×

โลกกำลังเข้าสู่​สภาพอากาศ​แบบลานีญา​ กระทบไทยอย่างไร

โดย Mr.Vop
01.05.2024
  • LOADING...

ฤดูร้อน​ปี 2567 ที่กำลังจะ​ผ่านพ้น​ไป​นี้ เชื่อว่าคนไทยทุกคนต่างก็ได้รับรู้​ผลกระทบของสภาพ​อากาศ​แบบเอลนีโญ​ไปไม่มากก็น้อย ด้วยอุณหภูมิ​ตอนกลางวันที่ร้อนจนแทบจะดำเนินชีวิต​ตามปกติ​ไม่ไหวกันเลยทีเดียว

 

แต่ทุกอย่างย่อมมีที่สิ้นสุด ตามข้อมูลล่าสุด​ของสถาบันวิจัยนานาชาติ มหาวิทยาลัย​โคลัมเบีย​ สภาพอากาศ​โลกจะเปลี่ยนจากลักษณะแบบเอลนีโญ​ ไปสู่สภาพอากาศโลกแบบนิวทรัล หรือสภาพเป็นกลาง ในเดือนพฤษภา​คมที่จะถึง​นี้ สภาพนิวทรัลจะคงอยู่ประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนไปสู่สภาพอากาศ​แบบลานีญาแบบอ่อน​ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป 

 

 

ลานีญา​เป็นสภาพอากาศ​ด้านตรงข้ามกับเอลนีโญ​ ผลที่เกิดขึ้นก็จะตรงข้ามกันไปด้วย นั่นคือพื้นที่ไหนที่เคยมีความร้อนแล้งก็จะกลับไปมีฝนตกชุก ส่วนพื้นที่ไหนที่มีฝนตกมากผิดปกติในปีเอลนีโญ เมื่อเข้าสู่สภาพอากาศแบบลานีญาก็จะกลายเป็นพื้นที่ร้อนแล้งแทน

 

 

แต่สภาพอากาศแบบลานีญาในช่วงหน้าฝนของปีนี้มีสิ่งที่ต้องสังเกตเพิ่มเติม เนื่องจากตามรายงานของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย จะเกิดสภาพอากาศ IOD แบบ Positive ผสมด้วย โดยจะเกิดสูงสุดในเดือนกรกฎาคม

 

สภาพอากาศ IOD คืออะไร

 

IOD ย่อมาจากคำว่า Indian Ocean Dipole ซึ่งก็คือความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจากอุณหภูมิของผิวน้ำในมหาสมุทรอินเดีย คล้ายปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญาของมหาสมุทรแปซิฟิก แต่การที่มาเกิดในมหาสมุทรอินเดียบางครั้งก็มีคนเรียกสภาพอากาศนี้ว่า ‘อินเดียนนีโญ’ (Indian Niño)

 

IOD นั้นมี 3 เฟส เฟสแรกคือเฟสเป็นกลาง ฝนจะตกตามปกติทางอาเซียนและออสเตรเลีย เฟสต่อมาคือ Positive หรือเฟสบวก ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนแล้งทางอาเซียนและออสเตรเลีย แล้วฝนไปตกชุกฝั่งอินเดียและแอฟริกา สุดท้ายคือ Negative​ ฝนจะตกหนักมากทางอาเซียนและออสเตรเลีย และฝนแล้งทางฝั่งอินเดียและแอฟริกา 

 

การหนุนเสริมหรือหักล้างกันของสภาพอากาศทั้งสองแบบ

 

ประเทศฝั่งเอเชีย เช่น ไทย และอาเซียน รวมทั้งออสเตรเลีย ตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรทั้งสองคือ มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย แน่นอนว่าต้องนำสภาพอากาศทั้ง Niño (เอลนีโญ-ลานีญา) และ IOD มาประเมินผลร่วมกัน เพราะในบางปีจะเกิดการหนุนเสริมกันอย่างรุนแรง เช่น สภาพอากาศแบบลานีญาแบบเข้มที่หนุนเสริมด้วย IOD เฟสลบแบบเข้มในปี 2010 ส่งผลให้ฝนหนักถล่มต่อเนื่องจนเกิดน้ำท่วม

 

ในรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย ผลนี้ยังส่งต่อมาถึงปี 2011 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในไทย หรือในปีที่เอลนีโญแบบเข้มหนุนเสริมด้วย IOD เฟสบวกแบบเข้ม ก็จะเกิดอากาศร้อนแล้งผิดปกติในแถบอาเซียน ตลอดจนเกิดไฟป่านานหลายเดือนในออสเตรเลีย เป็นต้น 

 

 

ตรงกันข้ามกับการหนุนเสริมกัน การหักล้างกันของสภาพอากาศจากทั้งสองมหาสมุทรก็เกิดขึ้นได้ นักวิชาการประเมินว่า การเกิดลานีญาแบบอ่อนหลังเดือนสิงหาคมของปีนี้อาจถูกหักล้างจาก IOD เฟสบวกแบบอ่อน ทำให้ผลของสภาพอากาศแบบลานีญาไม่ปรากฏชัดเจนอย่างที่ควรจะเป็น เช่น จำนวนพายุหมุนเขตร้อนที่จะนำฝนมาเติมเขื่อนในไทย หรือปริมาณเฉลี่ยของฝนจากมรสุม อาจน้อยกว่าปีที่ไม่มีการหักล้างกัน 

 

อย่างไรก็ตาม การศึกษา IOD ไปจนถึงการสร้างแบบจำลองยังเป็นของใหม่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี ข้อมูลจากการสังเกตการณ์อาจต้องการเวลาปรับปรุงอีกสักระยะจึงจะเกิดความแม่นยำ

 

จากสิ่งที่กล่าวมาอย่างน้อยก็ทำให้เราทราบว่า ความร้อนแล้งจากสภาพอากาศแบบเอลนีโญในไทย แม้จะไม่จากไปในทันที แต่ก็จะเบาบางลงจนหายไปในที่สุด ผลต่อเนื่องของความร้อนอาจยังคงอยู่อีกระยะ อย่างน้อยก็คงไม่ร้อนจัดอย่างที่เป็นอยู่ในเดือนเมษายนปีนี้

 

ภาพ: Chaiwat Subprasom / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising