×

ไทย-สหรัฐฯ แถลง Cobra Gold 2022 ลดขนาดการฝึก งดให้ประเทศอื่นสังเกตการณ์เนื่องจากโควิด รวมถึงเมียนมา

โดย THE STANDARD TEAM
05.02.2022
  • LOADING...
Cobra Gold 2022

วานนี้ (4 กุมภาพันธ์) กองบัญชาการกองทัพไทย จัดแถลงข่าวการฝึกร่วมผสม Cobra Gold 2022 หรือ คอบร้าโกลด์ 2022 ในวงรอบ Heavy Year ครั้งที่ 41 โดยมี พล.อ. ณตฐพล บุญงาม เสนาธิการทหาร เป็นประธานฝ่ายไทย ไมเคิล ฮีธ อุปทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เป็นประธานฝ่ายสหรัฐฯ พร้อมด้วย พล.ท. ชิดชนก นุชฉายา เจ้ากรมยุทธการทหาร ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการฝึกคอบร้าโกลด์ 2022 และ พ.ท. บิล กรู๊บ ผู้อำนวยการแผนกฝึกร่วมผสม จัสแมกไทย

 

พล.อ. ณตฐพลกล่าวว่า การฝึกคอบร้าโกลด์เป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทยและกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี

 

การฝึกร่วมผสมคอบร้าโกลด์ 2022 จะเริ่มขึ้นในระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม ครั้งที่ 41 ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา ที่มีมายาวนาน 200 ปี และเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด และมีความร่วมมือหลายมิติ ทั้งการค้า เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความมั่นคง และการฝึกทางทหาร และจากสถานการณ์โควิด เราตระหนักถึงความปลอดภัยของประชาชนและทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยปรับรูปแบบการฝึกให้เข้ากับสถานการณ์ โดยปีนี้มีกำลังทหารร่วมฝึก 3,460 นาย คิดเป็น 2 ใน 3 จากการฝึกที่ผ่านมา

 

ด้าน ไมเคิล ฮีธ กล่าวว่า การฝึกคอบร้าโกลด์ 2022 ย้ำถึงพันธไมตรีด้านความมั่นคงที่ยาวนานระหว่างสหรัฐฯ และไทย ในฐานะตัวแทนชาวอเมริกันและหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ในประเทศไทย จึงขอขอบคุณรัฐบาลไทยและกองทัพไทยที่เป็นเจ้าภาพในการจัดคอบร้าโกลด์ 2022

 

ทั้งนี้ คอบร้าโกลด์ได้กำหนดมาตรฐานการฝึกซ้อมทางทะเลระดับพหุภาคีมาตลอด 11 ปี ซึ่งมีความพิเศษเป็นการฝึกซ้อมทางการทหารระดับสากลที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก จึงไม่เพียงแต่แสดงถึงพันธไมตรีระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงความร่วมมือของนานาประเทศอันเป็นหัวใจของคอบร้าโกลด์

 

ส่วนประโยชน์ของการฝึกคอบร้าโกลด์ที่ชาวไทย ชาวอเมริกัน และนานาประเทศจะเห็นชัดว่า 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ร่วมกัน ภายหลังเกิดโศกนาฏกรรมและผลกระทบจากภัยพิบัติในภูมิภาคนี้ เช่น สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ปี 2547, ภัยพิบัติ 3 เหตุการณ์ในญี่ปุ่น ปี 2554 และปฏิบัติการกู้ภัยช่วยทีมหมูป่าในถ้ำหลวงของไทย ปี 2561

 

สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ 2022 แม้จะลดขนาดการฝึกเนื่องจากโควิด แต่ยังให้ความสำคัญกับการจัดการฝึก การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การบรรเทาภัยพิบัติและโครงการช่วยเหลือประชาชน (โครงการก่อสร้าง)

 

และท้ายที่สุด สิ่งที่ทำให้คอบร้าโกลด์พิเศษคือ การฝึกนี้แสดงถึงปัจจัยที่ค้ำจุนมิตรภาพ ซึ่งเป็นมิตรภาพอันเที่ยงแท้ระหว่างเราไว้กว่า 200 ปีที่ผ่านมา ดังที่สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ พ.ศ. 2376 เริ่มจากการเป็นสัญญาทางการค้าระดับทวิภาคีแล้วจึงเติบโตเป็นความร่วมมือในหลากหลายด้าน อาทิ การศึกษาและวัฒนธรรม การสาธารณสุข การพาณิชย์และการค้า คอบร้าโกลด์ก็ได้พัฒนาขึ้นจากการฝึกซ้อมทางทะเลขนาดเล็กระดับทวิภาคี กลายเป็นหนึ่งในการฝึกซ้อมทางทหารระดับพหุภาคีที่โดดเด่นเป็นเลิศที่สุดของโลก ซึ่งยังประโยชน์แก่ผู้คนทั่วทั้งภูมิภาค

 

ด้าน พ.ท. บิล กรู๊บ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เราภูมิใจคือการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ เรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ การดำเนินโครงการช่วยเหลือประชาชนหรือแม้แต่การฝึกปัญหาที่บังคับการ ในปีนี้เราดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารในโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศไทย รวมไปถึงโรงเรียนหนองบอนวิทยาคมในจังหวัดตราด ซึ่งคาดว่าจะส่งมอบในวันที่ 3 มีนาคมนี้

 

สิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือสุขภาพและความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์ทุกคน ตลอดจนชุมชนและหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่จัดและสนับสนุนการฝึกครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิดของรัฐบาลไทยอย่างเคร่งครัด โดยดำเนินการตรวจภายใต้มาตรการ ‘Bubles in Bubbles’

 

โดยในปีนี้ ทางกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกางดส่งกำลังทางอากาศเข้าร่วมการฝึก ขณะที่กองทัพบกสหรัฐฯ มี V22 ออสเปรย์ Black Hawk 12 เครื่อง กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาส่งเรือลาดตระเวนทางทะเล เรือ USS.GREE BAY

 

ด้าน พล.ท. ชิดชนกกล่าวถึงรายละเอียดการฝึกว่า การฝึกครั้งนี้มีประเทศเข้าร่วมการฝึกหลัก 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชน จำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย และออสเตรเลีย ประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation Team) จำนวน 10 ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ฟิจิ และเวียดนาม รวมทั้งสิ้น 20 ประเทศ

 

สำหรับยอดผู้เข้าร่วมการฝึกฯ จำนวน 3,460 นาย ประกอบด้วย ไทย 1,953 นาย สหรัฐอเมริกา 1,296 นาย สิงคโปร์ 50 นาย อินโดนีเซีย 16 นาย ญี่ปุ่น 35 นาย สาธารณรัฐเกาหลี 41 นาย มาเลเซีย 36 นาย จีน 10 นาย อินเดีย 5 นาย และออสเตรเลีย 18 นาย

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ประเทศเมียนมาได้แสดงเจตจำนงขอเข้าร่วมฝึกคอบร้าโกลด์ในฐานะเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์หรือไม่ พล.ท. ชิดชนกกล่าวว่า เป็นการพิจารณาร่วมกันระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ที่เห็นตรงกันว่าอาจไม่คุ้มค่าในเรื่องของเวลา ในการให้ประเทศที่เป็นผู้สังเกตการณ์จากเดิมมี 10 ประเทศ เข้าร่วมฝึกในครั้งนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิดจึงไม่มีการเชิญ

 

พล.ท. ชิดชนกกล่าวต่อไปว่า การฝึกคอบร้าโกลด์ปีนี้ในวงรอบ Heavy Year ที่มีความใกล้เคียงกับการฝึกในวงรอบ Right Here ปีที่แล้ว แต่โดยลักษณะการฝึกในที่บังคับการเป็นการนำแผนจากการที่ได้จากปีที่แล้วมาฝึกอำนวยการยุทธ์ โดยมีฝ่ายอำนวยการและผู้บังคับหน่วยเข้าร่วมมากขึ้น เป็นการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระหว่างเหล่าทัพ เรื่องการปรับลดกำลังลงไม่สามารถฝึกการใช้กำลังทหารขนาดใหญ่ได้ จึงเป็นการฝึกร่วมสองฝ่ายของแต่ละเหล่าทัพ โดยกองทัพบกจะเป็นการฝึกระดับหน่วยกรมสไตรเกอร์และกรมรบพิเศษ ขณะที่กองทัพเรือเป็นการปฏิบัติการทางทหารของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ส่วนกองทัพอากาศในปีนี้งดจัดกำลังทางอากาศ แต่จะเข้าร่วมการฝึกในส่วนอื่น

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การลดกำลังทหารลงติดปัญหาค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณเรื่องกักโรคหรือไม่ พล.ท. ชิดชนกกล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่ง เพราะต้องมีการกักตัว 7 วัน และการควบคุมโรคมีความยุ่งยาก และการนำกำลังทหารเข้ามามากๆ เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงประชาชนจะไม่สบายใจ ซึ่งทางสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเสนอขอปรับลดกำลังทหารลง

 

สำหรับรูปแบบการฝึกฯ ในปีนี้ ประกอบด้วยการฝึกหลักดังนี้

 

  1. การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise: CPX) ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 5 มีนาคม 2565 โดยกองบัญชาการกองทัพไทยจัดตั้งกองบัญชาการกองกำลังผสมนานาชาติ (Multi National Forces Headquarters: MNF HQs.) ร่วมกับกองทัพสหรัฐอเมริกาและมิตรประเทศ ณ อาคารม้าแดง กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

 

  1. โครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian Civic Assistance: HCA) ระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึง 3 มีนาคม 2565 จำนวน 5 โครงการก่อสร้าง ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านทุ่งนุ้ย จังหวัดกระบี่ โรงเรียนบ้านหนองมะค่า จังหวัดสระบุรี โรงเรียนวัดคลองตะเคียน จังหวัดจันทบุรี โรงเรียนหนองบอนวิทยาคม จังหวัดตราด และโรงเรียนบ้านเขาตาอิ๋น จังหวัดระยอง

 

  1. การฝึกแก้ปัญหาบนโต๊ะในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (Humanitarian Assistance and Disaster Relief Tabletop Exercise: HADR-TTX) ระหว่างวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2565 ณ โรงแรมสิรินพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

 

  1. การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise: FTX) ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 5 มีนาคม 2565 โดยเหล่าทัพรับผิดชอบการฝึกในรูปแบบการฝึกแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ (Subject Matter Expert Exchange: SMEE) พื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดลพบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และอ่าวไทยตอนบน

 

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิดในปีนี้ได้มีการปรับลดกำลังพลจาก 8,964 นาย เหลือ 3,460 นาย และปรับรูปแบบการฝึกภาคสนาม โดยงดการฝึกร่วมขนาดใหญ่ของทั้ง 3 เหล่าทัพ ได้แก่ การฝึกยกพลขึ้นบก การฝึกอพยพพลเรือนออกจากพื้นที่การรบ และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง และคงการฝึกผสมในระดับยุทธวิธีของทั้ง 3 เหล่าทัพ

 

ในลักษณะการฝึกแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระดับไม่เกิน 1 กองร้อย โดยไม่เกิน 500 นายในแต่ละพื้นที่การฝึก เพื่อให้สอดรับกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด ของกระทรวงสาธารณสุข และจังหวัดต่างๆ โดยกองทัพไทยกำหนดให้ใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อความปลอดภัยของกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกฯ และพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยรอบการฝึกฯ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับการฝึกในปีที่ผ่านมา และนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง เพราะผู้เข้าร่วมการฝึกฯ ไม่มีการติดเชื้อโควิด เนื่องจากกองทัพไทยได้กำหนดมาตรการและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการฝึกฯ อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ในการฝึกคอบร้าโกลด์ 2022 แบ่งมาตรการเป็น 3 ระยะ ดังนี้

 

ก่อนเข้าประเทศ ผู้เข้ารับการฝึกจากมิตรประเทศต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการขอเข้าประเทศ Thailand Pass และตรวจสอบเอกสารขณะเข้าประเทศ (Immigration) ไปจนถึงการเข้ารับการกักตัว 7 วัน ตามที่ได้ทำการจองที่พักไว้

 

ระหว่างอยู่ในประเทศ แบ่งเป็น 2 ห้วง คือ ห้วงการกักตัว (ASQ) และห้วงการฝึก โดยห้วงการกักตัว (ASQ) ผู้เข้ารับการฝึกทั้งฝ่ายไทยและมิตรประเทศต้องกักตัว 7 วัน และตรวจคัดกรองแบบ RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง สำหรับห้วงการฝึก ใช้มาตรการ Bubble and Seal ในทุกพื้นที่การฝึก โดยจะคัดกรองผู้เข้ารับการฝึกทุกวัน และกำหนดให้มีการตรวจ ATK ทุกๆ 5 วัน

 

หลังจากจบการฝึก จะติดตามรายงานผลตรวจโควิดหลังจากที่เดินทางเข้าประเทศตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้รับเชื้อจากประเทศไทย

สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกคอบร้าโกลด์ 2022 แบ่งเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับประเทศ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในระดับนานาชาติในการเตรียมความพร้อมด้านการทหารที่มีความเข้มแข็ง ทันสมัย สามารถตอบสนองภารกิจด้านความมั่นคงในทุกมิติ เช่น การรักษาสันติภาพ การบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในระดับกองทัพ เป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร ในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกองทัพไทย กองทัพสหรัฐอเมริกา และกองทัพจากมิตรประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพไทยในทุกมิติ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะด้านการบรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาค เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน และในระดับพื้นที่ที่เข้าทำการฝึกฯ ได้รับประโยชน์จากการฝึกในส่วนโครงการก่อสร้างอาคารต่างๆ เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตาของมิตรประเทศและประชาคมโลกต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising