×

‘3 ซีอีโอ’ ชี้แบงก์ไทยต้องเร่งปรับตัว ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีสร้างระบบนิเวศการเงินช่วย SMEs อุ้มรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินลดเหลื่อมล้ำ

13.09.2021
  • LOADING...

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ ‘อนาคตสถาบันการเงินไทย’ จัดโดย Nation Group ว่า เมื่อเร็วๆ นี้สมาคมธนาคารไทยได้ทบทวนแผนยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ 3 ปี ให้ทันกับบริบทของสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยได้วางเป้าหมายจะขับเคลื่อนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไปข้างหน้าภายใต้ 4 ธีม 

 

ธีมแรก คือการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศ โดยสมาคมจะร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พัฒนาโครงสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ตที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของระบบการเงินให้เชื่อมโยง สอดประสานระหว่างกัน เช่นเดียวกับระบบพร้อมเพย์ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้สมาคมและ ธปท. อยู่ระหว่างร่วมกันพัฒนาระบบเช็คเคลียริ่งที่จะรับระบบไอการ์ดเข้ามาดำเนินการ ระบบการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล ระบบ e-Invoicing ระบบ e-Signature รวมถึงการผลักดัน Thailand Smart Infrastructure

 

นอกจากนี้ สมาคมยังร่วมกับ ธปท. วางระบบ Open Banking ให้เกิดการต่อยอดแข่งขันที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกันระหว่างผู้เล่นในระบบทั้งแบงก์และนอนแบงก์ พร้อมให้ความสำคัญเรื่องการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลและภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้ปลอดภัยต่อลูกค้าธนาคาร

 

ธีมที่สอง คือการผลักดันให้ระบบการเงินไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงกัน โดยจะร่วมกับ ธปท. ผลักดันระบบ CBDC หรือเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ให้เชื่อมโยงกับภูมิภาคได้อย่างไร้รอยต่อ 

 

ธีมที่สาม คือการตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนและการร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยสมาคมจะมุ่งให้ความรู้ทางการเงินและนำระบบเครดิตสกอริ่งทางเลือกใหม่มาใช้ เช่น นำข้อมูลพฤติกรรมการใช้น้ำใช้ไฟของผู้กู้มาประกอบการพิจารณาสินเชื่อ ขณะเดียวกันจะสร้างแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกและมีต้นทุนที่เป็นธรรม เช่น ใช้ระบบ e-Invoicing มาเชื่อมโยงกับมาตรฐาน ISO 20022 ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีส่วนช่วยรายเล็ก 

 

ธีมสุดท้าย คือการให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล โดยจะเสริมสร้างทักษะของบุคคลากรธนาคารให้สอดคล้องกับบริบทของ ​Thailand Next หรือ New Normal เพื่อตอบโจทย์และสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เป็น Information Based Economy

 

“ระบบ e-Invoicing อาจจะเริ่มเห็นได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ ส่วนบริการใหม่อื่นๆ จะเริ่มเห็นมากขึ้นในไตรมาส 1 และ 2 ของปีหน้า ทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างร่วมกันปรับกระบวนทัศน์เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปในอนาคต โดยพยายามเปลี่ยนจุดยืนของประเทศจากผู้วิ่งตามเป็นผู้วิ่งนำแบบก้าวกระโดด ปรับการกระจุกตัวของเศรษฐกิจที่เดิมเน้นอยู่กับผู้เล่นรายใหญ่ให้เติบโตโดยคนตัวเล็กและ SMEs มากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในองค์รวม” ผยงกล่าว

 

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า อนาคตของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์จะถูกขับเคลื่อนด้วย 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 

 

  1. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดจากวิกฤตโควิด การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศของโลก และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองของโลก 

 

  1. การมาถึงของเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่จะช่วยให้ธนาคารสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง แต่ก็จะต้องเผชิญกับคู่แข่งใหม่ในตลาด เช่น กลุ่มนอนแบงก์และฟินเทค 

 

  1. พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคที่ถูกเร่งตัวจากวิกฤตโควิด ปริมาณการใช้โมบายแบงกิ้งและช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่าไม่เคยปรากฏมาก่อน 

 

  1. กฎระเบียบการกำกับดูแลที่จะเปลี่ยนไปตามเทรนด์ เช่นการมาถึงของ CBDC ที่จะเปิดให้ Digital Asset เติบโตเข้ามาทดแทนระบบธนาคารพาณิชย์ได้ 

 

อาทิตย์กล่าวว่า ภายใต้ 4 ปัจจัยดังกล่าว ธนาคารต้องถามตัวเองว่าจะยังเติบโตภายใต้โมเดลธุรกิจเดิมๆ ได้หรือไม่ ซึ่งสำหรับไทยพาณิชย์เลือกที่จะปรัเปลี่ยนโมเดลธุรกิจตัวเองจากการเป็นธนาคารในรูปแบบเดิมไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ทำธุรกิจธนาคาร ซึ่งนอกจากการทำธุรกิจธนาคารแบบเดิมแล้วจะมองหา New Blue Ocean เพื่อเข้าไปทำสิ่งที่แบงก์เดิมทำไม่ได้ รวมถึงแยกส่วนที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีอย่างเดียวออกมาโดยเฉพาะด้วย

 

“ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ให้ความสำคัญกับธุรกิจธนาคารเดิม แต่เราจะเชื่อมโยงธุรกิจเดิมและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เช่น การนำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อช่วยให้ Risk และ Return มีความสมดุลขึ้น ตอนนี้เราอยู่ในช่วงสร้างจุดต่างๆ เอาไว้เมื่อเราพร้อมเต็มที่ก็จะเชื่อมต่อจุดเหล่านั้นเข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายของเราคือการเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เน้นทำธุรกิจการเงินภายใน 3-5 ปี” อาทิตย์กล่าว

 

ด้าน ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ธุรกิจธนาคารจะเติบโตได้ภายใต้ระบบนิเวศที่เหมาะสม ซึ่งระบบนิเวศดังกล่าวก็คือเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดี ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของไทยคือกลุ่มธุรกิจ SMEs และลูกค้ารายย่อยจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ เกิดภาวะรวยกระจุก จนกระจาย ทั้งๆ ที่ SMEs จ้างงานคนถึง 17 ล้านคน แต่ธุรกิจขนาดใหญ่จ้างงาน 5 ล้านคน 

 

“แบงก์ต้องร่วมกันคิดโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้การกระจายทรัพยากรซึ่งก็คือเงินฝากไปถึงลูกค้าแต่ละกลุ่ม รายใหญ่ SMEs และรายย่อย ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสมดุลขึ้น ถ้า SMEs ขยับไปไหนไม่ได้แบงก์ก็เติบโตไม่ได้ แบงก์ต้องเอานวัตกรรมของตัวเองเข้าไปช่วย SMEs เชื่อมต่อกับรายใหญ่ให้เข้าถึงแหล่งเงิน ขณะที่รายย่อยต้องช่วยดูแลหาทางวิเคราะห์ความเสี่ยงใหม่ให้เข้าถึงเงินในระบบ ในกรณีที่คนเป็นหนี้ก็ต้องช่วยแก้หนี้ รวบหนี้ให้” ปิติกล่าว

 

ปิติกล่าวว่า อีกหนึ่งโจทย์สำคัญของธนาคารไทยคือการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้งให้ตอบโจทย์และครอบคลุมความต้องการของลูกค้า เช่น นอกจากบริการในปัจจุบันที่เน้นจ่ายบิล โอนเงิน ชำระสินค้า ในอนาคตอาจขยายบริการอื่นๆ เพิ่มเข้าไป เช่น การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกัน การออม การลงทุนระยะยาว นอกจากนี้ยังมองว่าธนาคารพาณิชย์มีศักยภาพเพียงพอที่จะรุกตลาดภูมิภาคผ่านช่องทางดิจิทัล

 

“ในอดีตเวลาแบงก์จะออกไปต่างประเทศเราต้องตั้งสาขา แต่ปัจจุบันเรามีโมบายแบงกิ้งที่ไม่น้อยหน้าใครในโลก เราสามารถรุกต่างประเทศได้ทางดิจิทัลเลย โดยกลุ่มเป้าหมายอาจเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เทคโนโลยียังช้ากว่าเราและมีความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินไทย” ปิติกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising