×

จับตา ‘เงินเฟ้อไทยปี 2023’ จะกดเข้ากรอบได้หรือไม่? ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ

30.12.2022
  • LOADING...

‘เงินเฟ้อ’ ยังถือเป็นหนึ่งในโจทย์เศรษฐกิจใหญ่ของปีหน้า แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์หลายคนจะมองว่า อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศรวมถึงไทยได้ผ่านจุดพีคไปแล้ว แต่ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะค้างอยู่ในระดับสูงก็ยังคงอยู่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดประเทศของจีนที่มาเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ และสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อ จึงอาจทำให้ธนาคารกลางต้องปรับขึ้นหรือคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไป

 

สำหรับเงินเฟ้อประเทศไทย หลายสำนักมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% ในปี 2023


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


โดยกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยในปี 2023 จะลดลงแตะ 2.9% จากอัตราเฉลี่ยที่ 6.2% ในปีนี้ ใกล้เคียงกับ ธปท. ที่คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยปีหน้าจะอยู่ที่ 3% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ 2.8%

 

ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยในปีหน้าจะอยู่ที่ 2.5-3.5% จากอัตราเฉลี่ยในปีนี้ที่ 6.3-6.8%

 

จับตาความเสี่ยงต่อ ‘เงินเฟ้อไทย’ ปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เตือนว่า การเปิดประเทศของจีนอาจทำให้ได้รับผลกระทบจากภาระต้นทุนที่สูงขึ้นอีกระลอกในปีหน้า เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิจากจีน หลังจากปีนี้ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อฟากสหรัฐฯ ไปแล้ว

 

สอดคล้องกับการประมาณการของ Bloomberg Economics ที่คาดการณ์ว่า หากจีนเปิดเมืองอย่างเต็มรูปแบบภายในกลางปี 2023 ราคาพลังงานจะดีดตัวขึ้น 20% และดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่าอาจลดลงเหลือ 3.9% ภายในกลางปี อาจพุ่งขึ้นเป็น 5.7% ภายในสิ้นปี

 

โดยเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตือนว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยง 2 เรื่องสำคัญที่อาจทำให้เงินเฟ้อยังอยู่สูงกว่าระดับ 3% คือ 1. การส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจที่สะสมมาจากในปีนี้ หรือการปรับขึ้นราคาสินค้ามีมากกว่าที่คาด และ 2. การอุดหนุนต้นทุนด้านพลังงานของภาครัฐที่ยังต้องรอความชัดเจน

 

ด้าน Krungthai COMPASS ระบุในรายงานเมื่อต้นเดือนธันวาคมว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัว แต่ต้องจับตาราคาสินค้าในหมวดพื้นฐานที่อาจทยอยปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

 

“เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยในเดือนพฤศจิกายนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการทยอยปรับขึ้นราคาของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าก็อาจปรับตัวเพิ่มตามต้นทุนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากตลาดโลก เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและเมียนมา ซึ่งมีต้นทุนการนำเข้าที่แพงกว่า กระทบต่อค่าใช้จ่ายในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นประมาณ 13.8% ตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5% นอกจากนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นอาจซ้ำเติมให้ภาคธุรกิจส่งผ่านราคาเพิ่มขึ้นในสภาวะที่ต้นทุนรอบด้านยังอยู่ในระดับสูง” รายงานระบุ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising