”, “ทางราชการมีการยกร่างกฎหมายเพื่อให้คู่รักหลากหลายทางเพศ จดทะเบียน ‘คู่ชีวิต’ กัน และได้รับสิทธิบางอย่าง” และ “ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งอนุญาตให้แค่คู่รักชายหญิงจดทะเบียนสมรสได้ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” ผู้ตอบแบบสอบถามจะเลือกว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ ใน 10 คำถามดังกล่าว ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นคำตอบที่ตัดสินได้ว่าตอบถูกหรือตอบผิดอย่างชัดเจน

 

และส่วนที่สาม ว่าด้วยความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดการสมรสเท่าเทียม โดยให้ผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าคิดเห็นอย่างไรกับสถานการณ์สมมติต่างๆ ที่สะท้อนถึงสิทธิในความสัมพันธ์และการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น “นางสาวบีกับนางสาวฝ้ายแต่งงานกัน วันหนึ่งนางสาวบีประสบอุบัติเหตุ นางสาวฝ้ายควรให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาลฉุกเฉินได้ แทนที่จะต้องรอญาตินางสาวบีจากต่างประเทศ” และมีระดับความคิดเห็นให้เลือก 4 ระดับในแต่ละสถานการณ์ ได้แก่ ‘เห็นด้วยอย่างยิ่ง, เห็นด้วย, ไม่เห็นด้วย, ไม่มีความเห็น’ 

 

จากนั้นจึงให้เลือกต่อไปว่า จากสิทธิที่คู่สมรสชายหญิงได้รับตามกฎหมาย ท่านคิดว่าคู่รักหลากหลายทางเพศควรได้รับสิทธิใดบ้าง (ไม่ควรได้รับสิทธิใด, ควรได้รับสิทธิบางอย่าง, ควรได้รับสิทธิทุกอย่างเหมือนคู่สมรสชายหญิง) และท้ายสุด เลือกว่าอย่างช้าภายใน 5-10 ปีนี้ ควรมีการดําเนินการเรื่องนี้อย่างไรต่อไป ควรมีการเตรียมการอย่างไรเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย และให้ระบุความคิดเห็นอื่นๆ ได้เพิ่มเติม

 

อย่างไรก็ตาม TIJ ระบุหมายเหตุไว้ว่า การสำรวจนี้ใช้วิธียึดโยงกับเรื่อง ‘สิทธิ’ ในแต่ละด้านของผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นหลัก โดยไม่ได้ยึดโยงกับร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง ทั้งกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตแต่อย่างใด และการสำรวจผ่านช่องทางออนไลน์อาจส่งผลให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่มีแนวโน้มเป็นกลุ่มที่มีระดับการศึกษาค่อนข้างสูงในจำนวนที่มากขึ้น นอกจากนี้ แบบสอบถามนี้ยังขาดการสอบถามโดยตรงถึงความเห็นต่อประเด็นการใช้คำว่า ‘สมรส’ ตลอดจนบางคำถามที่จำเป็นต้องใช้ภาษากฎหมายอาจเกิดความเข้าใจผิดในการอ่านของผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วน และมีประเด็นว่าการตอบคำถามหลายส่วนที่มีความคล้ายคลึงกัน แต่คำตอบอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกัน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มตัวอย่างบางคนอาจเลือกตอบ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับบางสถานการณ์สมมติที่ระบุว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศควรได้รับแต่ละสิทธิในความสัมพันธ์และการสมรส แต่กลับเลือกตอบในอีกข้อว่าคู่รักหลากหลายทางเพศควร ‘ได้รับสิทธิทุกอย่าง’ เหมือนคู่สมรสชายหญิง เป็นต้น

 

THE STANDARD ลองเรียบเรียงผลสำรวจจาก TIJ และสรุปแง่มุมส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ และหากต้องการดูรายละเอียดทั้งหมด สามารถเข้าไปดูผลสำรวจฉบับเต็มในรูปแบบ Dashboard ได้ที่เว็บไซต์ของ TIJ ที่: https://datastudio.google.com/u/0/reporting/bec87fa4-e358-43a1-a0e5-1c930f862fee/page/woiuC 

 

ทั้งนี้ เราต้องขอหมายเหตุไว้ตรงนี้ว่า ความเห็นที่ปรากฏจากแบบสำรวจต่อไปนี้อาจมีถ้อยคำที่ทำให้ไม่สบายใจ และเป็นความเห็นของกลุ่มตัวอย่างซึ่งผู้อ่านอาจเห็นต่างออกไปได้ 

 

แนวโน้มทั่วไปและตามช่วงอายุ

 

⦿  แนวโน้มเกือบทั้งหมดพบว่า ยิ่งเป็นช่วงวัยที่มีอายุน้อยลง (จากช่วง Baby Boomer ไปถึง Gen Z) ไม่ว่าเพศใดก็ตาม สัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างที่เห็นว่าคู่รักหลากหลายทางเพศควรได้รับสิทธิทุกอย่างเหมือนคู่รักชายหญิง (เทียบกับกลุ่มตัวอย่างในช่วงวัยและเพศเดียวกันทั้งหมด) ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ

 

⦿  สำหรับ 10 คำถามที่ใช้วัดการรับรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการสมรสเท่าเทียม ซึ่งให้เลือกตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ พบว่าโดยภาพรวม คำถามที่มีผู้ตอบผิดมากที่สุด คือคำถามข้อที่ 10 ที่มีโจทย์ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งอนุญาตให้แค่คู่รักชายหญิงจดทะเบียนสมรสได้ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” รองลงมาคือข้อ 9 ที่มีโจทย์ว่า “ทางราชการมีการยกร่างกฎหมายเพื่อให้คู่รักหลากหลายทางเพศ จดทะเบียน ‘คู่ชีวิต’ กัน และได้รับสิทธิบางอย่าง”

 

แนวโน้มจากกลุ่มตัวอย่างที่ระบุเพศในแบบสำรวจเป็น ‘ชาย’ 

 

⦿  กลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าตนเองเป็น ‘ชาย’ ในช่วงอายุ ‘Baby Boomer’ (อายุระหว่าง 57-75 ปี) ส่วนใหญ่ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่ ‘พอรับรู้’ ถึงประเด็นสมรสเท่าเทียม ซึ่งหมายถึงพวกเขาสามารถตอบคำถาม 3 คำถามที่เป็นตัวชี้วัดการรับรู้ได้อย่างถูกต้องอยู่บ้าง 

 

⦿  แต่ปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่าง ‘ชาย + Baby Boomer’ นี้ถึงร้อยละ 63 เห็นว่าคู่รักหลากหลายทางเพศไม่ควรได้รับสิทธิใดๆ เหมือนคู่รักชายหญิง ซึ่งนับเป็นกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจแบ่งตาม ‘เพศ + วัย’ ที่มีความเห็นแบบดังกล่าวในสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับ ‘เพศ + วัย’ อื่น นอกจากนี้ 85 จาก 138 คนในกลุ่มตัวอย่าง ‘ชาย + Baby Boomer’ นี้ ยังเลือกตอบคำถามที่ว่า “อย่างช้าภายใน 5-10 ปีนี้ ควรมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรต่อไป” ว่า “ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายให้การรับรองสิทธิคู่รักหลากหลายทางเพศทุกแนวทาง” ขณะที่ 20 จาก 138 คนเห็นว่าควร “แก้กฎหมายให้การสมรสไม่ระบุเพศ (บุคคลทุกเพศที่จะสมรสกันต้องได้รับสิทธิและสวัสดิการโดยเท่าเทียมกัน)”

 

⦿  เมื่อถามว่า “ยังมีประเด็นใดเกี่ยวกับแนวคิดการสมรสเท่าเทียมที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจ หรือควรมีการอธิบายเพิ่มเติม” โดยเป็นคำถามปลายเปิดที่จะตอบหรือไม่ก็ได้ ปรากฏความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง ‘ชาย + Baby Boomer’ ส่วนหนึ่ง เช่น “ทุกวันนี้มีกี่เพศ เป็นเพศหรือแค่ใจบอบบางไม่ปกติ”, “เพศคือชายหญิง อันอื่นเป็นเรื่องชั่วคราวตามสมัยใหม่”, “สิทธิในเรื่องความเป็นครอบครัว”, “ทำความเข้าใจกับบุคคลทั่วไปว่าให้ตระหนักถึงความเท่าเทียมกันในด้านสิทธิเสรีภาพ”, “ทำแล้วดีขึ้นอย่างไร อธิบาย คนจะเข้าใจเอง” 

 

⦿  ด้าน “สิทธิที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศควรจะได้รับ” ซึ่งเป็นคำถามปลายเปิดที่จะตอบหรือไม่ก็ได้ มีความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง ‘ชาย + Baby Boomer’ ทั้ง “ไม่ควรได้รับสิทธิ”, “เรื่องอื่นยังพอรับได้ แต่เรื่องบุตรเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ความเป็นพ่อแม่ผูกกับความเป็นชายและหญิง จะเป็นการสร้างปมให้ลูกหรือไม่ ไม่ใช่แค่ทำเพราะสนองความต้องการของตนเอง ไม่สนใจเด็ก”, “เป็นคนปกติ ไม่ผิดเพศก็ดีอยู่แล้ว”, “สิทธิในการรับอุปการะบุตรบุญธรรม และการอุ้มบุญ” ไปจนถึง “ทุกสิทธิ” และ “ความเท่ากัน”

 

⦿  และหากแบ่งย่อยกลุ่มตัวอย่าง ‘ชาย + Baby Boomer’ ตามระดับการศึกษาลงไปอีก จะพบว่าในกลุ่ม ‘ชาย + Baby Boomer’ เฉพาะที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี มีสัดส่วนของผู้ที่เห็นว่าคู่รักหลากหลายทางเพศควรได้รับสิทธิทุกอย่าง ‘หรือ’ ควรได้รับสิทธิบางอย่างเหมือนคู่รักชายหญิง ‘เกินครึ่ง’ ขณะที่ ชาย + Baby Boomer’ ที่มีระดับการศึกษาอื่นกลับมีสัดส่วนของผู้ที่เห็นว่าคู่รักหลากหลายทางเพศควรได้รับสิทธิทุกอย่าง ‘หรือ’ ควรได้รับสิทธิบางอย่างเหมือนคู่รักชายหญิง ‘ไม่ถึงครึ่ง’

 

⦿  นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ระบุเพศเป็นชายในช่วงอายุ ‘Gen X’ (อายุระหว่าง 42-56 ปี) ถึงร้อยละ 80 และช่วงอายุ ‘Gen Y (อายุระหว่าง 24-41 ปี)’ ถึงร้อยละ 71 เป็นกลุ่มที่มีระดับความรับรู้ถึงประเด็นการสมรสเท่าเทียมอยู่ในระดับ ‘รับรู้’ คือตอบคำถาม 3 คำถามที่เป็นตัวชี้วัดการรับรู้ได้ถูกต้องทั้งหมด ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจชายในช่วงอายุ ‘Gen Z’ (อายุระหว่าง 15-23 ปี) ส่วนใหญ่มีระดับความรับรู้อยู่ที่ ‘พอรับรู้’

 

⦿  แต่เมื่อมาถึงคำถามที่ว่า คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศควรได้รับสิทธิใดบ้าง กลายเป็นกลุ่มตัวอย่างชายในกลุ่ม ‘Gen Z’ ที่มีสัดส่วนผู้เห็นว่าคู่รักหลากหลายทางเพศควรได้รับสิทธิทุกอย่างเหมือนคู่รักชายหญิงสูงที่สุด หรือคิดเป็นถึงร้อยละ 97.5 ของกลุ่มตัวอย่าง ‘ชาย + Gen Z’ ทั้งหมด ส่วน Gen Y และ Gen X ก็มีผู้มีความเห็นแบบเดียวกันนี้อยู่ที่ร้อยละ 90.9 และ 65.7 ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างในช่วงอายุเดียวกันตามลำดับ ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวโน้มตามช่วงอายุดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้

 

⦿  กลุ่มตัวอย่างซึ่งระบุเพศเป็นชายในทุกช่วงอายุ ที่ตอบว่าคู่รักหลากหลายทางเพศควรได้รับสิทธิ ‘บางอย่าง’ เหมือนคู่สมรสชายหญิง ได้เลือกสิทธิที่พวกเขามองว่าคู่รักหลากหลายทางเพศควรได้รับ ปรากฏว่าสิทธิที่มีผู้เลือกมากเป็นอันดับต้นๆ เช่น สิทธิในการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกัน, สิทธิการตัดสินใจรักษาพยาบาลหรือเซ็นอนุญาต เมื่อคู่รักต้องรับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน, สิทธิการจัดการศพ, สิทธิในกองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต และไม่ได้ระบุชื่อไว้ ฯลฯ

 

⦿  สำหรับคำถามปลายเปิดที่ว่า “ยังมีประเด็นใดเกี่ยวกับแนวคิดการสมรสเท่าเทียมที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจ หรือควรมีการอธิบายเพิ่มเติม” กลุ่มตัวอย่างที่ระบุเพศเป็นชายตั้งแต่ Gen X ลงมาจนถึง Gen Z ตอบไว้ โดยส่วนใหญ่จะเสนอหลากหลายประเด็น อาทิ “ประเด็นในเรื่องตัวตนของมนุษย์แต่ละคน ไม่ว่าจะมีเพศสภาพ หรือรสนิยมทางเพศเป็นอย่างไร ทุกคนก็มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน มีสิทธิและเสียงเท่าเทียมกัน”, “ความก้าวหน้าด้านนี้กับขนบธรรมเนียมประเพณี ว่าปัจจุบันต้องปรับเข้าหากันอย่างไร”, “การใช้สิทธิสวัสดิการในฐานะคู่แต่งงาน และการจัดการเรื่องกู้ร่วมและมรดก”, “การสมรสเท่าเทียมไม่ได้หมายถึงแค่การจดทะเบียนสมรส แต่ส่งผลถึงสิทธิตามกฎหมาย เช่นเรื่องการกู้ซื้อบ้าน มรดก หรือสิทธิเรื่องการรักษาพยาบาลของคู่สมรส”, “การสมรสไม่ได้ทำให้สิทธิชายหญิงกระทบ ต่างคนต่างใช้ชีวิตในสังคม ควรเท่าเทียมกัน” ฯลฯ

 

⦿  ด้านคำถามที่ว่า “สิทธิที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศควรจะได้รับ” ซึ่งเป็นคำถามปลายเปิดเช่นกัน กลุ่มตัวอย่างที่ระบุเพศเป็นชายตั้งแต่ Gen X ลงมาจนถึง Gen Z ตอบไว้หลากหลายมุมมอง เช่น “เท่าเทียมสามีภรรยาตามกฎหมายที่จดทะเบียนสมรส”, “สิทธิของนักการทูตไทยที่รักกับเพศเดียวกัน คู่สมรสเพศเดียวกัน ควรได้รับสิทธิต่างๆ”, “การจดทะเบียนคู่ชีวิต แต่ไม่ใช่ทะเบียนสมรส”, “การปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในการทำงาน/โอกาสในการทำงานของบุคคลข้ามเพศ”, “การแต่งตัวในโรงเรียน และการตัดผมหรือไว้ผมตามเพศสภาพในโรงเรียน”, “การบริจาคเลือดหรืออวัยวะ” ฯลฯ

 

แนวโน้มจากกลุ่มตัวอย่างที่ระบุเพศในแบบสำรวจเป็น ‘หญิง’

 

⦿  ผู้ตอบแบบสำรวจที่ระบุเพศเป็น ‘หญิง’ ไม่ว่าช่วงอายุใด ส่วนใหญ่มีระดับความรับรู้ถึงประเด็นการสมรสเท่าเทียมอยู่ในระดับ ‘รับรู้’ คือตอบคำถาม 3 คำถามที่เป็นตัวชี้วัดการรับรู้ได้ถูกต้องทั้งหมด แต่ช่วงอายุ ‘Gen Y’ มีสัดส่วนผู้ที่อยู่ในระดับ ‘รับรู้’ มากที่สุด คือ 108 จาก 148 คน

 

⦿  เช่นเดียวกับแนวโน้มตามช่วงอายุ เมื่อช่วงอายุลดลง จะมีสัดส่วนกลุ่มตัวอย่างซึ่งเห็นว่าคู่รักหลากหลายทางเพศควรได้รับสิทธิทุกอย่างเหมือนคู่รักชายหญิงเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ระบุเพศเป็นหญิงนั้น ไม่ว่าช่วงอายุใดก็มีผู้เห็นด้วยเช่นนี้ ‘เกินครึ่ง’ โดย Baby Boomer, Gen X, Gen Y และ Gen Z มีผู้เห็นด้วยในลักษณะนี้ร้อยละ 63.1, 76.5, 83.8 และ 94 ตามลำดับ 

 

⦿  ขณะในทางตรงกันข้าม สัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างหญิงในวัย Baby Boomer, Gen X, Gen Y และ Gen Z ที่เห็นว่าคู่รักหลากหลายทางเพศไม่ควรได้รับสิทธิใดๆ เหมือนคู่รักชายหญิง อยู่ที่ร้อยละ 11.9, 1.5, 3.4 และ 0.8 ตามลำดับ ส่วนที่เหลือคือผู้ที่เห็นว่าคู่รักหลากหลายทางเพศควรได้รับสิทธิเหมือนคู่รักชายหญิงเพียง ‘บางสิทธิ’

 

⦿  กลุ่มตัวอย่างซึ่งระบุเพศเป็นหญิงในทุกช่วงอายุที่ตอบว่าคู่รักหลากหลายทางเพศควรได้รับสิทธิ ‘บางอย่าง’ เหมือนคู่สมรสชายหญิง ได้เลือกสิทธิที่พวกเขามองว่าคู่รักหลากหลายทางเพศควรได้รับ ปรากฏว่าสิทธิที่มีผู้เลือกมากเป็นอันดับต้นๆ เช่น สิทธิการรับรองบุตร/รับบุตรบุญธรรมร่วมกัน/อุ้มบุญ, สิทธิในการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกัน, สิทธิการตัดสินใจรักษาพยาบาลหรือเซ็นอนุญาต เมื่อคู่รักต้องรับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน, สิทธิการจัดการศพ, สิทธิในกองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต และไม่ได้ระบุชื่อไว้, สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับราชการ ฯลฯ

 

⦿  สำหรับคำถามปลายเปิดที่ว่า “ยังมีประเด็นใดเกี่ยวกับแนวคิดการสมรสเท่าเทียมที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจ หรือควรมีการอธิบายเพิ่มเติม” กลุ่มตัวอย่างที่ระบุเพศเป็นหญิงในช่วงอายุ Baby Boomer สะท้อนความเห็นในหลากหลายโทน รวมถึงการชี้ประเด็นที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจหรืออยากให้มีการอธิบายเพิ่มเติม แต่เมื่อขยับมาเป็น Gen X, Gen Y และ Gen Z จะเห็นน้ำหนักของการชี้ประเด็นที่ควรอธิบายเพิ่มดังกล่าวมากขึ้นไปอีก

 

⦿  คำตอบในคำถามนี้ของกลุ่มตัวอย่างช่วงอายุ Baby Boomer เช่น “แม้ควรสนับสนุนเพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิบุคคลอื่น หรือประเพณี วัฒนธรรม และต้องเปิดเผย”, “ประเด็นการยอมรับความหลากหลายทางเพศว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”, “สิทธิเท่าเทียมเหมือนคู่สมรสต่างเพศหรือไม่”, “คนแก่ตามโลกอินเทอร์เน็ตไม่ทัน อยากให้มีข่าวตามทีวี วิทยุ ที่รับรู้ข่าวเรื่องนี้ได้มากขึ้น”, “ข้อเสียหายอันอาจเกิดเนื่องจากการให้สิทธิเท่าเทียม ไม่จำกัดเพศ”, “การรับเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรม” ฯลฯ

 

⦿  คำตอบในคำถามนี้ของกลุ่มตัวอย่างช่วงอายุ Gen X, Gen Y และ Gen Z เช่น “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทุกคนเท่าเทียมกัน”, “คนมักมองว่าความรักของเพศที่สามไม่ยั่งยืน แตกต่างจากความรักของหญิงชาย ซึ่งไม่จริง พฤติกรรมบางอย่างเป็นเรื่องเฉพาะคน เหมารวมไม่ได้”, “การที่ให้สิทธินี้ไม่ได้ลิดรอนสิทธิผู้อื่น”, “การจัดการทรัพย์สิน, การจัดการการรักษาพยาบาล, ความเสมอภาค”, “กฎหมายเรื่องบุตร ในกรณีคู่สมรสเป็นเพศเดียวกัน”, “สาเหตุหรือข้อโต้แย้งที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”, “ยังไม่เข้าใจในความเท่าเทียม”, “ประเด็นเรื่องความสำคัญของการจดทะเบียนสมรส และประโยชน์ทางกฎหมายที่คู่รักที่ตัดสินใจสมรสกันควรได้รับอย่างเท่าเทียม”, “ควรมีการอธิบายประเด็นของศาสนาและการสมรสเท่าเทียม”, “นำเสนอว่าปัญหาที่คู่รักนอกจากชายหญิงต้องเจอเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน” ฯลฯ

 

⦿  สำหรับคำถามปลายเปิดที่ว่า “สิทธิที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศควรจะได้รับ” ความคิดเห็นส่วนใหญ่จากกลุ่มตัวอย่างที่ระบุเพศเป็นหญิงในทุกช่วงอายุ มีการเสนอสิทธิต่างๆ เช่น “ทุกสิ่งตามที่บุคคลทุกคนพึงมีและได้รับ และสนับสนุนจากรัฐ”, “สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม”, “สิทธิการเปิดเผยของผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องทำงานได้ทุกอาชีพ”, “การรับมรดก การเลี้ยงดูบุตรร่วมกัน”, “สมรสแบบจดทะเบียน”, “การรักษาพยาบาลในกรณีที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับข้าราชการ” ฯลฯ

 

แนวโน้มจากกลุ่มตัวอย่างที่ระบุตนในแบบสำรวจว่าเป็น ‘ผู้มีความหลากหลายทางเพศ’

 

⦿  มาถึงกลุ่มตัวอย่างที่ระบุตนว่าเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งคิดเป็นกว่า 1 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดในการสำรวจครั้งนี้ พบว่าส่วนใหญ่มีระดับการรับรู้ประเด็นสมรสเท่าเทียมในระดับ ‘รับรู้’ และไม่มีใครที่อยู่ในระดับ ‘ไม่รับรู้’ เลย

 

⦿  ส่วนความเห็นต่อการได้รับสิทธิของคู่รักหลากหลายทางเพศ ปรากฏว่าร้อยละ 95.83 ของกลุ่มตัวอย่างที่ระบุตนว่าเป็น ‘กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ’ ตอบว่าคู่รักหลากหลายทางเพศควรได้รับสิทธิทุกอย่างเหมือนคู่รักชายหญิง แต่ก็ยังมีอีกร้อยละ 3.24 ที่ระบุว่า ‘ควรได้รับสิทธิบางอย่าง’ และร้อยละ 0.93 ที่ระบุว่า ‘ไม่ควรได้รับสิทธิใดเลย’

 

⦿  กลุ่มตัวอย่างซึ่งระบุตนเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศในทุกช่วงอายุ ที่ตอบว่าคู่รักหลากหลายทางเพศควรได้รับสิทธิ ‘บางอย่าง’ เหมือนคู่สมรสชายหญิง ได้เลือกสิทธิที่พวกเขามองว่าคู่รักหลากหลายทางเพศควรได้รับ ปรากฏว่าสิทธิที่มีผู้เลือกมากเป็นอันดับต้นๆ เช่น สิทธิการหมั้น, สิทธิการเปลี่ยนไปใช้นามสกุลร่วมกัน, สิทธิรับค่าอุปการะเลี้ยงดู, สิทธิการรับรองบุตร/รับบุตรบุญธรรมร่วมกัน/อุ้มบุญ, สิทธิฟ้องหย่า/ฟ้องชู้, สิทธิในการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกัน, สิทธิการให้/รับมรดก, สิทธิในการทำนิติกรรมร่วมกัน, สิทธิในการลดหย่อนภาษีเงินได้, สิทธิการตัดสินใจรักษาพยาบาลหรือเซ็นอนุญาต เมื่อคู่รักต้องรับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน, สิทธิการจัดการศพ, สิทธิการดำเนินคดีแทน, สิทธิในกองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต และไม่ได้ระบุชื่อไว้ ฯลฯ

 

⦿  สำหรับคำถามปลายเปิดที่ว่า “ยังมีประเด็นใดเกี่ยวกับแนวคิดการสมรสเท่าเทียมที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจ หรือควรมีการอธิบายเพิ่มเติม” กลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศจากทุกช่วงอายุเสนอประเด็นไว้หลากหลาย เช่น “ยิ่งรอช้ายิ่งมีคนเดือดร้อนเสียหาย เสียสิทธิ”, “คู่หลากหลายทางเพศไม่ได้แตกต่างจากเพศชายหญิง”, “ความแตกต่างที่เด่นชัดสำคัญๆ ในสิทธิที่จะได้รับระหว่างการสมรสชายหญิง และการสมรสในเพศหลากหลายอื่น”, “ความกลัวว่าหากรับรองแล้วจะมีผลประโยชน์มากมาย”, “มนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิเท่าเทียม”, “การสมรสเท่าเทียมไม่ได้ทำให้บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้มีความหลากหลายทางเพศเสียสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนไป”, “สิทธิความเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิที่ผู้คนเลือกได้ โดยอยู่ภายใต้กฎหมายที่ต้องคุ้มครองพลเมืองทุกคนที่เป็นมนุษย์อย่างไม่แบ่งแยกครับ”, “คิดว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจดี ควรอธิบายเพิ่มเติมให้คนในสภาเข้าใจดีกว่าค่ะ”, “ควรเลิกความคิดผู้ชายเป็นใหญ่” ฯลฯ

 

⦿  สำหรับคำถามปลายเปิดที่ว่า “ยังมีสิทธิใดที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศควรจะได้รับ” กลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศจากทุกช่วงอายุก็ตอบคำถามไว้หลากหลายเช่นกัน เช่น “ไม่มี ขอเพียงแค่สิทธิที่เท่าเทียมกับบุคคลชายหญิงทั่วไป ที่มีสิทธิตามกฎหมาย เช่น สิทธิที่จะสร้างครอบครัว”, “สิทธิในด้านอาชีพการงานของคนข้ามเพศ”, “สมรสถูกกฎหมาย สามารถทำพินัยกรรมยกให้กับคู่สมรสได้”, “การเปลี่ยนคำนำหน้านามของบุคคลข้ามเพศ”, “การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ การรับรองสถานะการเปลี่ยนผ่าน เช่น การผ่าตัดแปลงเพศ การเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน สิทธิในการแต่งกายในที่ทำงาน สถานศึกษา”, “สิทธิเรื่องการมีบุตรด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ และการเป็นพ่อหรือแม่ของลูกที่เกิดมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” ฯลฯ อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่จะเน้นสิทธิอันเท่าเทียมในฐานะที่เป็นบุคคลเท่ากับคนอื่นๆ ทุกคนในสังคม

 

แนวโน้มจากกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจที่ไม่ระบุเพศในแบบสำรวจ

 

⦿  จาก 1,034 ตัวอย่างทั้งหมดในการสำรวจ ปรากฏว่ามีกลุ่มตัวอย่าง 9 คนที่ไม่ระบุเพศ 

 

⦿  แม้ 5 จาก 9 ผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มนี้จะมีระดับการรับรู้ประเด็นสมรสเท่าเทียมในระดับ ‘พอรับรู้’ (ส่วนอีก 4 คนอยู่ในระดับ ‘รับรู้’) แต่ทั้งหมดเห็นตรงกันเป็นเอกฉันท์ว่า คู่รักหลากหลายทางเพศควรได้รับสิทธิทุกอย่างเหมือนคู่รักชายหญิง

 

⦿  สำหรับคำถามปลายเปิดที่ว่า “ยังมีประเด็นใดเกี่ยวกับแนวคิดการสมรสเท่าเทียมที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจ หรือควรมีการอธิบายเพิ่มเติม” กลุ่มตัวอย่างที่ไม่ระบุเพศมีการเสนอประเด็นไว้ เช่น “ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นไม่สำคัญ คิดแค่ว่าก็แต่งไปสิแต่ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสมรสก็ได้”, “ควรผลักดันการแก้ไขกฎหมายมาตรา 1448 เกี่ยวกับการสมรส ให้บุคคลสามารถสมรสได้โดยไม่ระบุเพศอย่างเร่งด่วน”, “ควรทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อออกกฎหมายเฉพาะเพิ่มจากกฎหมายเดิมของการสมรส เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิเดิมของชายหญิงที่สมรสกันให้ได้รับสิทธิเช่นเดิม กฎหมายที่ออกใหม่สำหรับคู่ชีวิตหลากหลายเพศควรใช้ชื่อต่างจากการสมรส โดยให้สิทธิคนหลากหลายทางเพศเทียบเท่าคู่สมรสชายหญิงได้ แต่ไม่ควรใช้ชื่อคำว่า ‘การจดทะเบียนสมรส’ เช่นชายหญิงทำการสมรสเช่นเดิม”, “การสมรสคือการที่คนสองคนตกลงจะใช้ชีวิตร่วมกัน จะมาบังคับไม่ได้ว่ามีแค่เพศชายและหญิงเท่านั้นถึงสมรสได้”

 

⦿  สำหรับคำถามปลายเปิดที่ว่า “ยังมีสิทธิใดที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศควรจะได้รับ” กลุ่มตัวอย่างที่ไม่ระบุเพศจากทุกช่วงอายุก็ตอบคำถามไว้หลากหลายเช่นกัน เช่น “สิทธิทุกอย่างที่คู่สมรสชายหญิงได้ ผู้หลากหลายทางเพศก็ควรได้เช่นกัน”, “ควรได้รับสิทธิต่างๆ ที่มี เช่น การสมรสชายหญิง แต่ใช้คำให้แตกต่างไปจาก ‘การสมรส’ (เช่นคำว่า ‘จดทะเบียนคู่ชีวิต’ หรืออื่นๆ ที่เหมาะสม เพื่อมิให้สับสนเท่านั้น) โดยคำหน้านามยังคงเป็นนายหรือนางสาว/นางเหมือนกับเพศกำเนิดเดิมเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน แม้ว่าจะแปลงเพศแล้ว เพราะการใช้คำว่า ‘จดทะเบียนคู่ชีวิต’ แล้ว กำหนดให้ได้รับสิทธิต่างๆ เหมือน ‘คู่สมรส’ เมื่อกลับไปดูเพศกำเนิดเดิมจะพบว่าทั้งคู่อาจเป็นนายกับนายหรือนางสาว/นางกับนางสาว/นางตามเพศกำเนิดเดิม ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้อย่างไม่สับสน และทำได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดตามที่คนหลากหลายทางเพศต้องการ”, “สิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เช่น ยกเลิกกฎระเบียบบังคับการแต่งกายในสถานศึกษา สิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน”, “ทุกสิทธิไม่ควรมีการระบุเพศอีกต่อไป”

 

และนอกจากที่กล่าวมาทั้งหมด ยังมีแนวโน้มจากตัวแปรอื่นๆ และมีรายละเอียดเพิ่มเติมของผลสำรวจที่มากกว่านี้ ซึ่งผู้สนใจสามารถกดเข้าไปดูผลสำรวจฉบับเต็มโดย TIJ ในรูปแบบของ Dashboard ได้ที่: https://datastudio.google.com/u/0/reporting/bec87fa4-e358-43a1-a0e5-1c930f862fee/page/woiuC 

 

ความคิดเห็นที่ปรากฏเหล่านี้แม้อาจไม่ใช่ภาพทั้งหมดของสังคมไทย แต่ก็อาจจะพอบอกเราได้บ้างเกี่ยวกับความคิดเห็นของสังคมที่กำลังทวีความเข้าใจ และความตระหนักต่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ตลอดจนช่องว่างด้านความเข้าใจที่ยังรอการเติมเต็ม และประเด็นที่ยังรอการอภิปรายในสังคม 

 

ท่ามกลางประวัติการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน น่าติดตามต่อไปว่าทิศทางของสังคมเหล่านี้จะมีผลต่อพัฒนาการในระดับกฎหมายและท่าทีของรัฐได้เมื่อไร – และมากน้อยเพียงใด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising