×

ตลาดสมาร์ทโฟนและ EV ไทยมาแรง! ‘มูราตะ’ ซัพพลายเออร์ Apple เบนเข็มจากจีนสู่ไทย ปักหมุดนิคมฯ ลำพูน ฐานผลิตภูมิภาค จ้างงานคนไทย 2 พันตำแหน่ง

31.10.2023
  • LOADING...
มูราตะ

BOI เผย มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ ซัพพลายเออร์ Apple เลือกไทยเป็นฐานผลิต MLCC ชิ้นส่วนสำคัญ หลังตลาดสมาร์ทโฟน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในยานยนต์ไฟฟ้า EV ไทยมาแรง โดยมูราตะเป็นรายล่าสุดที่ได้ส่งเสริมการลงทุน 8,000 ล้านบาท ชี้ไทยยังดึงดูด FDI ญี่ปุ่น 8 เดือน ทะลุ 40,554 ล้านบาท รั้งอันดับ 3 รองจากจีนและสิงคโปร์ ขณะที่ CEO มูราตะ ตั้งเป้าขยายกำลังผลิต 10% ต่อปี ป้อนตลาดโลก พร้อมเผย 2 เหตุผลเลือกนิคมอุตสาหกรรมลำพูนเป็นฐานผลิตภูมิภาค

 

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า BOI ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนของบริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกจากประเทศญี่ปุ่น มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท ในกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้น (Multilayer Ceramic Chip Capacitor: MLCC) กำลังการผลิตกว่า 9 หมื่นล้านชิ้นต่อปี ซึ่ง MLCC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ไฟฟ้า ที่ปริมาณการใช้มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

 

ซึ่งโดยทั่วไปแล้วรถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคันจำเป็นต้องใช้ MLCC ประมาณ 3,000-8,000 ชิ้นต่อคัน ส่วนในสมาร์ทโฟนประมาณ 500-1,000 ชิ้นต่อเครื่อง การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและสมาร์ทโฟนจึงเป็นแรงขับเคลื่อนให้ตลาด MLCC เติบโตอย่างก้าวกระโดด

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

สำหรับโรงงานผลิต MLCC ของมูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ถือเป็นผลิตภัณฑ์ระดับเรือธงของมูราตะที่ครองส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกกว่าร้อยละ 40 ซึ่งโรงงานแห่งนี้ถือเป็นโรงงานนอกญี่ปุ่นแห่งที่ 3 และเป็นการขยายฐานการผลิตครั้งใหญ่จากฐานเดิมที่ประเทศจีนและสิงคโปร์

 

จ้างงานคนไทยกว่า 2,000 ตำแหน่ง นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ

 

ทั้งนี้ จะเกิดการจ้างงานกว่า 2,000 ตำแหน่ง และจะเริ่มเปิดดำเนินการในเดือนตุลาคม 2566

 

“นักลงทุนญี่ปุ่นถือเป็นนักลงทุนรายสำคัญของไทยตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และเคมีภัณฑ์ และยังคงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาเทคโนโลยีรับกระแสความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้”

 

อย่างไรก็ตาม มูราตะได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2531 และยังได้เลือกไทยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคเพื่อดูแลบริษัทในเครือในภูมิภาคเอเชีย สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์ที่ดีของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

 

ขณะที่สถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 8 เดือน (เดือนมกราคม-สิงหาคม 2566) ญี่ปุ่นยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจำนวน 156 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 40,554 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

มูราตะลุยขยายกำลังการผลิต 10% ต่อปี

 

ด้าน โนริโอะ นากาจิมะ ประธานบริษัท มูราตะ เปิดเผยว่า โรงงานผลิตแห่งใหม่นี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับฐานการผลิต MLCC ของมูราตะในต่างประเทศแห่งที่ 4 ได้แก่ อู๋ซี, จีน, สิงคโปร์ และไทย และมีอีกสองแห่งในฟุกุอิและอิซูโมะ ประเทศญี่ปุ่น

 

โดยมูราตะตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 10% ต่อปี จากดีมานด์ MLCC ที่เพิ่มขึ้น จากอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนที่ใช้เทคโนโลยี 5G และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น อุปกรณ์ IoT, สมาร์ทวอทช์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน

 

โดยเฉพาะในสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ที่สามารถติดตั้งคาปาซิเตอร์ประเภทนี้ได้มากถึง 1,000-1,200 ตัว รวมถึงตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งอาจต้องใช้ตัวเก็บประจุสูงถึง 10,000 ตัวต่อคัน ซึ่งปัจจุบันมูราตะถือหุ้นสัดส่วน 50% ในยานยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

 

เผย 2 เหตุผลที่เลือกปักหมุดไทยในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน

 

เหตุผลที่มูราตะเลือกขยายการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน ภาคเหนือของประเทศไทย คือปัจจัยด้านแรงงาน ภาคเหนือค่าแรงถูกกว่าเขตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่น ภาคตะวันออก และกรุงเทพฯ และไม่มีปัญหาในการแข่งขันแย่งชิงแรงงาน นอกจากนี้มูราตะยังส่งเสริมการผลิตแรงงานโดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่

 

รวมไปถึงปัจจัยด้านการขนส่ง เนื่องจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีน้ำหนักเบาจึงมีต้นทุนการขนส่งต่ำ และสามารถใช้ขนส่งทางอากาศได้อีกด้วย

 

นอกจากนี้แน่นอนว่าด้วยแรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้มูราตะวางแผนที่จะลงทุนในการกระจายความเสี่ยงในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มายังไทย และอนาคตยังมองประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต MLCC ทั่วโลกประมาณ 130,000 ชิ้นต่อเดือน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising