×

บทสนทนาจากตัวละครเชื้อสายไทย-จีนบนโลกละครและซีรีส์ไทย

12.02.2021
  • LOADING...
บทสนทนาจากตัวละครเชื้อสายไทย-จีนบนโลกละครและซีรีส์ไทย

วันตรุษจีนเวียนมาอีกปี เราขอชวนคุณมาฟังคำสนทนาของลูกหลานชาวไทย-จีนบนจอละครและซีรีส์ไทย ว่าพวกเขาคิด รู้สึก หรือกำลังต้องการบอกอะไรบางอย่างแก่ผู้ชมบ้าง โดยเฉพาะเรื่องราวในใจมากมายของเหล่า ‘ลูกผู้หญิง’ ของตระกูล ที่บางคนอาจถูกกดขี่ กดดัน และไม่ได้ให้ความรักเท่าที่ควรเหมือน เข็มเพชร จากละครเรื่องเนื้อใน หรือภัสสร จากเลือดข้นคนจาง ที่ต้องรับสภาพตัวเองในฐานะลูกสาวที่แต่งออกไปแล้วก็ไม่ถูกนับว่าเป็นคนในตระกูลอีกต่อไป

 

นอกจากนี้เรายังได้เห็นผู้หญิงแกร่งกล้าแต่ใจบางอย่าง อาหลิว จากหงส์เหนือมังกร บทบาทโดดเด่นที่สุดในประวัติการทำงานของ มาช่า วัฒนพานิช ที่ต้องขึ้นนั่งบัลลังก์อยู่ในสถานะสูงกว่าผู้ชายท่ามกลางภัยอันตรายรอบตัว และไม่ใช่แค่สาวๆ เท่านั้นที่มีบทสนทนาชวนขบคิด แต่ฟากลูกชายจากหลายๆ บ้านเองก็มีเรื่องราวชวนหัวไม่แพ้กัน ทั้งชายใหญ่ จากมงกุฎดอกส้ม ที่ค้นพบว่าอำนาจชายเป็นใหญ่ของพ่อตัวเองนั้นช่างน่ากลัว หรือเต๋ จากซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอเองก็มีธงในใจเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศที่อาจทำให้บุพการีไม่สบายใจได้ แต่เขาก็สามารถก้าวผ่านไปได้

 

ประโยคไหนในโลกละครและซีรีส์ไทยที่คุณยังจดจำได้อีกบ้าง แชร์ให้เราฟังบ้าง

 


 

 

“เป็นลูกสาวบ้านนี้มันก็มีค่าแค่เป็นคนใช้ ไม่เหมือนกับเป็นลูกชาย แค่กระดิกนิ้วก็ได้ทุกอย่างแล้ว”

เข็มเพชร จากละคร เนื้อใน (2563)

 

เข็มเพชร จากละครเรื่อง เนื้อใน ผู้หญิงแข็งกร้าว ปากกัดตีนถีบ ก่อนที่เธอจะประสบความสำเร็จกับร้านขายจิวเวลรีของเธอนั้น เข็มเพชรเติบโตมาในครอบครัวเชื้อสายจีน ในฐานะลูกสาวคนกลางของบ้านที่ต้องทนทุกข์เพียงเพราะเกิดมาเป็นผู้หญิง พ่อแม่ที่รักลูกชายทั้งสองของเธอมากกว่า พี่ชายและน้องชายที่ไม่เอาไหน เธอจึงผูกใจเจ็บและอยากพาตัวเองไปให้ไกลที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้ และนี่คือความในใจที่เธอระบายต่อหน้าบุพการีของเธอ

 


 

 

“กุ้งตัวโตสุด ให้อาสร ให้คนเดียว ไม่แบ่งใคร”

อาม่า จากซีรีส์ เลือดข้นคนจาง (2561)

 

บทสนทนาอันแสนเรียบง่ายแต่เรียกน้ำตาได้ทุกครั้งที่ดู เลือดข้นคนจาง หลังจากผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมากมายมากันตลอดทั้งเรื่อง ภัสสร ในฐานะลูกสาวคนเดียวของตระกูลที่แต่งงานออกไปแล้ว เธอทนกับสถานะที่ต่ำต้อยกว่าลูกคนอื่นๆ ในตระกูลมาตลอดตั้งแต่เด็กจนโต พอเรื่องราวคลี่คลาย อาม่าก็คีบกุ้งตัวโตสุดให้ลูกสาว เป็นการแสดงออกถึงการขอโทษ และปลดปมในใจของตัวละครได้ดีที่สุดซีนหนึ่งของวงการบันเทิงไทย

 


 

 

“ที่อั๊วดีใจคือลื้อไม่ต้องเป็นแม่โคเหมือนอั๊ว แต่ที่เสียใจ ก็เพราะอั๊วต้องคอยเป็นห่วงลื้อ”

เหมย จาก หงส์เหนือมังกร (2543)

 

อาเหมย ผู้หญิงที่เป็นดั่งดวงใจของอาหลิว aka พี่ช่าของพวกเรา บทสนทนานี้จากละคร หงส์เหนือมังกร แสดงให้เห็นถึงภาพจำและบทบาททางเพศของผู้หญิงในยุคหนึ่ง โดยเฉพาะผู้หญิงในตระกูลเชื้อสายไทย-จีนที่อาเหมยเปรียบเปรยว่าผู้หญิงจีนเป็น ‘โค’ ทำหน้าที่ผลิตลูกหลาน แต่กลับกันในบทบาทของอาหลิวที่เพิ่งขึ้นแท่นนายหญิงแห่งตระกูล สืบทอดตำแหน่งจากพ่อของเธอ อาเหมยก็รู้สึกดีใจที่หลิวไม่ต้องเป็นเพียงผู้หญิงที่ทำหน้าที่ในฐานะแม่พันธุ์เท่านั้น แต่ก็ต้องเป็นห่วงเธอมากขึ้นที่ต้องเตรียมรับมือต่อกรกับโลกที่ชายเป็นใหญ่นั่นเอง

 


 

 

“ผมเกลียดที่นี่ ผมไม่น่าจะมาเกิดในบ้านนี้ ผมไม่เคยชอบอะไรในบ้านนี้เลย ผมพูดในสิ่งที่อยากพูดมานาน ในเมื่อผมทำอะไรไม่ได้ ก็ขอให้ผมได้พูด”

ก้องเกียรติ จาก มงกุฎดอกส้ม (2553)

 

คุณก้องเกียรติ หรือชายใหญ่แห่งตระกูลเจนพานิชย์สกุล จากละครมงกุฎดอกส้ม และดอกส้มสีทอง เคยขึ้นเสียงใส่มารดาแท้ๆ ของตัวเองด้วยบทสนทนาสุดช้ำใจ หลังจากแอบหลงรักและชอบพอกับคุณนายที่ 4 หรือเมียของพ่อตัวเอง และเมื่อเกิดเหตุการณ์พลิกผันร้ายแรงขึ้น เขาค้นพบว่าอำนาจของพ่อตัวเองนั้นมันยิ่งใหญ่ บ้าบิ่น และไม่ชอบธรรมเอาเสียเลย ชายใหญ่ถึงต้องระบายสิ่งนี้ออกมาและหุนหันหนีออกจากบ้านนี้ไป

 


 

 

“แล้วถ้าเต๋คบผู้ชาย ม้าจะโอเคเหรอ ม้าจะคิดยังไง”

เต๋ จาก แปลรักฉันด้วยใจเธอ (2563)

 

ท่ามกลางสายน้ำตาของบิวกิ้นในบทบาท เต๋ ที่กำลังฟูมฟายปรึกษาปัญหาชีวิตรักกับโก๋หุ้น พี่ชายของตัวเอง ความสับสนและความกลัวในการที่จะเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตัวเอง ทำให้เขาต้องเครียดขนาดนี้ ทั้งในฐานะลูกชายของบ้านคนจีนก็ด้วย ทั้งในฐานะผู้ชายที่เห็นคนที่ตัวเองรักไปรักคนอื่น แสดงให้เห็นถึงค่านิยมของลูกชายในตระกูลชาวไทย-จีนที่จะต้องมีลูกชายไว้สืบสกุล มีทายาท สานต่อตระกูลให้คงอยู่ แต่โลกที่เปลี่ยนไป และการมีอยู่ของความหลากหลายทางเพศอาจไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจได้ ความกลัวและความกดดันจึงตกมาอยู่กับตัวละครเต๋ในบทสนทนานี้

 


 

 

“ลูกสาวน่ะ คนจีนเขาไม่ค่อยใส่ใจเท่าไร เพราะเขาถือว่าเลี้ยงมันได้ไม่นาน มันก็ต้องไปเป็นสมบัติของบ้านอื่นเขา ใครๆ เขาก็อิจฉาฉันกันทั้งนั้น ฉันมันวาสนาดี มีลูกชายกับเขาตั้ง 4 คน สุดท้ายมันก็เป็นอย่างที่เห็นนั่นแหละ”

แม่ย้อย จาก กรงกรรม (2562)

 

แม่ย้อย คือหนึ่งในตัวละครที่ถูกความเป็นคนเชื้อสายไทย-จีนกลืนกิน แม้ตัวเธอเองจะเป็นหญิงไทยแท้ เพราะหลังจากต้องแต่งเข้าไปเป็นสะใภ้คนจีน เธอถูกกดดัน กดขี่จากแม่ผัว จนเผลอทำเรื่องราวเลวร้ายลงไปอย่างไม่ตั้งใจ และจุดนั้นทำให้มันกลายเป็นปมในใจ พานเอาแนวคิดเช่นนั้นมาทำร้ายลูกสะใภ้ของเธอในเวลาต่อมาโดยไม่ได้ตั้งใจ เพียงแค่เพราะความรักในตัวสามี และลูกชายทั้ง 4 คน กลับกลายเป็นกรรมบังตาย้อนกลับมาทำร้ายความรู้สึกของแม่ย้อยถึงที่สุดในช่วงบั้นปลายชีวิต 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising