×

The Black Cats ที่นั่งพิเศษสำหรับคนพิเศษในสเตเดียมออฟไลต์ของทีมซันเดอร์แลนด์

09.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เด็กออทิสติกมีประสาทสัมผัสที่ไวมาก เช่น บางคนตาไว บางคนหูไว ดังนั้นการอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดังอึกทึก มีแสงไฟส่องสว่างจ้าอย่างในสนามฟุตบอลจึงเป็นสถานที่ที่พวกเขาไม่สามารถทนรับไหว
  • ทีมซันเดอร์แลนด์สละห้อง Executive Box ที่มีมูลค่ามหาศาลเพื่อนำมาปรับเป็น Sensory Room ห้องที่ทุกคนสามารถมองเห็นเกมในสนามได้อย่างชัดแจ๋ว แต่ได้รับการปกป้องจากเสียงและสิ่งแวดล้อมภายนอกอย่างดี ช่วยให้เด็กออทิสติกทุกคนที่เข้ามาชมเกมในห้องแห่งนั้นได้สนุกไปกับเกมอย่างไม่ต้องกลัวหรือกังวลอะไร
  • ห้องต้นแบบมีการเปิดใช้เมื่อปี 2014 และเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าหนูผู้เป็นแรงบันดาลใจ ห้องนี้จึงได้รับการตั้งชื่อว่า The Nathan Shippey Sensory Room ด้วย

ตัวเลขอันดับบนตารางของ ‘เดอะ แบล็ก แคตส์’ หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันในชื่อ ‘แมวดำ’ ซันเดอร์แลนด์ ในช่วงเวลานี้อาจจะดูไม่ค่อยดีต่อหัวใจของแฟนๆ เท่าไรนัก

 

เพราะหลังจากที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกเมื่อฤดูกาลที่แล้ว พวกเขายังประสบปัญหาต่อเนื่อง จนเวลานี้จมอยู่ท้ายตารางแชมเปียนชิพในอันดับที่ 23 หรือเป็นทีมรองบ๊วย มีดีกว่าทีมบ๊วยอย่างเบอร์ตัน อัลเบียน เพียงแค่ผลต่างประตูได้เสียที่ดีกว่าเท่านั้น

 

กับสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ ทำให้แฟนๆ แมวดำที่เข้ามาชมเกมในสเตเดียมออฟไลต์ต้องพยายามลุ้นเอาใจช่วยทีมมากเป็นพิเศษ

 

โดยมีหนึ่งใน 30,000 เสียงที่พยายามตะโกนปลุกเร้าทีมอยู่จากห้องกระจกในมุมแห่งหนึ่งของสนาม

 

เสียงนั้นอาจจะไม่ได้ถูกส่งออกมาถึงข้างนอก

 

แต่ไม่ได้แปลว่าความรู้สึกนั้นไม่ได้ออกมาจากข้างใน

 

 

โลกที่ไม่อาจเข้าไป

“Come on จ่ายบอลให้มันดีกว่านี้หน่อย!”

 

เสียงตะโกนดังลั่นนั้นมาจากเจ้าหนูนาธาน ชิปปีย์ แฟนบอลซันเดอร์แลนด์ตัวจริงที่ยืนเกาะขอบกระจกของห้อง Executive Box ที่ฝังตัวอยู่ในมุมหนึ่งของสนามที่มีความหมายที่ดีอย่างสเตเดียมออฟไลต์ และพยายามส่งเสียงเชียร์ดังสนั่นตลอดเวลา

 

ภาพนี้เป็นภาพที่คุ้นตาของเจ้าหน้าที่สโมสรซันเดอร์แลนด์ที่เข้ามาให้การดูแลเป็นพิเศษ

 

ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษนั้นเพราะนาธานเป็นเด็กออทิสติกครับ (Autism) แม้ว่าหากดูจากภายนอกแล้วเขาแทบจะไม่แตกต่างจากเด็กคนอื่นทั่วไปเลย

 

ออกจะช่างเจรจาและมีเค้าจะหล่อเหลาอยู่ไม่น้อย

 

แต่เพราะความไม่ปกติบางอย่างในร่างกายทำให้เขามีความแตกต่างจากเด็กคนอื่นอยู่บ้าง และบางอย่างก็เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อชีวิตและจิตใจของนาธานอยู่ไม่น้อย

 

ในความที่เป็นเด็กที่เกิดในครอบครัวที่รักในเกมฟุตบอล นาธานเองก็กลายเป็นสาวกซันเดอร์แลนด์มาแต่อ้อนแต่ออกแล้วครับ

 

เขารักที่จะได้เชียร์ทีมลงสนาม และแน่นอนว่าซันเดอร์แลนด์คือโลกทั้งใบของเขา

 

เพียงแต่การจะเข้ามานั่งชมเกมในสเตเดียมออฟไลต์แบบเด็กทั่วไปนั้นเป็นเรื่องที่ร่างกายของเขาไม่สามารถทนรับไหว

 

“ผมพานาธานเข้ามาชมเกมที่เจอกับเวสต์บรอมฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2014 วันนั้นเป็นวันที่บรรยากาศเคร่งเครียดมาก เพราะเราจำเป็นต้องชนะเพื่อที่จะอยู่รอดให้ได้” ปีเตอร์ ชิปปีย์ พ่อของเจ้าหนูน้อยคนพิเศษเล่าให้ฟัง

 

“พอเกมผ่านครึ่งแรกไป ปรากฏว่านาธานเข้ามาซุกในตัวผม เพราะเขากลัวมาก เขารับบรรยากาศที่เกิดขึ้นในสนามไม่ไหว ทำให้เราต้องรีบออกจากสนามทันที”

 

ที่นาธานมีอาการเช่นนั้นเพราะเด็กออทิสติกมีประสาทสัมผัสที่ไวมาก เช่น บางคนตาไว บางคนหูไว ดังนั้นการอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดังอึกทึก มีแสงไฟส่องสว่างจ้าอย่างในสนามฟุตบอลจึงเป็นสถานที่ที่พวกเขาไม่สามารถทนรับไหว

 

ตอนนั้นครอบครัวของนาธานกังวลอย่างมากว่าพวกเขาอาจจะไม่สามารถเข้ามานั่งดูเกมในสนามได้อีกแล้ว และทางเลือกที่เหลืออยู่คือดูการถ่ายทอดสดทางหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่งมันก็อาจจะโอเคเหมือนกัน

 

แต่สำหรับคนที่รักฟุตบอล ไม่มีอะไรในโลกนี้จะทดแทนการเข้ามาชมเกมสดๆ ในสนามได้

 

โชคดีสำหรับปีเตอร์ เมื่อเขาได้รู้ว่าที่โรงเรียนซันนิงเดล โรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ มี Sensory Room หรือห้องบำบัดสำหรับเด็กพิเศษ

 

หลอดไฟปรากฏขึ้นบนหัวของปีเตอร์ทันที

 

เขารู้ว่านี่แหละคือ ‘ทางออก’ สำหรับนาธาน

 

 

ที่นั่งพิเศษสำหรับคนพิเศษ

โดยปกติแล้ว Sensory Room จะมีประโยชน์ในการกระตุ้นประสาทต่างๆ ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ไม่ว่าจะทางด้านการมอง การสัมผัส กลิ่น การฟัง การเคลื่อนไหว และยังช่วยยกระดับสมาธิได้ดีอีกด้วย

 

ปีเตอร์เชื่อว่า ถ้าหากมีห้องแบบนี้อยู่ในสเตเดียมออฟไลต์ ไม่เพียงแค่นาธานเท่านั้นที่จะได้โอกาส แต่ยังหมายถึงเด็กออทิสติกที่เป็นแฟนบอลซันเดอร์แลนด์ทุกคนก็ย่อมจะได้โอกาสเข้ามาเชียร์ทีมรักของพวกเขาในสนามด้วย

 

น่าจะดี!

 

เพียงแต่ความยากของเรื่องนี้คือ ที่ผ่านมาไม่เคยมีสโมสรฟุตบอลแห่งไหนที่สร้างห้องแบบนี้ขึ้นเพื่อรองรับแฟนฟุตบอลที่เป็นออทิสติกเลย และนั่นคือความท้าทายของเขา

 

สิ่งที่คุณพ่อปีเตอร์พยายามทำคือการติดต่อกับสโมสรซันเดอร์แลนด์ผ่าน คริส วอลเตอร์ส เจ้าหน้าที่แผนกรับความคิดเห็นจากแฟนๆ (Sunderland’s Supporter Liaison Officer) เพื่อนำเสนอความคิดที่แปลกใหม่นี้

 

โชคดีที่วอลเตอร์สและซันเดอร์แลนด์ยินดีรับฟังความเห็นดังกล่าวและตอบสนองให้ทันที

 

พวกเขาสละห้อง Executive Box ที่มีมูลค่ามหาศาลเพื่อนำมาปรับเป็น Sensory Room ห้องที่ทุกคนสามารถมองเห็นเกมในสนามได้อย่างชัดแจ๋ว แต่ได้รับการปกป้องจากเสียงและสิ่งแวดล้อมภายนอกอย่างดี พร้อมกับมีโทรทัศน์และของอย่างอื่นที่จะช่วยทำให้เด็กออทิสติกทุกคนที่เข้ามาชมเกมในห้องแห่งนั้นได้สนุกไปกับเกมอย่างไม่ต้องกลัวหรือกังวลอะไร

 

หากนั่งดูเกมแล้วเกิดรู้สึกเครียดหรือกลัวก็แค่ลุกจากเก้าอี้นั่งแล้วมาเล่นของเล่น หรือนั่งดูโทรทัศน์สักครู่ เมื่อความรู้สึกนิ่ง หัวใจพร้อมแล้ว ก็ค่อยกลับไปนั่งลุ้นทีมกันใหม่

 

มันจึงกลายเป็นที่นั่งพิเศษสำหรับคนพิเศษอย่างแท้จริง

 

ห้องต้นแบบมีการเปิดใช้เมื่อปี 2014 ครับ และเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าหนูผู้เป็นแรงบันดาลใจ ห้องนี้จึงได้รับการตั้งชื่อว่า The Nathan Shippey Sensory Room ด้วย

 

เรื่องที่น่ายินดีคือโปรเจกต์พิเศษนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามครับ เด็กๆ ออทิสติกที่ไม่เคยมีโอกาสได้มาชมเกมในสนามมาก่อนก็ได้โอกาสที่จะเข้ามาชมเกมฟุตบอลสดๆ ในสนามกันมากขึ้น ซึ่งสำหรับคนพิเศษเช่นพวกเขาแล้ว มันคือการเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบเลยทีเดียว

 

เกมฟุตบอลทำให้โลกของพวกเขาสวยสดและงดงามกว่าเก่ามากมายหลายเท่านัก

 

 

เช่นเดียวกันกับหัวใจของคนที่เป็นผู้ให้อย่างคริส วอลเตอร์ส อีกหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในงานนี้ เขาก็ไม่คิดมาก่อนว่าการตัดสินใจรับฟังเสียงจากแฟนๆ นั้นจะสำคัญและมีความหมายมากขนาดนี้

 

“ฟีดแบ็กที่เราได้รับมานั้นมันมหัศจรรย์มาก” วอลเตอร์สเปิดเผย “ก่อนหน้านี้ครอบครัวของเด็กออทิสติกเคยบอกว่าพวกเขาได้ดูเกมกันแค่ 10 หรือ 15 นาทีเท่านั้น ตอนนี้เราได้เห็นว่าเด็กๆ สามารถรับมือกับการดูเกมฟุตบอลในสนามได้ ถ้าเป็นไปได้ เราก็หวังว่าพวกเขาทุกคนจะได้ขึ้นไปนั่งบนอัฒจันทร์จริงๆ แต่บางคนก็อาจชอบที่จะนั่งดูเกมจากข้างในก็ได้”

 

จากจุดเริ่มต้นในวันนั้น เวลาผ่านมา 4 ปี ซันเดอร์แลนด์ได้เปิดให้บริการห้อง Sensory Room เพิ่มอีก 1 ห้องในวันออทิสติกโลกครับ

 

คราวนี้พวกเขาได้รับการช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน ทั้งองค์กรอย่างพรีเมียร์ลีกที่ให้ทุนร่วมกับภาคเอกชน BT Sports และ Lord’s Taverners รวมถึงแคมเปญที่เกิดจากเจ้าหนูนาธาน และหน่วยงานภาครัฐ North East Autism Society ที่ลงขันกันเพื่อสร้างห้องใหม่ที่ใหญ่และดีกว่า

 

ในห้องใหม่นี้ตกแต่งสวยกว่าเดิมครับ มีการจัดสรรบริเวณอย่างชัดเจนในโซนที่นั่ง มีบีนแบ็ก มีเครื่องเล่นวิดีโอเกม และอีกมากมายที่จะทำให้เด็กออทิสติกนั้นรู้สึกผ่อนคลายกับการมาดูในสนาม

 

“ผมอยากเห็นแฟนๆ กระโดดตัวลอยกันตอนที่เรายิงประตูได้” เจ้าหนูนาธานตอบพร้อมรอยยิ้ม “ผมชอบที่ได้มาดูเกมในสนาม แต่บางครั้งเสียงมันดังไปหน่อย ผมเลยชอบห้องนี้มากเป็นพิเศษ เพราะบางครั้งผมก็อยากจะมีพื้นที่ส่วนตัวบ้าง”

 

แต่แน่นอนว่าสำหรับนาธานและเพื่อนๆ ของเขาอีกหลายคน ห้องแห่งนี้คือที่พิเศษที่ต่อให้เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

 

อ้างอิง:

FYI
  • ห้อง Sensory Room ในสเตเดียมออฟไลต์นั้น ครอบครัวที่อยากจะเข้ามาใช้บริการสามารถซื้อตั๋วเพื่อเข้ามาใช้บริการได้เหมือนซื้อตั๋วดูบอลปกติ ส่วนค่าเจ้าหน้าที่ที่มาดูแลนั้นฟรี ไม่ต้องเสียเงินครับ
  • หลังการสร้างห้องนี้ขึ้น ซันเดอร์แลนด์ได้รับการติดต่อจากสโมสรจากเม็กซิโกและบราซิล ที่เข้ามาขอศึกษาเพื่อนำไปสร้างบ้าง
  • ตามกฎแล้ว สโมสรในพรีเมียร์ลีกทุกแห่งจะต้องมีเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่า Supporter Liaison Officer (SLO) เพื่อรับฟังคำร้องจากแฟนๆ ว่าพวกเขาต้องการอะไร มีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง
  • ผลงานห้อง Sensory Room ทำให้คริส วอลเตอร์ส ได้รับรางวัล Supporter Liaison of the Year ด้วยครับ!
  • นอกเหนือจากที่ซันเดอร์แลนด์ บนโลกนี้ยังมีคนกีฬาที่ทำเพื่อเด็กออทิสติกอีกมากมายครับ เช่น แดน มาริโน ตำนานควอเตอร์แบ็กแห่ง NFL ที่ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือ หลังลูกชายของเขา ไมเคิล ถูกตรวจพบว่าเป็นออทิสติก
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising