×

ธุรกิจ-เศรษฐกิจไทย 2017 คือปีแห่งการต้องคิดใหม่ (ก่อนจะไม่มีโอกาสให้คิดอีกต่อไป)

09.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ปี 2017 กลุ่มธุรกิจที่พบกับช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดคือ ‘สื่อ’ ในขณะที่ธนาคารก็ทยอยปิดสาขามากขึ้น สะท้อนภาพ ‘Digital Disruption’ ที่ไม่มีใครต้านทานได้
  • อัตราการเจริญเติบโต GDP ที่ 4.3% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบ 4 ปี ยังด่วนสรุปไม่ได้ว่าความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น และสิ่งที่น่ากังวลคือช่องว่างของรายได้ระหว่างคนรวยและคนจนกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
  • เกิดปรากฏการณ์ ‘สู้คนเดียวเอาไม่อยู่’ ถึงเวลาจับมือพันธมิตรต่อยอดธุรกิจ ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปีนี้หันมาผนึกกำลังกับกลุ่มทุนต่างชาติหลายราย

12 เดือนของปี 2560 นี้ เป็น 12 เดือนที่พิเศษกว่าปีอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ประเทศไทยพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดต่อเนื่องจากเดือนตุลาคม ปี 2559 ความเศร้าโศกอาลัยปกคลุมไปทุกตารางนิ้วของสยามประเทศ ไม่เพียงแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับจิตใจผู้คนในสังคม ปัจจัยนี้ยังเป็นเรื่องใหญ่มากที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว บางแห่งก็ปรับตัวทัน บางแห่งก็ต้องปิดตัวและเหลือเพียงตำนาน

 

แม้รัฐบาลจะประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ปรับเพิ่มขึ้นในรอบหลายปีและบอกกับประชาชนว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นแล้ว แต่ทำไมยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่สามารถทำใจยอมรับและเชื่อได้ คงเพราะมีข้อมูลที่บ่งชี้ถึงกำลังซื้อที่ตกต่ำต่อเนื่อง และชนชั้นกลางไทยถูกกระชับพื้นที่จากปัญหาหนี้สินและสภาพคล่องมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

 

นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านของรูปแบบธุรกิจมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ที่โดดเด่นคือการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสร้างสิ่งใหม่หรืออย่างน้อยก็เพื่อเอาตัวรอดจากการแข่งขันที่รุนแรง จะเห็นได้จากทั้งธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคหรือกระทั่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เองก็ดี นี่เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่ายังเหลือคนที่แข็งแรงพอที่จะยืนสู้คนเดียวอยู่ไม่มาก และการมีเพื่อนก็อาจจะสร้างสิ่งที่เราเรียกกันมานานว่า ‘การประสานพลัง’ (Synergy) ให้เกิดขึ้นและเป็นผลดีกับธุรกิจ

 

เรื่องที่ทุกคนเห็นตรงกันในปี 2560 คือ ทุกธุรกิจ ทุกชีวิตต้องปรับตัว กรอบความคิดเดิม กลยุทธ์รูปแบบเดิมอาจจะเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้วเหมือนกับสมาร์ทโฟนที่ตกรุ่นทุกไตรมาส ประกอบกับการขับเคลื่อนด้วยพลังของดิจิทัลที่ทำให้โลกใบนี้หมุนในอัตราเร่งในระดับที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

 

ทีม Business News สำนักข่าว THE STANDARD มองว่า ปีนี้เป็นปีแห่งการ ‘คิดใหม่ (Rethinking)’ ซึ่งครอบคลุมทั้งการเลือกที่จะคิดใหม่และการถูกบังคับจากสถานการณ์ให้ต้องคิดต่างออกไปจากเดิม โดยมองผ่าน 3 ประเด็นดังนี้

 

1.  คิดใหม่…เพราะความป่วน (Disruption)  

เราพูดคำว่า ‘Disruption’ กันมาสักพักแล้ว จากเดิมเป็นเพียงการคาดการณ์ เริ่มพัฒนาเป็นคำเตือน และกลายมาเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงกับโลกธุรกิจ หลายแบรนด์ปิดตัวลงเพราะปรับตัวไม่ทัน บางแห่งปิดเพื่อจบ บางแห่งปิดเพื่อเปิดในโลกดิจิทัล กระนั้นก็ยังมีผู้ที่โทษเทคโนโลยีว่าเป็นต้นเหตุอันร้ายกาจประหนึ่งจำเลยสังคมเลยทีเดียว

 

ในปีนี้ไม่มีใครเจ็บปวดจาก Digital Disruption เท่ากับ ‘ธุรกิจสื่อ’ ผู้บริโภคติดตามข้อมูลในโลกออนไลน์มากขึ้น เข้าถึงคอนเทนต์ทุกประเภทได้อย่างรวดเร็วในต้นทุนที่ถูกแสนถูกที่ชื่อ ‘อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง’ จนการจ่ายเงินให้กับสิ่งพิมพ์บางประเภทกลายเป็นของฟุ่มเฟือยไปแล้ว จะพบว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังทยอยปิดตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะนิตยสาร เช่น ครัว, Marie Claire, Filmax, Madame Figaro หรือแม้แต่ตำนานนิตยสารอย่าง ขวัญเรือน และดิฉัน

 

สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) คาดการณ์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า ธุรกิจสิ่งพิมพ์จะมีรายได้ลดลงถึง 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน และยังมีข่าวลือของนิตยสารชื่อดังอีกหลายแบรนด์ที่เตรียมตัวลาแผงเร็วๆ นี้ด้วย

 

ขณะเดียวกันสื่อโทรทัศน์ก็ยังอยู่ในช่วงล้มลุกคลุกคลานจากรายได้ที่หายไปรวมกับต้นทุนการดำเนินการที่สูง โดยเฉพาะผู้ที่ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลมากกว่า 1 ช่อง เช่น ช่อง 3, เครือเนชั่น หรือแกรมมี่

 

แกรมมี่ส่งสัญญาณ ‘ถอย’ ชัดเจนด้วยการขายหุ้นให้กับกลุ่มทุนอื่น โดยช่อง GMM25 ขายหุ้น 50% ให้กับกลุ่มเจ้าสัวเจริญแห่งไทยเบฟ และช่อง One ขายหุ้น 50% ให้กับกลุ่มปราสาททองโอสถ เพื่อผ่าทางตันตัวเลขผลประกอบการที่ขาดทุนต่อเนื่อง

 

ขณะที่ช่อง 8 ของอาร์เอส แม้จะมีกำไรและเรตติ้งติด Top 5 ล่าสุด เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ยังออกมาประกาศการทำธุรกิจไร้กรอบ เปลี่ยนทิศทางไปเป็นธุรกิจพาณิชย์ เน้นสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามเป็นรายได้หลัก ซึ่งชัดเจนว่าอาร์เอสจะหันไป ‘ขายครีม’ อย่างเข้มข้นแทนที่การทำสื่ออย่างที่ผ่านมา ไม่ต้องพูดถึงธุรกิจเพลงที่เป็นภาพจำของที่นี่ เฮียฮ้อยังต้องออกมาปฏิเสธข่าวลือเรื่องการขายธุรกิจเพลงทิ้งหลายต่อหลายรอบ

 

และอีกอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจนต้องคิดใหม่ คือ ธุรกิจธนาคาร หลังจากที่กระแสของฟินเทคเติบโตและดิจิทัลแบงกิ้งถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย รวมทั้งการผลักดันของภาครัฐในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้เป็นสังคมไร้เงินสดเพื่อสอดรับกับประเทศไทย 4.0 ผู้บริโภคใช้บริการผ่านสาขาของธนาคารพาณิชย์น้อยลงชัดเจน เพราะการทำธุรกรรมเกือบทุกอย่างทั้งฝาก ถอน จ่าย โอน สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านสมาร์ทโฟนในมือแล้ว

 

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยเดือนกันยายน 2560 พบว่า จำนวนสาขาธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบลดลง 192 สาขา เพื่อเป็นการลดต้นทุนการจัดการและปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป แม้บรรดาผู้บริหารของธนาคารต่างๆ จะออกมายืนยันว่าฟินเทคหรือเทคโนยีทางการเงินใหม่ๆ นี้จะไม่แย่งงานคนก็ตาม แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนคือสาขาที่ลดลง ซึ่งหมายถึงการจ้างงานใหม่ที่หายไปด้วย

 

นี่เป็นแค่บางตัวอย่างของธุรกิจที่ต้องเผชิญกับความป่วนเท่านั้น เรายังต้องเฝ้าดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ทั้งบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่จะเข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตการทำงานมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีบางประการที่ทำแบบเดียวกับที่แรงงานคนทำได้ ไม่ต่องขึ้นค่าแรงและไม่เถียงหัวหน้า ก็อาจจะทำให้ความป่วนขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

 

2. คิดใหม่…เรื่องตัวเลขเศรษฐกิจ

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ประกาศอัตราการเจริญเติบโตของผลผลิตมวลรวมในประเทศ หรือ GDP ที่ 4.3% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบ 18 ไตรมาส หรือกว่า 4 ปี เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลเน้นย้ำว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้น การส่งออกเติบโตแข็งแรง และคนไทยผ่านพ้นช่วงที่ต่ำสุดไปได้แล้ว

 

สิ่งที่รัฐบาลไม่ได้ ‘เน้น’ มากนัก คือ การบริโภคภายในประเทศที่เติบโตในระดับต่ำที่ 3.2% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเติบโต 2.2% เท่านั้น บริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Nielsen รวบรวมข้อมูลจากธุรกิจอุปโภคบริโภค ซึ่งสะท้อนกำลังซื้อของคนในประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยพบว่าสินค้ากลุ่มนี้เติบโตติดลบเกือบทุกเดือนในปี 2560 จากเดิมที่มักจะโต 5-8% มาโดยตลอด นอกจากประเด็นเรื่องบรรยากาศของประเทศที่ทำให้ผู้คนไม่อยากจับจ่ายใช้สอยแล้ว ก็ยังสะท้อนเรื่องกำลังซื้อที่ตกต่ำด้วย และนี่เป็นสิ่งที่ Nielsen ไม่เคยเจอมาก่อนในรอบหลายสิบปี

 

แม้สาเหตุสำคัญจะมาจากการบริโภคสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มมึนเมาที่ลดลงเนื่องจากการปรับราคาตามโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ แต่สินค้าที่ใช้ในครัวเรือนและชีวิตประจำวันยอดขายก็ลดลงชัดเจน โดยผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของตลาด 5 รายมียอดขายที่ลดลงถึง 6.2% สอดคล้องกับจำนวนการเดินทางออกจากบ้านของผู้บริโภคเพื่อไปซื้อสินค้าในทุกช่องทางขายปลีกก็ลดลง 1% ด้วย

 

นอกจากนี้จากแนวโน้มรายได้ของประชากร Nielsen วิเคราะห์ว่า ช่องว่างของรายได้ระหว่างคนรวยและคนจนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่จำนวนของชนชั้นกลางที่ถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการบริโภคมีแนวโน้มลดลง โดยที่จะเปลี่ยนสถานะไปเป็นคนจนมากกว่าคนรวย สะท้อนประโยคที่เราพูดกันติดปากว่า ‘คนรวยก็ยิ่งรวย คนจนก็ยิ่งจน’ ได้เป็นอย่างดี

 

ปี 2560 เป็นอีกครั้งที่การตีความเรื่อง GDP ถูกท้าทาย การที่ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมนี้ปรับเพิ่มขึ้นหมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นอย่างนั้นหรือ? แม้นักวิชาการบางส่วนมองว่าเศรษฐกิจดีขึ้นจริง ขอให้ใจเย็นอีกหน่อย เพราะจะค่อยๆ ส่งผลมาถึงประชาชนอย่างเราในที่สุด

 

เป็นคำแนะนำที่ทำตามได้ไม่ง่ายนัก เพราะเมื่อคนท้องหิว โอกาสที่จะโมโหหิวมีมากกว่าการทำใจให้สบายไม่รู้ร้อนรู้หนาว

 

3. คิดใหม่…กับเพื่อนใหม่ทางธุรกิจ

การทำธุรกิจเพียงลำพังท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในทุกอุตสาหกรรมดูจะเป็นเรื่องที่เกินกำลังสำหรับบางองค์กร เราจึงเห็นการจับมือกับพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจกันหลายแบรนด์

 

ดีลใหญ่ของธุรกิจค้าปลีกปีนี้คือ กลุ่มเซ็นทรัลจับมือกับอีคอมเมิร์ซระดับโลกอย่าง JD.com ด้วยการร่วมลงทุนมูลค่า 1.75 หมื่นล้านบาท เพื่อผลักดันการขายออนไลน์เพิ่มเป็น 15% ของรายได้ทั้งหมดของเซ็นทรัลภายใน 5 ปี จะเปิดแพลตฟอร์มให้ใช้บริการในเดือนเมษายน 2561 นี้   

 

นอกจากการพัฒนาด้านอีคอมเมิร์ซ จะต่อยอดไปถึงระบบโลจิสติกส์และบริการทางการเงินด้วย นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของยักษ์ใหญ่ค้าปลีกไทยที่ผนึกกำลังกับอีคอมเมิร์ซระดับโลกอย่าง JD.com ที่พร้อมเปิดศึกใหญ่ออนไลน์กับ Alibaba ของแจ็ค หม่า ที่กำลังชิงพื้นที่ทั้งออฟไลน์และออนไลน์อย่างหนักในอาเซียน ตัวอย่างนี้ตอกย้ำเรื่องของธุรกิจแบบไร้รอยต่อ (Seamless Retail) ของเซ็นทรัลที่ผลักดันการสอดประสานกันของทุกช่องทางการจัดจำหน่าย (Omni Channel) มาพักใหญ่

 

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2560 นี้มีความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างคึกคัก ทุกวันนี้อุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยในเมืองไทยของชาวจีนยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เห็นชัดเจนจากการซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคา 5-10 ล้านบาทเพื่ออยู่อาศัยและปล่อยเช่าให้กับชาวจีนด้วยกัน ราคาระดับนี้อาจจะสูงสำหรับคนชั้นกลางคนไทย แต่สำหรับคนจีนแล้วยังมองว่า ‘ซื้อง่าย ขายคล่อง’

 

ที่น่าจับตาคือการร่วมลงทุนระหว่างดีเวลลอปเปอร์ชื่อดังกับกลุ่มทุนจากต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน และฮ่องกง เช่น การจับมือกันของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังมาแรงอย่าง ‘Origin Property’ และทุนใหญ่จากญี่ปุ่น ‘Nomura Real Estate’ ด้วยมูลค่าการลงทุนถึง 8.6 พันล้านบาท โดย Origin ให้เหตุผลสำคัญ คือ การนำความรู้และนวัตกรรมของ Nomura มาพัฒนาที่อยู่อาศัยในอนาคต

 

นอกจากนี้ยังมีการร่วมลงทุนของทั้งอนันดา พร็อพเพอร์ตี้ และกลุ่ม Mitsui ของแดนปลาดิบ ผู้พัฒนาโครงการหรู แม็กโนเลีย กับกลุ่มทุนจากจีน หรือกลุ่มสิงห์ เอสเตท กับกลุ่มทุนจากฮ่องกง

 

ฮือฮาที่สุดหนีไม่พ้น ‘แสนสิริ’ ที่ประกาศจับมือกับ 6 พันธมิตรทางธุรกิจจากต่างประเทศ เช่น โรงแรมเดอะ สแตนดาร์ด และสื่อไลฟ์สไตล์อย่าง โมโนเคิล ซึ่งใช้งบการลงทุนสูงถึง 2.8 พันล้านบาท โดยแสนสิริไม่เพียงแต่จะใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และแบรนด์ของพาร์ตเนอร์มาต่อยอดธุรกิจในเมืองไทยเท่านั้น ยังมองไกลไปถึงการรุกตลาดต่างประเทศในภูมิภาคนี้ด้วย โดยแบรนด์ เดอะ สแตนดาร์ด คือความหวังครั้งสำคัญที่แสนสิริเข้าถือหุ้นถึง 35% และเตรียมทำโครงการที่อยู่อาศัยร่วมกันเร็วๆ นี้

 

ส่วนการต้องจับมือเพราะ ‘เจ็บตัว’ มานั้น หนีไม่พ้นกรณีของเครื่องดื่มน้ำดำ ‘เป๊ปซี่’ หลังจากที่แตกหักกับคนเคยรักอย่าง ‘เสริมสุข’ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเป๊ปซี่ในเมืองไทยจนครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 มายาวนาน ซึ่งธุรกิจนี้ ตลาดของขวดแก้วที่ขายในร้านอาหารเป็นสัดส่วนใหญ่ เมื่อช่องทางของเสริมสุขหายไป เป๊ปซี่จึงแก้เกมด้วยการดันขวดพลาสติกในช่องทางโมเดิร์นเทรดให้เข้มข้นขึ้น

 

สำหรับเกมธุรกิจนั้น โอกาสล้มเกิดขึ้นง่าย แต่การลุกขึ้นและพยายามวิ่งแซงคู่แข่งกลับไปเป็นเรื่องยากยิ่ง เป๊ปซี่เสียที่นั่งเบอร์ 1 ให้กับโค้กมาหลายปีแล้ว แม้จะกัดฟันสู้ด้วยการเปิดโรงงานใหม่ทันสมัยที่จังหวัดสระบุรี เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็นสองเท่า แต่สุดท้ายก็ต้องจับมือกับยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มของญี่ปุ่นอย่าง ‘ซันโตรี’ ด้วยการร่วมลงทุน โดยเป๊ปซี่ถือหุ้น 49% และซันโตรีถือหุ้น 51%

 

เป๊ปซี่จะถอยกลับไปดูแลเรื่องการทำการตลาดที่ถนัดแทน ส่วนการผลิตและการจัดจำหน่ายนั้นจะเป็นหน้าที่ของซันโตรี ท่ามกลางข่าวลือว่าเป๊ปซี ‘ถอดใจ’ กับการสู้คนเดียวในประเทศไทยและขายโรงงานทั้งสองแห่งให้ซันโตรี ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการยืนยันจากผู้บริหารเป๊ปซี่แต่อย่างใด โดยดีลนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2561

 

‘หนึ่งคนหัวหาย สองคนเพื่อนตาย’ ก็ยังเป็นจริงอยู่จนถึงทุกวันนี้ เพราะองค์กรในปัจจุบันกว่าจะพัฒนาทุกองค์ประกอบให้เป็นเลิศในช่วงเวลาหนึ่ง สภาพตลาดและผู้บริโภคก็อาจเปลี่ยนแปลงไปจนตามไม่ทัน การจับมือกับกลุ่มทุนอื่นที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญที่จะเติมเต็มภาพรวมของธุรกิจได้ ดูจะเป็นทางเลือกที่เข้าท่ากว่า

 

คิดใหม่ ก้าวใหม่ เพื่อโอกาสใหม่

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความกังวลต่ออนาคตที่ผันผวน คาดเดาได้ยาก ความหวังสำคัญของประเทศไทยที่ถือเป็นสิ่งใหม่ คือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ ‘อีอีซี’ ซึ่งเป็นการนำกลยุทธ์สปริงบอร์ดอันใหม่เพื่อนำพาชาติไปสู่ความรุ่งโรจน์ดังเช่นโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด สมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ประกาศชัดเจนทั้งเรื่อง ‘New S-Curve’ และประเทศไทย 4.0 ซึ่งจะใช้ EEC ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัด ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ในการผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น เคมีชีวภาพ อีคอมเมิร์ซ การบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น คาดว่าเม็ดเงินลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชนในช่วงปี 2560-2564 จะสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท

 

โจทย์สำคัญยังเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องเร่งปูพรมพัฒนาให้ทัน ประกอบกับเงื่อนไขต่างๆ ที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ เพราะเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียหรือเวียดนามต่างก็พยายามอย่างหนักในการดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI เช่นเดียวกัน โครงการ EEC จึงเป็นฝันที่ใหญ่บนยุทธศาสตร์ใหม่ที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งเครื่องให้เดินหน้าให้ได้

 

ภาคเอกชนก็ต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวของบ้านเมือง โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาล เพื่อที่จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่จะเป็นไปด้วย

 

สำนักข่าว THE STANDARD เชื่อในการเปลี่ยนแปลง ปี 2560 ที่ผ่านมาคือจุดเปลี่ยนที่เราได้เห็นการเปลี่ยนผ่านสำคัญหลายเรื่อง ในมุมของธุรกิจ ผู้ประกอบการเกือบทุกรายอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องคิดใหม่ทั้งสิ้น เพราะเทคโนโลยีนั้นทำให้เกิดโลกใบใหม่ขึ้นรายวัน ธุรกิจที่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ หรือการบริหารจัดการแบบเดิมๆ มีแนวโน้มที่จะหายไปจากอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

 

เมื่อคิดใหม่จะเห็นหนทางใหม่ๆ หรือกระทั่งการแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ บางคนอาจเรียกว่านวัตกรรม บางคนก็เห็นเป็นโอกาสทางธุรกิจ และมองไปข้างหน้าในปี 2561 เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ เพื่ออยู่รอด และวิ่งให้ทันกับโลกธุรกิจ

 

ต้องคิดใหม่ ก่อนจะไม่มีโอกาสให้คิดอีกต่อไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising