×

ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ

12.10.2022
  • LOADING...

ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยยังคงเป็นไปในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดยภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาดเป็นแรงส่งเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ยังไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีน หนุน GDP ไทยปี 2565 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.2% จาก 1.5% ในปี 2564 สำหรับปี 2566 ยังคงมีความท้าทายหลายมิติที่เป็นข้อจำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และประเทศคู่ค้าส่งออก รวมถึงหลายปัจจัยเสี่ยง ทั้งราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง การปรับขึ้นดอกเบี้ย และการอ่อนค่าของเงินบาท เป็นสภาพแวดล้อมที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องเผชิญและเตรียมพร้อมรับมือ 

 

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกดดันภาคการส่งออก ส่วนภาคท่องเที่ยวยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาส 3/65 ทั้งภาคการค้า การผลิต และบริการ โดยได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงพุ่งสูง และนโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็วพร้อมกันทั่วโลก โดยสหภาพยุโรปและอังกฤษมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยชัดเจนขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศสำคัญในเอเชียล้วนมีทิศทางชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวแผ่วลงที่ 3.4% จากราว 8% ในปี 2565 อย่างไรก็ดี สินค้าบางหมวดยังคงมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้ากลุ่มบริโภค อาหาร อาหารแปรรูป สินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าเทคโนโลยี ยานยนต์ ตลอดจนสินค้าเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ด้านมิติของภาคการท่องเที่ยวมีโมเมนตัมฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปี 2565 อยู่ที่ 18.5 ล้านคน จากความต้องการท่องเที่ยวเพื่อชดเชยในช่วงสถานการณ์โควิด และพฤติกรรมการท่องเที่ยวภายหลังเปิดประเทศส่วนใหญ่เป็นจุดหมายปลายทางระยะใกล้ ซึ่งไทยได้อานิสงส์จากกลุ่มที่มีแนวพรมแดนติดกัน รวมถึงอินเดียและตะวันออกกลาง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวอินเดียกลายเป็นกลุ่มที่ครองส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย อีกทั้งตลาดตะวันออกกลางซึ่งเป็นกลุ่มมีกำลังซื้อสูงก็เติบโตได้อย่างโดดเด่น หนุนการเติบโตในแง่ของรายรับจากการท่องเที่ยวระหว่างรอการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

 

ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า ตราบใดที่เงินดอลลาร์สหรัฐมีแรงหนุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในภาพรวมการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นผลดีต่อกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงตลาดต่างประเทศ และในทางตรงข้ามส่งผลลบต่อผู้นำเข้า แต่เมื่อพิจารณาลงรายละเอียด โดยใช้อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) พบว่า โครงสร้างภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่เป็นสินค้าส่งออก แต่ในการผลิตจะมีทั้งใช้วัตถุดิบในประเทศและนำเข้ามา 

 

ดังนั้น จึงต้องมองที่ผลสุทธิจากการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งพบว่ากลุ่มสินค้าส่งออกที่พึ่งพิงวัตถุดิบในประเทศเป็นสัดส่วนสูงมีแนวโน้มที่อัตรากำไรจะปรับสูงขึ้นด้วย ซึ่งได้แก่ สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป อัญมณี ยางพารา อาหารทะเลแช่แข็ง ขณะที่กลุ่มสินค้าเน้นตลาดในประเทศและพึ่งพิงวัตถุดิบนำเข้าจะมีอัตรากำไรลดลง ตัวอย่างสินค้าในกลุ่มนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล สิ่งทอ ยานยนต์ 

 

แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 2% ทำให้ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ขยับขึ้นตาม ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ โดยในภาพรวมภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจะได้รับผลเชิงลบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 

 

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ สะท้อนผ่านกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT) พบว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นทุกๆ 1% จะส่งผลต่อกำไรของธุรกิจให้ลดลง แต่ขนาดผลกระทบหรือระดับความรุนแรงจะแตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มธุรกิจได้รับผลกระทบปานกลางถึงเล็กน้อย พบว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง เช่น กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้า กำไรจะลดลง 1.4% จากความสามารถในการทำกำไรที่มีอยู่ในระดับ 34%, ธุรกิจโรงพยาบาล จะได้รับผลกระทบคิดเป็นเพียง 0.4% ของกำไรที่มีอยู่ถึง 19% ขณะที่ 2. กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก พบว่าเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการกำไรน้อย เช่น ธุรกิจโรงแรม มีความสามารถในการทำกำไรอยู่ที่ 3% การปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 1% จะกระทบต่อกำไรถึง 0.5%  

 

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวจะช่วยลดแรงกดดันด้านราคาได้ แต่ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจปรับชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่แข็งแกร่งนัก 

 

ราคาพลังงานมีแนวโน้มลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง เหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต คาดในปี 2566 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ระดับ 98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากราว 102 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2565 ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง แต่ก็ยังสูงกว่าระดับปกติ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก เคมีภัณฑ์ และที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้น้ำมันและก๊าซ ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในรูปแบบของค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์และราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้น ทำให้ต้นทุนของสินค้าเพิ่มขึ้นเร็ว สวนทางกับราคาขายที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ในอัตราที่เท่ากัน โดยเฉพาะในภาวะที่อำนาจซื้อลดลง ย่อมส่งผลต่อผลกำไรของธุรกิจให้ลดลง 

 

ปี 2566 จึงยังคงเป็นอีกปีที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมยังคงเผชิญโจทย์ท้าทายการเติบโต ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจโลกที่ยังคงต้องติดตาม การเตรียมพร้อมรับมือ และเร่งปรับตัวทั้งในด้านการลงทุนและการดำเนินกิจการ โดยอาจมีการปรับรูปแบบการผลิต จากที่เน้นความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต ซึ่งมีแนวโน้มที่ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิตด้านวัตถุดิบหรือแรงงานราคาถูก มาเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า จะทำให้การปรับเปลี่ยนธุรกิจสอดคล้องกับเทรนด์โลกยุคที่เป็น Technology Disruption และมีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลมากขึ้น เช่น การผลิตรถยนต์ EV ทดแทนรถยนต์ใช้น้ำมัน เป็นปัจจัยช่วยลดผลกระทบในช่วงเวลานี้ได้ และสานต่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising