×

‘จุรินทร์’ เผยไทยร่วมให้สัตยาบัน RCEP แล้ว คาดมีผลบังคับใช้ต้นปีหน้า-ช่วยดันส่งออกไทยโตก้าวกระโดด

01.11.2021
  • LOADING...
Regional Comprehensive Economic Partnership

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ร่วมกับอีก 5 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ยื่นให้สัตยาบันในข้อตกลง RCEP( Regional Comprehensive Economic Partnership) แล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศนอกสมาชิกอาเซียนก็ได้มีจีนกับญี่ปุ่นยื่นไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้เมื่อพิจารณาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่า อย่างน้อยในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ต้องมีไม่น้อยกว่า 6 ประเทศให้สัตยาบัน และประเทศนอกสมาชิกอาเซียนที่มี 5 ประเทศ อย่างน้อย 3 ประเทศร่วมให้สัตยาบัน รวม 3+6 เป็น 9 ประเทศ ใกล้จะครบตามเงื่อนไข ซึ่งจะทำให้ข้อตกลง RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

 

“ถ้ามีอีก 1 ประเทศยื่นให้สัตยาบัน ก็ถือว่าครบตามเงื่อนไข ซึ่งคาดว่าต้นปีหรือเดือนมกราคม 2565 ข้อตกลง RCEP จะบังคับใช้ในประเทศสมาชิก 15 ประเทศต่อไป ซึ่งจะมีผลให้ RCEP กลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกันถึง 2,300 ล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรโลก และทำให้กลุ่มประเทศ RCEP มี GDP 33.6% ของ GDP โลก หรือ 1 ใน 3 ของ GDP โลก มูลค่าการค้าประมาณ 30% ของมูลค่าการค้าโลก ถ้ามีผลบังคับใช้ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย” จุรินทร์กล่าว

 

จุรินทร์ระบุว่า เมื่อข้อตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย

 

ประเด็นที่1 การส่งออกภาษีเป็นศูนย์อย่างน้อย 39,366 รายการ โดยลดเหลือศูนย์ จำนวน 29,891 รายการทันทีที่บังคับใช้ 

 

ประเด็นที่ 2 ตลาด RCEP จะเป็นการเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทยหลายรายการ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น 

 

ประเด็นที่ 3 ไทยจะได้รับการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะในการส่งออก เมื่อสินค้าไปสู่ด่าน ถ้าเป็นสินค้าเน่าเสีย ผู้ค้าจะต้องปล่อยสินค้าภายในเวลา 6 ชั่วโมง จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกผลไม้ ผัก และสินค้าเน่าเสียหลายรายการของไทย รวมทั้งการอำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ หรือระบบออนไลน์ ทำให้ผู้ประกอบการการค้าออนไลน์มีตลาดกว้างขึ้น มีกฎเกณฑ์กติกาชัดขึ้น และผู้บริโภคของไทยก็จะได้รับความคุ้มครองมากขึ้น จากการนำเข้าสินค้าผ่านระบบออนไลน์จากประเทศสมาชิก RCEP 

 

ประเด็นที่ 4 ไทยจะได้รับประโยชน์ในการที่มีผู้มาลงทุน เราสามารถส่งออกสินค้าบริการไปยังสมาชิกได้มากขึ้น ภาคบริการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ธุรกิจการก่อสร้างในกลุ่มประเทศอาเซียน เรามีศักยภาพแข่งขันได้ดีมากประเทศหนึ่ง การค้าปลีก การไปเปิดห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมทั้งการให้บริการด้านสุขภาพ ภาพยนตร์ และผลิตภัณฑ์ด้านบันเทิงแอนิเมชัน เป็นต้น

 

ประเด็นที่ 5 ไทยจะมีทางเลือกในการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนจากประเทศสมาชิกที่มีความหลากหลายขึ้น นี่ก็คือประโยชน์ที่ได้รับจาก RCEP ที่เป็นรูปธรรม 

 

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รายงานข้อมูลว่า ปัจจุบันการค้าระหว่างไทย-RCEP มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7.87 ล้านล้านบาท คิดเป็น 57.5% ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออกไป RCEP 1.23 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.83 ล้านล้านบาท คิดเป็น 53.3% ของการส่งออกไทยไปโลก ไทยนำเข้าจาก RCEP 1.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4.04 ล้านล้านบาท คิดเป็น 62.1% ของการนำเข้าไทยจากโลก

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising