×

ตลาดหุ้นไทยท่าไม่ค่อยดี แล้วสตาร์ทอัพไทยจะได้ IPO ให้เห็นสักทีตอนกี่โมง?

06.08.2024
  • LOADING...
ตลาดหุ้นไทย

HIGHLIGHTS

  • ผลการดำเนินงานของหุ้น IPO ในปี 2567 พบว่ามีบริษัทเข้าจดทะเบียนเสนอขายหุ้นครั้งแรกกับสาธารณชนทั้งหมด 20 บริษัท แต่มีเพียง 6 รายเท่านั้นที่สามารถทำราคาหุ้นได้สูงกว่าตอนเสนอขายครั้งแรก โดยอีก 14 บริษัทมีราคาหุ้นต่ำกว่าราคา IPO ซึ่งติดลบสูงสุดเกือบ -66%
  • สภาวะกดดันของตลาดหุ้นไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนดัชนียังไม่กลับมาเหมือนเดิม การเข้าตลาดของสตาร์ทอัพตอนนี้จึงดูจะ ‘ได้’ ไม่คุ้ม ‘เสีย’
  • บริษัทสตาร์ทอัพ Buzzebees ที่กำลังจะเข้า IPO มองว่าจะรอดูสถานการณ์ก่อนอย่างน้อยประมาณ 1 ปี หากแต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่ฟื้น บริษัทอาจจำเป็นต้องมองหาตลาดอื่นเพื่อระดมทุนแทน

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ‘ตลาดหุ้นไทย’ ได้ชื่อว่าเป็น ‘หนึ่งในตลาดที่มีผลการดำเนินงานตกต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก’ สวนทางกับแนวโน้มการฟื้นตัวของดัชนีตลาดหุ้นหลักๆ ในต่างประเทศ จน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุน VI ชื่อดังของประเทศ ออกมาแสดงความเห็นว่า “ในตอนนี้นักลงทุนจำนวนมากรู้สึก ‘ท้อแท้’ และ ‘สิ้นหวัง’ กับตลาดหุ้นไทย”

 

แต่มากไปกว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและประเด็นปัญหาการทุจริตโดยองค์กรใหญ่ๆ อย่างเช่นกรณีของ STARK หรือ EA ที่เกิดขึ้นก็ไม่เพียงแต่จะสูบเอาเงินทุนออกจากตลาด แต่ลามไปถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย

 

บรรยากาศที่ท้อแท้และสิ้นหวังนี้ส่งผลกระทบต่อทั้งนักลงทุนและบริษัทที่มีแผนกำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะกับกลุ่มสตาร์ทอัพที่บางรายอาจจะต้องชะลอแผน IPO ออกไปเนื่องจากสภาวะตลาดไม่เอื้อ

 

ประเด็นข่าวร้ายต่างๆ ในตลาดหุ้นไทยจึงเป็นที่มาของข้อสงสัยว่าบริษัทสตาร์ทอัพไทยที่กำลังจะเดินหน้าแผนระดมทุนผ่าน IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องรออีกนานเท่าไรกว่าจะถึงฤกษ์ที่พวกเขาจะได้เข้าไปจดทะเบียนให้เห็นกันสักที?

 

IPO สีแดง ภาพใหญ่ของบริษัทใหม่ในตลาดหุ้น

 

แม้ว่าในตอนนี้จะยังไม่มีสตาร์ทอัพไทยเข้าจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) แต่หากย้อนกลับไปดูสถิติผลการดำเนินงานของหุ้น IPO ในปี 2566 ก็อาจจะพออธิบายเหตุผลการตัดสินใจชะลอแผนการทำ IPO ของบางบริษัทได้

 

ข้อมูลจาก Settrade เผยว่า มีบริษัทเข้าจดทะเบียนเสนอขายหุ้นครั้งแรกกับสาธารณชนทั้งหมด 40 บริษัทในปีที่แล้ว แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ 32 ราย หรือ 80% มีราคาต่ำกว่าตอนเสนอขายครั้งแรก

 

ส่วนในปีนี้ หุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ให้ภาพในทำนองเดียวกัน นั่นคือจากทั้งหมด 20 บริษัท มีเพียง 6 รายเท่านั้นที่สามารถทำให้ราคาหุ้นสูงกว่าราคาตอน IPO ได้ โดยอีก 14 บริษัทมีราคาหุ้นต่ำกว่าราคา IPO ซึ่งติดลบสูงสุดเกือบ -66%

 

ข้อมูล ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2567

 

เสียงสะท้อนจากคนวงการสตาร์ทอัพ

 

“จากที่เราได้หารือกับที่ปรึกษาการเงิน (FA) ตอนนี้ฝั่งนักลงทุนสถาบันหายากขึ้น และส่วนที่ยังเหลือก็ขอกดมูลค่าบริษัทให้ต่ำลงเนื่องจากความเสี่ยงในตลาด แต่แน่นอนว่าเป้าหมายของเราคือการพาบริษัทเข้าตลาดให้ได้มูลค่าที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งถ้าเราเข้าไปตอนนี้และไม่สามารถระดมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรอดูสถานการณ์อาจจะเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ ณ ขณะนี้”

 

นี่คือมุมมองจาก ณัฐธิดา สงวนสิน กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด (Buzzebees) สตาร์ทอัพสัญชาติไทยผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Digital Engagement กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH สะท้อนความท้าทายการพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย

 

ก่อนหน้านี้ Buzzebees เคยวางแผน IPO ในไตรมาส 4 ปีนี้ แต่จากสภาวะกดดันของตลาดหุ้นไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนดัชนียังไม่กลับมาเหมือนเดิม การเข้าตลาดตอนนี้จึงดูจะ ‘ได้’ ไม่คุ้ม ‘เสีย’

 

 

สิ่งหนึ่งที่ณัฐธิดาเชื่อในการดำเนินธุรกิจคือ ‘สู้อะไรก็ได้ อย่าสู้กับเทรนด์’ หลักการที่ไม่เพียงสะท้อนการทำธุรกิจของบริษัทในการมองหาเทรนด์อนาคตเพื่อเติบโตไปพร้อมกับมัน แต่ยังถูกใช้กับการวางแผนการลงทุนว่า เมื่อเทรนด์มีแนวโน้มไม่ค่อยดี การสวนทางกับเทรนด์จึงไม่ใช่ตัวเลือกสำหรับตอนนี้

 

แม้ว่าการไม่สวนกระแสและเฝ้าดูสถานการณ์จะเป็นตัวเลือกที่สมเหตุสมผลในปัจจุบัน แต่การยืดเวลาออกไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่แผนของ Buzzebees เพราะหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นภายใน 1 ปี บริษัทก็พร้อมมองหาช่องทางอย่างตลาดหุ้นต่างประเทศเพื่อจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียน

 

ท่าทีมองหาโอกาสในต่างแดนมีความคล้ายกับ LINE MAN Wongnai ซึ่งมีแผนจะ IPO ในปี 2568 และกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นไปได้ทั้งการเข้าจดทะเบียนในไทยหรือในสหรัฐอเมริกา หรือกระทั่งจดทะเบียนควบ (Dual Listing) ในทั้งสองประเทศ แต่บริษัทปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการเข้าตลาดในอนาคต

 

ในฝั่งของนักลงทุน Venture Capital แซม ตันสกุล จากกรุงศรี ฟินโนเวต บริษัทร่วมลงทุนในเครือกรุงศรีที่ร่วมบ่มเพาะสตาร์ทอัพเล่าว่า “กำลังใจตอนนี้ในตลาดค่อนข้างน้อย เนื่องจากภาพจำของนักลงทุนส่วนใหญ่ยังติดอยู่กับความไม่แน่นอนของตลาดหุ้นไทยอยู่ แถมในปัจจุบัน ตลาดหุ้นต่างประเทศก็เริ่มเปิดกว้างให้บริษัทสตาร์ทอัพต่างชาติเข้าไปจดทะเบียนได้ อย่างเช่นที่ TSE Asia Startup Hub ของญี่ปุ่น ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำธุรกิจในประเทศก็สามารถ IPO ในตลาดนี้ได้”

 

การมีตัวเลือกที่มากกว่าในทำนองนี้เป็นปัจจัยกดดันว่าหากธุรกิจออกไปจดทะเบียนในประเทศ ผลกระทบทั้งเงินทุนหมุนเวียน รายได้ภาษี หรือกระทั่งภาวะ ‘สมองไหล’ ก็อาจเกิดขึ้นได้เมื่อตลาดทุนไม่ตอบโจทย์ความต้องการหรือความคาดหวังของบริษัท

 

นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ธุรกิจประเภทสตาร์ทอัพต้องคิดหนักกับการทำ IPO คือกระบวนการเข้าตลาดที่มีความซับซ้อนกว่าธุรกิจทั่วไปในเรื่องของจำนวนรอบการระดมทุนและมูลค่าเงินทุนที่มากน้อยต่างกันในแต่ละรอบลงทุน หมายความว่าในภาวะที่ตลาดหุ้นซบเซา ผู้ลงทุนกลุ่มที่มารอบหลังก็มีแนวโน้มจะไม่เห็นด้วยกับการทำ IPO ในสภาวะที่มูลค่าบริษัทลดลงต่ำกว่าต้นทุนที่ตนเองลงเงินมา

 

‘มองระยะยาว’ แนวทางพัฒนาตลาดทุนหนุนสตาร์ทอัพไทย

 

เมื่อความท้าทายของตลาดหุ้นไทยปัจจุบันเป็นเช่นนี้ การสนับสนุนจากรัฐบาลที่ณัฐธิดาอยากเห็นคือการลงทุนกับนโยบายที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ระยะยาว เช่น การขาดแคลนบุคลากรสายเทคโนโลยีของไทย แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีชาวต่างชาติจำนวนมากที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้และอยากเข้ามาทำงานเมืองไทยแบบระยะยาวมากขึ้น แต่ยังติดข้อจำกัดทางกฎหมายบางอย่าง

 

“เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนด้วยธุรกิจ และทุกธุรกิจก็ขับเคลื่อนด้วยคน แต่ตอนนี้ไทยกำลังเจอกับปัญหาทักษะแรงงาน ฉะนั้นการพิจารณาให้แรงจูงใจเพื่อดึงคนต่างชาติให้เข้ามายกระดับศักยภาพการแข่งขันของไทยทั้งความรู้และคน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีก็เป็นหนึ่งในนโยบายสนับสนุนประเทศที่น่าพิจารณา” ณัฐธิดากล่าว

 

สำหรับแซม เขาฉายภาพว่าตอนนี้บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูง 10 อันดับแรกของโลก มีบริษัทเทคโนโลยีไปแล้ว 8 ราย โดยส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทเทคเหล่านี้เติบโตได้คือการมี Venture Capital เข้ามาลงทุนในระยะแรก ซึ่งตอนนี้ไทยก็เริ่มเห็นถึงความสำคัญและได้ออกกฎยกเว้นภาษีส่วนต่างกำไร (Capital Gain Tax) และเริ่มมีบริษัทร่วมลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะผลักดันให้สตาร์ทอัพเติบโตได้อีกคือการเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนที่รัฐเข้ามาสมทบเพิ่มเติมบนการลงทุนของเอกชน (Matching Fund)

 

“ปัจจุบันแนวทางการลงทุนแบบนี้ของไทยเพิ่งเริ่มต้น และเรามองว่าหากหน่วยงานรัฐแบ่งเงินทุนเพิ่มอีก 1% มาลงทุนในสตาร์ทอัพ เช่นอาจจะย้ายจากสินทรัพย์ดั้งเดิมมาลงในสตาร์ทอัพผ่านกองทุนที่เชี่ยวชาญ กลยุทธ์นี้ก็ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสให้กับระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในเมืองไทยให้เติบโตได้” แซมกล่าวเสริม

 

กลับมาที่คำถามว่าสตาร์ทอัพไทยจะได้ IPO ให้นักลงทุนเห็นเมื่อไร ข้อสรุปประเด็นนี้อาจจะยังบอกไม่ได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่พอจะโยงจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญได้คือการรอดูท่าทีของตลาดให้ฟื้นตัวมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก่อน

 

แน่นอนว่าหนทางข้างหน้าไม่ง่ายและเป็นวาระสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับโครงสร้างตลาดทุนให้โปร่งใส เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน ควบคู่นโยบายสนับสนุนระบบนิเวศสตาร์ทอัพให้กลายเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุคดิจิทัล ซึ่งการเดินหน้าแบบนี้ก็น่าจะทำให้เราได้เห็นสตาร์ทอัพไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยสักที

 

หมายเหตุ: ข้อมูล Settrade ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2567

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising