×

วิทยาศาสตร์แห่งความขี้เกียจ อะไรทำให้เราเกียจคร้าน

05.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ทำไมบางคนถึงแลดู ‘ขี้เกียจ’ มากกว่าคนอื่น แต่บางคนก็ขี้เกียจน้อยกว่า แล้วไอ้เจ้าความรู้สึกแสนสบายเวลาไม่ได้ทำอะไรเลยนั้นน่ะ ทำไมเราถึงรู้สึกอย่างนั้น มีกลไกหรือกระบวนการอะไรเกิดขึ้นกับสมองของเราหรือเปล่า
  • นักวิทยาศาสตร์บอกว่า กลไกวิวัฒนาการทำให้มนุษย์เรามีความชอบพอหรือมีความรู้สึกในแง่บวกกับ 3 เรื่องคือ อาหาร เซ็กซ์ และการออกกำลังกาย เมื่อได้ทำสิ่งเหล่านี้ ร่างกายจะ ‘สมนาคุณ’ หรือตบรางวัลให้เราด้วย ‘ระบบโดพามีน’ โดยสมองจะหลั่งสารแห่งความสุขชนิดนี้ออกมา
  • นักวิทยาศาสตร์บอกว่า คนที่ขี้เกียจอาจมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ของยีนที่มีชื่อว่า SLC35D3 ทำให้ตัวรับโดพามีนเสียไปหรือลดน้อยลง
  • ความขี้เกียจของคุณ ‘อาจ’ เป็นผลจากยีน แต่กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะ ‘ฝึก’ ตัวเองให้ขยันขึ้นไม่ได้ เพราะในอีกด้านหนึ่ง การปล่อยให้ตัวเองขี้เกียจก็คือการ ‘ฝึก’ ให้ตัวเองคุ้นชินกับความขี้เกียจนั้นด้วยเหมือนกัน

การได้นั่งๆ นอนๆ ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องออกกำลังกาย ไม่ต้องทำอะไรเลย น่าจะเป็นเรื่องแสนสุขแสนสบายของมนุษย์ทุกคนใช่ไหมครับ เขาถึงมีคำพูดว่า ‘นั่งกินนอนกิน’ ซึ่งหมายถึงการมีชีวิตแสนสุขแบบเศรษฐีที่ไม่ต้องทำงาน

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การมีชีวิตแบบนั้นคือสิ่งที่หลายคนเรียกว่าเป็นความ ‘ขี้เกียจ’ ซึ่งเอาเข้าจริงต้องบอกคุณว่ามันเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแต่บางคนอาจจะเกิดมากน้อยแตกต่างกันไป

 

แต่คำถามก็คือ เอ๊ะ! แล้วทำไมบางคนถึงแลดู ‘ขี้เกียจ’ มากกว่าคนอื่น แต่บางคนก็ขี้เกียจน้อยกว่า แล้วไอ้เจ้าความรู้สึกแสนสบายเวลาไม่ได้ทำอะไรเลยนั้นน่ะ ทำไมเราถึงรู้สึกอย่างนั้น มีกลไกหรือกระบวนการอะไรเกิดขึ้นกับสมองของเราหรือเปล่า ถึงทำให้เรารู้สึกว่าความขี้เกียจเป็นความรู้สึกสุดยอดอย่างหนึ่งของการมีชีวิตอยู่

 

เอาเข้าจริงแล้ว ต้องบอกคุณว่าความขี้เกียจในระดับที่เรียกได้ว่าเป็น ‘มันฝรั่งบนโซฟา’ หรือ couch potato ที่ฝรั่งเขาเรียกกันนั้น มันมีปัจจัยที่ลงลึกไปถึงระดับยีนของคุณเลยนะครับ

 

จริงเหรอ? ถ้าอย่างนั้นความขี้เกียจก็ไม่ใช่แค่ ‘นิสัย’ ของเราแล้วสิ แต่เมื่อมันฝังอยู่ในยีน ก็แปลว่าเราไม่ต้องขยันก็ได้นี่นา

 

เดี๋ยวก่อนครับ อย่าเพิ่งด่วนสรุปแบบนั้น เพราะแม้ว่าความขี้เกียจอาจจะอยู่ในยีนของเรา แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเอาชนะมันไม่ได้หรอกนะครับ

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงวิธีเอาชนะความขี้เกียจระดับยีน เรามาเรียนรู้กันหน่อยดีกว่าไหมครับว่าทำไมคนเราถึงเกิดความขี้เกียจขึ้นมาได้

 

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า กลไกวิวัฒนาการทำให้มนุษย์เรามีความชอบพอหรือมีความรู้สึกในแง่บวกกับ 3 เรื่อง

 

คุณพอตอบได้ไหมครับว่าเรื่องอะไรบ้าง

 

ใช่แล้ว อย่างแรกสุดก็คือเรื่องอาหาร กลไกวิวัฒนาการทำให้เราชอบพอกับอาหาร โดยเฉพาะรสหวาน เพราะรสหวานเป็นรสแห่งพลังงาน เรารู้ว่าไอ้นั่นกินได้ ไอ้นี่กินไม่ได้ บางอย่างกินแล้วตาย เพราะนี่คือกลไกที่จะทำให้เรามีชีวิตรอด ดังนั้นอาหารจึงเป็นความชอบสำคัญของมนุษย์อย่างหนึ่ง

 

อย่างที่สองย่อมหนีไม่พ้นเรื่องเซ็กซ์ เพราะถ้าอาหารทำให้เราแต่ละคนมีชีวิตอยู่ได้ เซ็กซ์ก็เป็นตัวการทำให้เราสืบเผ่าพันธุ์ต่อ ดังนั้นมนุษย์จึงชอบกินและชอบเซ็กซ์ สองอย่างนี้คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์อยู่รอดสืบต่อมาได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราได้ ‘กินๆ นอนๆ’ อยู่กับบ้าน (ซึ่งก็คือการขลุกอยู่กับอาหารและเซ็กซ์นั่นแหละ) ก็ย่อมเป็นภาวะสุขสบายอย่างที่สุดแล้วใช่ไหมครับ

 

แล้วอย่างที่สามล่ะครับ มันคืออะไร จะทำให้เราแสนสุขสบายมากขึ้นได้อย่างไร

 

บอกไปคุณอาจไม่เชื่อหรอกนะครับ แต่เพราะธรรมชาติได้จัดสรรให้เรามาอย่างสมดุลยิ่ง สิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความสุขมากในอย่างที่สามคือการออกกำลังกายครับ

 

หา! การออกกำลังกายเหรอ?

 

ใช่แล้วครับ การออกกำลังกายนี่แหละที่เป็นหนึ่งในสามเรื่องที่ธรรมชาติหรือกลไกวิวัฒนาการคอย ‘บงการ’ ให้เราอยากทำ

 

ทั้งสามเรื่อง เวลาที่เราได้กิน ได้มีเซ็กซ์ และได้ออกกำลังกาย ร่างกายจะ ‘สมนาคุณ’ หรือตบรางวัลให้เราด้วย ‘ระบบโดพามีน’ (Dopamine System) คือสมองจะหลั่งสารแห่งความสุขชนิดนี้ออกมา

 

การออกกำลังกายในยุคก่อนประวัติศาสตร์หมายถึงการล่าสัตว์หรือหาของป่า มันจึงสำคัญเสียยิ่งกว่าอาหารและเซ็กซ์เสียอีกครับ เพราะว่ามันคือต้นตอของการทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่รอดได้

 

คำถามถัดมาก็คือ แล้วความรักชอบในการออกกำลังกายนี่มันฝังอยู่ในยีนเราเลยหรือ รู้ได้อย่างไรกัน

 

มีการศึกษาวิจัยเยอะมากนะครับที่บอกว่าความขี้เกียจ (ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามกับการออกกำลังกาย) เป็นเรื่องที่ ‘ฝัง’ อยู่ในยีนของเราเลย แต่มีการศึกษาหนึ่งที่เห็นภาพชัดเจนดี เขาเอาหนูมา 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้มันวิ่งในวงล้อนานกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่าหนูเป็นสัตว์ที่แพร่พันธุ์เร็ว เขาพบว่าหนูที่วิ่งเยอะกว่าหนูอื่น เมื่อมีลูก ลูกก็จะวิ่งเยอะมากขึ้นตามไปด้วย จนเมื่อผ่านไป 10 รุ่น (หรือ 10 ชั่วหนู) ปรากฏว่าหนูรุ่นใหม่ในกลุ่มที่วิ่งเยอะนี้จะวิ่งมากกว่าหนูอีกกลุ่มหนึ่งถึง 75% แล้วพอผ่านไปถึง 16 รุ่น ปรากฏว่าหนูกลุ่มนี้วิ่งมากถึงวันละ 7 ไมล์ ขณะที่หนูอีกกลุ่มหนึ่งวิ่งแค่วันละ 4 ไมล์เท่านั้น

 

การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าแรงขับเคลื่อนในการใช้กำลังกายของหนู (ซึ่งสะท้อนมาถึงมนุษย์ด้วย) เป็นเรื่องที่อยู่ในยีน เราได้รับสืบทอดยีนแห่งการทำกิจกรรมต่างๆ มาจากรุ่นพ่อแม่

 

นักวิทยาศาสตร์พบด้วยว่าหนูที่วิ่งเยอะกว่าจะมีระบบโดพามีนที่แข็งแรงกว่าหนูที่วิ่งน้อย นั่นแปลว่าการถ่ายทอดความสามารถและแรงขับนี้จะยิ่งแข็งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย เพราะคนที่ ‘เสพติด’ การออกกำลังกายในแบบที่ลึกลงไปถึงพันธุกรรม (Genetically Addiction) ก็จะยิ่งกระหายโหยหาการออกกำลังกายมากยิ่งขึ้นไปอีก สมองจะทำงานเหมือนคนติดยาเสพติดอย่างนิโคตินหรือโคเคน แล้วพอไปออกกำลังกายก็ยิ่งทำให้ ‘ตัวรับ’ โดพามีนมีมากและทำงานได้ดีขึ้นไปอีก ความรู้สึกของการออกกำลังกายจึงแหลมคม ละเอียดอ่อน และโปร่งเบาสบาย

 

อ้าว! แล้วคนขี้เกียจล่ะ

นักวิทยาศาสตร์บอกว่าคนที่ขี้เกียจถึงระดับเป็น couch potato นั้นอาจมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ของยีนที่มีชื่อว่า SLC35D3 ซึ่งงานวิจัยนี้ (ดูที่นี่) บอกว่าการกลายพันธุ์ของยีนนี้ส่งผลให้การควบคุมกิจกรรมทางกายแปรปรวนไป

 

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเมื่อเกิดการกลายพันธุ์ของยีนตัวนี้ ตัวรับโดพามีนจะเสียไปหรือลดน้อยลง ดังนั้นต่อให้ออกกำลังกายมากแค่ไหนก็อาจไม่ได้รู้สึกแสนสุข เบาสบาย ล่องลอยเหมือนพวกที่ได้รับสืบทอดอาการเสพติดการออกกำลังกายมาจากบรรพบุรุษ

 

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่าระบบโดพามีนนั้นเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เคยมีการทดลองหนึ่งของออกซ์ฟอร์ดที่สแกนสมองอาสามัครที่มีสุขภาพดี 40 คนด้วยระบบ MRI (ดูรายละเอียดได้ที่นี่) เพื่อดูว่าเวลาที่อาสาสมัครเหล่านี้ตัดสินใจจะ ‘ลงแรง’ ทำอะไรบางอย่าง สมองส่วนไหนทำงานบ้าง พบว่าเวลาคนเราตัดสินใจจะทำอะไรบางอย่าง สมองส่วน Premotor Cortex จะเป็นส่วนหลักที่ทำงานก่อนหน้าที่สมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวจะเริ่มทำงาน

 

ที่จริงแล้วการทดลองที่ว่านี้ เป้าหมายของผู้ทดลองคือการดูว่าสมองส่วนไหนที่รับผิดชอบเรื่องความเข้าอกเข้าใจหรือเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Apathy) แต่เขาพบว่ามันสอดคล้องกับการ ‘ลงแรง’ ทำอะไรบางอย่างด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าเราเห็นคนกำลังเดือดร้อน คนที่ขี้เกียจก็อาจเลือกไม่ช่วยเหลืออะไร เพราะมันต้องใช้เรี่ยวแรง แต่คนที่มีความเห็นอกเห็นใจ สมองส่วนนี้จะทำงานขึ้นมาทันที และที่ย้อนแย้งมากก็คือถ้าเป็นคนไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่นหรือเห็นแก่ได้ (Apathetic People) สมองส่วนนี้จะทำงานเวลาที่พวกเขาได้รับอะไรบางอย่าง ไม่ใช่การให้ความช่วยเหลือคนอื่น

 

ดังนั้นการ ‘กระโดด’ จากการตัดสินใจว่าจะทำอะไรบางอย่างไปสู่การทำสิ่งนั้นจริงๆ (ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ลงมือทำงาน หรือช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ ‘ไม่ขี้เกียจ’) จึงต้องใช้สมองหลายส่วนทำงาน ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นการใช้พลังงานของร่างกายเหมือนกัน และถ้ามองในแง่นี้ เราก็อาจอธิบายได้ด้วยว่าทำไมความขี้เกียจจึงมักถูกนำไปผูกไว้กับความไม่มีคุณธรรม เพราะความขี้เกียจแปลว่าเรามักไม่ตัดสินใจ take action ซึ่งอาจหมายถึงการช่วยเหลือคนที่กำลังเดือดร้อนได้ด้วย

 

แล้วถ้าความขี้เกียจเป็นเรื่องที่ลงลึกไปถึงยีนของเรา เราจะเอาชนะมันได้อย่างไรกันล่ะนี่ หลายคนอาจสงสัย

 

ใช่ครับ ยิ่งรู้แบบนี้ ยิ่งอาจทำให้คุณเปลี่ยนแปลงตัวเองลำบากมากขึ้น เพราะคุณอาจเริ่มมีข้ออ้างกับตัวเองว่า โอ๊ย! ที่ฉันขี้เกียจอย่างนี้ไม่ใช่เพราะฉันอยากขี้เกียจนะ แต่เป็นเพราะยีนของฉันต่างหากเล่า แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณ ‘ขี้เกียจทางยีน’ คือไม่ค่อยจะมีตัวรับโดพามีนที่เป็นรางวัล ก็ต้องไม่ปล่อยให้ยีนของคุณเป็นปัจจัยเดียวที่ควบคุมตัวคุณ คุณสามารถสร้าง ‘ระบบรางวัล’ ต่างๆ ขึ้นมาให้ตัวเองได้

 

ซึ่งรางวัลที่ว่า ถ้าให้ง่ายที่สุดก็คือการตอบสนองต่อกลไกวิวัฒนาการอีก 2 อย่างที่เราว่ากันมาข้างต้นนั่นแหละครับ มันคืออาหารกับเซ็กซ์ นั่นแปลว่าคุณอาจจะสัญญากับตัวเองได้ว่า ถ้าทำงานนี้เสร็จ หรือไปออกกำลังกายเสร็จแล้วจะอนุญาตให้กินไอศกรีมได้สักถ้วย หรือไปออกเดตกับคนที่คุณพึงใจ

 

เหล่านี้คือการ ‘เทรน’ หรือฝึกสมองของคุณ ซึ่งต้องบอกคุณด้วยนะครับว่ายีนไม่ใช่เรื่องที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ยีนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Epigenetics (ซึ่งหลายคนแปลว่าเป็น ‘ยีนเหนือยีน’) อันสลับซับซ้อนเกินกว่าจะมาเล่าในที่นี้ แต่มันมีผลทำให้ยีนของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยผลของสิ่งแวดล้อม (โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนลำดับของดีเอ็นเอ) เช่น มีการศึกษาพบว่าอาการ Trauma รุนแรงบางอย่าง (เช่น การถูกกักตัวและทรมานในค่ายนาซี) ก็ส่งผลต่อไปยังรุ่นลูกได้เหมือนกัน แต่อาจไม่ได้ส่งผลต่อเนื่องยาวนาน (ดูบทความนี้ ที่บอกว่าต้องระวังการใช้คำว่า Epigenetics ให้ดี)

 

แต่เอาเป็นว่าความขี้เกียจของคุณ ‘อาจ’ เป็นผลจากยีนก็ได้ แต่กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะ ‘ฝึก’ ตัวเองให้ขยันขึ้นไม่ได้ เพราะในอีกด้านหนึ่ง การปล่อยให้ตัวเองขี้เกียจก็คือการ ‘ฝึก’ ให้ตัวเองคุ้นชินกับความขี้เกียจนั้นด้วยเหมือนกัน

 

วิทยาศาสตร์ของความขี้เกียจจึงไม่ได้สร้างความชอบธรรมให้กับความขี้เกียจ แต่คือการขุดลึกลงไปถึงเหตุผลที่คนบางคนขี้เกียจมากกว่าคนอื่น

 

แต่หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องตัวใครตัวมันแล้วนะครับ!

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising