×

ยาน TESS พบโลกที่มีดวงอาทิตย์​ 2 ดวง แบบดาว ‘ทาทูอิน’ ในภาพยนตร์​เรื่อง Star Wars

โดย Mr.Vop
13.01.2020
  • LOADING...
Star Wars

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เราเรียกดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ 2 ดวง ว่า Circumbinary planet ซึ่งเท่าที่ผ่านมา ก็ได้มีการค้นพบดาวเคราะห์ลักษณะนี้ในหลายระบบดาว 
  • ล่าสุด ยาน TESS ประสบความสำเร็จในการค้นพบ Circumbinary planet หรือดาวเคราะห์ที่มีดวงอาทิตย์ 2 ดวงบ้าง โดยระบบดาวที่พบและถือเป็นผลงานแรกของ TESS นี้มีชื่อว่า TOI 1338 อยู่ห่างจากโลกออกไป 1,300 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาว Pictor 
  • การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นผลงานการค้นพบ Circumbinary planet หรือดาวเคราะห์แบบ ‘ทาทูอิน’ ในภาพยนตร์ Star Wars ซึ่งมีดวงอาทิตย์ 2 ดวง เป็นครั้งแรกของยาน TESS และมีการประกาศการค้นพบครั้งนี้เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ในที่ประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน ครั้งที่ 235 จัดขึ้นที่เกาะฮาวาย 

นิยายปรัมปราของจีนมีเรื่องของโลกเราสมัยโบราณที่มีดวงอาทิตย์มากมายถึง 10 ดวงในคราเดียว ซึ่งทำให้โลกในเวลานั้นร้อนจนแทบมอดไหม้ จนพระเจ้าเหยา กษัตริย์แห่งมวลมนุษย์ทนไม่ไหว ต้องขอให้แม่ทัพสวรรค์ผู้เก่งกาจ โฮ่วอี้ (后羿) ผู้เป็นสามีของเทพธิดาดวงจันทร์ ฉางเอ๋อ ไปจัดการ และเขาก็ใช้ธนูยิงดวงอาทิตย์ดับไป 9 ดวง เหลือเพียงดวงเดียวดังเช่นในปัจจุบัน หรือในภาพยนตร์ฮอลลีวูด เช่น Star Wars ก็มีเรื่องของดาวเคราะห์ชื่อ ทาทูอิน (Tatooine) ดาวบ้านเกิดครอบครัวสกายวอล์กเกอร์ ตัวเอกของเรื่อง ซึ่งเป็นโลกที่มีดวงอาทิตย์มากถึง 2 ดวง สร้างความร้อนระอุจนภูมิประเทศของดาวดวงนี้เต็มไปด้วยทะเลทรายทุกหนแห่งกลายเป็นภาพจำของแฟนภาพยนตร์ เรื่องนี้ถ้าว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว โลกในจินตนาการแบบนิยายจีนที่มีดวงอาทิตย์ 10 ดวงนั้น แทบเป็นไปไม่ได้ แต่โลกแบบ ‘ทาทูอิน’ ที่มีดวงอาทิตย์ 2 ดวงนั้น เป็นไปได้อย่างแน่นอน เพราะมีการค้นพบของจริงแล้ว

 

เราเรียกดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ 2 ดวง ว่า Circumbinary planet ซึ่งเท่าที่ผ่านมา ก็ได้มีการค้นพบดาวเคราะห์ลักษณะนี้ในหลายระบบดาว ระบบแรกที่พบในปี 2005 เป็นผลงานจากดาวเทียมฮิปปาร์คอสขององค์การอวกาศยุโรปที่เวลานี้ปลดประจำการไปแล้ว ชื่อระบบดาว HD 20226 ต่อมาในปี 2011 ยานอวกาศ ‘เคปเลอร์’ ซึ่งเป็นยานอวกาศลำสำคัญที่ทำหน้าที่ตามล่าหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของ NASA ก็ได้ทำผลงานการค้นพบอีกหลายระบบดาว โดยมี Kepler-16 เป็นระบบดาวแรกในปี 2011 ตามมาด้วย Kepler 47 ในปี 2012 จากนั้นก็ Kepler 453 ในปี 2015 และ Kepler 1647 ในปี 2016 และค้นพบต่อมาอีกเรื่อยๆ รวมทังสิ้น 10 ถึงระบบดาว 

 

ต่อมาเมื่อยานอวกาศ ‘เคปเลอร์’ หมดพลังงานลงและถูกปลดประจำการไปในปี 2018 หน้าที่การตามล่าหาดาวเคราะห์​นอก​ระบบสุริยะที่ไม่ว่าจะเป็น​ชนิดไหน ก็ตกเป็น​ของยานอวกาศน้องใหม่ของ NASA นั่นคือยาน TESS (Transiting Exoplanet Survey Satellite) และล่าสุดยาน TESS ก็ไม่น้อยหน้ายานรุ่นพี่ เมื่อประสบความสำเร็จในการค้นพบ Circumbinary planet หรือดาวเคราะห์ที่มีดวงอาทิตย์ 2 ดวงบ้าง โดยระบบดาวที่พบและถือเป็นผลงานแรกของ TESS นี้มีชื่อว่า TOI 1338 อยู่ห่างจากโลกออกไป 1,300 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาว Pictor 

 

ดวงอาทิตย์ 2 ดวง ซึ่งก็คือดาวฤกษ์ 2 ดวงในระบบดาวนี้ ได้แก่ ดาวฤกษ์ A หรือชื่อเต็ม TOI 1338 A มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราประมาณ 10% ดาวฤกษ์อีกดวงคือ ดาวฤกษ์ TOI 1338 B มีขนาดเล็กเพียง 1 ใน 3 ของดวงอาทิตย์ ทั้งคู่โคจรรอบกันและกันในทุก 15 วัน

 

ดาวเคราะห์หนึ่งเดียวในระบบดาวนี้คือ ดาวเคราะห์ b หรือชื่อเต็ม TOI 1338 b (สังเกตว่าการเรียกชื่อดาวเคราะห์จะใช้อักษรอังกฤษตัวเล็ก ส่วนชื่อดาวฤกษ์ในระบบดาวคู่จะใช้อักษรใหญ่) เป็นดาวเคราะห์แก๊สที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกเราถึง 6.9 เท่า หรือประมาณได้ว่ามีขนาดใหญ่กว่าดาวเนปจูน แต่เล็กกว่าดาวเสาร์ โคจรแทบจะเป็นระนาบเดียวกับดวงอาทิตย์ทั้งสองของมัน ทำให้การสังเกตค่าการแปรแสงได้ยากมาก แต่นักเรียนไฮสคูล วูล์ฟ คูเคียร์ จาก Scarsdale High School ก็สามารถมองเห็นช่วงการตกลงของกราฟความเข้มแสงที่ส่งมาจากยานอวกาศ TESS ได้สำเร็จ ขณะที่เขากำลังฝึกงานภาคฤดูร้อนทางด้านดาราศาสตร์อยู่ในศูนย์ Goddard Space Flight Center ของ NASA ที่เมืองกรีนเบลต์ รัฐแมริแลนด์ จากนั้นเขาก็ได้อัปโหลดข้อมูลที่ค้นพบนี้ไปยังโครงการวิทยาศาสตร์ของพลเมือง Planet Hunters TESS ถือเป็นผลงานการค้นพบ Circumbinary planet หรือดาวเคราะห์แบบ ‘ทาทูอิน’ ในภาพยนตร์ Star Wars ซึ่งมีดวงอาทิตย์ 2 ดวง เป็นครั้งแรกของยาน TESS และมีการประกาศการค้นพบครั้งนี้เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ในที่ประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน ครั้งที่ 235 จัดขึ้นที่เกาะฮาวาย 

 

ยาน TESS ยังมีช่วงเวลาทำงานต่อไปอีกยาวนาน และในเดือนมีนาคมปีหน้า (2021) ยังจะมียานลำที่ล้ำหน้ากว่า นั่นคือ ยาน ‘เจมส์ เวบบ์’ ส่งตามขึ้นไป เพื่อช่วยกันสอดส่องค้นหาดาวเคราะห์ต่างๆ ที่อยู่ไกลออกไปในระบบดาวต่างๆ ทั่วจักรวาล เชื่อว่าวันใดวันหนึ่งเราอาจได้พบดาวเคราะห์ในระบบดาวอื่นที่มีความแปลกใหม่น่าสนใจอย่างแน่นอน 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

FYI
  • ระบบดาว, ดาวฤกษ์ หรือดาวเคราะห์ ที่ค้นพบด้วยยานเคปเลอร์ จะตั้งชื่อขึ้นต้นว่า Kepler ตามด้วยตัวเลขคือลำดับการค้นพบ หากเป็นดาวฤกษ์ในระบบนั้นจะตามด้วยอักษรภาษาอังกฤษตัวใหญ่ โดยให้ดวงที่สว่างที่สุดเป็นลำดับ A แล้วตามด้วย B และ C ไปเรื่อยๆ ส่วนดาวเคราะห์จะใช้อักษรตัวเล็ก โดยเริ่มจาก b เป็นต้นไป เรียงตามความห่างจากดาวฤกษ์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระบบนั้นๆ
  • การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบนั้น ยานอวกาศทั้งเคปเลอร์และ TESS จะส่งข้อมูลมาเป็นภาพและเป็นกราฟความเข้มแสง คนทั่วไปสามารถไปดาวน์โหลดมาช่วยกันสังเกตได้ เมื่อระบบไหนดาวฤกษ์สว่างนิ่งๆ แสดงว่าไม่มีดาวเคราะห์ ระบบไหนหรี่แสงลงเป็นระยะ แสดงว่าแสงที่หรี่ลงเมื่อมองจากกราฟ ‘น่าจะ’ เป็นผลมาจากการถูกดาวเคราะห์บริวารของมัน ‘บัง’ ด้านหน้าไว้ บุคคลใดพบข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าดาวฤกษ์ดวงที่ตนสังเกตน่าจะมีดาวเคราะห์โคจรอยู่ ก็สามารถแจ้งข่าวการค้นพบไปที่ NASA ได้
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising