ในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวไหนจะเป็น Talk of the Town ในแวดวงค้าปลีกไปมากกว่าการที่ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ สามารถดึงลูกอย่าง ‘เทสโก้ โลตัส’ กลับมาสู่อ้อมอก สมความตั้งใจซึ่งเคยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ไว้ว่า
“ความจริงเทสโก้ โลตัสเป็นลูกของผม ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ผมขายไป ฝากให้คนอื่นเลี้ยง ในครั้งนี้เจ้าของที่เคยเลี้ยงลูกผมจะขายลูกกลับคืนมา ผมก็ต้องซื้อ แต่ผมจะซื้อต่อเมื่อต้องเป็นประโยชน์ ถ้าซื้อแล้วไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ซื้อ“
โดย ‘ซีพี’ เป็นผู้สร้างฐานลูกค้าเทสโก้ โลตัสในเมืองไทย แต่ต้องจำใจขายกิจการในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เพื่อรักษาธุรกิจหลักซึ่งก็คือเกษตรเอาไว้ แต่มั่นใจว่าด้วยประสบการณ์ที่เคยใช้ปรมาจารย์ระดับโลกจาก Walmart มาช่วยบริหารตั้งแต่ยุคเริ่มต้นนั้น ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในรากฐานของธุรกิจ เปรียบเสมือนตึกสูงที่มีเสาเข็มที่แข็งแรง
การเข้าซื้อในครั้งนี้คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 338,445 ล้านบาท โดยเป็นการเข้าซื้อผ่าน 3 บริษัทในเครือ ได้แก่ ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง 40%, CP ALL 40% และ CPF 20% ซึ่งได้มาทั้งธุรกิจของในไทยและมาเลเซีย
ข้อมูล ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2562 ระบุว่า ร้านค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในประเทศไทย ประกอบด้วยร้านค้ารูปแบบ ไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา และเทสโก้ เอ็กซ์เพรส 1,574 สาขา และให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา
เทสโก้ประเทศมาเลเซียประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีร้านค้าในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตจํานวน 46 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ตจํานวน 13 สาขา และร้านค้าขนาดเล็กจํานวน 9 สาขา นอกจากนี้ยังมีธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าจํานวน 56 สาขา
การแข่งขันจะไม่เปลี่ยนไปมากนัก
อย่างไรก็ตาม การจะเข้าซื้อได้จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ซึ่งแม้การรวมธุรกิจดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น
แต่ไม่เป็นการผูกขาด และการรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้นและอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม
ทั้งนี้ มีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อลดหรือเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการแข่งขันในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคภายหลังการรวมธุรกิจ โดยกรรมการเสียงข้างมากจึงมีมติอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
อ่านเพิ่มเติม :
หนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้นหลังจากที่ซีพีสามารถเข้าซื้อเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จคือ การแข่งขันใน ‘สมรภูมิไฮเปอร์มาร์เก็ต’ จะเปลี่ยนไปไหม? ซึ่งเจ้าสัวธนินท์เคยให้มุมมองกับ THE STANDARD ไว้ว่า
“การแข่งขันเหมือนเดิม เพราะว่าก็ยังมีคู่แข่งอยู่เหมือนเดิม แล้ววันนี้ที่แข่งกันอยู่มีใครเสียเปรียบไหม เราซื้อมาก็แข่งอยู่ บิ๊กซีก็ยังอยู่ ผมไม่ได้ซื้อบิ๊กซี ผมซื้อเฉพาะเทสโก้ โลตัส แล้วก็ไม่เกี่ยวกับสะดวกซื้อ มันคนละเรื่อง ร้านสะดวกซื้อคนเดินมาซื้อเพราะสะดวกใกล้บ้าน แม็คโครก็ขายส่ง ขายถูก เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันแข่งกันอยู่แล้ว แต่ถ้าผมซื้อมาแล้วไม่มีใครแข่ง อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง”
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงในแวดวงค้าปลีกให้มุมมองกับ THE STANDARD ว่า ด้วยความที่เทสโก้ โลตัสแข็งแกร่งมากๆ ในสมรภูมิไฮเปอร์มาร์เก็ต และมีส่วนแบ่งตลาดทิ้งห่างเบอร์ 2 อย่าง ‘บิ๊กซี’ พอสมควร จึงเชื่อว่า “รูปแบบการแข่งขันจะไม่เปลี่ยนไปมากนัก”
“เชื่อว่าการแข่งขันจะอยู่ในกระบวนท่าแบบเดิมๆ เพราะตอนนี้ไฮเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้มี New Movement ออกมา ซึ่งที่ผ่านมาก็เน้นขายของถูก สาดโปรโมชันลดราคากันไม่มีวันหยุด เพราะ Perception หรือการรับรู้ของลูกค้ายังไม่ได้เปลี่ยนไป กล่าวคือลูกค้ามาที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตด้วยต้องการความคุ้มค่า”
อีกทั้งวันนี้เทสโก้ โลตัสมีความได้เปรียบมากกว่าบิ๊กซีอยู่แล้วคือ ในแง่ของฐานลูกค้า โดยแม้จะมีฐานเป็นกลุ่มแมสเหมือนกัน แต่ความต่างคือฐานลูกค้าของบิ๊กซีมีอำนาจในการซื้อที่จำกัดมากกว่า ขณะที่เทสโก้ โลตัสมีฐานลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากกว่า จึงมีโอกาสที่จะเพิ่มยอดขายได้มากกว่า
สาเหตุที่เป็นอย่างนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรับรู้แบรนด์ในกลุ่มของผู้บริโภคเอง ซึ่งที่ผ่านมาบิ๊กซีพยายามแก้แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการปรับภาพลักษณ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากมากๆ และหากต้องการจะทำให้สำเร็จ จำเป็นต้องลงทุนหลายร้อยล้านและใช้เวลาหลายปี ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือต้องทำเหมือนกับที่ ‘กลุ่มธนาคาร’ ทำ ต้องทุ่มสุดตัวถึงจะสามารถปรับภาพลักษณ์ได้
“ถ้าถามว่าบิ๊กซีจะก้าวขึ้นมาแข่งกับเทสโก้ โลตัสทำได้ไหม คำตอบคือทำได้ แต่ต้องเร่งขยายสาขาให้เข้ามาใกล้เคียงกันให้มากที่สุด และต้องเร่งสร้างประสบการณ์ของลูกค้าด้วย”
โดยจากรายงานของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบิ๊กซี ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 มีบิ๊กซีมีจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 151 สาขา (บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า) บิ๊กซี มาร์เก็ต 61 สาขา (บิ๊กมาร์เก็ต บิ๊กซีฟู้ดเพลส และบิ๊กซี ดีโป้) มินิบิ๊กซี 1,094 สาขา (รวมสาขาแฟรนไชส์ 63 สาขา) และภายใต้กลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ ยังมีร้านขายยาเพรียวอีก 142 สาขา
อ่านทิศทางบิ๊กซีเพิ่มเติม:
- ฉายภาพทิศทางของ Big C เมื่อผลกระทบจากโควิด-19 จะอยู่ไปอีก 3 ปี
- Big C ปั้น ‘Big C Depot’ เจาะตลาดค้าส่ง ดักกำลังซื้ออำเภอรอง วางเป้าสิ้นปีต้องมี 10 สาขา
อำนาจการต่อรองสูงอยู่แล้ว
ขณะเดียวกันด้วยความที่ซีพียังมีธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ อยู่ในมืออีก ทั้ง ‘7-Eleven’ ซึ่งตัวเลข ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 มีอยู่ทั้งสิ้น 12,089 สาขา (เฉพาะธุรกิจร้านสะดวกซื้อในช่วงครึ่งปีแรก 2563 มีรายได้ 167,673 ล้านบาท กำไรสุทธิ 9,329 ล้านบาท) และยังมี ‘แม็คโคร’ อีก 136 สาขา (หากรวมสาขาในประเทศอีก 8 สาขา ทำให้ตัวเลข ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 แม็คโครมีทั้งสิ้น 144 สาขา โดยครึ่งปีแรก 2563 มีรายได้ 107,538 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,860 ล้านบาท)
ทั้ง 7-Eleven และ แม็คโคร ต่างเป็น ‘ยักษ์ใหญ่’ ในเซกเมนต์ที่ตัวเองอยู่ ทิ้งห่างเบอร์ 2 อย่างไม่เห็นฝุ่น และเมื่อรวมกับเทสโก้ โลตัสที่เป็นเบอร์ 1 เช่นกัน ทำให้เป็นที่สังเกตว่าอำนาจในการต่อรองกับ ‘แบรนด์สินค้า’ จะมีเพิ่มมากขึ้นหรือไม่?
เรื่องนี้แหล่งข่าวระดับสูงในแวดวงค้าปลีกให้มุมมองว่า ที่ผ่านมาด้วยความที่ 7-Eleven และ เทสโก้ โลตัส ต่างเป็นฮีโร่ในเซกเมนต์ตัวเอง จึงมีอำนาจในการต่อรองกับแบรนด์สูงอยู่แล้ว หากเข้ามาอยู่ภายใต้เครือเดียวกัน อำนาจต่อรองจะเพิ่มไปกว่านี้ไหม “ก็อาจจะมีบ้าง แต่คงไม่ได้เพิ่มไปมากกว่าเดิม”
ที่ผ่านมาการนำสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและไฮเปอร์มาร์เก็ตทุกแบรนด์ต่างต้องมีค่าใช้จ่าย 2 ส่วนที่มักจะเรียกกันว่า ‘Font Margin’ คือเมื่อขายสินค้าได้เท่าไรจะถูกหักออกในสัดส่วนที่ตกลงไว้ และ ‘Back Margin’ คือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่แบรนด์ต้องจ่ายเพิ่ม เช่น การเข้าร่วมโปรโมชัน สื่อหน้าร้าน ตำแหน่งบนชั้นวางสินค้า เป็นต้น
“รวมๆ แล้วทั้งคู่จะอยู่ที่ราว 50-70% ด้วยกัน สำหรับกลุ่มร้านสะดวกซื้ออาจจะเรียก Font Margin เยอะหน่อย ส่วนร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตจะเรียกเก็บ Back Margin เยอะกว่า เพราะด้วยความที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตมีขนาดใหญ่ การวางสินค้าในจุดที่ลูกค้าจะเห็นมากที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ ต่างจากร้านสะดวกซื้อซึ่งมีขนาดเล็กกว่า จึงมีโอกาสที่ลูกค้าจะเห็นมากกว่า
“ถึงจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูง อย่างร้านสะดวกซื้อแค่คิดจะนำสินค้าไปวางก็มีค่าใช้จ่ายหลักแสนกลางๆ ซึ่งนับเป็นต่อ SKU ไม่ใช่ต่อแบรนด์ แต่ที่แบรนด์ต่างๆ ยอมเป็นเพราะช่องทางขายเป็นเรื่องสำคัญ มีแบรนด์ดีๆ มากมายที่สุดท้ายแล้วไม่เกิดเพราะไม่สามารถเข้าไปวางจำหน่ายในร้านโมเดิร์นเทรดได้ ซึ่งการเป็นช่องทางหลักทำให้วันนี้มีแต่แบรนด์ต่อคิวจะเข้า
“ขณะเดียวกันทุกวันนี้ผู้บริโภคมี Brand Loyalty หรือความภักดีต่อแบรนด์ที่ต่ำมาก ไม่มีแบรนด์ A ก็ซื้อ B หรือแบรนด์ไหนลดมากกว่าก็พร้อมจะซื้อ ดังนั้นการเข้าสู่ช่องทางขายให้ผู้บริโภคได้เห็นย่อมอีกว่า อีกทั้งยังเป็นการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด เพราะเมื่อใดก็ตามที่ส่วนแบ่งตก จะกระทบเหมือนโดมิโนตั้งแต่โรงงาน การวางแผนการผลิต เป็นต้น สุดท้ายเมื่อต้องเลือกยอดขายหรือกำไร แบรนด์ก็ต้องเลือกยอดขายมาก่อน กำไรค่อยมาจัดการกันเองหลังบ้าน แต่ถ้ายอดขายไม่เข้าจะแย่มากกว่า”
ความเสี่ยงเรื่อง ‘ปั้นแบรนด์’ ขึ้นมาเอง
อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 7-Eleven และ เทสโก้ โลตัส จับมือกันเพื่อต่อรองกัน ก็กลายเป็นความเสี่ยงที่แบรนด์ต่างๆ ต้องจับตาดูไว้ หลายๆ แบรนด์จึงต้องเตรียมวิธีบริหารช่องทางจำหน่ายไว้รองรับ เพราะหากมีการดึงไพ่ใบนี้ออกมาใช้จริงก็จะลำบาก บางแบรนด์ยอดขาย 70-80% มาจากช่องทางโมเดิร์นเทรด
“เท่าที่รู้มาตอนนี้ ทั้ง 7-Eleven และ เทสโก้ โลตัส ต่างมีการทำงานและกลยุทธ์ที่แยกกันอย่างชัดเจน ไม่ได้มีการตัดสินใจร่วมกัน”
ขณะเดียวกันยังมีอีกความเสี่ยงหนึ่งคือ ด้วยความที่ 7-Eleven และ เทสโก้ โลตัส ต่างเป็นปลายทางที่ได้เจอกับลูกค้า ทำให้มีข้อมูล พฤติกรรมของลูกค้า สินค้าไหนขายดี อยู่ในมือ
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่อาจจะ ‘ปั้นแบรนด์’ ขึ้นมาเอง ด้วยความที่ซีพีมีร้านค้าปลีกจำนวนมากและมีวัตถุดิบอยู่ในมืออยู่แล้ว จึงไม่ยากที่จะตั้งบริษัท สร้างโรงงาน แล้วทำสินค้าส่งให้กับร้านภายใต้เครือของตัวเอง แต่ก็อาจจะไม่ได้เห็นมากนัก เพราะอาจทำให้เกิดการต่อต้านจากผู้บริโภค
ยกเครื่อง ‘ไฮเปอร์มาร์เก็ต’ มาชนกับ ‘ดีพาร์ตเมนต์สโตร์’
ในส่วนของฐานลูกค้า หากวัดเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ตย่อมไม่ทับซ้อนกัน เพราะจุดมุ่งหมายของการเดินเข้าไปซื้อสินค้าแตกต่างกันอยู่แล้ว อย่างเดินเข้าไปไฮเปอร์มาร์เก็ตด้วยต้องการซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน เน้นความคุ้มค่า ส่วนร้านสะดวกซื้อก็ตรงตามชื่อคือเน้นความสะดวก
แต่ที่น่าสนใจคือ ฟอร์แมตของเทสโก้ โลตัสมี เทสโก้ เอ็กซ์เพรส ซึ่งเป็นโมเดลไซต์เล็กอยู่ แต่ในมุมมองของแหล่งข่าวก็มองว่าจะไม่ทับซ้อน เพราะ Perception ของลูกค้าแตกต่างกันอยู่แล้ว
แหล่งข่าวระดับสูงในแวดวงค้าปลีกกล่าวต่อว่า ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คนจากซีพีได้เข้าไปร่วมประชุมนัดสำคัญๆ และวางทิศทางในอนาคตบ้างแล้ว โดยเป้าหมายของซีพีคือต้องการขยายอัตราการเข้าถึงให้มากขึ้น โดยเฉพาะหัวเมืองสำคัญๆ ที่ยังมีคู่แข่งอยู่ไม่เยอะมาก แต่อาจจะไม่ได้ขยายสาขาแบบก้าวกระโดดอีกแล้ว
อีกเรื่องที่ซีพีวางกลยุทธ์ไว้กับเทสโก้ โลตัสคือ การยกเครื่อง ‘ไฮเปอร์มาร์เก็ต’ เพราะที่ผ่านมาเวลาลูกค้ามาที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตมักจะใช้เวลาไม่นาน มาซื้อของแล้วก็กลับ ต่างจากการไปดีพาร์ตเมนต์สโตร์ที่จะไปซื้อเสื้อผ้าหรือนัดกินข้าว
ดังนั้นจึงมีแผนที่จะยกเครื่องไฮเปอร์มาร์เก็ต เพื่อทำให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น เพราะหากมองถึงจำนวนลูกค้าที่เดินเข้ามาเทสโก้ โลตัส ยังถือว่าได้เปรียบกว่าดีพาร์ตเมนต์สโตร์ โดยจะมีการขยายให้เป็นคอมเพล็กซ์ เบื้องต้นเทสโก้ โลตัสกำลังเจรจากับร้านอาหารให้เข้ามาเปิดอยู่ ซึ่งมีทั้งที่เป็นเชนและเป็นร้านย่อยๆ คาดว่าสาขานำร่องที่จะมีการปรับนั้นจะอยู่ในชลบุรี นครสวรรค์ และพิษณุโลก
แน่นอนว่าการชนกับ ‘ดีพาร์ตเมนต์สโตร์’ ย่อมไม่พ้นกับ ‘เซ็นทรัล’ ที่ในช่วงหลังใช้โรบินสันและท็อปส์เข้าไปเจาะในหัวเมืองรอง ซึ่ง “หากเทสโก้ โลตัส ตอบโจทย์ในเรื่องการใช้ชีวิตได้ดีกว่า ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ลำบากแน่นอน” แหล่งข่าวระดับสูงในแวดวงค้าปลีกกล่าว
Synergy ระหว่างเครือ ลดต้นทุนหลัก ‘พันล้าน’
อย่างไรก็ตาม มุมมองในเรื่องการขยายสาขาที่จะไม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอีกแล้ว เป็นสิ่งที่ เอกสิทธิ์ คุณาดิเรกวงศ์ นักวิเคราะห์หุ้น การพาณิชย์ การท่องเที่ยว และการขนส่ง (อากาศ) บริษัท หลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด ซึ่งให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า มองไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตในไทยค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว ถึงจะมีการขยายสาขาก็คงขยายไม่ได้มากนัก
สิ่งที่น่าจับตาคือ การเปลี่ยนแปลงในเชิงของ Product Mix เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้ามากขึ้น เพราะอย่าลืมว่าซีพีมีธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอยู่แล้ว และเมื่อเทียบกับบิ๊กซีที่อยู่ใต้ร่มของเครือช้าง ต้องยอมรับว่าซีพีครบเครื่องในทุกเซกเมนต์มากกว่า ซึ่งหากซีพีสามารถเพิ่มมูลค่า หาสินค้าที่โดนใจลูกค้ามากกว่า รวมถึงดึงกลุ่มร้านค้าเช่าที่เป็น ‘แม่เหล็ก’ เข้ามา ลูกค้าย่อมเลือกที่จะมาเดินเทสโก้ โลตัสมากกว่า
“ในมุมของผู้บริโภคอาจจะไม่ได้กระทบอะไรมาก เพราะในแง่ของการแข่งขันก็คงแข่งในเรื่องเดิมคือ ลดราคา ส่วนจะขึ้นราคาสินค้าก็อาจเป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมาเทสโก้ โลตัสที่เชี่ยวชาญด้านไฮเปอร์มาร์เก็ตอยู่แล้วยังขึ้นได้ยาก เห็นได้จากยอดรายได้ที่เติบโตในระดับตัวเลขเดียวต้นๆ ดังนั้นการจะเพิ่มยอดซื้อของลูกค้าน่าจะเติมสินค้าที่มีมูลค่าสูงเข้ามามากกว่า”
โดยในปี 2561 เทสโก้ โลตัส มีรายได้ 188,628 ล้านบาท กำไร 7,840 ล้านบาท ส่วนในปี 2562 มีรายได้ 187,959 ล้านบาท กำไร 12,107 ล้านบาท
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ Synergy ระหว่างเครือ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนมหาศาล ตัวอย่างเช่น หลังจากที่บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ซื้อบิ๊กซีเข้ามาในพอร์ต ในช่วง 2-3 ปีต่อมาสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 1.7 พันล้านบาท แน่นอน ‘เทสโก้ โลตัส’ ใหญ่กว่าบิ๊กซีเป็นเท่าตัว ค่าใช้จ่ายย่อมลดได้มากกว่า
ซื้อ ‘เทสโก้ โลตัส’ เพื่อบุกต่างประเทศ
เอกสิทธิ์ฉายมุมมองอีกว่า ในช่วงอีก 3-4 ปีต่อจากนี้ หนี้ที่ CP All เข้าซื้อ ‘แม็คโคร’ มูลค่า 188,880 ล้านบาทเมื่อ 5 ปีก่อนจะหมดลงแล้ว จึงกลายเป็นว่าหนี้จะน้อยกว่าเงินสดที่อยู่ในมือ และอย่างที่รู้กันว่าวันนี้ดอกเบี้ยไม่ได้สูงมากนัก ดังนั้นแทนที่จะทำให้เงินสดกองอยู่กับตัวเอง สู้นำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า การเข้าซื้อเทสโก้ โลตัส ซึ่ง CP All ร่วมถือหุ้น 40% จึงนับเป็นทางออกที่ดีที่สุด
กระนั้นเป้าหมายของการซื้อเทสโก้ โลตัสในครั้งนี้อาจไม่ใช่เป้าหมายภายในประเทศ แต่ต้องการบุก ‘ต่างประเทศ’ มากกว่า เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา CP All ต้องการนำ 7-Eleven บุกตลาดต่างประเทศมาโดยตลาด ทั้งมีการขอสิทธิ์ไปยังบริษัทแม่เพื่อลุยธุรกิจในเวียดนามและจีนที่เมืองกวางโจว แต่ไม่เคยได้รับการอนุมัติ
ถึงล่าสุดจะได้รับสิทธิ์ในการนำ 7-Eleven บุกตลาดลาวและกัมพูชา แต่ก็อาจไม่ได้มีนัยอะไรมากนัก เพราะความเป็นเมืองของทั้ง 2 ประเทศยังไม่ได้ขยายตัวมากขนาดนั้น ซึ่งเหมือนกับไทยเมื่อ 20 ปีก่อน จึงเหมาะกับการนำไฮเปอร์มาร์เก็ตไปเปิดมากกว่า
“แม้ตลาด CLMV ยังมีการแข่งขันที่ไม่แรงมากนัก แต่ก็ยังไม่เหมาะกับธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ต้องมีความเป็นเมืองและมีคนแออัดระดับหนึ่ง ทางเลือกที่ดีที่สุดจึงเป็นการนำไฮเปอร์มาร์เก็ตไปเปิดมากกว่า ซึ่งการซื้อในครั้งนี้ทำให้ซีพีได้สิทธิ์ขาดในเทสโก้ โลตัส เหมือนที่ทาง BJC ได้สิทธิ์ในบิ๊กซี จึงนำไปเปิดที่ไหนก็ได้ในอาเซียน ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตบริษัทแม่แล้ว”
สำหรับธุรกิจในมาเลเซียนั้น เอกสิทธิ์กล่าวว่า ด้วยความที่บริษัทแม่ต้องการขายเป็นแพ็กรวมระหว่างไทยกับมาเลเซีย ไม่แยกขาย ซีพีจึงต้องซื้อมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งสภาพธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนามไม่ได้แตกต่างจากไทยมากนัก ทิศทางจึงคาดว่าจะเป็นการเพิ่มยอดซื้อมากกว่าที่จะขยายสาขา
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดยังเป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น ที่สุดแล้ว ‘เทสโก้ โลตัส’ ในมือของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ได้ลูกกลับมาสู่อ้อมอกอีกครั้งจะดำเนินไปในทิศทางไหน เราคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไป!
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: