×

คลื่นความร้อนแผดเผาทั่วโลก ไทยเจอ ‘Monster Heat Wave’ นักวิทย์ชี้ไม่มีที่ไหนในโลกปลอดภัย

27.04.2023
  • LOADING...
คลื่นความร้อน ไทย

คลื่นความร้อนรุนแรงแผดเผามีแนวโน้มที่จะเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางวิกฤตโลกรวนที่ทวีความอันตรายขึ้นทุกขณะ หลายพื้นที่ทั่วโลกเจอกับอุณหภูมิที่พุ่งแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากประเทศไหนโชคดีมีทรัพยากรและกำลังเงินมากพอก็อาจจะช่วยให้ประชาชนผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้ แต่เคราะห์ร้ายที่โลกของเรามีหลายประเทศและภูมิภาคที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากไม่มีสรรพกำลังมากพอที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์ชุดข้อมูลอุณหภูมิครอบคลุมระยะเวลากว่า 60 ปี รวมถึงมีการสร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ เพื่อคำนวณถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดคลื่นความร้อนรุนแรงสุดขั้วที่โลกไม่เคยประสบมาก่อน และนี่คือผลลัพธ์อันน่าตกใจที่มนุษย์อาจต้องเผชิญกับมันนับจากนี้

 

เปิดรายชื่อประเทศเสี่ยงภัยคลื่นความร้อนสูงสุด

 

ข้อมูลจากการวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Nature Communications เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (25 เมษายน) ระบุว่า อัฟกานิสถาน ปาปัวนิวกินี และอเมริกากลาง รวมถึงกัวเตมาลา ฮอนดูรัส และนิการากัว เป็น ‘พื้นที่เสี่ยงภัยสูง’ สำหรับคลื่นความร้อนรุนแรง

 

ภูมิภาคเหล่านี้มีความเปราะบางเป็นพิเศษ เนื่องจากอัตราการขยายตัวของประชากรเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและพลังงานที่มีจำกัด ทำให้การรับมือต่อสภาพอากาศที่ร้อนจัดนั้นมีปัญหา ทั้งในแง่ของการใช้เครื่องปรับอากาศ หรือการรักษาผู้ป่วยเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด

 

แดนน์ มิตเชลล์ (Dann Mitchell) ศาสตราจารย์ด้านบรรยากาศศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบริสตอลของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนผลการวิจัยฉบับนี้ ระบุว่า “มีหลักฐานว่าพื้นที่เหล่านั้นอาจเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง และพวกเขาไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้” 

 

มิตเชลล์เผยว่า ภัยคุกคามที่กัดกินปากีสถานอยู่นั้นรุนแรงเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงแต่มีความเสี่ยงที่จะเจอกับความร้อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์เท่านั้น แต่ผลกระทบที่ตามมาจะใหญ่หลวงมาก เนื่องจากปากีสถานเผชิญกับความยากลำบากทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมาก่อนหน้าแล้ว ขณะเดียวกัน ประชากรในปากีสถานยังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยหากยังคงจำกันได้ เมื่อปีที่ผ่านมา ปากีสถานเพิ่งเผชิญกับเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่ส่งให้พื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของประเทศจมอยู่ใต้บาดาล มีประชาชนล้มตายจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นนับพันคน โครงสร้างพื้นฐานที่พังเสียหายคิดเป็นมูลค่ามหาศาล นับเป็นอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ภาวะโลกรวนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปากีสถานเผชิญกับฝนที่ตกหนักผิดปกติ 

 

ผลกระทบจากคลื่นความร้อนนั้นรุนแรงและอันตราย เนื่องจากคลื่นความร้อนจะทำให้คุณภาพของอากาศแย่ลง ทำให้ภัยแล้งรุนแรงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่า รวมถึงทำให้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พังเสียหายได้

 

แต่ความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้เลยคือ ‘สุขภาพและชีวิตคน’ โดยภาวะฮีตสโตรกหรืออาการเพลียแดดจะทำให้เกิดอาการที่อันตรายตามมา เช่น อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และหมดสติ ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า ฮีตสโตรกเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อนที่รุนแรงที่สุด เพราะจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายมนุษย์พุ่งขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่นาที ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยพิการถาวร หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

หลายภูมิภาคเผชิญกับอุณหภูมิที่ทะยานร้อนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในปีนี้ โดยในเดือนมีนาคม หลายพื้นที่ของอาร์เจนตินาเจอกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงกว่าปกติถึง 10 องศาเซลเซียส ขณะที่ภูมิภาคเอเชียของเราเจอกับอุณหภูมิที่สูงทำลายสถิติในหลายประเทศช่วงเดือนเมษายนนี้

 

“คลื่นความร้อนและเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วอื่นๆ จะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากโลกยังคงเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง” ฟรีเดอริเก ออตโต (Friederike Otto) นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากสถาบัน Grantham Institute for Climate Change แห่งอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าว

 

ไทยเจอ ‘monster Asian Heat Wave’ คลื่นความร้อนมหาโหด

 

ในเวลานี้ กว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลกกำลังเจอกับ ‘Monster Asian Heat Wave’ หรือปีศาจคลื่นความร้อนมหาโหดในเอเชีย ที่ส่งให้อุณหภูมิของหลายประเทศพุ่งทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์รวมถึงไทยเราด้วย

 

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คลื่นความร้อนแผดเผาได้เข้าปกคลุมเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลกระทบกับหลายประเทศรวมถึงไทย อินเดีย จีน ลาว บังกลาเทศ เติร์กเมนิสถาน ญี่ปุ่น และเกาหลี

 

จังหวัดตากของไทยเจอกับอุณหภูมิเดือดถึง 44.6 องศาเซลเซียสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นอุณหภูมิที่สูงสุดเท่าที่ประเทศไทยเคยประสบ ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนระอุแผ่ปกคลุมทั่วประเทศ ขณะประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวก็เจออุณหภูมิร้อนจัดทำสถิติสูงสุดใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน หรือที่ 42.9 องศาเซลเซียส

 

ด้านบังกลาเทศเจอกับอุณหภูมิสูงถึง 40.6 องศาเซลเซียส ร้อนที่สุดในรอบ 60 ปี ส่วนเติร์กเมนิสถานเผชิญกับอุณหภูมิสูงสุดใหม่ประจำเดือนเมษายนที่ 42.2 องศาเซลเซียส ส่วนจีนก็มีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเมษายนเช่นเดียวกัน

 

มักซิมิเลียโน เอร์เรรา (Maximiliano Herrera) นักภูมิอากาศวิทยาและนักประวัติศาสตร์สภาพอากาศ บรรยายเหตุการณ์นี้ว่าเป็น ‘คลื่นความร้อนที่เลวร้ายในเอเชียอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน’ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและเกาหลียังเจอกับอุณหภูมิที่สูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงผิดปกติสำหรับฤดูกาลนี้ 

 

ไม่มีที่ไหนในโลกปลอดภัย

 

รายชื่อประเทศที่ระบุมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง แต่ในท้ายที่สุดแล้ว รายงานระบุว่า ‘ไม่มีที่ไหนในโลกปลอดภัย’ จากคลื่นความร้อนรุนแรงที่เกิดขึ้น

 

รายงานระบุว่า คลื่นความร้อนที่ ‘รุนแรงเหลือเชื่อ’ เกิดขึ้นระหว่างปี 1959-2021 ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกราว 30% ซึ่งรวมถึงคลื่นความร้อนในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือเมื่อปี 2021 ซึ่งอุณหภูมิที่ร้อนแรงทำลายสถิติได้คร่าชีวิตผู้คนหลายร้อยราย

 

ในหมู่บ้านลิตตัน ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา เคยเจอกับอุณหภูมิสูงสุดแตะที่ 49.6 องศาเซลเซียสในเดือนมิถุนายน 2021 ทำลายสถิติเดิมเกือบ 5 องศาเซลเซียส ก่อนที่จะเกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้น เมื่อพื้นที่เกือบทั้งหมดของหมู่บ้านถูกไฟป่าเผาทำลายวอดในอีกไม่กี่วันต่อมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เหตุการณ์นี้แทบจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลยหากไม่มีภาวะโลกรวน

 

รายงานยังระบุอีกด้วยว่า หลายพื้นที่ของจีนรวมถึงกรุงปักกิ่ง และประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนีและเบลเยียม ก็เผชิญกับความเสี่ยงสูงจากคลื่นความร้อนด้วยเช่นกัน โดยผู้คนหลายล้านคนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีประชากรหนาแน่นเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากคลื่นความร้อน แม้ว่าประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีทรัพยากรเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดบางส่วนก็ตาม

 

รัฐบาลต้องเป็นด่านหน้าช่วยเหลือประชาชน

 

บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้เรียกร้องให้รัฐบาลจากทุกประเทศทั่วโลกวางแผนเตรียมการรับมือกับคลื่นความร้อนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต เช่น การจัดตั้งให้แต่ละชุมชนมีส่วนกลางที่ติดเครื่องปรับอากาศ และเปิดให้คนสามารถมานั่งหลบร้อนได้ หรือออกมาตรการให้ลดชั่วโมงการทำงานลงสำหรับผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง

 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรกำหนดแผนการจัดการคลื่นความร้อน โดยต้องมีการทดสอบและดำเนินการใช้จริงอย่างเข้มงวด และแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบว่าคลื่นความร้อนจะแผ่ปกคลุมประเทศเมื่อใด รวมถึงต้องเอาจริงกับการปกป้องคนกลุ่มเปราะบาง

 

ลูคัส วาร์กัส เซปเปเทลโล (Lucas Vargas Zeppetello) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงจากคลื่นความร้อนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนมีแนวโน้มจะปรากฏมากขึ้น เนื่องจากโลกของเรายังคงเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง โดยการวิจัยในปี 2022 พบว่า ระดับความร้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 เท่าทั่วโลกภายในสิ้นศตวรรษนี้

 

หรือนับจากนี้…อะไรที่ไม่เคยได้เห็น เราก็อาจจะได้เห็น

 

ภาพ: Ed Connor Via Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising