“ก่อนเกิดเคสทองหล่อ สถานการณ์ร้านดีขึ้นมาก แม้จะยังไม่ปกติเหมือนช่วงก่อนมีโควิด-19 แต่หลังเกิดเคส ต่อให้ยังเปิดร้านปกติ ลูกค้าก็หายไปมากแล้ว ถ้าปิดไม่ให้นั่งอีก ลูกค้าหาย 50/50 แน่ๆ” คำบอกเล่าจากร้านวัฒนาพานิช ก๋วยเตี๋ยวเนื้อเจ้าดังในย่านเอกมัย อธิบายถึงสถานการณ์ที่ร้านต้องเจอตลอดช่วงระยะเวลาของการระบาดที่ผ่านมา
ธุรกิจเล็กใหญ่ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ด้วยกันทั้งนั้น ร้านอาหารและบาร์ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยรูปแบบการให้บริการ รัฐมีการควบคุมเวลาเปิด-ปิดอยู่ตลอด การพึ่งพาเดลิเวอรีตลอดปี 2563 ที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ร้านได้รายได้เท่าเดิม เมื่ออนุญาตให้กลับมาเปิดบางเคสเพิ่งจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ก็เจอกับระลอก 2 และ ล่าสุดกับระลอก 3 เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา
วานนี้ (29 เมษายน) รัฐได้เพิ่มข้อบังคับสำหรับกรุงเทพฯ และอีก 5 จังหวัด
1. ห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน สามารถซื้อกลับได้เท่านั้น ไม่เกิน 21.00 น.
2. ร้านสะดวกซื้อเปิดได้ 04.00-23.00 น.
3. ห้าง ศูนย์การค้าเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น.
มีผลบังคับใช้ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป
THE STANDARD ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการร้านอาหารในย่านทองหล่อ-เอกมัย ซึ่งหลายร้านนอกเหนือจากวัฒนาพานิชแล้วยังปิดให้บริการเป็นส่วนมาก โดยส่วนใหญ่แขวนป้ายตั้งใจกลับมาเปิดเดือนพฤษภาคม ซึ่งเมื่อเจอประกาศเข้าไปเมื่อวานก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาเปิดแบบเดลิเวอรีตามแผนแรกหรือไม่
ร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งอย่าง Stage (สตาช) เองก็เล่าให้เราฟังว่า ลูกค้าหายไปเกือบ 90% หลังเกิดเคสทองหล่อ ทางร้านได้ปรับกลยุทธ์มาออกเมนูพิเศษที่เอื้ออำนวยต่อการส่งแบบเดลิเวอรี ซึ่งเราก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
ในย่านนี้ยังมีร้านเตาถ่าน Yakiniku Paradise ปิ้งย่างในดวงใจของใครหลายคนที่ไปต่อไม่ไหว ประกาศปิดร้านหลังเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2551 เช่นเดียวกับร้าน Sundays ในซอยสุขุมวิท 38 ที่เปิดให้บริการวันนี้เป็นวันสุดท้าย
นี่คือภาพบรรยากาศช่วงเย็นถึง 20.00 น. ของหลากหลายร้านค้าที่เคยคึกคักในย่านนี้ เราได้แต่หวังว่าเมื่อวิกฤตผ่านไป ทองหล่อ-เอกมัยจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่
https://thestandard.co/6-provinces-prohibiting-sitting-and-eating-food/
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ