×

แบงก์ชาติเตรียมหั่นประมาณการ GDP ไทยปี 2566-2567 ยอมรับคาดการณ์ไตรมาส 4 ผิดคาด!

31.01.2024
  • LOADING...
GDP ไทย

แบงก์ชาติเตรียมหั่นประมาณการ GDP ไทยปี 2566-2567 ยอมรับคาดการณ์ไตรมาส 4 ผิดคาด! พร้อมมองปัจจัยการเมืองกระทบความเชื่อมั่นระยะสั้นเท่านั้น แต่ไม่กระทบเศรษฐกิจ-การจับจ่ายใช้สอย

 

วันนี้ (31 มกราคม) ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน ‘BOT Monthly Briefing โฆษกพบสื่อ’ โดยระบุว่า ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกมาในเดือนธันวาคมเป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ชะลอตัวมากกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า พร้อมเปิดเผยว่าประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ของ ธปท. อาจมีการปรับลด (Revise Down) ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้

 

ชญาวดีกล่าวอีกว่า GDP ไทยไตรมาส 4/66 น่าจะใกล้เคียง (In Line) กับไตรมาส 3 ซึ่งขยายตัว 1.5% ตามที่เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. เคยกล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

สำหรับตัวเลข GDP ปี 2567 ต้องดูจุดตั้งต้นว่าจะลดลงไปแค่ไหน รวมถึงปัจจัยความแน่นอนข้างหน้าย่อมมีผล เมื่อแรงส่งน้อย GDP ปี 2567 ก็อาจแผ่วและต่ำลงตาม

 

โดยในประมาณการล่าสุดของ ธปท. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 และ 2567 จะขยายตัว 2.4% และ 3.8% ตามลำดับ (รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต)

 

ทั้งนี้ งานวันนี้จัดขึ้นในช่วงเวลางดให้สัมภาษณ์ (Silent Period) โดย ธปท. กำหนด Silent Period เป็นระยะเวลา 12 วัน (รวมวันเสาร์-อาทิตย์) ก่อนวันตัดสินนโยบายการเงินที่ประกาศแก่สาธารณชน เนื่องจากหากสาธารณชนได้รับข้อมูลที่แตกต่างกันอาจสร้างความสับสนและทำให้วางแผนเรื่องต่างๆ ผิดพลาดได้ ทำให้วันนี้ ธปท. ไม่สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้

 

ทำไมแบงก์ชาติคาดการณ์เศรษฐกิจพลาด?

 

ชญาวดีกล่าวว่า เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท. ไม่ได้ต่างจากนักวิเคราะห์สำนักอื่นๆ มากนัก และอยู่ในช่วง (Range) เดียวกัน แต่อาจมีเซอร์ไพรส์หรือข้อมูลที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาที่ทำให้ประมาณการผิดคาดไป

 

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2566 ฟื้นตัวช้ามาจากภาคเศรษฐกิจต่างประเทศค่อนข้างเยอะ โดยการส่งออกที่ลดลงได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าลดน้อยลง และทำให้ยอดสินค้าคงคลัง (Inventory) ลดลงตามลำดับ ส่งผลให้ตัวเลข GDP ลดลง รวมไปถึงการฟื้นตัวของรายจ่ายนักท่องเที่ยวที่กลับมาช้ากว่าคาด

 

เศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่?

 

สำหรับประเด็นเรื่องเศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่ ธปท. ย้ำว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอยู่ แต่ฟื้นตัวช้า และภาพรวมเศรษฐกิจไทยไม่ได้ถือว่าโตช้ามากหรือเจออะไรที่ทำให้สะดุด อย่างไรก็ดี หากมองภาพย่อย-รายธุรกิจพบว่ายังมีความเดือดร้อนอยู่ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าคำว่าวิกฤตจะนำไปวัดตรงไหน ภาคส่วนไหน

 

นโยบายการเงินจะช่วยเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน

 

สักกะภพระบุว่า เนื่องจากปัญหาของเศรษฐกิจไทยมาจากภาคส่งออกและภาคการผลิต ดังนั้นนโยบายดอกเบี้ยอาจพอช่วยได้ในมุมของอัตราแลกเปลี่ยน (ทำให้บาทอ่อนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการส่งออก แต่จะส่งผลเสียกับคนบางกลุ่ม)

 

อย่างไรก็ตาม สักกะภพชี้แจงว่า ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยแทบจะอยู่ในอันดับต่ำที่สุดของโลกอยู่แล้ว เป็นรองเพียงญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น 

 

นอกจากนี้ การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยกำหนดทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน มีผลแค่ชั่วคราวเท่านั้น 

 

“นโยบายการเงินไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาโครงสร้างโดยตรง แต่เป็นการบริหารจัดการอุปสงค์ภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอุปสงค์ในประเทศไทยยังโตค่อนข้างดี” สักกะภพกล่าว

 

แบงก์ชาติมองการเมืองกระทบแค่ความเชื่อมั่นระยะสั้น

 

จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคก้าวไกลหาเสียงแก้มาตรา 112 เท่ากับเป็นการล้มล้างการปกครอง ชญาวดีตอบผู้สื่อข่าวว่า จากอดีตที่ผ่านมาเหตุการณ์ทางการเมืองจะมีผลกระทบด้านความเชื่อมั่นเท่านั้น แต่ไม่กระทบพื้นฐานเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอย พร้อมย้ำว่ารวมปัจจัยการเมืองไว้ในประมาณการเศรษฐกิจ

 

“ในช่วงที่ไทยมีปัญหาทางการเมืองจะไม่ได้ทิ้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยาวนาน เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ทุกอย่างกลับมาได้เร็ว เพราะส่วนใหญ่ผลกระทบจะจำกัดอยู่ที่ด้านความเชื่อมั่น แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ยังตอบไม่ได้ ต้องจับตาดูว่าพัฒนาการของสถานการณ์จะไปในทิศทางไหน” ชญาวดีระบุ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising