×

ทมยันตี นอกโลกนิยายและการเมือง: วงการวรรณกรรม กฎหมาย และความศรัทธา

21.09.2021
  • LOADING...
ทมยันตี

HIGHLIGHTS

  • ล้านนาเทวาลัย ชีวิตในบั้นปลาย เมื่อ ทมยันตี พบอาการป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ จึงไปสร้างสถานที่สงบเพื่อพักภาวนา ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ในชื่อ ‘ล้านนาเทวาลัย’ หรือชื่อเต็ม อวันตี สวรา ล้านนาเทวาลัย
  • หากชีวิตเปรียบดังนิยาย คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือทมยันตี ก็คงเป็นนิยายมากสีสัน ชนิดที่หากส่งประกวดคงโดนกรรมการคัดออก เนื่องจากไม่น่าเชื่อว่าจะมีชีวิตคนเช่นนี้ได้อยู่จริง

เมื่อ ‘ทมยันตี’ นักเขียนนิยายเลื่องชื่อ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ จากไปในวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา มีกระแสกล่าวถึงทั้งด้านความอาลัยในผลงานสร้างสรรค์วรรณกรรม และการนำเอาประวัติทางการเมืองในอดีตมาทวงถามถึงการปลุกระดม ใส่ร้าย และก่อให้เกิดการสังหารหมู่ที่ได้กระทำลงไปในช่วง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งทั้งสองด้านล้วนเป็นความจริงที่เกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

 

นิยายสะท้อนชีวิต

 

ตั้งแต่วัยเพียง 19 ปี คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (เจียมเจริญ) ใช้นามปากกา ‘โรสลาเรน’ เขียนเรื่อง ‘ในฝัน’ สร้างโลกพาฝันแสนงดงามของเจ้าหญิง เจ้าชาย และดินแดนสมมติดุจเทพนิยายอันห่างไกล จนได้รับความนิยมจากนักอ่านสตรีอย่างท่วมท้น ก่อนจะคลี่คลายผลงานให้หลากหลาย ด้วยนามปากกา ‘ทมยันตี’, ‘ลักษณวดี’, ‘กนกเรขา’ และนามปากกาอื่นๆ ที่ใช้ไม่บ่อยนัก

 

จากโลกนิยายพาฝันของโรสลาเรน เมื่อชีวิตเติบโตขึ้น คุณหญิงวิมลได้เปลี่ยนแนวการเขียนมาเป็นเรื่องราวรัก ผสมกับเรื่องโศกนาฏกรรม สะท้อนสังคม หรืออิงประวัติศาสตร์ ในนามปากกาทมยันตี และเรื่องย้อนอดีต ประเทศดินแดนที่ห่างไกล ในนามปากกา ลักษณวดี การคลี่คลายทางวรรณกรรมนี้ บางส่วนบางตอนก็สะท้อนถึงชีวิตของผู้เขียนเอง ดังเช่น เรื่อง ‘มงกุฎหนาม’ ที่แฝงชีวิตในวัยเยาว์ ความขัดแย้งในบ้าน และแก้ต่างให้นิยายที่ถูกวิจารณ์ว่าดัดแปลงจากนิยายต่างประเทศ

 

การปลุกระดมและบทบาททางการเมือง ทำให้คุณหญิงวิมลก้าวเข้าสู่วงการการเมือง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกวุฒิสภา และผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นฐานในการเขียนนิยายแนวการเมืองหลายเรื่อง เช่น ‘สตรีหมายเลขหนึ่ง’, ‘นายกหญิง’, ‘คุณหญิงนอกทำเนียบ’

 

ความขัดแย้งกับแวดวงวรรณกรรม และบทบาทที่ ‘ขวา’ จัดนี้เอง ทำให้ทมยันตีไม่เคยได้รับรางวัลวรรณกรรมจากวงการวรรณกรรมไทย ทั้งในยุคก่อนและหลังเหตุ 6 ตุลาคม 2519 แต่ทมยันตีก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องรางวัลไปมากกว่าความนิยมของนักอ่าน ดูเป็นเรื่องย้อนแย้ง เมื่อเรื่องราวชีวิตของทมยันตีที่เป็นที่นิยมของนักอ่าน แต่นักวิจารณ์เกลียดชังจนไม่ได้รับรางวัลใดๆ นั้นอาจเทียบได้กับ เมวิส แคลร์ นางเอกจากเรื่อง The Sorrow of Satan ที่เธอนำพล็อตมาดัดแปลงเป็นเรื่อง ‘เงา’

 

 

จากนิยายรักสู่ความเชื่อและศรัทธา

 

ภายหลังการหย่าร้างที่อื้อฉาว ลงหนังสือพิมพ์ติดต่อกัน และเมื่อคดีสิ้นสุดก็กลายเป็นคำพิพากษาฎีกาคลาสสิกในกรณีคดีครอบครัว ซึ่งนักเรียนกฎหมายต้องได้เรียนในชั้นเนติบัณฑิต รวมถึงต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง นิยายของทมยันตีก็เปลี่ยนจากเรื่องราวพาฝัน หรือความรักหนุ่มสาว มาเป็นเรื่องจริงจัง ความบาดหมาง ปวดร้าวของชีวิต และเมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 2540 คุณหญิงวิมลก็เริ่มเข้าสู่โลกของจิตวิญญาณ ศรัทธาความเชื่อมากยิ่งขึ้น

 

นามปากกา ‘ทมยันตี’ เปลี่ยนไปเขียนนิยายแนวความเชื่อลี้ลับ พลังจิต เช่น ฌาน จิตา กฤตยา ทิพย์ ฯลฯ ควบคู่ไปกับนิยายแนวอิงประวัติศาสตร์ชาตินิยม รวมถึงใช้นามปากกา ‘มายาวดี’ และ ‘ทยุมณิ’ เขียนบทความเรื่องความเชื่อ พิธีกรรม ในนิตยสาร ‘ขวัญเรือน’ และ ‘กุลสตรี’

 

แนวทางความเชื่อของทมยันตี ดูจะเป็นการผสมผสานระหว่างพราหมณ์กับพุทธ โดยมีแกนกลางความศรัทธาแบบชาตินิยม-กษัตริย์นิยม เป็นหลัก ดังปรากฏในเรื่อง กษัตริยา, อตีตา, แก้วกัลยาแห่งแผ่นดิน หากอ่านจากงานคอลัมน์และนิยาย จะพบว่าทมยันตีเชื่อในความดีสูงสุดสมบูรณ์บางอย่าง และเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นถูกต้องอยู่เสมอ

 

 

ทมยันตีกับการส่งเสริมงานเขียน

 

ในระหว่างนั้น กฎหมายลิขสิทธิ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ทำให้คุณหญิงวิมลเรียกร้องสิทธิในผลงานนิยายของตน ที่เคยอนุญาตให้ตีพิมพ์ในอดีต เรียกคืนลิขสิทธิ์นิยายเรื่องเก่ามาให้สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม จัดตีพิมพ์ใหม่เป็นชุดจนถึงปัจจุบัน

 

ภาพจำที่นักอ่านคุ้นชินของทมยันตีในยุคหลัง คือหญิงชราในชุดขาวห้อยสายประคำ นั่งประจำคอยพูดคุยกับนักอ่านน้อยใหญ่ในบูธสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม กลางงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หรือออกงานพูดสร้างแรงบันดาลใจในการเขียน ซึ่งทางสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม จัดให้ตามโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ

 

จากการสร้างแรงบันดาลใจให้นักอ่านหันมาเขียนผลงานของตัวเอง ในปี 2548 สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม จึงได้จัดประกวดนิยายชิงรางวัล ‘ทมยันตี อะวอร์ด’  ซึ่งจัดต่อเนื่องกันสามครั้ง ก่อนจะเลิกราไปในปี 2552 เนื่องจากปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาประกาศผล และการตอบรับจากผู้อ่านที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

 

บทบาทของ ‘ทมยันตี’ จึงตัดขาดออกจากการเมืองระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในช่วง 2548-2550 หรือกลุ่ม กปปส. ในปี 2556-2557 แตกต่างจากเหล่านักเขียนชื่อดังในแวดวงวรรณกรรมไทยร่วมยุค ที่ดูเหมือนจะ ‘ใส่เสื้อเหลือง เป่านกหวีด’ กันเกือบทุกราย

 

 

ล้านนาเทวาลัย ชีวิตในบั้นปลาย

 

เมื่อคุณหญิงวิมลพบอาการป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ จึงไปสร้างสถานที่สงบเพื่อพักภาวนา ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ในชื่อ ‘ล้านนาเทวาลัย’ หรือชื่อเต็ม อวันตี สวรา ล้านนาเทวาลัย

 

หากได้ไปเยือนล้านนาเทวาลัยที่เชียงใหม่ ก็จะได้พบกับความเป็น ‘ทมยันตี’ ในเชิงจิตวิญญาณเหมือนหลุดเข้าไปในโลกนิยาย ด้วยสะพานข้ามคลองน้ำเข้าสู่ระเบียงคดที่รายรอบด้วยเทวรูป และตำหนักกลางที่ประดิษฐานพระวิษณุและพระลักษมี เป็นองค์ประธาน มีพระศิวะและพระแม่ปรรพตีเป็นองค์รอง ประดับข้างด้วยพระพิฆเนศวรและพ่อแก่ฤๅษี เป็นเทวาลัยผสมผสานศิลปะล้านนากับรูปบูชาสมัยใหม่เข้าด้วยกัน

 

ในเทวาลัยยังมีหอพระ ห้องศาสตราวุธ และพื้นที่พำนักของทมยันตีแยกออกเป็นสัดส่วน นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่จำหน่ายหนังสือ เทวรูป กำยาน เครื่องบูชาเทพเจ้า และตุ๊กตาคุณยายทมยันตีเป็นของที่ระลึก

 

ด้วยอาการป่วย ทำให้ทมยันตีออกพบปะผู้คนหรือออกงานสาธารณะน้อยลง รวมถึงน้อยครั้งที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยเฉพาะในสภาพโรคระบาดโควิดที่ไม่มีการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จนกระทั่งมีข่าวการถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา

 

หากชีวิตเปรียบดังนิยาย คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือทมยันตี ก็คงเป็นนิยายมากสีสัน ชนิดที่หากส่งประกวดคงโดนกรรมการคัดออก เนื่องจากไม่น่าเชื่อว่าจะมีชีวิตคนเช่นนี้ได้อยู่จริง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising