×

เงินเฟ้อไทยจะสูงตามเงินเฟ้อโลกหรือไม่?

03.07.2021
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

HIGHLIGHTS

3 Mins Read
  • เงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เป็นประเด็นที่ถูกจับตามองว่าจะส่งผลต่อการทำนโยบายการเงินอย่างไร และยังทำให้เกิดคำถามว่า แล้วเงินเฟ้อไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปในระยะข้างหน้า 
  • บทวิเคราะห์นี้ประเมินว่า เงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว จึงไม่ส่งผลกระทบกับไทยมากนัก อีกทั้งเงินเฟ้อไทยมีสัดส่วนจากสินค้านำเข้าค่อนข้างต่ำแค่ 16% และต้นทุนการผลิตอื่นที่เพิ่มขึ้น ส่งผ่านไปยังราคาสินค้าบริการน้อย
  • ส่วนเงินเฟ้อไทยที่เร่งตัวขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2564 ในระดับ 2.9% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตนั้นเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยยังไม่พบการส่งผ่านราคาสินค้า และไม่พบว่าเงินเฟ้อโลกที่สูงส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อไทยอย่างชัดเจน

ในระยะหลัง ประเด็นหนึ่งที่เป็นที่จับตามองอย่างมากของนักลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้ดำเนินนโยบาย คือปรากฏการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นทั้งการเงินและการคลังขนานใหญ่ (Reflation) โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศเหล่านั้นปรับสูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีนี้ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ในระยะยาวของประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ตามมุมมองของนักลงทุนที่ว่าธนาคารกลางอาจจะเปลี่ยนจากนโยบายแบบผ่อนคลายในปัจจุบันเป็นนโยบายแบบตึงตัว เพื่อตอบสนองต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มน้ำหนักในการวิเคราะห์เงินเฟ้อของนักวิเคราะห์และผู้ดำเนินนโยบายในหลายประเทศ ดังนั้น ประเด็นสำคัญในบริบทของประเทศไทยคือ ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อของไทยจะมีการปรับเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปหรือไม่ และอัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มอย่างไรในอนาคตข้างหน้า

 

เงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นกระทบเงินเฟ้อไทยไม่มาก

หากพิจารณาสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ จะพบว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวจากกำลังซื้อที่อั้นมาจากช่วงก่อนหน้า (Pent-Up Demand) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมทั้งปัจจัยพิเศษอย่างราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก (World Commodity Price) ที่ปรับสูงขึ้นเนื่องจากการผลิตหยุดชะงักในช่วงการระบาดของโควิดและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งสินค้า แต่คาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะคลี่คลายลงในช่วงต้นปี 2565 เมื่อกำลังซื้อกลับสู่ระดับปกติและภาคการผลิตทยอยฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดคลี่คลายลง โดยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ได้ย้ำอีกครั้งถึงการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อว่ามาจากปัจจัยชั่วคราว (Transitory Factors) เช่นกัน สอดคล้องกับตลาดการเงินที่เริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ที่ทยอยปรับลดลงด้วย

 

เงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นคาดว่าจะส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทยไม่มากนัก เพราะนอกจากเงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวแล้ว ยังมีเหตุผลอีก 2 ประการ ดังนี้ 

 

  1. ตะกร้าเงินเฟ้อไทยมีสัดส่วนสินค้านำเข้า (Import Content) ค่อนข้างต่ำประมาณร้อยละ 16 และที่ผ่านมาผลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกต่ออัตราเงินเฟ้อไทยจะส่งผ่านจากราคาน้ำมันโลกมายังราคาน้ำมันในประเทศเป็นหลัก (รูปที่ 1) ซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันในประเทศในระยะข้างหน้าจะไม่ปรับสูงขึ้นมาก เนื่องจาก 

 

(1) ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ และกลุ่ม OPEC+ ที่จะทยอยปรับเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันที่มากขึ้น 

(2) ประเทศไทยมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือดูแลราคาน้ำมันในประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่ากับการปรับราคาน้ำมันในตลาดโลก

(3) ผลกระทบทางอ้อม (Second Round Effect) จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดมีจำกัดเช่นกัน เพราะข้อมูลในอดีตชี้ว่า ราคาน้ำมันจะกระทบราคาอาหารและต้นทุนในการผลิตสินค้าอย่างมีนัยสำคัญ ต่อเมื่อราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน

 

  1. ต้นทุนการผลิตอื่นที่เพิ่มขึ้นส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการได้น้อย (รูปที่ 2) โดยแม้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นบ้างในบางอุตสาหกรรม (สะท้อนจากดัชนีราคาผู้ผลิต หรือ Producer Price) แต่จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อไทยค่อนข้างจำกัด (รูปที่ 3) เพราะ 

 

(1) ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจากกลุ่มโลหะหรือเซมิคอนดักเตอร์ จำกัดอยู่แค่บางกลุ่มสินค้า เช่น ยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนไม่มากในตะกร้าเงินเฟ้อไทย 

(2) จากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ในระยะสั้นประมาณ 3-6 เดือน รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ยังอ่อนแอ ทำให้การปรับเพิ่มราคาสินค้าทำได้ยาก 

 

 

เงินเฟ้อไทยที่ปรับสูงขึ้นในไตรมาส 2 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราว

ในช่วงที่ผ่านมายังไม่พบการส่งผ่านราคาสินค้าและเงินเฟ้อโลกที่สูงมายังเงินเฟ้อไทยอย่างชัดเจน แม้ว่าเงินเฟ้อไทยเฉลี่ย 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต แต่เป็นเพียงการปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราว เนื่องจากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาเพื่อบรรเทาค่าครองชีพในปี 2563 โดยคาดว่า เมื่อผลของฐานที่ต่ำหมดลงในไตรมาส 3 ปี 2564 เงินเฟ้อจะทยอยลดลงและเคลื่อนไหวอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบนโยบายการเงิน (รูปที่ 4) เนื่องจาก

 

  1. กำลังซื้อในประเทศยังคงอ่อนแอ แม้จะทยอยปรับดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการแพร่ระบาดของโควิดที่จะคลี่คลายลง แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งสำคัญที่ทำให้กำลังซื้อในระยะข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก
  2. ราคาสินค้าจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นแรงและเร็ว โดยคาดว่าราคาพลังงานในตลาดโลกจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามราคาน้ำมันที่ได้กล่าวไปแล้ว และราคาอาหารสดคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำตามความเสี่ยงภัยแล้งในปัจจุบันที่ลดลง
  3. ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอยู่เดิมและถูกเร่งขึ้นในช่วงการระบาด เช่น การใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน (Automation) และการใช้บริการอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้นมาก

 

 

โดยสรุป อัตราเงินเฟ้อไทยที่เพิ่มสูงขึ้นคาดว่าจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวจากฐานที่ต่ำของราคาน้ำมันและมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ และเงินเฟ้อโลก-ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อไทยจำกัดในระยะต่อไปอุปสงค์ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ประกอบกับปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ถูกเร่งขึ้นในช่วงการระบาดและแนวโน้มราคาน้ำมันที่จะไม่เร่งตัวขึ้นสูง จะทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อไทยยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising