วานนี้ (19 เมษายน) ทางการไทยเผย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ปฏิเสธไม่เข้าร่วมวงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ประเด็นวิกฤตเมียนมาหลังรัฐประหารโดยกองทัพ โดยจะส่ง ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมเจรจาแทน ในวันที่ 24 เมษายนนี้ ณ กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย
การประชุมสุดยอดดังกล่าวถือเป็นความพยายามล่าสุดของบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนที่จะร่วมกันหาแนวทางสันติวิธีในวิกฤตเมียนมา ที่ยอดผู้เสียชีวิตจากการประหัตประหารโดยกองทัพและเจ้าหน้าที่รัฐยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทางด้านสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง (AAPP) รายงานสถานการณ์ล่าสุดในเมียนมา มีผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 738 ราย ถูกจับกุมกลายเป็นนักโทษทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 3,261 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการตัดสินโทษแล้ว 75 ราย บางรายได้รับโทษประหารชีวิต โดยกองทัพและเจ้าหน้าที่รัฐยังคงเดินหน้าสร้างบรรยากาศของความกลัวให้แผ่ขยายไปทั่วสังคมเมียนมาอย่างต่อเนื่อง หลังรัฐประหารผ่านมานานเกือบ 3 เดือนแล้ว
โดย พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหารเมียนมา ตอบรับเตรียมเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย นับเป็นการเดินทางเข้าร่วมการประชุมที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรกหลังยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) แสดงความจำนงขอเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจและความชอบธรรมของรัฐบาลพลเรือน รวมถึงป้องกันการรับรองรัฐบาลทหารอย่างเป็นทางการของบรรดาชาติสมาชิกในอาเซียน
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- รัฐประหารเมียนมา: ใครเป็นใครใน ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ เพื่อคานอำนาจกองทัพ
- ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมาจัดตั้ง ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ คานอำนาจกองทัพ ต้านรัฐประหาร
- รัฐประหารเมียนมา: ใครเป็นใครในฝ่ายต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
- 4 ฉากทัศน์ชี้ชะตาอนาคตเมียนมา ไทยควรมีบทบาทอย่างไร โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ภาพ: Anton Raharjo / Anadolu Agency via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: