×

คุยกับนายกฯ ภูฏาน วิสัยทัศน์สู่ ‘เมืองแห่งสติ’, FTA ไทย-ภูฏาน และนวัตกรรมขุดบิทคอยน์ด้วยพลังงานสะอาด

16.04.2025
  • LOADING...
thailand-bhutan-fta-2025

ท่ามกลางตารางที่แน่นขนัดของการประชุมสุดยอดความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อ 3-4 เมษายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีภูฏาน ดาโช เชริง โตบเกย์ เดินหน้าขยายความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง

 

ประเทศเล็กในอ้อมกอดเทือกเขาหิมาลัยที่มีประชากรไม่ถึง 800,000 คน และต้องพึ่งพาอินเดียถึง 80% ในด้านการค้าและพลังงาน กลับเลือกเส้นทางการพัฒนาที่ไม่วัดความสำเร็จด้วย GDP แต่ใช้ ‘ความสุขมวลรวมของชาติ’ (Gross National Happiness) เป็นเข็มทิศ พร้อมจารึกในรัฐธรรมนูญให้รักษาพื้นที่ป่าไว้ไม่ต่ำกว่า 60% ของผืนแผ่นดิน

 

ในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว THE STANDARD นายกรัฐมนตรีโตบเกย์ได้เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์ใหม่ของภูฏาน ตั้งแต่การลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับไทย ไปจนถึงโครงการ ‘เกเลพู เมืองแห่งสติ’ (Gelephu Mindfulness City) และการทำเหมืองบิทคอยน์ด้วยพลังงานสะอาด

 

เชื่อมโยงภูมิปัญญาและโอกาส

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ ตามคำทูลเชิญของ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ระหว่างวันที่ 25 ถึงวันที่ 28 เมษายน 2568 ไม่เพียงแต่เป็นเกียรติยศยิ่ง แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพอันลึกซึ้ง “พี่น้องชาวภูฏานทุกคนต่างตั้งตารอและพร้อมต้อนรับทั้งสองพระองค์” นายกฯ โตบเกย์ กล่าวว่า การเสด็จเยือนครั้งนี้จะยกระดับความสัมพันธ์ของสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

การพบกันระดับทวิภาคีระหว่าง แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ไทย และนายกฯ ภูฏาน ในช่วงของการประชุม BIMSTEC สองฝ่ายได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งสำเร็จในเวลาเพียง 9 เดือน จากกรอบเวลา 2 ปีที่กำหนดไว้แต่แรก ส่งผลให้สินค้าไทยอย่างเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ และเคมีภัณฑ์ จะเข้าสู่ตลาดภูฏาน ขณะเดียวกัน ผลิตผลเกษตรอินทรีย์ น้ำแร่ ของภูฏานก็จะมีช่องทางส่งออกมายังไทย “ถ้าเราเป็นมิตรแท้ เราควรทำให้สำเร็จภายใน 1 ปี แต่เราทำได้ภายใน 9 เดือน” โตบเกย์กล่าวด้วยรอยยิ้ม

 

คุยกับนายกฯ ภูฏาน วิสัยทัศน์สู่ ‘เมืองแห่งสติ’, FTA ไทย-ภูฏาน

 

ประเทศเล็ก…ความทะเยอทะยานใหญ่

 

ในเวที BIMSTEC ซึ่งมีสมาชิก 7 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย มีประชากรรวมกันกว่า 22 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ภูฏานถือเป็นประเทศสมาชิกที่เล็กที่สุด แต่ตั้งเป้าว่าจะมีโอกาสอย่างมากจากความร่วมมือกลุ่มนี้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่นายกฯ โตบเกย์ ย้ำว่าต้องเป็นไปตามนโยบายที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการต้อนรับแขกผู้ไปเยือน จึงวางการท่องเที่ยวไว้แบบ ‘คุณค่าสูง จำนวนน้อย’

 

รัฐบาลภูฏานอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ นั่นคือ Gelephu Mindfulness City (GMC) หรือ ‘เมืองแห่งสติ’ บนผืนป่าพื้นที่ 2,500 ตารางกิโลเมตร ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางของการศึกษา จิตวิทยา สถาบันฝึกสติ เทคโนโลยีสะอาด และศูนย์รวมธุรกิจไว้ด้วยกัน ภายใต้การออกแบบโดย Bjarke Ingels สถาปนิกชาวเดนมาร์กที่เลื่องชื่อระดับโลก และมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย MQDC โครงการนี้ตั้งเป้าสร้างงานให้เยาวชนภูฏาน หวังลดการอพยพของคนรุ่นใหม่ไปทำงานต่างประเทศ และเป็นต้นแบบเมืองที่พัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค

 

นวัตกรรมด้วยพลังงานสีเขียว

 

ภูฏานยังบุกเบิกการทำเหมืองบิทคอยน์โดยใช้พลังน้ำสะอาด “เราไม่ได้ซื้อบิทคอยน์มาเทรด แต่ขุดเองด้วยพลังงานสะอาด เพื่อเก็บมูลค่าพลังงานไว้ในบิทคอยน์” นายกฯ โตบเกย์อธิบาย รายได้จากบิทคอยน์นำไปสนับสนุนการศึกษาฟรี การรักษาพยาบาลฟรี การอนุรักษ์ป่าไม้ และค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ

 

ท่ามกลางกระแสภูมิรัฐศาสตร์ ภูฏานต้องเดินเกมทูตอย่างระมัดระวัง เชิงกายภาพภูฏานตั้งอยู่ระหว่างจีนและอินเดีย “เราไม่ได้ถูกบีบแต่อยู่ระหว่างสองมหาอำนาจอย่างแข็งแกร่ง” โตบเกย์กล่าว อินเดียยังคงเป็นหุ้นส่วนหลัก ขณะที่ความสัมพันธ์กับจีนเป็นไปอย่างราบรื่น

 

ภูฏานกำลังเขียนบทใหม่ของการพัฒนาประเทศด้วยแนวคิดที่ผสมผสานระหว่างการอนุรักษ์และนวัตกรรม จากการยึดหลัก ‘ความสุขมวลรวมประชาชาติ’ ไปจนถึงการสร้าง ‘เมืองแห่งสติเกเลพู’ บนพื้นที่ 2,500 ตารางกิโลเมตร และการขุดบิทคอยน์ด้วยพลังงานสีเขียว ทั้งหมดนี้สะท้อนการมองอนาคตที่ยั่งยืนในทุกมิติ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21

 

คุยกับนายกฯ ภูฏาน วิสัยทัศน์สู่ ‘เมืองแห่งสติ’, FTA ไทย-ภูฏาน

 

นี่คือบางส่วนของบทสัมภาษณ์พิเศษกับนายกรัฐมนตรีเชริง โตบเกย์

 

ถาม: การเสด็จเยือนภูฏานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีแห่งประเทศไทยในวันที่ 25 เมษายนนี้ จะช่วยเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอย่างไร

 

ตอบ: เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเสด็จเป็นครั้งแรกนอกประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี นอกจากพิธีการแล้ว เราจะจัดเทศกาลวัฒนธรรมไทย การสาธิตมวยไทย การแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตร และการฉายภาพยนตร์ไทยกลางแจ้ง เพื่อเชิญ ‘พี่น้องชาวไทยทุกคน’ มาเป็นแขกสำคัญและเสริมสร้างมิตรภาพให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

ถาม: การเสด็จเยือนครั้งนี้จะช่วยขยายความร่วมมือทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจอย่างไร

 

ตอบ: การเสด็จเยือนครั้งนี้สืบเนื่องจากความเคารพและมิตรภาพอันยาวนานระหว่างสองราชวงศ์ นอกจากการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมและอาหารแล้ว ยังเชื่อมโยงกับข้อตกลงการค้าเสรีที่เพิ่งลงนาม ช่วยเปิดทางให้สินค้าจากไทยเข้าไปในภูฏาน เช่น สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย อิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ ขณะที่สินค้าผลผลิตการเกษตรอินทรีย์ น้ำแร่ ของภูฏานก็จะส่งออกมาไทยได้

 

ถาม: การลงนามข้อตกลงการค้าเสรีใช้เวลาเพียง 9 เดือน แทนที่จะเป็น 2 ปี เกิดจากอะไร และจะนำไปใช้ประโยชน์อะไร

 

ตอบ: ความไว้วางใจและวิสัยทัศน์ร่วมกันทำให้เราทำให้เสร็จภายใน 1 ปี บรรดาผู้บริโภคในภูฏานจะได้เข้าถึงสินค้าไทย เช่น เสื้อผ้า สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ ขณะที่ตลาดไทยก็จะต้อนรับผลิตผลเกษตรอินทรีย์ และน้ำแร่ของภูฏาน

 

ถาม: ในเวที BIMSTEC ที่มีประชากรรวมกันกว่า 22% ของประชากรโลก ภูฏานหวังจะได้อะไรจากความร่วมมือนี้

 

ตอบ: ในฐานะสมาชิกที่มีประชากรน้อยที่สุด ภูฏานจะได้รับประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวแบบ ‘คุณค่าเชิงคุณภาพ ปริมาณน้อย’ ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยและในภูมิภาค นอกจากนี้ เรายังเห็นโอกาสในพลังงาน การเชื่อมต่อดิจิทัล และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อกระจายเศรษฐกิจของเรา

 

ถาม: ภูฏานตั้งอยู่ระหว่างจีนและอินเดีย ท่านบริหารความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศอย่างไร

 

ตอบ: อินเดียยังคงเป็นพันธมิตรหลักด้านการพัฒนาและการค้า ขณะที่ความสัมพันธ์กับจีนเป็นไปอย่างราบรื่น เราคงความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสองเพื่อเติบโตไปด้วยกันอย่างงดงาม

 

ถาม: ปรัชญา ‘ความสุขมวลรวมของชาติ’ ช่วยขับเคลื่อนภูฏานอย่างไร

 

ตอบ: ในหนึ่งชั่วอายุคน อายุขัยเพิ่มจาก 40 เป็นกว่า 70 ปี และอัตราการรู้หนังสือของเยาวชนเพิ่มจาก 16% เป็น 99% ด้วยการให้บริการสาธารณสุขและการศึกษาฟรี ภูฏานยังคงเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นลบ ด้วยพื้นที่ป่ามากกว่า 70% แต่ความท้าทายใหม่คือการรักษาเยาวชนที่มีทักษะให้อยู่ในประเทศ

 

ถาม: วิสัยทัศน์ของ ‘เมืองมีสติเกเลพู’ และการสร้างพันธมิตรนานาชาติคืออะไร

 

ตอบ: เมืองมีสติครอบคลุมพื้นที่ 2,500 ตารางกิโลเมตร ในฐานะเขตปกครองพิเศษ จะผสานการศึกษา จิตวิญญาณ สุขภาพ เทคโนโลยี และการเงิน Bjarke Ingels สถาปนิกชาวเดนมาร์ก ออกแบบโดยผสมผสานแนวคิดล้ำสมัยเข้ากับการดูแลสิ่งแวดล้อม ส่วนบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย MQDC ดูแล โครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มนักธุรกิจไทยจำนวนมากแสดงความประสงค์ที่จะมีส่วนร่วมลงทุนอย่างยั่งยืนในโครงการนี้ด้วย

 

ถาม: ภูฏานลงทุนในบิทคอยน์ และนำรายได้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร

 

ตอบ: เราใช้พลังงานน้ำหมุนเวียนส่วนเกินมาขุดบิทคอยน์ เพื่อ ‘เก็บ’ มูลค่าพลังงาน รายได้จากบิทคอยน์นำไปสนับสนุนบริการสาธารณะฟรี เช่น การศึกษาและสาธารณสุข อนุรักษ์ป่าไม้ และจ่ายค่าตอบแทนข้าราชการ สอดคล้องกับเป้าหมายเศรษฐกิจสีเขียวของเรา

 

ถาม: หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาหลายปี ท่านตั้งเป้าหมายให้เป็นที่จดจำอย่างไร

ตอบ: ผมไม่ได้คิดเรื่องให้คนจดจำ ภารกิจของผมคือรับใช้พระมหากษัตริย์และประชาชน ไม่ใช่การทำงานเพื่อตัวเองเพื่อให้คนจดจำ

 

คุยกับนายกฯ ภูฏาน วิสัยทัศน์สู่ ‘เมืองแห่งสติ’, FTA ไทย-ภูฏาน

 

อย่าพลาด! ติดตามบทสัมภาษณ์พิเศษฉบับเต็มกับนายกรัฐมนตรีดาโช เชริง โตบเกย์ ในรายการ The World Dialogue ได้ทาง YouTube: THE STANDARD เร็วๆ นี้ เพื่อรับชมมุมมองลึกซึ้งและวิสัยทัศน์จากผู้นำประเทศแห่งความสุขมวลรวมแบบเต็มอิ่ม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising