×

อดีตประธานศาลอุทธรณ์ขอศาลระดมแก้ปัญหาปมผู้พิพากษายะลา

08.10.2019
  • LOADING...

วันนี้ (8 ตุลาคม) ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ กรุงเทพฯ ถนนเพชรบุรี ศิริชัย วัฒนโยธิน อดีตประธานศาลอุทธรณ์ แถลงข่าวกรณี คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองระหว่างพิจารณาคดี ว่าหลังจากติดตามข่าวและเห็นมีฝ่ายการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็น ตนมีความเป็นห่วงภาพลักษณ์ของสถาบันตุลาการ ไม่อยากให้นำการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ เนื่องจากจะทำให้สถาบันตุลาการเกิดความเสียหาย 

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามหลักการผู้พิพากษาทุกคนจะต้องเป็นอิสระจากการเขียนคำพิพากษา แต่ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไม่ใช่ 100% เพราะมีเหตุที่ต้องเข้ามาควบคุมบ้างในแต่ละชั้นศาล ซึ่งเป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมาย ซึ่งแต่ละภาคจะมีอธิบดีผู้พิพากษาประจำภาคคอยดูแล มีรองอธิบดี มีหน้าท่ีต้องตรวจสำนวน 

 

 

เช่น คดีอุกฉกรรจ์หรือในคดีที่มีข้อเท็จจริงเดียวกัน มีแนวคำพิพากษามา ก็ต้องดูว่าจะมีคำพิพากษาอย่างไร โดยเฉพาะหากมีเหตุให้กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม สามารถที่จะโอนสำนวนได้ เมื่อมีการรายงานไปยังภาค ภาคก็จะตรวจสำนวน กรณีที่ยะลาเป็นคดีพยายามฆ่าหรือไตร่ตรองไว้ก่อน อธิบดีก็ต้องขอตรวจก่อน ถ้าเห็นด้วยก็ส่งคืนและอ่านไปได้ ถ้าไม่เห็นด้วยก็จะมีการทักท้วง นี่คือระบบของศาล ซึ่งมีมานานแล้ว ส่วนจะมีข้อบกพร่องหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ามี

 

ศิริชัยยังแสดงความคิดเห็นอีกว่า ศาลยุติธรรมได้ชื่อว่าเป็น Conservative ไม่ค่อยรับแนวใหม่ๆ ความรู้สึกที่จะเปลี่ยนอะไรจึงยาก ต้องมีคนกล้า สำหรับการตรวจสำนวนของอธิบดีผู้พิพากษาภาคมีประโยชน์แต่น้อย ในคดีใหญ่ๆ ทุนทรัพย์สูงหรือโทษสูง เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินคดีก็ไม่จบ ต้องไปศาลสูงขึ้น เช่น ศาลอุทธรณ์ การมาทักท้วงเรื่องการเปลี่ยนผลลงโทษ แทบจะไม่มีผล เพราะก็ต้องขึ้นไปศาลสูงอีกอยู่ดี

 

 

ผู้พิพากษาที่อาวุโสน้อยเพิ่งผ่านการอบรมมาอาจจะมีความเชี่ยวชาญน้อย ก็ต้องส่งสำนวนให้ภาคดู เพราะอาจจะยังไม่มีประสบการณ์ ผู้พิพากษาที่จบใหม่ๆ จะถูกส่งไปจังหวัดไกล ก็ทำให้เหมือนการเอาผู้พิพากษาไปฝึกงานมากกว่า เพราะไปถือตามระบบอาวุโสมากกว่าได้ศาลดีกว่า 

 

“สุดท้ายระบบก็อยู่ที่ตัวบุคคลด้วย การรับแรงกดดันแต่ละคนไม่เท่ากัน อยากให้ทางสำนักงานศาลมาดูว่า หากเกิดปัญหาแบบที่ยะลาขึ้นแล้วจะต้องจัดการอย่างไร ต้องตรวจสุขภาพจิตของผู้พิพากษาหรือไม่”

 

อดีตประธานศาลอุทธรณ์เสนอว่า ระบบต้องเปลี่ยน เพราะใช้มานาน จะได้เห็นความเป็นธรรม ต้องให้มีการอบรมผู้พิพากษาใหม่ 2 ปี แล้วส่งมาฝึกงานที่ศาลอุทธรณ์ จะได้เห็นการทำงาน เพื่อให้เป็นบทเรียนในการทำงาน จะได้ไม่มีข้อบกพร่อง

 

 

อย่างไรก็ตาม การตรวจสำนวนหรือตรวจร่างควรจะต้องเข้าไปดูในคดีเล็กๆ โดยเฉพาะผู้พิพากษาคนเดียว ควรมีการตรวจร่าง เพื่อให้ได้ความเป็นธรรมกับประชาชน โดยเฉพาะคดีที่มีโอกาสจบแค่ศาลเดียว ในส่วนของชาวบ้านอาจจะต้องทำแบบกลับหัวกลับหางให้มีการแก้ไขที่เป็นระบบมากขึ้น 

 

ศิริชัยยังปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นคดีของคณากรว่า ได้รับความกดดันระหว่างพิจารณาคดี รวมถึงว่ากระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซงหรือไม่ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการสอบข้อเท็จจริงของที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. แต่ส่วนตัวเชื่อว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีใบสั่งแต่อย่างใด แต่อาจเป็นความเห็นของอธิบดีและมุมมองของผู้พิพากษาที่แตกต่างกันเท่านั้น

 

สำหรับข้อสังเกตกรณีที่ผู้พิพากษาพกอาวุธปืนเข้าไปในห้องพิจารณาคดีนั้น ตนมองว่า หากย้อนไปดูกฎหมายในการบริหารราชการพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้าราชการสามารถที่จะพกพาอาวุธปืนได้ รวมถึงกรณีนี้ที่ศาลอาจอนุญาตให้พกอาวุธปืนเข้าไปได้ 

 

ศิริชัยยังมีข้อแนะนำไปถึงผู้พิพากษาว่า ไม่ควรแสดงตนอย่างเปิดเผยว่าฝักฝ่ายใด ในอดีตที่ผ่านมา ผู้พิพากษาจะเก็บตัวเงียบ ไม่เอาตัวเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวงสังคม เพราะจะทำให้กระบวนการยุติธรรมมีโอกาสถูกแทรกแซงได้ 

 

ศิริชัยยังกล่าวถึงภาพลักษณ์ตุลาการในปัจจุบันว่า ต้องคิดแก้ปัญหา ผู้บริหารต้องมีปฏิภาณไหวพริบ ควรจะแก้ปัญหาอย่างไร ต้องมาระดมกันว่า ที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนจะทำอย่างไร ผู้พิพากษาจะเอาไว้ตรงไหน เพราะมีบางคนบอกว่า ตุลาการไม่ได้สัมผัสประชาชน ปัญหาหนึ่งคือการเลือกตั้งในศาล 

 

“ลองดูสิ ถ้าให้ผู้พิพากษาเลือกตั้งจะยิ่งหนักแค่ไหน การเลือกตั้ง ก.ต. คือจุดที่เป็นปัญหาของศาล เพราะกฎหมายห้ามหาเสียง แต่ความจริงก็ทำ การเลือกตั้งต้องมีหัวคะแนน มีนักเลือกตั้งในศาล ลงทีไรชนะทุกที บางคนเป็นตรงนี้ครบเทอมก็ขยับไปอยู่ตรงนั้นแทน เพราะฉะนั้นวงการศาลยุติธรรมต้องให้ความเป็นธรรมกันเองก่อน” ศิริชัยกล่าวในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising