×

ช่วยเหลือ หรือ ทรมาน? เปิดตัวเลข ความสัมพันธ์ และความสำคัญของ ‘ช้างไทย’ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

31.03.2022
  • LOADING...
Thai elephants

‘The Elephant in the Room’ จากภาพที่ลั่นชัตเตอร์โดย อดัม ออสเวลล์ ช่างภาพชาวออสเตรเลีย ที่บันทึกภาพของ ‘พังจิ๋ม’ (Jimh) ซึ่งกำลังลงไปว่ายน้ำเล่นอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์กระจก โดยอีกฟากของตู้คือเหล่าลูกเด็กเล็กแดงและพี่ป้าน้าอาที่กำลังยกโทรศัพท์มือถือมาถ่ายภาพด้วยความตื่นเต้น

 

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในโลกอินเทอร์เน็ต คือการตั้งคำถามถึงสภาพความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่แสนรู้ น่ารัก อ่อนโยน และเป็นสัตว์ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองชาวไทยมาโดยตลอดอย่างช้างว่า นี่คือสิ่งที่ดีแล้วสำหรับพวกเขาใช่หรือไม่

 

ในเรื่องนี้ อุฬาริกา กองพรหม หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ วิจัย และสุขภาพสัตว์ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ซึ่งดูแลพังจิ๋มได้ให้คำชี้แจงต่อทาง Nikkei Asia ว่า “เรื่องสำคัญที่ควรจะต้องทราบไว้คือช้างกับน้ำเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกจากกันได้” ก่อนจะยืนยันในจุดยืนของทางสวนสัตว์เปิดเขาเขียวว่า “พันธกิจของสวนสัตว์คือการรวบรวมสัตว์เพื่อการศึกษา”

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

อย่างไรก็ดี มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความสำคัญของช้างไทยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประเทศ จากทาง World Animal Protection (WAP) องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่มีการเปิดเผยออกมา

 

โดยข้อมูลจาก WAP ระบุว่า ในช่วงก่อนมีโรคโควิด ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากมายมหาศาล โดยในปี 2019 ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึงเกือบ 40 ล้านคน และสร้างรายได้เข้าประเทศได้มากถึงเกือบ 20% หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของ GDP

 

ในจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดนี้จะมี 28% ที่เคยขี่ช้าง หรืออย่างน้อยมีความตั้งใจที่คิดจะขี่ช้าง โดยมีการประเมินเอาไว้ว่า จะมีจำนวนการขึ้นขี่ช้างทั้งหมด 11 ล้านครั้ง หรือคิดเป็นตัวเลขเฉลี่ยแล้ว ช้าง 1 เชือกจะถูกขึ้นขี่ทั้งสิ้นเฉลี่ยถึง 2,900 ครั้งในปี 2019

 

แน่นอนว่าในเรื่องนี้นำไปสู่คำถามสำคัญเกี่ยวกับเรื่องที่อ่อนไหวว่า สิ่งที่กำลังทำกันอยู่นั้นนับเป็นการทรมานสัตว์ กักขัง หน่วงเหนี่ยวสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่อย่างช้างหรือไม่

 

แต่การเกิดขึ้นและยังคงอยู่ของโควิด ทำให้ทั้งคนและช้างต้องพบกับคำถามใหม่ เพราะเมื่อการท่องเที่ยวแทบจะล่มสลายลงไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2020-2021) ช้างนั้นมีชีวิตที่ดีขึ้นหรือชีวิตที่แย่ลงกันแน่?

 

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนช้างที่อยู่ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ (ปางช้าง ฯลฯ) มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 1,600 เชือก เป็น 2,700 เชือก และนั่นคือปัญหา

 

เพราะช้างหนึ่งเชือกแม้จะใช้ควาญช้างดูแลแค่คนเดียว แต่เพราะช้างมีน้ำหนักได้สูงสุดถึง 5 ตัน และจะต้องกินอาหารราว 5-10% ต่อน้ำหนักตัว นั่นทำให้การดูแลช้างหนึ่งเชือกไม่ต่างอะไรจากการเลี้ยงวัว 20 ตัว หรือแกะ 300 ตัว

 

ริชาร์ด แลร์ (Richard Lair) ผู้เชี่ยวชาญด้านช้าง ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุและพำนักในจังหวัดลำปางเปิดเผยว่า “คนเลี้ยงช้างจะเป็นหนี้ตลอด ในอดีตอาจจะมีการแลกเปลี่ยนกันได้และคุยกันไม่ยาก แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างคือเงินอย่างเดียว ทุกคนต้องการเงินที่จะไปซื้อรถ ซื้อทีวี หรือแม้แต่จัดงานศพ”

 

อีกหนึ่งสิ่งที่กลายเป็นปัญหาคือการที่คนเลี้ยงช้างตกเป็นจำเลยของสังคม และทำให้การนำช้างเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือการหารายได้จากการนำช้างจัดแสดงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะไม่ควรมีการทรมานช้าง แต่อีกแง่ก็เป็นการบั่นทอนคนที่ใช้ชีวิตร่วมกับช้างมากขึ้นทุกที

 

แม้กระทั่งออสเวลล์ ช่างภาพดังก็ยอมรับว่าสายตาของเขาที่มองภาพในวิวไฟน์เดอร์นั้นอาจเป็น “สายตาของชาวตะวันตกที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของประเทศไทย” ดังที่มีคนตำหนิเขาเอาไว้ แต่ก็ยืนยันว่าภาพถ่ายใบนั้นเป็นภาพสะท้อนของความจริงที่เกิดขึ้น

 

และความเป็นจริงในตอนนี้คือ หากใครอยากเป็นเจ้าของช้างหนึ่งเชือก จากเดิมที่อาจจะต้องจ่ายเงิน 1.5-1.8 ล้านบาทสำหรับช้างหนึ่งเชือก (และเคยไต่ระดับสูงสุดถึง 3-4 ล้านบาทในช่วงปี 2000) ในเวลานี้ช้างพังหนึ่งเชือกอาจจะมีราคาเพียงแค่ 500,000 บาทเท่านั้น เพราะเจ้าของช้างอยู่ในสถานะที่ลำบากจากผลกระทบของโควิดที่แทบทำลายการท่องเที่ยวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนการท่องเที่ยวช้าง (Elephant Tourism) ก็ล้มจนแทบไม่เหลือแรงจะลุกแล้ว

 

แต่ถึงอย่างนั้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและช้างไทยอาจจะใช้โอกาสนี้ในการปรับตัวไปพร้อมกัน สร้างแนวทางใหม่ที่ดีกว่าด้วยการให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ถึงความมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่และอ่อนโยนอย่างช้าง ในสถานที่ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น

 

สิ่งที่เคยเป็น ‘แฟนตาซี’ ของนักท่องเที่ยวอย่างการให้ช้างแสดงความสามารถพิเศษ เช่น การเตะฟุตบอล การยืนด้วยขาหลังสองข้าง การเล่นฮูลาฮูป การขี่จักรยานสามล้อ หรือแม้แต่การขึ้นขี่หลังช้าง ควรจะกลายเป็นเรื่องเก่าที่ไม่กลับเอามาเล่าใหม่

 

ให้ช้างได้อยู่ในธรรมชาติ และมีความสัมพันธ์ร่วมกับคนอย่างที่ควรจะเป็น ให้คนได้เรียนรู้ เพื่อจะได้รู้จักและรักช้างด้วยใจจริง รวมถึงเหล่าควาญช้างที่จะได้เรียนรู้วิธีการดูแลที่ถูกต้อง

 

โดยอีกหนึ่งความหวังที่ยังค้างเติ่ง คือการยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ กับการออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการดูแลสัตว์ป่าที่จะเป็นรูปธรรมและเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

 

ด้วยความหวังว่าช้างไทยจะไม่กลายเป็นเพียงเรื่องเล่าว่ากาลครั้งหนึ่งเราเคยมีสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย และเพลงช้างที่เด็กๆ ร้องได้ติดปากว่า ‘ช้างมันตัวโตไม่เบา จมูกยาวๆ เรียกว่างวง มีเขี้ยวใต้งวงเรียกว่างา มีหูมีตา หางยาว’ แต่ไม่ได้รู้จักอะไรไปมากกว่านั้น

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising