×

‘เงินบาท’ เปิดตลาดเช้าวันนี้แข็งค่าต่อเนื่องแตะ 32.88 ต่อดอลลาร์ นักลงทุนเปิดรับความเสี่ยง คาดหวังเศรษฐกิจโลกฟื้น

25.08.2021
  • LOADING...
เงินบาท

เงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25 สิงหาคม) ที่ระดับ 32.88 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ 32.92 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่ตลาดเงินเริ่มเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On)

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) จากความหวังการฟื้นตัวของเศษฐกิจโลก หลังแนวโน้มการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาเริ่มดูไม่น่ากังวลมากนัก จากประเด็นทางการจีนรายงานไม่พบผู้ติดเชื้อ และสหรัฐฯ ประกาศอนุมัติการใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech อย่างเต็มรูปแบบ 

 

นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินยังถูกหนุนด้วยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด เช่น บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ Best Buy หรือ JD.com กับ Pinduoduo ของจีน

 

“ภาพตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้หนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ โดยดัชนี S&P 500 ปิด +0.15% นอกจากนี้หุ้นเทคฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น จากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่ง หนุนให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +0.52%”

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดหุ้นยุโรปก็ได้รับอานิสงส์จากบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาด โดยดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.04% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ Adyen +2.3% และ Infineon Tech. +2.0%

 

นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่ม Cyclical ก็ยังคงปรับตัวขึ้นช่วยพยุงตลาดไว้ เช่น กลุ่มยานยนต์ Volkswagen +2.1% และ BMW +2% ขณะที่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลว่าทางการจีนอาจเข้ามาจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อยอดขายของบริษัทสินค้าแบรนด์เนม ที่กว่า 30% ของยอดขายมาจากจีน Louis Vuitton -1.9%, Adidas -0.8% และ Inditex -0.7%

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ หลังจากที่ตลาดเริ่มกลับมาอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้สินทรัพย์ปลอดภัยมีความจำเป็นน้อยลง กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 4bps สู่ระดับ 1.30% ซึ่งเรามองว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.30% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตามุมมองของ Fed ต่อแนวโน้มการปรับลด QE ซึ่งรวมถึงอัตราการปรับลดวงการทำ QE ในงานประชุมวิชาการประจำปีของ Fed ที่แจ็กสันโฮล ในวันพรุ่งนี้จนถึงสุดสัปดาห์

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองเงินดอลลาร์ตามความต้องการหลุมหลบภัย (Safe Haven Asset) ที่ลดลง โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 92.91 จุด หนุนให้สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.175 ดอลลาร์ต่อยูโร นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงช่วยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันดิบเบรนท์และน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ต่างปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 70.4 และ 67.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ผ่านการประเมินดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) โดยตลาดมองว่าปัญหาการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาในยุโรปอาจทำให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนีเดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 100 จุด

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่าความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงไม่ได้น่ากังวลมากนัก เนื่องจากการระบาดในยุโรปแม้จะมียอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ทว่ายอดผู้ป่วยหนัก นอนโรงพยาบาล หรือยอดผู้เสียชีวิต กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งไปมาก ทำให้รัฐบาลในยุโรปยังไม่จำเป็นจะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด

 

นอกเหนือจากการติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เรามองว่าตลาดจะรอจับตางานประชุมวิชาการของ Fed ที่แจ็กสันโฮล เพื่อติดตามมุมมองของ Fed ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ภายหลังสหรัฐฯ เผชิญการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางการปรับลด QE ของ Fed ได้

 

ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าเงินบาทในระยะสั้นมีแรงหนุนในฝั่งแข็งค่าจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มเปลี่ยนไปต่อสถานการณ์การระบาดทั่วโลก กดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ขณะเดียวกัน แนวโน้มการระบาดในไทยที่ดูเหมือนจะผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้วนั้นก็เริ่มดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้น

 

ทั้งนี้ เรามองว่าการแข็งค่าของเงินบาทอาจจะชะลอลงเมื่อใกล้กับระดับแนวรับสำคัญใกล้ โซน 32.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นกรอบราคาที่ฝั่งผู้นำเข้าต่างรอทยอยแลกซื้อเงินดอลลาร์ โดยเราคาดว่าจะทยอยเห็นโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าในช่วงปลายเดือน ทำให้เงินบาทอาจทรงตัวในระดับราคาดังกล่าวได้

 

อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและกลับไปอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของโควิดที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะดีขึ้นจริง รวมถึงแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่อาจกลับไปแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หาก Fed มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการทยอยลด QE ในปีนี้ ซึ่งเรามองว่าประเด็น Fed ทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือลด QE อาจส่งผลต่อการจัดพอร์ตของนักลงทุน ทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยลดการลงทุนในภูมิภาค EM Asia ชั่วคราว เนื่องจากอาจกลัวผลกระทบจากการประกาศปรับลด QE ของ Fed จะเหมือนเหตุการณ์ QE Taper Tantrum ในปี 2013

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33 บาทต่อดอลลาร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising