เอ่ยชื่อ ‘ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์’ ขึ้นมาในวงสนทนาใดก็แล้วแต่ เชื่อเหลือเกินว่าทุกคนต้องร้องอ๋อพร้อมกัน แล้วตามมาด้วยคำบรรยายคุณสมบัติของชายผู้นี้ได้ตรงกันข้อหนึ่งว่า นี่คือสุภาพบุรุษผู้สร้างตำนานนักชิมอาหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย
มรดกตกทอดของคุณชายถนัดศรี หรือเรียกกันแบบภาษาสื่อมวลชนว่า ‘คุณชายยอดนักชิม’ ยังปรากฏให้เห็นเป็นตำนานที่มีชีวิตมาจนถึงยุค 4.0 เพราะกาลเวลาไม่อาจทำลายความประณีตแห่งรสชาติปลายจวัก และรสชาติชีวิตของบุรุษผู้เกิดในสกุลเจ้า แต่ชอบกินข้าวแกงตามตรอกข้างถนน ยันภัตตาคารร้านเหลาสุดหรู เรียกได้ว่าไปมาหมดแล้วทั่วทั้งร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำในประเทศและโลกใบนี้
ตราบจนลมหายใจสุดท้าย เมื่อเวลา 11.35 น. ของวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ณ โรงพยาบาลเปาโล ม.ร.ว.ถนัดศรีก็ออกเดินทางไกลไปทัวร์จักรวาลของแท้ คราวนี้คงได้ไป ‘ครอบจักรวาล’ สมใจปรารถนาเป็นแน่ ทิ้งไว้เพียงฝุ่นความทรงจำที่ฟุ้งขึ้นมาเมื่อไร ก็นึกถึงใบหน้า เสียงหัวเราะ และความขี้เล่นของ ม.ร.ว.ถนัดศรี ผู้เป็นแบบฉบับ ‘เชลล์ชวนชิม’ อันลือเลื่องไว้ในโลกใบนี้ ที่เป็นเพียงเสี้ยวส่วนของจักรวาล
ม.ร.ว.ถนัดศรี คือใคร
ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ สิริรวมอายุปัจจุบัน 92 ปี เกิดวันที่ 28 พฤษภาคม 2470
เป็นหม่อมราชวงศ์ชายคนแรกของหม่อมเจ้าเฉลิมศรี สวัสดิวัตน์ และหม่อมเจริญ
หม่อมเจ้าเฉลิมศรีเป็นโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิสิษฐ์ กับหม่อมละมุน ซึ่งกรมพระสวัสดิวัตนวิสิษฐ์ คือพระโอรสองค์หนึ่งในสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระสนมเอกในรัชกาลที่ 4
ม.ร.ว.ถนัดศรี เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2470 ที่วังเพชรบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันก็คือบริเวณที่ตั้งของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบันนั่นเอง
“เกิดวังเพชรบูรณ์ โตวังสระปทุม มีลูกมีเมียวังศุโขทัย” คือประวัติชีวิตที่ ม.ร.ว.ถนัดศรีมักชอบสรุปให้ใครๆ ฟัง
หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อันเนื่องมาจากการสละพระราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ม.ร.ว.ถนัดศรีได้เลือกศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ขณะที่ครอบครัวของท่านส่วนมากรับราชการทหาร และต้องการให้ท่านไปเรียนโรงเรียนนายร้อยที่ประเทศรัสเซีย
“นักเรียนธรรมศาสตร์สมัยนั้นน่ารักอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่มีใครปิดบังความจน เพราะถือว่าความจนเป็นอาภรณ์ประดับชีวิต ใครจนแต่สามารถบากบั่นมาถึงนี่คือวีรบุรุษ” คือสิ่งที่ท่านได้เล่าไว้เมื่อครั้งเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์
และการเรียนที่ธรรมศาสตร์ทำให้ท่านที่เกิดในสกุลเจ้าเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนมากขึ้น สงครามโลกในห้วงนั้นไม่ได้เป็นเส้นแบ่งความรวยจนเรื่องอาหารการกิน เนื่องจากภาวะสงครามล้วนทำให้ทุกคนต้องดิ้นรน หาอาหารประทังชีวิต
ม.ร.ว.ถนัดศรีเริ่มร้องเพลงเพื่อหาเงินช่วยค่าอาหารให้เพื่อน ต่อมาได้เข้ามาอยู่วงดนตรีสุนทราภรณ์ หลังสงครามก็เรียนหนังสือไปด้วย พร้อมกับทำงานเป็นเสมียนกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นชีวิตที่โลดโผดของ ม.ร.ว.ถนัดศรีก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานนับแต่นั้น
ม.ร.ว.ถนัดศรี ครอบจักรวาล ร้อง เล่น เต้น กิน สารพัดความสามารถ
ม.ร.ว.ถนัดศรี เป็นหม่อมราชวงศ์คนหนึ่งที่มีชีวิตราวกับนิยาย เป็นทั้งนักแสดง นักร้อง นักเขียน นักจัดรายการ และนักชิมอาหาร ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดของเมืองไทย
ช่วงหนึ่งของชีวิต ม.ร.ว.ถนัดศรีเคยเล่าถึงความตั้งใจว่า จะไปเรียนต่อด้านกฎหมายที่ประเทศอังกฤษ แต่เพราะการใช้ชีวิตชนิดที่เรียกว่าเต็มที่ ทำให้ปริญญาที่ได้แทนที่จะเป็น ‘Barrister’ ก็เป็น ‘บาร์เทนเดอร์’ แทน
แต่ทว่าการใช้ชีวิตดังกล่าวไม่ได้สูญเปล่าแต่อย่างใด ในมืดมีสว่าง ม.ร.ว.ถนัดศรีสามารถนำมันมาใช้ประโยชน์ในการเข้าไปทำรายการ ‘Letter from London’ ของสถานีวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย และรายได้จากตรงนั้นคือเม็ดเงินส่วนหนึ่งที่สามารถใช้ชีวิตให้รอดพ้นมาได้
หลังกลับจากประเทศอังกฤษ ม.ร.ว.ถนัดศรีได้ยึดอาชีพบันเทิงเป็นหลัก รับเล่นเป็นพระเอกหลายเรื่อง ได้เล่นละครโทรทัศน์เรื่องแรกของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2499
ความรู้ทางด้านอาหารนั้นได้มาจากหม่อมละมุน สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ผู้เป็นหม่อมย่า และผู้ว่าการห้องเครื่องในวังสระปทุม
ในขณะที่แม่แท้ๆ คือหม่อมเจริญ เป็นลูกมือของ ม.ร.ว.เสงี่ยม สนิทวงศ์ ผู้ทำเครื่องถวายสมเด็จพระพันปีหลวง ทุกอย่างได้ซึมซับเข้ามาอย่างไม่รู้ตัว ทั้งอาหารคาวหวานเลิศรส ตลอดจนกรรมวิธีการปรุงต่างๆ ที่ผ่านตาผ่านลิ้นมาตั้งแต่วัยเด็ก
เพราะเหตุนี้เอง จึงทำให้ ม.ร.ว.ถนัดศรีมีความเชี่ยวชาญ และมีชื่อเสียงในฐานะนักชิม ผู้สร้างตำนาน ‘เชลล์ชวนชิม’ ที่เป็นประหนึ่งป้ายการันตีความอร่อยที่ใครเห็นเป็นต้องเชื่อถือ สร้างโอกาสให้กับพ่อค้าแม่ค้านักปรุงอาหารทั่วฟ้าเมืองไทยมาจนถึงวันนี้
ด้วยนิสัยการชอบหาของแปลกใหม่รับประทาน ชอบเดินทางท่องเที่ยว และมีกลุ่มเพื่อนมากมาย ทำให้ ม.ร.ว.ถนัดศรีมีประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย และยังเป็นนักเล่าเรื่องที่มากด้วยอารมณ์ขัน เต็มไปด้วยสาระและความบันเทิงครบครัน เรื่องราวเหล่านั้นถูกถ่ายทอดออกมาในรายการทีวี รายการวิทยุ และข้อเขียนในหนังสือต่างๆ
รายการทีวีที่ได้รับความนิยมเป็นชื่อเสียงตำนาน ผ่านการเป็นพิธีกรนำของคุณชาย อาทิ ครอบจักรวาล การบินไทยไขจักรวาล พ่อบ้านเข้าครัว เป็นต้น
สำหรับการขับร้องเพลงไทยสากลนั้น ม.ร.ว.ถนัดศรีมีเทคนิคการร้องเพลงที่เป็นแบบเฉพาะของตนเอง การเอื้อน การออกเสียงเต็มไปด้วยมนต์ขลัง ทั้งนุ่มนวล อ่อนหวาน มีผลงานเพลงที่ขับร้องอัดแผ่นเสียงรวมกว่า 200 เพลง
เพลงบางเพลงมีความไพเราะได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย อาทิ สีชัง ทะเลระทม วานลมจูบ ทำไมหนอ ตราบสิ้นลม วนาสวาท ฯลฯ
นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับสถานภาพของนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลงให้มีเกียรติ มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของสังคม
จากผลงานดังกล่าวทำให้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากเพลงสีชัง รางวัลเสาโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะจัดรายการดีเด่น รางวัลเมขลาในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นด้านวิทยุและโทรทัศน์ และในปี 2551 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)
ม.ร.ว.ถนัดศรี ที่ขอฝากไว้
สีชัง ชังชื่อแล้วอย่าชัง
อย่าโกรธพี่จริงจังจิตข้อง
ตัวไกลจิตก็ยังเนาว์แนบ
เสน่ห์สนิทน้องนิจผู้อาดูร
เนื้อหาท่อนเริ่มของเพลงสีชัง ที่ขับร้องโดย ม.ร.ว.ถนัดศรี กระทั่งสร้างชื่อเสียงจนได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ เหมือนกำลังจะบอกเราว่า บัดนี้ สีชังก็ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ประหนึ่งผู้ขับร้องที่นับแต่เวลานี้คงเหลือแต่เพียง ‘ชื่อ’ ที่เป็น ‘ชื่อเสียง’ ให้คนได้จดจำเช่นเดียวกัน
นอกจากมรดกเสียงเพลงของ ม.ร.ว.ถนัดศรีแล้ว สิ่งที่เป็นมรดกสำคัญประการหนึ่งก็คือ มรดกในเรื่องอาหารที่ถูกถ่ายทอดผ่านสายเลือดและความคิดของคน ‘รุ่นพ่อ’ สู่ ‘รุ่นลูก’ โดยมีกระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบ จากแบรนด์ ‘เชลล์ชวนชิม’ มาเป็นแบรนด์ ‘หมึกแดง’
การชอบทำอาหาร ชอบชิม และสามารถถ่ายทอดด้วยวาทศิลป์ และการเขียนที่มีเอกลักษณ์ มีลูกเล่นลูกฮาเฉพาะตัวไม่ต่างจากผู้เป็นพ่อ คือสิ่งที่ถ่ายทอดมาทางสายเลือด ผนึกรวมกับความรู้ที่ร่ำเรียนมา และพรสวรรค์เฉพาะตัวในการปรุง คือสูตรความสำเร็จที่สำคัญของหมึกแดง
หมึกแดง หรือ ม.ล.ศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ บุตรชาย เคยเล่าว่า ครั้งหนึ่งที่เดินหน้าเพื่อทำรายการอาหารหรือเดินทางแบบพ่อ เขาถูกตราหน้าว่าเป็นคน ‘เนรคุณ’ คิดจะแข่งกับพ่อตัวเอง เขาถูกสบประมาทมากมาย ด้วยเพราะใต้ชายคานี้ถูกสร้างและบ่มเพาะมาจากถนัดศรีผู้พ่อนั่นเอง
วันหนึ่งเขาเคยไปทูลปรึกษากับพระองค์เจ้าหญิงสุทธสิริโสภา ซึ่งมีศักดิ์เป็นป้าถึงเรื่องนี้ พระองค์หญิงให้คำตอบว่า “พ่อเธอเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีเงายาวมาก ถ้าเธอจะไปเกิดใต้ต้นไม้นั้นเธอก็เป็นได้แค่เห็ดเพราะไม่โดนแดด”
และวันนี้มรดกที่หล่นไม่ไกลต้นของ ม.ร.ว.ถนัดศรีก็คือ ‘หมึกแดง’ ที่กลายเป็นที่รู้จักไม่ต่างจากพ่อ พร้อมๆ กับการทดแทนบุญคุณ ดูแลบุพการีในยามบั้นปลาย จวบจนพ้นวัฏสงสารไป
หากเปรียบชีวิตของผู้เป็นพ่อเหมือนนวนิยายที่หลากหลายรสชาติ เชื่อเหลือเกินว่า เรื่องราวของคนเป็นลูก ก็คงเป็นนิยายภาค 2 ที่มีเนื้อหาเข้มข้นไม่แพ้กัน และนี่คือ ม.ร.ว.ถนัดศรี…ที่ฝากไว้ ในแผ่นดิน
ภาพ: เพจครอบจักรวาล
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=11043
- positioningmag.com/7686
- www.scene4.com/archivesqv6/jul-2009/html/janineyasovantthai0709.html
- ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ศิลปินครอบจักรวาล มติชนฉลองใหญ่ ‘คุณชายยอดนักชิม’ โดย สกุณา ประยูรศุข (วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11311 มติชนรายวัน