ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลสำรวจเจาะลึกมุมมองคนรุ่นใหม่ไทย Gen Z และ Millennialsl กว่า 300 คน พบว่า ค่าครองชีพยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความกังวลให้กับคนรุ่นใหม่ โดย 37% ของ Gen Z และ Millennials มองว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลที่สุด อย่างไรก็ตาม Gen Zยังมีความกังวลเรื่องการว่างงาน (36%) และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ (21%) เพิ่มเติม ขณะที่ Millennials กังวลเรื่องความไม่มั่นคงทางการเมือง (24%) มากกว่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 70% ของคนGen Z ไม่ขอทำงานออฟฟิศ แต่อยากทำงานแบบฟรีแลนซ์มากกว่า
- เทรนด์ ‘กล่องสุ่มอาหารเหลือ’ มาแรง! หลังGen Z จีนนิยมใช้จ่าย ‘ประหยัด-รักตัวเอง’ ทำรัฐบาลกุมขมับ วิตกกระทบเศรษฐกิจ
แม้จะมีความกังวลด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่คนรุ่นใหม่ไทยก็ยังให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต โดย 42% ของ Gen Zและ 60% ของ Millennials รายงานว่า มีความสุขกับสภาพจิตใจโดยรวมและยังรู้สึกเครียดน้อยลงกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการเงินและงานที่ดูเหมือนจะเบาลง
อย่างไรก็ตาม มุมมองต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่ไทยยังไม่สดใสเท่าที่ควร โดย Gen Zและ Millennials กว่าครึ่ง มองว่าเศรษฐกิจในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะแย่ลงกว่าเดิม
นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในบทบาทเชิงบวกของภาคธุรกิจต่อสังคม โดย 42% ของ Gen Zและ 45% ของ Millennials เชื่อว่า องค์กรภาคธุรกิจสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
สิ่งที่น่าสนใจคือ คนรุ่นใหม่ไทยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดย 81% ของ Gen Zและ 92% ของ Millennials กังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกอย่างมีนัยสำคัญ
ผลสำรวจพบว่ากว่า 90% ของคนรุ่นใหม่ยังยินดีจ่ายแพงขึ้น เพื่อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการเดินทางและการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า
ในเรื่องของการทำงาน คนรุ่นใหม่ไทยให้ความสำคัญกับการมีเป้าหมายในการทำงาน โดย 96% ของ Gen Zและ 99% ของ Millennials มองว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก
อีกทั้งกว่าครึ่งยังเคยปฏิเสธงานที่ไม่ตรงกับจริยธรรมและความเชื่อของตัวเอง และมองหาองค์กรที่ให้ความสำคัญกับ Work Life Balance และโอกาสในการเรียนรู้
ถึงแม้จะมีความกังวลและความคาดหวังสูง แต่คนรุ่นใหม่ไทยก็ยังมองโลกในแง่ดี โดยกว่า 70% เชื่อว่า นายจ้างใส่ใจสุขภาพจิตของพนักงานและกล้าที่จะพูดคุยเรื่องความเครียดกับหัวหน้างานได้อย่างเปิดอก ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก
ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายและความซับซ้อนของคนรุ่นใหม่ไทยที่มีความคิดเป็นของตัวเอง ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แคร์สุขภาพจิต และทำงานด้วยแพสชัน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่องค์กรต่างๆ ควรนำไปปรับใช้ เพื่อดึงดูดและรักษาคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเหล่านี้
ภาพ: Kimberrywood / Shutterstock