×

เรื่องต้องรู้ก่อนฉีดวัคซีน Moderna วัคซีนที่จองไว้ฉีดแบบไหนได้บ้าง

09.11.2021
  • LOADING...
วัคซีน Moderna

ในที่สุดวัคซีน Moderna ล็อตแรกก็เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จํานวน 560,200 โดส แต่ยังเหลืออีกประมาณ 1.4 ล้านโดสที่บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เคยชี้แจงว่าจะนำเข้ามาภายในไตรมาส 4 ของปี 2564 ซึ่งบางท่านจองไว้ตั้งแต่ช่วงกลางปีจนเปรียบเปรยว่าเป็น ‘การพรีออร์เดอร์ที่นานที่สุด’ ก่อนจะถึงคิวฉีดวัคซีน Moderna ที่จองไว้ มีเรื่องอะไรต้องรู้ก่อนบ้าง 

 

มีเรื่องอะไรต้องรู้ก่อนบ้าง

วัคซีน Moderna เป็นวัคซีนชนิด mRNA กล่าวคือเป็นวัคซีนที่มีส่วนประกอบเป็นสารพันธุกรรมประเภท messenger RNA หุ้มด้วยอนุภาคนาโนไขมัน (Lipid nanoparticle) เมื่อเข้าสู่ร่างกายสารพันธุกรรมนี้จะถอดรหัสเป็นโปรตีนหนามของไวรัสแล้วกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย วัคซีนนี้ไม่มีส่วนผสมของไข่ ผู้แพ้โปรตีนไข่จึงสามารถฉีดได้

 

วัคซีนนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า Spikevax ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ฉีดในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป (ในปัจจุบันจึงเป็น 1 ใน 2 ยี่ห้อที่สามารถฉีดในเด็กได้) การฉีดปกติจะฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ แต่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้ฉีด 3 เข็มห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 4 สัปดาห์ ส่วนการฉีดเข็มกระตุ้นจะห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน

 

ประสิทธิผลล่าสุดเป็นเท่าไร

ถึงแม้จะเป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนกับวัคซีน Pfizer แต่ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้มีประสิทธิผลไม่เท่ากัน โดยจากการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์เดลตาในประเทศกาตาร์ จนถึงเดือนกันยายน 2564 ตีพิมพ์ในวารสาร Nuture Medicine พบว่า วัคซีน Moderna มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อสูงกว่า ในขณะที่ประสิทธิผลในการป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกัน 

 

  • การป้องกันการติดเชื้อ 73.1% เทียบกับวัคซีน Pfizer 51.9%
  • การป้องกันการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ 53.6% เทียบกับวัคซีน Pfizer 46.0%
  • การป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 73.9% เทียบกับวัคซีน Pfizer 44.4%
  • การป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต 96.1% เทียบกับวัคซีน Pfizer 93.4%

 

วัคซีนบางชนิดมีประสิทธิผลลดลงเมื่อระยะเวลาที่ผ่านไป เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นมีระดับลดลง แต่จากการวิจัยในระยะที่ 3 ซึ่งติดตามอาสาสมัครอายุ 18 ปีขึ้นไปเป็นระยะเวลา 5 เดือนหลังได้รับวัคซีน ตีพิมพ์ในวารสาร NEJM พบว่า วัคซีนยังคงมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 93.2% และป้องกันอาการรุนแรง 98.2% (เทียบกับผลการศึกษาเบื้องต้น 94.1% และ 100% ตามลำดับ)

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินการวิจัยต่อในระยะเปิดเผยข้อมูล (Open-label phase) ซึ่งกลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอกในระยะแรกสามารถเลือกรับวัคซีนจริงได้ ผู้วิจัยเปรียบเทียบอัตราการติดเชื้อระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่แรก (ได้รับวัคซีนมา 13 เดือน) กับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนในภายหลัง (ได้รับวัคซีนมา 8 เดือน) พบว่ากลุ่มหลังมีอัตราการติดเชื้อต่ำกว่า 36.4% แสดงว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีนลดลงเช่นกัน

 

ส่วนผลการศึกษาในวัยรุ่นอายุระหว่าง 12-17 ปี ที่สหรัฐฯ ระหว่างเดือนธันวาคม 2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยขนาดวัคซีนเท่ากับผู้ใหญ่ ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ ตีพิมพ์ในวารสาร NEJM พบว่า วัคซีนสามารถกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันได้ไม่ต่างจากในวัยผู้ใหญ่ และมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 100% แต่ป้องกันการติดเชื้อแบบไม่มีอาการได้ 39.2%

 

ผลข้างเคียงน่ากังวลหรือไม่

ผลข้างเคียงจากวัคซีนส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และสามารถหายเป็นปกติภายในไม่กี่วันหลังฉีดวัคซีน โดยในเอกสารกำกับยาของวัคซีน Moderna ระบุอาการไม่พึงประสงค์ในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ดังนี้ 

 

พบบ่อยมาก (มากกว่า 1 ใน 10 ราย)

  • ปวดบริเวณที่ฉีด
  • อ่อนเพลีย
  • ไข้ หนาวสั่น
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
  • คลื่นไส้อาเจียน

 

พบบ่อย (น้อยกว่า 1 ใน 10 ราย)

  • ผื่นแดง ผื่นลมพิษบริเวณที่ฉีด
  • ผื่นตามร่างกาย

 

พบไม่บ่อย (น้อยกว่า 1 ใน 100 ราย)

  • อาการคันบริเวณที่ฉีด
  • มึนงง

 

พบได้น้อย (น้อยกว่า 1 ใน 1,000 ราย)

  • อาการอัมพาตของกล้ามเนื้อส่วนปลายบริเวณใบหน้า (พบ 3 ราย)
  • ภาวะสูญเสียความรู้สึก (Hypoaesthesia)

 

ผลข้างเคียงของวัคซีนชนิด mRNA ที่หลายคนกังวลคือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ข้อมูลจากการเฝ้าระวังในสหรัฐฯ พบว่าเป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก และส่วนใหญ่ไม่รุนแรง โดยในผู้ที่พบภาวะนี้มักเป็นผู้ชายอายุน้อย 18-39 ปี (ในสหรัฐฯ วัคซีน Moderna เริ่มฉีดในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป) และพบหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 สำหรับอัตราการพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตามกลุ่มอายุเป็นดังนี้

 

  • 18-24 ปี: 20.7 รายต่อ 1 ล้านโดส
  • 25-29 ปี: 11.2 รายต่อ 1 ล้านโดส
  • 30-39 ปี: 3.6 รายต่อ 1 ล้านโดส
  • 40-49 ปี: 2.1 รายต่อ 1 ล้านโดส
  • 50-64 ปี: 0.5 รายต่อ 1 ล้านโดส

 

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นชายงดออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน และสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อยหรือหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ หากแพทย์สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะพิจารณาตรวจค้นเพิ่มเติม

 

ตารางการฉีดเป็นอย่างไร

เนื่องจากความล่าช้าในการนำเข้าวัคซีน Moderna บางท่านอาจได้รับการฉีดวัคซีนยี่ห้ออื่นมาก่อนถึงคิววัคซีนที่จองไว้ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรมควบคุมโรค (เทียบเท่า ACIP ของ CDC ในสหรัฐฯ และ JCVI ของหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ) มีมติการประชุมออกคำแนะนำการฉีดวัคซีน ดังนี้

 

กรณีที่ 1 ยังไม่เคยได้รับวัคซีนใดมาก่อน ควรฉีดวัคซีน Moderna 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์

 

กรณีที่ 2 ได้รับวัคซีนอื่นมาก่อน 1 เข็ม อาจฉีดเป็นสูตรไขว้ ห่างจากเข็มแรก 4 สัปดาห์ ได้แก่

  • Sinovac – Moderna
  • Sinopharm – Moderna
  • AstraZeneac – Moderna
  • Pfizer – Moderna

 

กรณีที่ 3 ได้รับวัคซีนยี่ห้ออื่นครบ 2 เข็มแล้ว 

  • หากได้รับวัคซีนเชื้อตาย เช่น Sinovac หรือ Sinopharm ครบ 2 เข็ม ให้ฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน Moderna ห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 4 สัปดาห์
  • หากได้รับวัคซีน AstraZeneca ครบ 2 เข็ม ให้ฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน Moderna ห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 6 เดือน แต่สามารถฉีดได้ก่อนได้ตามดุลยพินิจของแพทย์

 

หากเปรียบเทียบกับคำแนะนำของ JCVI ของอังกฤษเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 แนะนำให้กลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และบุคลากรทางการแพทย์เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็น ‘วัคซีน Pfizer’ โดยห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนยี่ห้อใดมาก่อน หรือ ‘Moderna ครึ่งโดส’ แต่ถ้าหากไม่สามารถฉีดวัคซีนชนิด mRNA ได้ เช่น แพ้วัคซีน อาจฉีด AstraZeneca แทน

 

นอกจากนี้บางท่านอาจมีข้อสงสัยเพิ่มเติม เช่น ถ้าได้รับวัคซีนอื่นมาก่อน 1 เข็ม (กรณีที่ 2) ควรฉีดวัคซีน Moderna ให้ครบ 2 เข็มตามที่จองไว้หรือไม่? ถ้าได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม และฉีดกระตุ้นด้วย AstraZeneca แล้ว ควรจะฉีดวัคซีน Moderna เลยหรือเลื่อนออกไป? ถ้าเลื่อนจะเลื่อนออกไปนานเท่าไร? คำถามเหล่านี้กรมควบคุมโรคยังไม่มีคำแนะนำออกมา เพราะน่าจะยังรอข้อมูลการศึกษาอยู่

 

ผู้ที่จองวัคซีนไว้ควรปรึกษาแพทย์เป็นรายกรณี แต่บางโรงพยาบาลก็ออกคำแนะนำเบื้องต้นเป็นตารางออกมาอย่างที่หลายท่านน่าจะเห็นผ่านสื่อออนไลน์แล้ว ยกตัวอย่างของโรงพยาบาลรามาธิบดี แนะนำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายมาแล้ว 1 เข็ม ฉีดวัคซีน Moderna เพียง 1 เข็ม ส่วนสูตรไขว้หลักในประเทศอย่าง Sinovac-AstraZeneca แนะนำฉีดกระตุ้น 1 เข็มที่ 6 เดือนหลังจากเข็มที่ 2 

 

วัคซีน Moderna

 

สรุปก่อนฉีดวัคซีน Moderna

วัคซีน Moderna เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลสูงยี่ห้อหนึ่ง จากการศึกษาในประเทศกาตาร์แสดงให้เห็นว่านอกจากจะป้องกันอาการรุนแรงได้ และยังป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาแบบมีอาการได้ด้วย ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่รุนแรง ส่วนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบพบได้น้อยมาก แต่ผู้ชายอายุน้อยควรงดออกกำลังกายอย่างหนัก 1 สัปดาห์และสังเกตอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น หน้ามืด

 

สำหรับตารางการฉีดวัคซีน หากไม่เคยฉีดวัคซีนใดมาก่อนต้องฉีด 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์ แต่หากเคยได้รับวัคซีนอื่นมาก่อนหน้านี้ 1 เข็มอาจฉีดไขว้ด้วย Moderna เป็นเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 4 สัปดาห์ ในขณะที่หากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว สามารถฉีดกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 โดยเว้นระยะห่าง 6 เดือนหลังจากเข็มสุดท้าย ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 หลังได้รับวัคซีนเชื้อตายครบแล้วยังไม่แนะนำเข็มที่ 4

 

สุดท้ายความเห็นส่วนตัวของผม สำหรับท่านที่ยังไม่ถึงคิววัคซีน Moderna ในล็อตแรกนี้ หากเป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว ซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง ควรลงทะเบียนฉีดวัคซีนกับภาครัฐไปก่อน เพราะประเทศไทยเริ่มเปิดเมืองเปิดประเทศแล้ว การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ อาจทำให้เกิดการระบาดขึ้นมาอีกครั้ง อีกทั้งกำหนดการนำเข้าวัคซีนในรอบถัดไปยังไม่แน่นอน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X