×

ส่งออกไทยเดือน ม.ค. 64 บวก 0.35% ‘พาณิชย์’ ชี้โตต่อเนื่องจากเดือน ธ.ค.

23.02.2021
  • LOADING...
thai-exports-in-jan-2020-rised

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยเดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ 19,706.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับว่ายังเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ขณะที่การนำเข้ามูลค่ารวม 19,908.96 ล้านดอลลาร์ หดตัว 5.24% ดุลการค้าขาดดุล 202.39 ล้านดอลลาร์

 

ทั้งนี้การส่งออกของไทยในเดือนมกราคมมีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ ยุทธปัจจัย การส่งออกไทยโต 7.57% โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 3.7% (YoY) และมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 0.9% 

 

โดยสินค้าที่ยังขยายตัวได้แก่ สินค้าอาหาร, สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน, สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด, กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญเริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น รถยนต์ ฯลฯ

 

ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ส่งออกหดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัว 90.3% (หดตัว 5 เดือนต่อเนื่อง), เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ หดตัว 8.2% (หดตัว 16 เดือนต่อเนื่อง), เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ หดตัว 5.2% (หดตัวในรอบ 3 เดือน), เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว หดตัว 5.0% (หดตัวในรอบ 2 เดือน), สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 4.5% (หดตัว 25 เดือนต่อเนื่อง) 

 

ทั้งนี้การส่งออกไทยปี 2564 ยังมีปัจจัยหนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง และประสิทธิภาพของวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เริ่มเห็นผลชัดเจน และมีการกระจายวัคซีนในวงกว้าง ส่งผลให้เกิดอุปสงค์และสร้างความเชื่อมั่นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว 

 

สะท้อนให้เห็นจากการส่งออกไทยไปหลายตลาดยังขยายตัว เช่น ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฯลฯ ขยายตัว 5.7% และตลาดศักยภาพสูงอย่าง จีน กลุ่มประเทศ CLMV ยังขยายตัว 1.4% ขณะที่การส่งออกไปอาเซียน หดตัว 11% และเอเชียใต้หดตัว 8.3% 

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าการส่งออกของไทยในปี 2564 จะปรับตัวดีขึ้นตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชัดเจน มาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

 

1. ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 3 เดือน

 

2. ความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่เริ่มขยายตัว เห็นได้จากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปลายปีที่แล้ว และใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 

 

3. วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เริ่มเห็นการกระจายอย่างมีประสิทธิภาพในหลายภูมิภาค สร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสูงขึ้น 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising