×

กูรูชี้ ‘2 ปัจจัย’ เร่งเงินบาทอ่อนค่าทำสถิติรอบ 16 เดือน จับตาอาจไหลยาวถึงปี 2566 แนะผู้เกี่ยวข้องทำประกันความเสี่ยง

02.08.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

เงินบาทยังคงทยอยอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจาก 2 ปัจจัยหลัก คือการระบาดของโรคโควิดในประเทศที่แนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นจนภาครัฐต้องขยายมาตรการล็อกดาวน์ กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ทำให้เกิดเงินทุนไหลออก 

 

ส่วนอีกปัจจัย คือนักลงทุนทั่วโลกเริ่มปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) หลังจากหลายประเทศกลับมาเผชิญกับการระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ ทำให้เศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด นักลงทุนจึงโยกไปถือสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น เงินดอลลาร์ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น มีผลให้ค่าเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ อ่อนค่าลง

 

โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ (2 สิงหาคม) เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 32.96 บาท อ่อนค่าลงมาแล้วราว 10% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา และค่าเงินบาทในระดับดังกล่าวยังถือเป็นการอ่อนค่ามากสุดในรอบ 16 เดือน นับจากวันที่ 6 เมษายน 2563 ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่ระดับ 30.03 บาทต่อดอลลาร์

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เรายังมองเงินบาทอ่อนค่าแค่ชั่วคราวในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเผชิญการระบาดจากโควิดระลอกใหม่อย่างรุนแรงจนต้องกลับมาล็อกดาวน์ โดยการระบาดระลอกนี้ส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนเริ่มที่จะขายสินทรัพย์การลงทุนออกมาทั้งในตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ กดดันให้ค่าเงินอ่อนลง

 

“เงินบาทในเวลานี้ถือว่าอ่อนค่าแรงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากการระบาดของโรคโควิดที่หนักกว่าช่วงที่ผ่านๆ มา ทำให้ผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่น เงินทุนจึงเริ่มไหลออก ประกอบกับในไตรมาสนี้เราน่าจะยังเห็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง เพราะนอกจากรายได้ภาคท่องเที่ยวที่ไม่มีแล้ว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”

 

นอกจากนี้ การกลับมาระบาดของโรคโควิดในสหรัฐฯ ที่เริ่มหนักขึ้น ก็ทำให้นักลงทุนเริ่มโยกเงินลงทุนสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งก็คือเงินดอลลาร์ จึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่เชื่อว่าภาวะเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงแค่ช่วงสั้นๆ ภายในไตรมาส 3 เท่านั้น โดยระดับการอ่อนค่าของเงินบาทในไตรมาสดังกล่าวคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 33-33.50 บาทต่อดอลลาร์ 

 

อมรเทพกล่าวว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมาดีขึ้น ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในไตรมาส 3 ไม่ลากยาวสู่ไตรมาส 4 ก็น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาอีกครั้ง ถึงตอนนั้นเงินลงทุนก็อาจจะกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ไทยอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยพยุงให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ โดยสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ยังคงประเมินค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2564 ไว้ที่ระดับ 32-32.50 บาทต่อดอลลาร์

 

ttb Analytics ประเมินแนวโน้มบาทอ่อนค่ายาวถึงปี 2566

อย่างไรก็ตามในฝั่งของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) มองว่า ระยะข้างหน้าเงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

 

โดย นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) ประเมินว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าไปจนถึง 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงกลางปี 2565 และอาจมีแนวโน้มอ่อนค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกจนถึงสิ้นปี 2566 ตามทิศทางสกุลเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่าระยะยาวในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะส่งผลให้แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นจากแผนการปรับลดการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต

 

นริศระบุด้วยว่า นอกจากท่าทีของ Fed ที่กดดันให้เงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่าระยะยาวแล้ว เมื่อมาดูปัจจัยภายในของไทยเองก็จะพบว่าดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งที่ผ่านมาเคยเป็นปัจจัยที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าก็เริ่มพลิกมาติดลบแล้วเช่นกันในเดือนล่าสุด ซึ่งเมื่อรวมกับปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดที่ยังรุนแรงทำให้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าเงินบาทน่าจะอยู่ในขาอ่อนค่าเต็มตัว

 

“เมื่อ Fed เตรียมทำ QE Tapering กับไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด สิ่งที่จะตามมาคือฝรั่งที่เคยเข้ามาเก็งกำไรในตลาดบอนด์เราจะหายไปเพราะไม่อยากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจุดนี้จะยิ่งทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปอีก โดยส่วนตัวมองว่าในระยะสั้นการอ่อนค่าไปถึงระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ส่วนระยะยาวค่าเงินบาทอาจมีแนวโน้มอ่อนค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกจนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการคาดการณ์ถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในอนาคต” นริศกล่าว

 

นริศกล่าวอีกว่า ในภาวะเช่นนี้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ที่เหมาะสมในการป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้า เช่น การซื้อ Forward โดยกลุ่มผู้นำเข้าควรเพิ่มสัดส่วนการ Hedge ขณะที่ผู้ส่งออกก็สามารถลดสัดส่วนการ Hedge ได้เช่นกัน 

 

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทถือว่าส่งผลดีต่อผู้ประกอบการกลุ่มส่งออกโดยตรง และยังส่งผลดีต่อการลงทุนในประเทศด้วย เพราะเมื่อผู้ประกอบการมีรายได้หรือกำไรในรูปของเงินบาทเพิ่มก็จะกล้าลงทุนขยายกำลังการผลิต 

 

อย่างไรก็ตาม โจทย์ของผู้ประกอบการในเวลานี้อาจไม่ได้อยู่ที่ค่าเงินเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในภาคการผลิตได้หรือไม่ เพราะแม้เงินบาทอ่อนหรือดีมานด์จากต่างประเทศเข้ามามาก แต่ถ้าไม่สามารถผลิตได้ก็จะไม่ได้รับอานิสงส์อะไรเลย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising