×

Facebook ปรับ… แบรนด์ต้องเปลี่ยน สรุปความเปลี่ยนแปลงของ Facebook ในรอบปี และวิธีรับมือของแบรนด์ต่างๆ

20.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

14 Mins. Read
  • การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่ผ่านมาในรอบ 1 ปีของ เฟซบุ๊ก (Facebook) ส่งผลกระทบต่อหลากหลายฝ่าย ทั้งแบรนด์ Publisher หรือเพจต่างๆ
  • เฟซบุ๊กพยายามปรับอัลกอริทึมเพื่อทำให้แพลตฟอร์มนี้เป็นพื้นที่ที่คนสามารถใช้เวลาอย่างมีคุณค่าและสร้างสรรค์เรื่องดีๆ ให้กับโลก
  • ถ้าคุณเข้าใจว่าผู้บริโภคอยู่ที่ไหน และเขาจะเลือกติดตาม หรือซื้อเราอย่างไร บางทีเฟซบุ๊กอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

อย่างที่เราทราบและเห็นกันอย่างกว้างขวางถึงการเปลี่ยนแปลงชนิด ‘เขย่าวงการ’ ของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่หลายแบรนด์ หลายเอเจนซี หลายกูรูออกมาแนะนำ ตักเตือน หรือแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางต่อกรณีการปรับยกเครื่อง เพื่อทำให้เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ที่คนสามารถใช้เวลาได้อย่างทรงคุณค่า และที่สำคัญคือสร้างสรรค์เรื่องดีๆ ให้กับโลก ถึงแม้ปัจจุบันความพยายามดังกล่าวยังอยู่ในขั้นพัฒนาเท่านั้น เพราะปัญหาข่าวปลอม การปลุกปั่น หรือการกลั่นแกล้งกันทางออนไลน์ยังคงมีอยู่

 

แต่กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เฟซบุ๊กเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคในยุคนี้ ที่ตรงจุดและได้ผลมาก เป็นหนึ่งใน Digital Big 5 (ประกอบไปด้วย Google, Facebook, Apple, Amazon และ Alibaba) ซึ่งถูกวัดแบ่งด้วยจำนวนประชากรที่มีตัวตนและเข้าถึงได้ที่อยู่ในระบบของพวกเขา ดังนั้นเราควรทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงเสียก่อนจะทำให้เราสามารถรับมือกับมันได้มากขึ้น

 

และต่อไปนี่คือการเปลี่ยนแปลงใน 1 ปีที่ผ่านมา และคำแนะนำต่อแบรนด์หรือ Publishers ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อรับมือและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ๆ

 

26 มกราคม 2560: ปรับ Reach ให้กับวิดีโอที่มีคนดูเป็นเวลานานหรือดูจบเพิ่ม (Video Completion Rate)

กระทบกับ: Brand, Publisher ที่ชอบโพสต์วิดีโอ

ระดับผลกระทบ: ปานกลาง

 

เฟซบุ๊กปรับให้วิดีโอที่มีคนดูจนจบหรือดูเป็นเวลานานได้รับ Reach เพิ่มขึ้น ดังนั้นควรทำวิดีโอคอนเทนต์ที่น่าสนใจชวนให้คนดูจนจบ

 

31 มกราคม 2560: ปรับระบบการตรวจสอบเนื้อหาที่เป็นเนื้อหาจริง (Authentic Content)

กระทบกับ: Publisher

ระดับผลกระทบ: ปานกลาง

 

ใช้อัลกอริทึมจับพวกโพสต์ SPAM หรือ Clickbait โดยอิงกับการปฏิสัมพันธ์ของเพื่อนเราที่มีต่อโพสต์นั้นแบบเรียลไทม์ ดังนั้นไม่ควรทำเนื้อหาประเภทล่อให้คนกดไลก์ แชร์ และหากโพสต์ของคุณมีคนมาไลก์ คอมเมนต์ แชร์จำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ จะส่งผลดีต่อ Reach

 

25 เมษายน 2560: ทดสอบระบบ Related Article

กระทบกับ: Publisher

ระดับผลกระทบ: น้อย

 

คำแนะนำบทความที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราอ่านในฟีดของเรา ไม่ส่งผลกระทบต่อการโพสต์ของแบรนด์โดยตรง แต่เป็นผลดีต่อบทความดีๆ ที่เขียนถึงประเด็นที่เป็นที่พูดถึงในโซเชียล ณ ขณะนั้น จะมีคนเข้ามาอ่านมากขึ้นจากการแนะนำของฟีเจอร์ตัวนี้

 

10 พฤษภาคม 2560: ปรับอัลกอริทึม ลด Reach กับลิงก์ที่ส่งไปยังเว็บที่โหลดช้า หรือลิงก์เสีย

กระทบกับ: Brand และ Publisher ที่แชร์ลิงก์มาจากเว็บไซต์ตัวเอง

ระดับผลกระทบ: ปานกลาง

 

การปรับครั้งนี้ เพื่อสร้างคุณภาพของเนื้อหาในฟีดมากขึ้น ส่งผลให้แบรนด์ที่โพสต์ลิงก์ไปยังหน้าเว็บไซต์ ต้องทำเว็บไซต์ให้ดี มีคุณภาพ โหลดเร็ว รองรับมือถือ และลิงก์ไม่เสีย ถึงจะได้รับ Reach มากขึ้น

 

17 พฤษภาคม 2560: ลด Reach โพสต์ประเภท Clickbait

กระทบกับ: Publisher

ระดับผลกระทบ: ปานกลาง

 

ด้วยอัลกอริทึมตรวจหัวข้อล่อคลิก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ Publishers ที่มีแต่หัวข้อข่าว Clickbait ให้ Reach ลดลง

 

30 มิถุนายน 2560: เพิ่ม Reach โพสต์คุณภาพที่มีข้อมูลและข่าวที่น่าสนใจ ถูกต้อง

กระทบกับ: Publisher

ระดับผลกระทบ: ปานกลาง

 

เฟซบุ๊กกล่าวเพิ่มเติมว่า จริงๆ ก็เหมือนการลด Reach พวกเพจที่ชอบโพสต์ข่าวปลอม หรือสแปมข่าวบ่อยๆ แต่พอคลิกเข้าไปกลับมีเนื้อหานิดเดียว หรือเนื้อหาที่ไม่ตรงกับที่โพสต์ไว้ เพื่อเพิ่มคุณภาพข่าวหรือคอนเทนต์ที่ดีมากขึ้น

 

2 สิงหาคม 2560: ลิงก์ไปยังเว็บไซต์ที่โหลดเร็วจะได้แต้มต่อมากกว่าเดิม

กระทบกับ: Brand และ Publisher ที่แชร์ลิงก์มาจากเว็บไซต์ตัวเอง

ระดับผลกระทบ: ปานกลาง

 

เฟซบุ๊กกล่าวว่า โดยปกติคนจะรู้สึกหงุดหงิดถ้าเว็บไซต์ที่เราคลิกไปดูโหลดช้ากว่า 3 วินาที และเพื่อประสบการณ์การใช้งานที่แฮปปี้ของคนแล้ว เฟซบุ๊กจึงได้นำเอาความเร็วในการโหลดมาคำนวณในการขึ้น Newsfeed

 

สำหรับความเร็วในการโหลดเว็บ เฟซบุ๊กยังยกตัวอย่างอีกว่า พวกเขาเอาความเร็วการเชื่อมต่อของมือถือ หรือ Wi-Fi ในขณะนั้นมาคำนวณด้วยว่าจะเลือกแสดงผลอะไรให้เราเห็น เช่น ถ้าความเร็วเน็ตเราช้า โหลดวิดีโอนาน Newsfeed ของเราก็จะไม่แสดงวิดีโอให้เราเห็นมากนัก รวมไปถึงการทำ ‘Prefetch’ หรือการดาวน์โหลดเนื้อหาบางส่วนล่วงหน้าก่อนคนคลิกลิงก์ เพื่อความเร็วในการโหลดจะเร็วขึ้นกว่า 25% ทีเดียว ดังนั้นการทำเว็บเราให้โหลดเร็วกว่า 3 วินาทีในความเร็วการเชื่อมต่อระดับ 3G น่าจะเป็นผลดีที่สุด

 

9 สิงหาคม 2560: ใช้ AI ตรวจจับโพสต์ โฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎ แต่ใช้วิธีใส่หน้ากากให้โฆษณา (Cloaking)

กระทบกับ: Brand ประเภทขายของฝ่าฝืนกฎเฟซบุ๊ก เช่น อาหารเสริม, ยาลดความอ้วน, ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม, ศัลยกรรม, อาวุธ, ของมึนเมา, สินค้าผิดลิขสิทธิ์, สินค้าลามกอนาจาร หรือยาเสพติดผิดกฎหมายทุกชนิด

ระดับผลกระทบ: สูง

 

การปรับครั้งนี้ส่งผลกระทบเต็มๆ โดยเฉพาะบ้านเราที่ตลาดอาหารเสริมและครีมใหญ่มาก โดยเฟซบุ๊กมีกฎชัดเจนต่อการโฆษณาสิ่งเหล่านี้ ซึ่งหลายๆ แบรนด์ใช้วิธีหักหลบกันด้วยเทคนิคสายมืดต่างๆ เช่น ในโฆษณาบอกอีกอย่าง แต่เข้าไปเป็นอีกอย่าง การใช้สัญลักษณ์ตัวอักษรแปลกๆ แทนคำพูดตรงๆ เช่น ยาลดความอ้วน สระอา ใช้สัญลักษณ์แทน หรือ อ. อ่าง ถูกแทนที่ด้วย o ท. ทหาร แทนที่ด้วย n เป็นการหลอก AI ที่ตรวจโฆษณาของเฟซบุ๊ก ซึ่งตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว แต่กระนั้น นี่ก็เป็นผลดีต่อผู้ใช้งานมากขึ้น เพราะเป็นการทำมาเพื่อป้องกันการหลอกลวงโดยเฉพาะ

 

15 สิงหาคม 2560: ปรับ UI ให้อ่านง่ายขึ้น

กระทบกับ: Brand, Publisher

ระดับผลกระทบ: ต่ำ

 

การปรับการแสดงผลใหม่ให้คนอ่านง่ายขึ้นเฉยๆ ไม่ได้ส่งผลต่อ Reach แต่อย่างใด

15 สิงหาคม 2560: จัดการวิดีโอ Clickbait

กระทบกับ: Publisher

ระดับผลกระทบ: ปานกลาง

 

เฟซบุ๊กปรับการตรวจจับ Clickbait ที่นอกเหนือจากบทความแล้วมายังวิดีโอด้วยเช่นเดียวกัน

28 สิงหาคม 2560: บล็อกโฆษณาที่มาจากเพจที่แชร์ข่าวปลอมบ่อยๆ

กระทบกับ: Brand, Publisher

ระดับผลกระทบ: ปานกลาง

 

เฟซบุ๊กจัดการยกระดับมาตรการอีกขั้นเพื่อจัดการเพจที่ชอบแชร์ข่าวปลอม ข่าว Clickbait มากขึ้น ด้วยการป้องกันไม่ให้เพจเหล่านี้โฆษณาได้ ส่วนแบรนด์ที่ชอบใช้เพจเหล่านี้โฆษณาบ่อยๆ ก็ทำไม่ได้แล้ว

 

5 ตุลาคม 2560: เพิ่มฟีเจอร์เพื่อกดดูข้อมูลของบทความนั้น เพื่อวิจารณญาณในการรับชมบทความ

กระทบกับ: Publisher

ระดับผลกระทบ: ปานกลาง

 

เป็นสิ่งที่ดีมาก แต่คนไม่รู้กันว่าเฟซบุ๊กได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ที่อยู่ในระหว่างการทดลอง เป็นการให้คนสามารถตรวจสอบแหล่งที่มา ข้อคิดเห็นที่มีต่อบทความของคนอื่นๆ ข้อมูลของ Publisher ที่โพสต์คอนเทนต์ดังกล่าว ดูว่าคอนเทนต์นี้เป็น Trending Articles หรือเปล่า ซึ่งทำให้คนมีวิจารณญาณในการเสพข่าวมากขึ้นโดยสามารถตรวจสอบได้

24 ตุลาคม 2560: ออก Publisher Guideline สำหรับบรรดานักผลิตคอนเทนต์

กระทบกับ: Publisher

ระดับผลกระทบ: ปานกลาง

 

เฟซบุ๊กออกคู่มือสำหรับบรรดา Publisher เพื่อการใช้งาน ความเข้าใจ และให้ทุกคนได้ทำตาม เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพในเฟซบุ๊ก โดยแนะนำทั้ง Ranking, Algorithm, Inventory, Signal และคำแนะนำ

 

โดยสรุป เฟซบุ๊กสอนระยะเวลาการโพสต์ของคอนเทนต์นั้น, ความน่าเชื่อถือของคนโพสต์, รีแอ็กชันของคนที่มีต่อโพสต์ เช่น คนแจ้งว่าเป็นข่าวปลอมเยอะไหม, คนรีพอร์ตเยอะไหม หรือคนคอมเมนต์มากไหม ละเอียดไปถึงสัญญาณมือถือว่าเวลาเข้าคอนเทนต์ดังกล่าวใช้เวลาโหลดนานไหม ซึ่งสามารถไปอ่านกันได้ที่ www.facebook.com/help/publisher/newsfeedguidelines

 

 

15 ธันวาคม 2560: ฟีเจอร์ใหม่ Snooze งดรับข่าวสารจากคน กรุ๊ป หรือเพจเป็นเวลา 30 วัน

กระทบกับ: Brand, Publisher

ระดับผลกระทบ: น้อย

 

สำหรับใครที่เบื่อข่าวการเมืองหรือข่าวที่น่ารำคาญมากๆ แต่ไม่อยาก Unfollow หรือ Unfriend ก็กด Snooze ได้เพื่องดรับข่าวไป 30 วัน

 

14 ธันวาคม 2560: เฟซบุ๊กเตรียมหยุดจ่ายเงินเพจดังสร้างคอนเทนต์ แต่ปรับเป็นโฆษณาต้นคลิปและแทรกกลางแทน

กระทบกับ: Brand, Publisher

ระดับผลกระทบ: มาก

 

จากเดิมโมเดลการทำธุรกิจกับ Publisher จะเป็นการจ้างผลิตคอนเทนต์ แต่ตอนนี้ปรับใหม่ โดยมุ่งเน้นการใช้โฆษณาคั่นแทนการสร้างวิดีโอ โดยมีการปรับ 3 อย่าง คือ ปรับอัลกอริทึมให้แสดงวิดีโอเพิ่มขึ้นอีก โดยคัดจากวิดีโอที่มีความนิยมสูง รวมไปถึงวิดีโอที่ทำเป็นซีรีส์มากขึ้น และเตรียมทดสอบโฆษณาคั่นกลาง (เงื่อนไขคือ วิดีโอต้องยาว 3 นาที และการ Live ถ้าต้องการแทรกโฆษณา เพจต้องมีคนไลก์มากกว่า 50,000 คน) รวมไปถึงทำ Pre-roll Video แบบยูทูบ แต่ใช้เฉพาะวิดีโอที่อยู่ใน Tab Watch เท่านั้น ไม่ใช่วิดีโอใน Newsfeed

 

18 ธันวาคม 2560: ปรับลด Reach จากโพสต์ประเภท Engagement Bait (Tag เพื่อน, ล่อให้คอมเมนต์ใต้ภาพ หรือล่อให้กดแชร์)

กระทบกับ: Brand, Publisher

ระดับผลกระทบ: มาก

 

เฟซบุ๊กประกาศลด Reach สำหรับโพสต์ 5 ประเภท ที่ล่อให้คนทำอะไรบางอย่าง เช่น โหวต, กด Reaction, กด Share, กด Tag เพื่อน หรือคอมเมนต์ใต้ภาพ เพื่อเร่ง Engagement ให้กับโพสต์ของตัวเองจะได้เห็น Reach มากขึ้น เพราะมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่โพสต์ที่มีคุณภาพ ส่งผลกระทบต่อทุกแบรนด์ หรือเพจที่ชอบมีกิจกรรมทำกับลูกเพจบ่อยๆ โดยใช้วิธีการดังกล่าว

20 ธันวาคม 2560: เปลี่ยนจากระบบ False Flag แจ้งเตือนข่าวปลอม แล้วให้ความสำคัญกับ Related Ariticle แทน เพื่อให้คนได้ข้อมูลข่าวสารครบด้าน

กระทบกับ: Publisher

ระดับผลกระทบ: น้อย

 

เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อสู้กับข่าวปลอมอีกครั้ง แต่คราวนี้การปรับจะเป็นการยกเลิกการแจ้งเตือนข่าวดังกล่าวว่าเป็นข่าวปลอม แต่จะขึ้นบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคอีกครั้ง เช่น ถ้าคนแชร์เรื่อง UFO ตัว Related Article จะขึ้นบทความที่แก้ความจริงให้ทันที (เหมือนการเช็กก่อนแชร์)

11 มกราคม 2018: มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แถลงวิสัยทัศน์ใหม่ ลด Reach จากแบรนด์และเพจต่างๆ เพื่อทำให้คนใกล้ชิดกับเพื่อนมากขึ้น

กระทบกับ: Brand, Publisher

ระดับผลกระทบ: มาก

 

ข่าวครึกโครมต้นปีที่พี่มาร์กประกาศยอมรับการลด Reach เป็นครั้งแรก เพื่อทำให้คนใช้เวลาในเฟซบุ๊กให้มีคุณค่ากับเพื่อนมากขึ้น โดยหลักๆ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของเพจที่เป็นแบรนด์ สินค้า และ Publisher และโพสต์จากเพจเหล่านี้อาจทำให้คนเลิกใช้เฟซบุ๊กในระยะยาว จึงต้องจัดการก่อน

 

โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้เพจต้องปรับตัวด้วยการลงทุนกับคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และสร้างให้เกิดการพูดคุย (โดยห้ามทำ Engagement Bait) ไม่เช่นนั้นก็จะต้องลงทุนกับการจ่ายเงินค่าโฆษณาในเฟซบุ๊ก (โดยค่าโฆษณาในเฟซบุ๊กแพงขึ้นโดยเฉลี่ย 35-60%) รวมไปถึงเรียนรู้การใช้ฟีเจอร์เฟซบุ๊กให้ดีขึ้นอย่าง Live Video

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อแบรนด์อย่างมาก เพราะการลงทุนในเฟซบุ๊กด้วยเงินเท่าเดิมอาจส่งผลไม่เหมือนเดิม และการทำคอนเทนต์ลงเฟซบุ๊กทุกวันอาจใช้เงินมหาศาล ทำให้หลายๆ แบรนด์มองหาทางออกอื่นๆ ด้วยการพิจารณาย้ายแพลตฟอร์ม หรือสร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง ซึ่งนักการตลาดหลายคนยังทำใจไม่ได้กับการต้องจ่ายเงินมหาศาล ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเคยจ่ายถูกกว่านี้

 

20 มกราคม 2018: ประกาศเรื่องการคัดคุณภาพคอนเทนต์ด้วยหลักการ 3 ข้อ ข่าวที่มาจากแหล่งข่าวน่าเชื่อถือ ข่าวที่คนเห็นว่ามีประโยชน์ และข่าวที่เกี่ยวข้องกับคนในประเทศ หรือท้องถิ่นนั้นๆ

กระทบกับ: Publisher

ระดับผลกระทบ: ปานกลาง

 

ยังคงโฟกัสเรื่องของคุณภาพข่าวมากขึ้น แต่คราวนี้พี่มาร์กทำให้ชัดเจนมากขึ้นว่า เขาคัดข่าวที่มีคุณภาพเพื่อตอบรับกับการลดฟีดข่าวจาก 5% เป็น 4% อย่างไร โดยหลักๆ คือการให้คนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อข่าวดังกล่าว และที่มาของข่าวเพื่อให้คนอ่านที่เหลือได้มั่นใจว่านี่คือข่าวที่มีคุณภาพ

 


 

29 มกราคม 2018: ให้ความสำคัญกับข่าวที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นนั้นมากขึ้น ด้วย Signal ที่ระบุเรื่อง Local Publisher

กระทบกับ: Publisher

ระดับผลกระทบ: ปานกลาง

 

เฟซบุ๊กออกมาอธิบายเรื่อง Local Publisher ให้กระจ่างอีกครั้งว่า การคัดเลือกเป็นอย่างไร โดยหลักๆ ระบบจะตรวจจาก Domain ของเว็บไซต์ข่าวหรือเพจนั้นๆ และตัวเนื้อหาข่าวว่ามีความเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นนั้นๆ มากแค่ไหน เมื่อ 2 อย่างรวมกันจึงจะระบุได้ว่าเป็นแหล่งข่าวท้องถิ่นนั่นเอง ซึ่งพี่มาร์กกล่าวว่า เริ่มต้นทำสิ่งนี้แล้วใน The Facebook Journalism Project

14 กุมภาพันธ์ 2018: ประกาศนโยบาย Branded Content 7 ข้อ

กระทบกับ: Brand, Publisher

ระดับผลกระทบ: มาก

 

เฟซบุ๊กออกนโยบายที่จะบังคับใช้ใน 1 มีนาคมนี้ กับคอนเทนต์ประเภท Branded Content (ซึ่งตัวนี้ในไทยยังไม่ได้รับความนิยมมาก แต่ควรศึกษาไว้ครับ โดยคุณ Khajochi บรรยายไว้ค่อนข้างละเอียดที่ www.khajochi.com/2016/08/facebook-branded-content-tools-for-agency-brand-page.html)

  1. ห้ามใส่โฆษณาก่อน คั่นกลาง หรือหลัง ในคอนเทนต์วิดีโอหรือเสียง
  2. ห้ามใส่โฆษณาแบนเนอร์ไว้ในวิดีโอหรือภาพถ่าย
  3. ห้ามใส่โฆษณาใน 3 วินาทีแรกของวิดีโอ โฆษณาคั่นที่ไม่ได้อยู่ในช่วง 3 วินาทีแรกของวิดีโอ เช่น โฆษณาคั่นกลางหรือโฆษณาต่อท้าย จะต้องมีความยาวต่อเนื่องไม่เกิน 3 วินาที และต้องไม่อยู่ใน Facebook Stories และ Instagram Stories
  4. เพจที่มีรายการเป็นของตัวเอง ต้องไม่ใช้โลโก้แบรนด์เป็นโลโก้รายการ หรือห้ามปรากฏเนื้อหาและสัญลักษณ์ของแบรนด์อื่นในเนื้อหาวิดีโอ
  5. ไม่ใช้คอนเทนต์ที่มีเนื้อหาของแบรนด์ เพื่อแท็กเพจ แบรนด์ หรือพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจโดยไม่ได้รับความยินยอมล่วงหน้า
  6. ไม่รับสิ่งที่มีค่าใดๆ เพื่อโพสต์เนื้อหาที่คุณไม่ได้สร้างหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้าง หรือไม่ได้มีคุณอยู่ด้วยทุกกรณี (ห้ามแชร์คอนเทนต์ที่ไม่ได้สร้างเอง)
  7. ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่บังคับใช้ รวมทั้งตรวจสอบให้แน่ใจว่าเพจคุณได้เปิดเผยสิ่งที่จำเป็นทั้งหมดต่อผู้ใช้งานเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม เช่น การเปิดเผยว่าคุณรับจ้างมาโพสต์

 

เฟซบุ๊กออกนโยบายนี้เพื่อความโปร่งใส จริงใจ ของคอนเทนต์แฝงโฆษณา ประเภทจ่ายเงินมาให้แชร์โฆษณาให้ ซึ่งการกระทำที่ไม่ฝืนนโยบายคือการมีส่วนร่วมในเนื้อหา เช่น ต้องผลิตคอนเทนต์นั้นเอง เช่น วิดีโอรีวิว หรือโปรโมตสินค้าในแบบตัวเอง หรือมีบทบรรณาธิการของตัวเอง เช่น การรีวิวที่ใส่ตัวตนลงไปด้วย

 

ตัวอย่างเคสที่ผิด ไม่ผิด

  • ตกลงแชร์คอนเทนต์ซึ่งกันและกันโดยไม่จ่ายเงิน ทำได้ ไม่ผิด
  • เจ้าของเพจโปรโมตสินค้าตัวเอง เช่น ขายของที่ระลึกมีรูปตัวเอง ไม่ผิด
  • เจ้าของเพจทำวิดีโอ หรือคอนเทนต์ถ่ายคู่กับสินค้า และเจ้าของสินค้าบูสต์โพสต์ให้ ไม่ผิด แต่ต้องแท็กชื่อสินค้าแสดงว่าได้รับการโฆษณา
  • เจ้าของเพจไปปรากฏตัวในโฆษณาสินค้า โดยเจ้าของเพจไม่ได้ทำภาพหรือวิดีโอเอง เจ้าของสินค้าบูสต์ให้ ไม่ผิด แต่ต้องแท็กชื่อ
  • โพสต์เทรลเลอร์หนังต้องทำรีวิวเอง ไม่ใช่โพสต์เฉยๆ

 

โดยสรุปแล้ว ต่อไปเพจจะรับโฆษณาโดยเอาคอนเทนต์มาแชร์เฉยๆ โดยไม่แจ้งความโปร่งใสในการรับเงินโฆษณา หรือไม่ได้ใส่รีวิวที่เป็นบทบรรณาธิการของตัวเองคงจะทำไม่ได้ หากฝ่าฝืนก็อาจจะมีบทลงโทษตามมา เช่น ตักเตือน ลบโพสต์ หรือแบน

 

แต่จริงๆ แล้วไม่อยากให้ตกใจกับการอัปเดตล่าสุดมากนัก จนกว่าในประเทศไทย เอเจนซี เพจ และแบรนด์จะใช้ฟีเจอร์ Branded Content แทนที่วิธีการแบบเดิมๆ โดยผ่านตัวกลางอยู่ แต่ในอนาคตหากเครื่องมือตัวนี้ถูกใช้อย่างหลากหลาย บทบาทของเอเจนซีตัวกลางที่คอยติดต่อเพจต่างๆ อาจหายไป อันนี้น่าจะกระทบมากกว่าครับ เพราะแบรนด์สามารถติดต่อเพจต่างๆ ได้โดยตรง และมีความโปร่งใสด้านตัวเลขข้อมูล โดยนโยบายทั้ง 7 ทำมาเพื่อปกป้องแบรนด์และผลประโยชน์ของเฟซบุ๊กเอง เพราะถ้าปล่อยให้มีการโฆษณามั่ว จะส่งผลกระทบต่อรายได้ และการเสียผลประโยชน์ของแบรนด์และเพจที่ทำถูกต้องในระบบครับ

 

โดยสรุป นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่ผ่านมาในรอบ 1 ปีของเฟซบุ๊กที่มีผลกระทบต่อหลากหลายฝ่าย หากใครที่รู้สึกไม่ยุติธรรม หรือรู้สึกว่าจะต้องปรับตัว หรือไม่รู้ว่าต่อไปต้องเจอการเปลี่ยนแปลงอะไรอีก ข้อสรุปสุดท้าย 5 ข้อนี้จะเป็นตัวช่วยตัดสินใจว่าคุณจะอยู่หรือไปกับ Social Media ตัวนี้ครับ

 

  • เราต้องเข้าใจจุดประสงค์หลักของเฟซบุ๊กให้ถ่องแท้ว่า ที่นี่ไม่ได้ถูกสร้างมาให้เป็นพื้นที่ขายของตั้งแต่แรก อยากขายก็ต้องจ่าย ซึ่งราคาค่าที่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ เราพร้อมไหมสำหรับต้นทุนตรงนี้
  • เข้าใจวิธีการคิด การแสดงผลคอนเทนต์บนหน้า Newsfeed ของเฟซบุ๊ก และเข้าใจความคิดของผู้ใช้ก่อนทำคอนเทนต์ออกมา หากเราไม่มีความเข้าใจมากพอ อาจจะต้องลองผิดลองถูกบนความเปลี่ยนแปลงนี้ เราพร้อมไหม
  • หลายคนบอกต้องปรับปรุงคุณภาพคอนเทนต์ แต่ผมมองว่าปรับปรุงคุณภาพสินค้าและจุดขายของคุณสำคัญกว่า หากสินค้าหรือเพจของคุณไม่มีจุดขายหรือเรื่องเล่าที่ดี ยังไงคอนเทนต์ก็ออกมาดีไม่ได้ สินค้าเราดีพอที่จะให้คนสนใจไหม
  • ต้องคำนวณการลงทุนใหม่ บางทีคุณอาจไม่มีเงินมากพอสำหรับเฟซบุ๊กในวันนี้ ที่เปรียบเสมือนราคาที่ดิน หรือค่าเช่าพื้นที่ ที่พอคนเยอะก็แพงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน คุณมีทางเลือกอื่นไหม
  • ต้องกลับมาที่เรื่องของการตลาดและการทำธุรกิจ ถ้าคุณเข้าใจว่าผู้บริโภคอยู่ที่ไหน และเขาจะเลือกติดตามหรือซื้อเราอย่างไร บางทีเฟซบุ๊กอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของเรา แล้วที่ไหนล่ะที่ลูกค้าเราอยู่และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising