×

จากทักษิณสู่โทนี ทบทวน 15 ปี กับ 10 มรดกรัฐประหาร ‘19 กันยายน 2549’

19.09.2021
  • LOADING...
ทักษิณ ชินวัตร

‘ถวายคืนพระราชอำนาจ’ ‘เสื้อเหลือง’ และ ‘ขายชาติ’ หรือ ‘ล้มเจ้า’ เป็นถ้อยคำที่ถูกกล่าวซ้ำๆ และย้ำอยู่บ่อยๆ ในปีที่สื่อแขนงต่างๆ ในเวลานั้นได้นำเสนอบรรยากาศการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2548 จนหลังรัฐประหาร 2549 ต่อเนื่องมาถึงปี 2551 ที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลือง และปี 2552-2553 ที่เป็นคราวของคนเสื้อแดง คำต่างๆ เหล่านี้เป็นที่ติดหูหรือชินตา จากการได้อ่าน ได้ฟังผ่านสื่อต่างๆ ในช่วงเวลาที่มีการขับเคี่ยวช่วงชิงอำนาจการเมืองของกลุ่มขบวนการต่างๆ

 

นอกจาก 3-4 คำนี้แล้ว รัฐประหารปี 2549 ยังเกิด KEY MESSAGES อีกมากมาย ที่ถูกสื่อสารเป็นที่รับรู้ พูดถึงกันในสังคมไทย วันนี้ THE STANDARD ชวนทุกคนมองย้อนจากอดีตในวันนั้นถึงวันนี้ ว่าประเด็นร้อน ถ้อยคำเด็ด คีย์เวิร์ดสำคัญในวันนั้น ปัจจุบัน แต่ละอย่าง แต่ละคน แต่ละคำ ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตามบริบท สภาพการณ์ทางการเมืองที่แปรผันหรือไม่ อย่างไร หรือความจริงแล้วบางบริบทการเมืองก็กำลังย้อนหมุนกลับไปสู่วังวนเดิมๆ และตอบคำถามไปพร้อมกันว่า รัฐประหารครั้งนั้นที่บอกว่าเสียของ หรือแท้จริงแล้วเสียหายในมุมอื่นมากกว่ากัน 

 

  1. แท็กซี่ลุงนวมทอง

จากแท็กซี่ชนรถถัง สู่สัญญะใหม่ ม็อบรถยนต์ชนเผด็จการขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ #คาร์ม็อบ 

 

เหตุการณ์ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ผู้ที่ขับรถแท็กซี่ชนรถถังของคณะรัฐประหาร ที่ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  (คปค.) ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าต่อสาธารณชน และได้กระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อประท้วงรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549

 

หลายปีที่ผ่านมา เราอาจได้เห็นข่าวนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นิสิต นักเรียน นักศึกษา เยาวชน จัดกิจกรรมรำลึกถึงสิ่งที่ลุงนวมทองได้กระทำ บางคราวก็เป็นวันที่ใช้เป็นหมุดหมายการชุมนุม เรียกร้อง แต่ไม่มีคราวไหนที่เราจะได้เห็นการขับรถยนต์ เพื่อแสดงออกหรือทำการประท้วงอย่างจริงจังแบบที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีที่ 15 ของเหตุการณ์ลุงนวมทอง 

 

เฟซบุ๊กของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้โพสต์รายละเอียดว่า “หลังรัฐประหาร 19 กันยายน นวมทอง ไพรวัลย์ ขับแท็กซี่คู่ชีพพุ่งชนรถถังต้านรัฐประหาร ถ้าวันนี้รูปแบบคาร์ม็อบตอบโจทย์การต่อสู้ในสถานการณ์โรคระบาด นวมทอง ไพรวัลย์ ถือเป็นจิตวิญญาณผู้เริ่มต้นคาร์ม็อบในประเทศไทย พบกันวันที่ 19 กันยายน เวลา 14.00 น. ที่แยกอโศก เคลื่อนขบวนคาร์ม็อบครั้งประวัติศาสตร์พร้อมกันทั่ว กทม. ตลอดขบวนมีสัญลักษณ์แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันทุกคันรถ มีพี่น้องแท็กซี่ร่วมไปกับเรา ทุกอย่างเริ่มต้นและจบลงโดยสันติวิธี ไม่บวก ไม่ลุย ไม่ปะทะ แต่เราจะขับรถยนต์ชนรถถัง และติดแฮชแท็ก #15ปีแล้วนะไอ้สัส ทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ของท่านตั้งแต่วันนี้”

 

แสดงให้เห็นได้ว่าวันนี้ไม่ได้มีแค่รถแท็กซี่ของลุงนวมทองเพียงคันเดียวอีกต่อไป แต่มีคนอีกมากมายที่จะสืบสานจิตวิญญาณของลุงนวมทองออกมา #คาร์ม็อบ 

 

 

  1. ระบบเลือกตั้งปี 2540 ที่จะคืนชีพกลับมาในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข ฉบับปี 2564 

น่าจะเป็นที่แน่นอนแล้ว หลังจากผ่านการลงมติเสียงข้างมากของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เห็นชอบให้นำระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ เป็นบัตร 2 ใบ 1 ใบ เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบเขต อีก 1 ใบ เลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ โดยมีจำนวน ส.ส. เขต 400 คน และจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน 

 

ครั้งหนึ่งระบบเลือกตั้งและจำนวนบัตรเลือกตั้งลักษณะนี้เคยถูกอ้างใช้เป็นหนึ่งในชนวนของการกล่าวหาว่าทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภา และกลายเป็นสิ่งที่ถูกฝ่ายรัฐประหารพยายามลบล้างในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่การเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ที่เราได้ใช้กติกาเลือกตั้งแบบใหม่ ชัยชนะก็ยังเป็นของพรรคพลังประชาชนที่เป็นการรวมตัวกันของคนไทยรักไทยเดิม 

 

ก่อนที่ต่อมาจะมีการแก้กติกาอีกครั้งในปี 2554 และมีการฉีกกติกาที่แก้ใหม่อีกครั้งในรัฐประหาร 2557 จนเกิดกติกาใหม่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พาสังคมไทยย้อนกลับไปสู่ยุครัฐบาลผสมหลายพรรค ทั้งพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก 

 

แต่ในที่สุดนักการเมืองไทยก็พาระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 หวนกลับมาตามเดิมจนได้ ซึ่งหนนี้นำโดยร่างแก้ไขของพรรคประชาธิปัตย์ 

 

  1. ‘ชินคอร์ป’ วันนี้ กลับมาสู่ทุนไทยอีกครั้งในมือกัลฟ์

หลังจากดีลขายหุ้นชินคอร์ปของครอบครัวชินวัตรให้แก่ เทมาเส็ก ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจสัญชาติสิงคโปร์ เป็นอีกเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งชนวนระเบิดสำคัญที่นำไปสู่การรัฐประหาร 2549 ทำให้ ชินคอร์ป ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้ตกเป็นของต่างชาติ 

 

วันนี้กิจการสื่อสารโทรคมนาคมได้กลับมาเป็นของทุนไทยอีกหนในรอบ 15 ปี พร้อมๆ กับการครบกำหนดสิ้นสุดสัมปทานดาวเทียมสื่อสาร 30 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจและนำไปสู่ปฏิกิริยาจากหลายๆ ฝ่าย เช่น ฝ่ายค้านโดย รังสิมันต์ โรม พรรคก้าวไกล ก็นำมาอภิปรายถึงเรื่องข้อพิพาทภายใต้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ทั้ง 3 คดี

 

ขณะที่ฟาก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ก็ออกมายื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีดาวเทียมไทยคม ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้อินทัชถือหุ้นไทยคมเป็น 51%

 

‘อินทัช’ คือชื่อที่ถูกหยิบกลับมาพูดถึงอีกครั้งในวันนี้ หลังถูกซื้อโดย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 42.25% และได้ส่งตัวแทนเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดในอินทัช ซึ่งมี สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF รวมอยู่ด้วย

 

 

  1. 19 กันยายน 2549 คือวันรัฐประหารสู่ 19 กันยายน ที่หมายถึงวันไล่ประยุทธ์-วันต้านรัฐประหาร

ไม่ใช่ทุกๆ เหตุการณ์รัฐประหาร ปฏิวัติ ยึดอำนาจ ที่จะถูกหยิบฉวยจดจำนำมาใช้เป็นวันจัดงานต่อต้านรัฐประหาร เราคงสังเกตได้ว่าตลอด 80 กว่าปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรามีจำนวนวันยึดอำนาจ วันรัฐประหารเกินกว่าสิบหน แต่หลายหนวันเหล่านั้นก็ไม่ได้ถูกหยิบมารำลึกจัดกิจกรรมใดๆ 

 

อย่างเช่น วันที่ 16 กันยายน 2500 ก็เป็นวันที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหาร แต่วันที่ 16 ก็ยังคงเป็นวันถูกหวยกินของใครหลายๆ คน เช่นเดียวกับวันที่ 1 ของทุกๆ เดือน หรืออย่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ของ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ บิดา พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เราก็ไม่ได้จัดกิจกรรมคัดค้านการยึดอำนาจหรือจัดม็อบไล่ประยุทธ์กันในวันนั้น 

 

แต่วันที่ 19 กันยายน 2564 กลับต่างออกไป เพราะกลายเป็นวันที่ถูกใช้จัดงาน ทั้งงานรำลึกถึงเหตุการณ์รัฐประหาร เป็นวันหมุดหมายของการจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร หรือกระทั่งวันจัดชุมนุมไล่รัฐบาลที่สืบทอดมาจากการรัฐประหาร เช่น ในปี 2563 วันที่ 19 ต่อเนื่องถึง 20 กันยายน ก็ถูกเอามาใช้เป็นวันชุมนุมไล่รัฐบาลประยุทธ์ โดยกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นต้น

 

 

  1. ทักษิณ สู่ โทนี

ชายชื่อทักษิณในวัย 57 ปี เขาถูกคณะบุคคลจากกองทัพทำการรัฐประหารขณะอยู่ต่างประเทศ ต่อมาต้องใช้ชีวิต 1 ปี 5 เดือนที่แผ่นดินอังกฤษ ก่อนจะได้กลับมาเหยียบแผ่นดินไทยด้วยภาพอมตะก้มกราบที่สนามบินสุวรรณภูมิอีกหนเป็นระยะเวลาสั้นๆ และต้องจากไปอีกหน คราวนี้นานกว่า 13 ปี จวบจนปัจจุบัน 

 

แม้ตัวจะอยู่ไกล แต่ทักษิณก็ยังโลดแล่นบนพื้นที่สื่ออยู่เป็นช่วงๆ ก่อนที่ปีนี้ชายลึกลับกับเสียงที่คุ้นชินจะถูกส่งออกมาผ่านแพลตฟอร์ม Clubhouse ในชื่อ Tony Woodsome แล้วหลังจากนั้น พี่โทนี คุณโทนี อ้ายโทนี ก็แวะเวียนมาขยับ คิด เคลื่อน ไทย อยู่หลายหน ออกมาส่งเสียงสร้างแรงกระเพื่อมบนพื้นที่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 

 

คงไม่ต้องพูดอะไรมากมาย สำหรับคนรุ่นใหม่ในวันนี้ หลายคนอาจไม่ได้รับรู้ถึงสารพัดถ้อยคำที่กล่าวหาทักษิณ ชินวัตร จากฝักฝ่ายกลุ่มทางการเมืองขั้วต่างๆ ในยุคก่อน 2549 หรือช่วงใกล้ๆ หลังรัฐประหารกันแล้ว ไม่ว่าจะคำอย่าง นช.แม้ว, ทักษิณ ขายชาติ เป็นต้น


ทักษิณ ชินวัตร ได้กลายเป็น พี่โทนี วูดซัม ของคนรุ่นใหม่หลายๆ คน คอยออกมาพูดคุยถึงการเติบโตด้านเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนนโยบายที่รุดหน้าในยุครัฐบาลไทยรักไทย และสร้างความหวังให้คนอีกหลายกลุ่มในปัจจุบันยังมีความเชื่อมั่นถึงการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย

 

  1. กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย บ้านเลขที่ 111 

แม้ทักษิณกลับมาโลดแล่นอีกครั้งในชื่อพี่โทนี และไม่ได้มีโอกาสเข้ามาขยับในสนามการเมือง ซึ่งอาจถือว่าเป็นความสำเร็จของการรัฐประหาร 2549 ประการหนึ่ง แต่ไม่ใช้กับกรณี ‘บ้านเลขที่111’ ที่เป็นคำเรียกอดีตคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกผลของกฎหมายและผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย และคณะกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จำนวน 111 คน 

 

การรัฐประหาร 2549 ไม่สามารถถีบนักการเมืองเก๋าเกมออกไปจากวังวนการเมืองไทยได้อย่างที่เหล่ากลุ่มผู้เคลื่อนไหวคาดหวัง 

 

ในปีที่ 15 นี้ จากอดีตไทยรักไทย วันนี้หลายคนยังคงโลดแล่นอยู่บนสมการการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นฟากที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาล เช่น พรรคเพื่อไทย ก็จะปรากฏชื่อ ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นต้น ทางกลุ่ม ‘CARE คิด เคลื่อน ไทย’ ก็มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี้ยบ  

 

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่เคยเป็นแคนดิเดตนายกฯ ให้พรรคเพื่อไทย ตอนนี้ก็อยู่พรรคไทยสร้างไทย ส่วน จาตุรนต์ ฉายแสง จากอดีตพรรคไทยรักษาชาติที่ถูกยุบไป ก็มีพรรคเส้นทางใหม่ 

 

สำหรับขั้วรัฐบาลนั้น พลังประชารัฐก็มีสามมิตร สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สมศักดิ์ เทพสุทิน และอนุชา นาคาศัย หรืออย่างพรรคภูมิใจไทยก็คือ อนุทิน ชาญวีรกูล, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นต้น 

 

การรัฐประหาร 2549 แม้จะทำให้นักการเมืองเด่นๆ ของไทยรักไทย บางส่วนต้องหันไปทำอย่างอื่น หรือไม่ก็หลบเร้นเล่นการเมืองอยู่หลังม่าน แต่ในวันนี้แม้กระทั่งในคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันรัฐประหาร 2549 ก็ยังได้เห็นเหล่านักการเมืองยุค 15 ปีที่แล้วกลับมามีบทบาทแข่งกับกลุ่มการเมืองของคนรุ่นใหม่หลายๆ กลุ่มได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ในยุคโซเชียลมีเดีย

 

สำหรับการถูกตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 5 ปี ก็ถือได้ว่ามีส่วนสร้างค่านิยมในการกำหนดกรรมการบริหารแต่ละพรรคการเมืองให้มีจำนวนไม่มาก หรือบางทีก็กำหนดคนที่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองให้เป็นกรรมการบริหารพรรค เพราะความไม่แน่นอนในทางการเมืองที่อาจเกิดเหตุให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองได้

 

  1. พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน จากหัวหน้าคณะรัฐประหาร ผ่านมา 15 ปี สนธิคือใคร

จากที่พูดถึงบ้านเลขที่ 111 และทักษิณมาแล้วว่ายังคงโลดแล่นอยู่จำนวนมากบนสนามการเมือง หลายคนยังมีบทบาทต่อความคิดของผู้คนในปัจจุบัน แต่คนก่อรัฐประหารเองกลับเป็นคนที่เลือนหายไปจากสนามการเมือง  

 

เรียกได้ว่าบนหน้าสื่อในการเมืองไทยวันนี้ พล.อ. สนธิ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่วัย 75 ปีในเดือนหน้า อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ผู้เป็นเตรียมทหาร รุ่น 6 (ตท.6) รุ่นเดียวกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่อยู่ในพื้นที่ข่าวต่อเนื่องทุกสัปดาห์ หรือแทบจะต่อเนื่องทุกชั่วโมงในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

แต่ตรงกันข้าม พล.อ. สนธิ นอกจากการได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ลำดับที่ 8 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 แล้ว พล.อ. สนธิ ก็แทบไม่มีบทบาททางการเมืองใดๆ อีกเลย

 

  1. อดีตประธานองคมนตรี ‘พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์’ กับ ‘ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ’

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ คือประธานองคมนตรีในห้วงเวลานั้น สืบเนื่องต่อมาจนถึงรัชสมัยปัจจุบันก่อนที่จะถึงแก่อสัญกรรมในปี 2562 

 

หลังรัฐประหาร 2549 คำว่า ‘ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ’ ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง โดยมักจะถูกนำเสนอเพื่อกล่าวถึงอดีตประธานองคมนตรี เรียกได้ว่าหลังรัฐประหาร 2549 พล.อ. เปรม ถูกขั้ว ค่าย กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงการชุมนุมปี 2551-2553 

 

15 ปีต่อมา ในยุคที่ประธานองคมนตรีชื่อว่า พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่ว่าการเมืองจะคุกรุ่นทะลุฟ้าขนาดไหน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานี้ การพูดถึงประธานองคมนตรีในแง่มุมบทบาททางการเมืองก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนจะหายไปในปัจจุบันแล้ว ไม่ว่าจะจากขั้วค่ายฝักฝ่ายการเมืองฝ่ายใดๆ ต่างจากช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 

 

ในเวลานั้นประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษที่ชื่อ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ได้ไปกล่าวบรรยายพิเศษให้กับนักเรียนนายร้อยฯ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ที่หอประชุม จปร. เกี่ยวกับเรื่องม้า จ๊อกกี้ เจ้าของม้า และ เจ้าของคอกม้า เนื้อหานี้ถูกนำไปตีความถึงนัยมากมายในทางการเมือง 

 

สำหรับ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้น ได้เป็นองคมนตรีก่อนที่ต่อมาหลังรัฐประหาร 2549 จะกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมา ถูก ธีรยุทธ บุญมี อดีตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวสมัย 14 ตุลาคม 2516 ได้ออกมาวิพากษ์การดำเนินงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. สุรยุทธ์ ว่าเป็นรัฐบาลฤาษีเลี้ยงเต่า

 

หลังจากการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จในปี 2550 รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ ก็จัดให้มีการเลือกตั้ง แล้ว พล.อ. สุรยุทธ์ ก็กลับมาเป็นองคมนตรี ก่อนที่ปัจจุบันจะมาเป็นประธานองคมนตรี หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของ พล.อ. เปรม

 

 

  1. ข้อกล่าวหา ตุลาการภิวัตน์ สู่ ภาวะนิติสงคราม

ชาญชัย ลิขิตจิตถะ อดีตประธานศาลฎีกา ซึ่งปัจจุบันถึงแก่อนิจกรรมได้ 4 ปีมาแล้ว ในปี 2549 เขาเป็นหนึ่งในประมุข 3 ศาลที่เข้าประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการเมืองร่วมกับ อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด และ ผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

หลังการรัฐประหาร 2549 ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ลงจากตำแหน่งประมุขฝ่ายตุลาการ ต่อมาในปี 2551 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี พร้อมกับ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ ศุภชัย ภู่งาม โดยในปี 2552 เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีข่าวตกเป็นเป้าหมายการลอบสังหารองคมนตรี ต่อมา ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 18 มกราคม  2560

 

การรัฐประหาร 2549 มีปัจจัย ชนวน และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มองได้หลากมิติ หนึ่งในมิติที่ถูกนำเสนอคือการตั้งคำถามถึงบทบาท สถานะ ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบัน ที่ทุกวันนี้แม้จะผ่านมา 15 ปี เสียงแห่งยุคสมัยก็ยังคงมีบางเสียงที่นำเสนอ พูดถึง และตั้งคำถามในประเด็นเหล่านี้ 

 

หลังรัฐประหาร 2549 การขยับเพดานก็ยังคงแลกเปลี่ยนกันได้ว่าเกิดมรรคผลเพียงใด แต่ก็สมควรบันทึกไว้ว่ากลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวเป็นระลอกๆ หลังรัฐประหารก็หาได้เพิกเฉยถึงประเด็นที่อาจกลายเป็นหัวข้อแหลมคมในทุกวันนี้

 

โดยในปี 2552 แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงได้เคยออกประกาศแถลงการณ์ฉบับที่ 1 บนเวทีปราศรัยที่สะพานชมัยมรุเชฐ ที่ วีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ อ่านแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อคือ 

 

  1. พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และ ชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี ต้องพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี เพื่อความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วของสถาบันองคมนตรี 

 

  1. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทั้ง 2 ข้อต้องเกิดขึ้นในทันที โดยไม่มีเงื่อนไข

 

  1. การบริหารราชการแผ่นดินจะต้องดำเนินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การปรับปรุงใดๆ ให้ดีขึ้นตามหลักสากล ต้องมีการหารือระหว่างนักประชาธิปไตยผู้มีประวัติและเชิดชูระบอบประชาธิปไตยเป็นที่ประจักษ์

 

ขณะที่ไม่กี่วันมานี้ พี่โทนีก็พูดย้ำชัดๆ ในแพลตฟอร์ม Clubhouse ว่า “ผมคิดว่าผมมีปัญหากับ Palace Circle” ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนแรกๆ นับตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร หวนกลับมาในชื่อโทนีที่พูดถึงหัวข้อแหลมคมในรอบหลายปี 

 

ขณะที่ปัจจุบันบทบาทที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์ได้เคลื่อนมาสู่สิ่งที่เรียกว่า นิติสงคราม ด้วยการใช้กลไกของกฎหมายฟ้องร้องกล่าวหาผู้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องและจำนวนมาก โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ และกำจัดฝ่ายตรงข้ามออกจากสนามการเมือง 

 

  1. อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ คือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในวันนั้น

ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่สร้างเสถียรภาพมหาศาลให้รัฐบาลทักษิณ ประกอบกับอีกหลายปัจจัยที่ถูกตั้งข้อครหาโดยฝ่ายที่สนับสนุนการยึดอำนาจในห้วงเวลานั้นอย่างการให้ควบรวมพรรค การเกิดสภาผัวเมียในสภาสูงหรือวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร การแทรกแซงควบคุมองค์กรอิสระ 

 

ขณะที่การตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร เรียกได้ว่าแทบเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีนั้นไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณเลย 

 

เรียกได้ว่าเป็นยุคที่รัฐบาลมีเสถียรภาพจนไม่มีความหวังจะใช้เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐบาลได้เลย

 

ย้อนกลับมาวันนี้อภิปรายไม่ไว้วางใจจัดได้ แต่ล้มรัฐบาลไม่ได้

 

หลังการรัฐประหาร 2549 กติกาของรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนไปในหลายๆ เรื่อง ทำให้ทุกวันนี้เราไม่ได้เห็นรัฐบาลเข้มแข็งที่มีคะแนนเสียงชนะแลนด์สไลด์เป็นเสียงข้างมากตั้งรัฐบาลพรรคเดียว หรือไม่ได้เห็นพรรคการเมืองที่สามารถควบรวมพรรคใหญ่พรรคกลางมารวมจนเสียงฝ่ายค้านกลายเป็นเสียงต่ำร้อยได้อีกต่อไป

 

เราจึงได้เห็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อเนื่องเรื่อยมาในทุกรัฐบาล 

 

ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐบาลประยุทธ์ก็เจอการอภิปรายที่ดุเดือดถึง 3 ครั้ง แต่น่าเสียดายที่สังคมแทบจะสิ้นหวังกับการลุ้นผลลงมติ เพราะเสียงฟากรัฐบาลเกินกึ่งหนึ่งและด้วยกลไกของกติการัฐธรรมนูญปี 2560 ผู้คนจึงเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลแพ็กกันแน่นเป็นหนึ่งเดียวจนยากที่จะแตกแถวได้ 

 

เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันนี้จึงเป็นเพียงพื้นที่ให้ประชาชนได้เห็นการทำงานที่เข้มข้นของฝ่ายค้าน และให้ประชาชนได้ลุ้นข่าวว่ารัฐมนตรีคนไหนได้คะแนนเสียงไว้วางใจมากกว่านายกรัฐมนตรีกี่คะแนน เพราะอะไร ให้ได้คาดการณ์ไปต่างๆ นานา เท่านั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising