×

คณะทำงานด้านสิทธิฯ ไทยสร้างไทย มองปมส่งกัมพูชา 3 คนได้สถานะลี้ภัยกลับประเทศ สะท้อนการทูตอนุรักษ์นิยม อ้างความมั่นคงเป็นเครื่องมือ

โดย THE STANDARD TEAM
30.11.2021
  • LOADING...
กัณวีร์ สืบแสง

วันนี้ (30 พฤศจิกายน) กัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคไทยสร้างไทย และคณะทำงานด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน พรรคไทยสร้างไทย แสดงความคิดเห็นโดยระบุว่า การทูตไทยในศตวรรษ 21 ควรตั้งอยู่ในกรอบพหุภาคีด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ก้าวข้ามความคิดการใช้การทูตเพื่อความมั่นคง เป็นการทูตเพื่อความมั่นคงแห่งมนุษย์

 

กัณวีร์ยังระบุอีกว่า ฤาไทยขาดความมั่นใจในการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมและงานด้านสิทธิมนุษยชนผ่านกระบวนการและกรอบความสัมพันธ์พหุภาคี? โดยในภาพรวมหากพิจารณาการใช้ความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยในด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ไทยมีความพอใจในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบอนุรักษ์นิยมในระดับทวิภาคี บนพื้นฐานของความคิดด้านความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งรัฐเป็นที่ตั้ง หรือพหุภาคีตามความจำเป็นของสภาพภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ การทูตที่ผ่าน ASEAN และ APEC เป็นต้น 

 

แต่ในการดำเนินการทางการทูตด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนของไทยนั้นพบว่า ไทยกลับทำในลักษณะ ‘Buck Passing’ คือความพยายามโยนปัญหาให้คนอื่น เพื่อหยุดปัญหาไม่ให้เข้ามาในประเทศ จึงจะเห็นได้ว่า การทูตไทยที่เกี่ยวข้องกับงานด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนจะกระจุกตัวอยู่แค่ระดับภูมิภาคใกล้ๆ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของไทยเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น การบริจาคเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 10 ล้านบาท ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศเมียนมาและบังกลาเทศเมื่อปี 2560 เพื่อจัดการปัญหาเรื่องโรฮีนจา และไทยยังมีการบริจาคให้กับทั้งสองประเทศนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยความหวังเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหา ณ ประเทศต้นกำเนิด (เมียนมา) และประเทศผู้รับผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ (บังกลาเทศ) 

 

การแก้ไขปัญหาด้านมนุษยธรรมในเชิงการหยุดปัญหาที่ต้นเหตุ ในกรณีโรฮีนจานี้เป็นความคิดที่ไม่ผิด แต่ไม่พอ เพราะเหมือนกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำในการนำเงิน 10 ล้านบาทไปให้ประเทศละ 5 ล้านบาท เพราะหากพิจารณาต้นเหตุแห่งปัญหาของชาวโรฮีนจาแล้วจะทราบว่า ปัญหาคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและความไม่เท่าเทียม รวมถึงการเมืองภายในเมียนมา 

 

กัณวีร์ระบุอีกว่า ไทยควรพิจารณาหากรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ไทยสามารถแสดงความเป็นผู้นำได้ อาทิ CEDAW หรือ CERD ที่ไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันแล้ว และไทยควรหาวิธีการแสดงความเป็นผู้นำในการนำพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าวไปปฏิบัติอย่างจริงจังในกรอบความร่วมมือที่ไทยมีอยู่ในภูมิภาค และที่ไทยอาจสามารถเข้าร่วมได้ต่อไป

 

ในขณะเดียวกันไทยยังมีการลักลอบค้ามนุษย์ โดยเฉพาะชาวโรฮีนจาเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง มากกว่านั้นไทยเองยังได้ทำผิดหลักจารีตประเพณีระหว่างประเทศตามหลักการไม่ส่งกลับ โดยมีการส่งกลับผู้ที่มีความประสงค์ขอลี้ภัย เนื่องจากหวั่นเกรงต่อการประหัตประหารหากต้องกลับประเทศต้นกำเนิด อาทิ การส่งชาวอุยกูร์จำนวน 109 คนไปจีนตามการร้องขอของรัฐบาลจีนเมื่อเดือนมกราคม 2558 

 

นี่แสดงให้เห็นถึงหลักการทางการทูตแบบทวิภาคีแบบอนุรักษ์นิยม โดยยึดหลักการให้ความสำคัญต่อการป้องกันความมั่นคงแห่งรัฐ (ความสัมพันธ์กับประเทศผู้ร้องขอ) มากกว่าการคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน 

 

นอกจากนี้การจับแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายมาใส่ตะกร้าเดียวกับผู้หนีภัยการสู้รบ และดำเนินการผลักดันทุกคนกลับประเทศต้นกำเนิดโดยไม่คำนึงถึงหลักจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และล่าสุดการผลักดันคนกัมพูชา 3 คนที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้วกลับกัมพูชา

 

หากมองในมุมนี้แล้วจะเห็นว่า การทูตด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนของไทยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือด้านความมั่นคง แทนที่จะถูกใช้ให้ตรงหลักการและวัตถุประสงค์ในการที่จะนำประเทศขึ้นไปอยู่บนเวทีโลกได้อย่างสง่างามและได้รับการยอมรับจากเวทีโลก ประเทศไทยควรใช้ประโยชน์จากการทูตเพื่อมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน โดยขยับออกจาก Comfort Zone เดิมๆ เพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำในกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีหลายประเทศเป็นสมาชิก เพื่อทำให้ไทยก้าวข้ามความคิดการใช้การทูตเพื่อความมั่นคง เป็นการทูตเพื่อความมั่นคงแห่งมนุษย์ในเวทีระหว่างประทศได้ต่อไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising