×

เปิดใจซีอีโอ StockRadars หลังเปิด ICO ระดมทุน 33 ล้านบาทใน 1 ชั่วโมง

09.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins read
  • StockRadars เปิดระดมทุนด้วยเงินดิจิทัล หรือ ICO ภายใต้โปรเจกต์ Carboneum เป็นวันแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม โดยเงินที่ได้จะนำไปพัฒนาแพลตฟอร์มวิเคราะห์และให้ข้อมูลเงิน Cryptocurrency ในชื่อ ‘Coin Radar’
  • ผู้ถือเหรียญโทเคน C8 จะมีสิทธิ์เข้าใช้บริการแพลตฟอร์มดังกล่าวพร้อมรับส่วนลดตามเงื่อนไข โดยที่ในอนาคตเหรียญโทเคนอาจจะมีมูลค่าเพิ่มได้ตามกาลเวลา แต่จะไม่มีการปันผลจากผลประกอบการบริษัท
  • ธีระชาติ ก่อตระกูล ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท StockRadars เชื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยและผู้มีส่วนในการออกนโยบายจะเปิดใจทำความรู้จักกับเงินดิจิทัลพวกนี้เสียที ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้เสียโอกาสในการทำรายได้และส่งออกเทคโนโลยี

เมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) THE STANDARD มีโอกาสเข้าไปเยือนออฟฟิศ StockRadars ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันตัวช่วยสำหรับการลงทุนและซื้อ-ขายหุ้น เนื่องในโอกาสเปิดระดมทุนด้วยเงินดิจิทัล หรือ ICO (Initial Coin Offering) เป็นวันแรก

 

ก่อนหน้านี้ถ้าใครยังจำกันได้ พวกเขาเพิ่งจะเปิด Bitcoin Center Thailand ศูนย์เรียนรู้เงินดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนไปเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมานี้เอง

 

เราไปถึงออฟฟิศของ StockRadars ช่วงเวลาประมาณ 11.00 น. บรรยากาศภายในห้องทำงานดูวุ่นวายพอสมควร ทีมงานหลายคนต่างช่วยกันมอนิเตอร์ระบบตรวจสอบการทำธุรกรรมซื้อโทเคนจากผู้ที่สนใจอย่างขะมักเขม้น

 

มาทราบทีหลังว่าภายใต้พื้นที่ทำงานกว่า 200 ตารางเมตรแห่งนี้เพิ่งจะปิดการขายโทเคนของ Carboneum รอบพรีเซลไปไม่ต่ำกว่า 33 ล้านบาท (ประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทั้งๆ ที่เพิ่งเปิดขายได้ไม่ถึง 1 ชั่วโมง! ถึงขนาดที่หนึ่งในบุคลากรของบริษัทยังแอบโอดครวญกับเราว่าเขายังไม่มีเวลาหยุดพักซื้อโทเคนเป็นของตัวเองเลยด้วยซ้ำ

 

เพื่อสำรวจที่มาที่ไปความตั้งใจของการเปิด ICO ในครั้งแรก เราได้คุยกับ แม็กซ์-ธีระชาติ ก่อตระกูล ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท StockRadars เพื่อให้เจ้าตัวอธิบายโปรเจกต์ Carboneum และฉายภาพเทรนด์ Cryptocurrency ทั่วโลกในปัจจุบัน ตลอดจนความเข้าใจที่ผิดๆ บางส่วนของคนไทยที่มีต่อสกุลเงินดิจิทัล

 

ICO คืออะไร แล้วต่างจาก IPO อย่างไร

สารภาพตามตรงว่าเราเองก็ไม่ใช่หนึ่งในนักขุดบิตคอยน์ตัวยง เพราะฉะนั้นจึงอาจจะเข้าใจแค่ความรู้ภาคทฤษฎีเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เข้าใจกระบวนการปฏิบัติของการสร้างมูลค่าเงินดิจิทัลประเภทนี้ รวมถึงการเปิดระดมทุนซื้อโทเคนแบบ ICO เชิงลึก

 

แต่ถ้าจะให้จำกัดความง่ายๆ ที่สุดของ ICO ธีระชาติบอกว่ามันเหมือนการเปิดขายเหรียญโทเคนเพื่อให้คนที่เข้ามาซื้อได้รับสิทธิพิเศษบางประการ สิทธิ์ในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการใดๆ ก็ตามของบริษัทเป็นกลุ่มแรกๆ มีความคล้ายคลึงกับการระดมทุนแบบ crowd funding ของฝั่งสตาร์ทอัพ ตัวอย่างเช่น การเปิดขายโทเคนของสนามกอล์ฟเพื่อให้ผู้ซื้อได้รับสิทธิ์ใช้สนามฟรี

 

“เหมือนที่ BNK เขาขายบัตร Founder Member เพื่อขายสิทธิ์เข้าเธียเตอร์แหละครับ โมเดลเขาคล้ายๆ กับ ICO ของเราเลย ไม่ใช่การเป็นเจ้าของสินทรัพย์ แต่หมายถึงการเป็น ‘เจ้าของสิทธิ์’ เข้าใช้สินค้าหรือบริการ ข้อดีของบัตรสนามกอล์ฟโทเคนนี้คือผู้ถือสามารถนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนมือเพื่อให้มันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นระหว่างทางได้”

 

มูลค่าที่เพิ่มขึ้นระหว่างทางคือหนึ่งในความต่างระหว่าง ICO และ IPO (Initial Public Offering) หรือการเสนอขายหุ้นบริษัทใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ธีระชาติอธิบายความต่างอื่นๆ เพิ่มว่า อย่าง IPO จะมีเงินปันผลจากผลประกอบการบริษัท แต่ ICO จะมีหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายและโมเดลของผู้เปิดให้ซื้อโทเคนแต่ละเจ้า

 

“ICO จะใช้ต้นทุนต่ำกว่ามาก เพราะไม่ต้องมี FA, ID หรือผู้เชี่ยวชาญทางการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อดีคือทำได้ง่าย รวดเร็ว ถ้ามีคนเชื่อว่าสิ่งที่เราทำ (คนเปิดขายโทเคน) มันใช่ก็จะเกิดขึ้นได้เร็วมาก ข้อเสียคือไม่มีมืออาชีพมาคอยกั้นหรือตรวจสอบว่าอะไรดีไม่ดี ต้องศึกษาด้วยตัวเองและรับผิดชอบความเสี่ยงของการลงทุนทั้งหมด มันเลยมีความเสี่ยงสูงกว่ามากๆ ต้องศึกษาให้ดีก่อนคิดลงทุน”

 

 

จากโทเคน Carboneum สู่ Coin Radar แพลตฟอร์มวิเคราะห์ Cryptocurrency

StockRadars เปิดขายโทเคน C8 ของ Carboneum รอบพรีเซลครั้งแรกผ่านหน้าเว็บไซต์และ LINE ID: @CarboneumKYC เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ก่อนจะเปิดขายอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 เมษายนนี้ โดยเงินของผู้ที่นำมาซื้อโทเคนทั้งหมดจะถูกนำไปลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มวิเคราะห์และให้ข้อมูลเงินคริปโตในชื่อ ‘Coin Radar’ ซึ่งประมาณการว่าจะเปิดตัวในช่วงเดือนตุลาคมนี้ และผู้ถือเหรียญ C8 ทุกคนก็มีสิทธิ์เข้าใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวโดยได้รับส่วนลดตามเงื่อนไข เช่นคนปกติจะเสียค่าธรรมเนียม 20% แต่ถ้ามีเหรียญ C8 ในมือก็เหมือนมีบัตรสมาชิก จ่ายด้วยเหรียญปีแรกก็จะได้รับส่วนลด 50% ปีที่ 2 ลดอีก25% ปีที่ 3 ลด 12% ส่วนปีที่ 4 เป็นต้นไปลด 8% และคงที่ไปเรื่อยๆ เพื่อทำให้เหรียญมี Value เหมือนเป็นบัตรสมาชิกรับส่วนลดเสมอ

 

ธีระชาติบอกว่า “ปกติเราทำระบบเทรดสำหรับหุ้นและวิเคราะห์อยู่แล้ว (StockRadars) ครั้งนี้เราจึงตั้งใจจะขยายไปตลาดใหม่ๆ ผ่านการออกแอปฯ ลูก ‘Coin Radar’ หรือ StockRadars เวอร์ชัน Cryptocurrency สำหรับสกุลเงินดิจิทัลโดยเฉพาะ ที่สำคัญคือเราจะนำมาทำ social trading นำความรู้ของผู้คนมาแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับความรู้ที่ถูกต้อง สมมติว่าผมรู้ว่าคุณเป็นนักเทรดที่เก่ง ความฝันสูงสุดของผมคือการสร้างอาชีพ เราจะทำพื้นที่นี้ให้เกิด sharing economy ของนักเทรดคริปโตฯ

 

“ตลาดคริปโตฯ มันไร้พรมแดน ผมระดมทุนทั่วโลก ไม่ใช่แค่เฉพาะไทย ฉะนั้นผู้ใช้บริการในอนาคตของเราก็ไม่ใช่แค่คนไทย เราต้องการสร้างเวทีให้นักเทรดได้เป็นที่รู้จัก แล้วถ้ามีคนมาตามเขา เช่น คุณนำให้ผมได้กำไร 1 ล้านบาท ผมก็จะแบ่งส่วนกำไรให้เขาเลย 10% อีก 1% จะเข้าบริษัท แต่ถ้าไม่ทำให้กำไร คนลงทุน (คนตาม) ก็ต้องรับผิดชอบและขาดทุนเอง แสดงว่าทุกกำไรที่เกิดขึ้นในระบบจะมี 1% เข้าบริษัทเสมอ ถ้าไม่กำไร คนลงทุนต้องรับผิดชอบเอง เมื่อคนลงทุนรับผิดชอบเอง คนนำไม่ได้เงิน ระบบก็ไม่ได้เงิน นี่เป็นสิ่งที่แฟร์มากๆ”

 

ธีระชาติมองว่าโมเดลแบบนี้แฟร์กว่าการลงทุนแบบอื่นๆ ที่มีในปัจจุบันพอสมควร เพราะอย่างการซื้อกองทุน ไม่ว่าคุณจะได้หรือเสีย คุณก็ต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมการจัดการตลอดเวลา ซึ่งต่างจาก ICO ที่เป็นการนำบล็อกเชนมาใช้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างงานและโอกาสให้นักเทรดที่มีศักยภาพด้วย เพราะในอนาคตพวกเขาวางแผนจะออกใบรับรองให้คนกลุ่มนี้ได้เป็นโบรกเกอร์

 

“ที่สำคัญคือพอรายได้เข้ามาบริษัทในปีแรก 20% ของกำไร เราก็จะนำมาซื้อเหรียญคืนออกจากตลาด ปีที่ 2 ซื้อคืน 2 รอบ ปีที่ 3 เป็นต้นไปซื้อคืนไตรมาสละครั้ง นั่นแสดงว่าคนที่มีเหรียญอยู่ก็จะได้รับประโยชน์จากกรณีที่ supply ลดลง ทำให้ value ของเหรียญโทเคนมันเพิ่มขึ้น เพราะเราให้เงินปันผลไม่ได้ แต่เราให้ capital gain (การเพิ่มทุน) ได้ ด้วยโมเดลแบบนี้มันก็มีความเป็นไปได้ที่ตัวเหรียญมันจะมีราคาเพิ่มขึ้น”

 

 

ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรส่งออกเทคโนโลยี

ธีระชาติให้เหตุผลในการลุกขึ้นมาเปิด ICO เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มผู้ช่วยทาง

การเงินดิจิทัลในครั้งนี้ว่า เขาต้องการให้ประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศส่งออกเทคโนโลยีเสียที ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่าเราปล่อยให้โอกาสงามๆ หลุดลอยไป ทั้งๆ ที่มันมาหยุดอยู่ตรงหน้า

 

“ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องเป็นคนส่งออกเทคโนโลยีบ้าง โลกมันหมุนมาทางนี้ (เทรนด์ Cryptocurrency) บริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในทุกประเทศและของโลกก็เป็นบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีกันหมด แต่ตลาดหุ้นไทยยังไม่มีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ เลย มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเรา แปลว่าเรายังถูกนำด้วยคนอายุมากๆ ที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก เหตุผลสำคัญคือโลกเราเปลี่ยนแปลงมาก เราอาจจะต้องเห็นความสำคัญของการส่งออกเทคโนโลยีมากขึ้น

 

“การทำครั้งนี้คือการขออาสาขอเป็นทีมชาติไทยไปแข่งกับประเทศอื่น เราเคยชนะรางวัล Finance Software ดีเด่นที่ 1 ของไทย และได้โอกาสออกไปแข่งกับบริษัทอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิกและได้ที่ 1 มาแล้ว รอบนี้มันคือการขอโอกาส ซึ่งเวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าคนไทยก็ทำสินค้าเทคโนโลยีได้ มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยจะทำแอปฯ เจ๋งๆ ให้คนทั้งโลกได้ใช้ ไม่ใช่แค่เรานะ แต่หมายถึงคนไทยคนอื่นๆ ด้วย มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะสนับสนุนให้คนไทยด้วยกันได้สร้างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีคุณค่า ไม่อย่างนั้นมันก็จะไม่เกิดการ up size ประเทศ”

 

ธีระชาติสารภาพกับเราตามตรงว่า การเปิด ICO ครั้งนี้ทำให้พวกเขาต้องแบกรับความเสี่ยงมหาศาลและความกดดันขนาดยักษ์ที่ถาโถมเข้ามาด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีความคาดหวังของผู้คนทั่วโลกท่ีฝากเข้ามาให้กับ StockRadars ผ่านจำนวนโทเคน C8 ที่ถูกขายออกไป

 

“ครั้งนี้เราเสี่ยงเอาหน้าตัวเองมาหาเรื่องมากๆ นะ (หัวเราะ) มันเหมือนการอาสามาทำ ขอแรงสนับสนุนจากคน ถ้าทำไม่ได้มันก็ไม่มีที่ยืนในสังคม อีกมุมหนึ่งของ ICO คนชอบมองว่าคนออก (ระดมทุนขายเหรียญ) มันสบาย หาเงินง่าย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าผมมีเพื่อน พ่อแม่ ครอบครัว ถ้าเราทำไม่สำเร็จรอบนี้ก็พังเหมือนกันนะ เพราะเหมือนเราประกาศตัวว่าจะไปรบแล้วขอเสบียงจากทุกคน ถ้าตีสำเร็จได้ก็จะนำรางวัลกลับมาแบ่งกัน แต่ถ้าพลาดนี่ซวยเลย เราต้องมั่นใจมากๆ ถึงจะกล้าออกมาอาสา ไม่ฉะนั้นมันคือการขุดหลุมฝังตัวเอง ผมเลยรู้สึกว่านี่คือก้าวกระโดดที่สำคัญของบริษัทจริงๆ”  

 

ความเชื่อและเข้าใจคริปโตฯ แบบผิดๆ ของคนไทย

ถ้านับตั้งแต่ที่สกุลเงินดิจิทัลหรือแม้แต่บิตคอยน์ถือกำเนิดขึ้นและเริ่มแพร่หลายเข้ามายังประเทศไทยจวบจนถึงปัจจุบัน ต้องบอกว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่เปิดรับกับ Cryptocurrency เท่าที่ควร เพราะด้วยความเชื่อแบบผิดๆ ที่เข้าใจและมองมันมันไปในทางลบ มองภาพว่าเป็นช่องทางของคนโลภที่ไม่ควรเข้าไปยุ่ง ทั้งๆ ที่หลายคนยังไม่เคยทำความรู้จักแบบจริงๆ จังๆ

 

ในประเด็นนี้ ธีระชาติบอกว่า “ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่มองมัน (เงินดิจิทัล) เป็นลบนะครับ เอาง่ายๆ คุณแม่ผมเองก็เตือนตลอดว่าอย่าไปทำอะไรไม่ดีหรือผิดกฎหมาย ความยากที่สุดคือเรามีทัศนคติและมองมันลบ ทั้งๆ ที่เรายังไม่รู้จักมันเลย สมมติว่าในอดีตที่เรารบกันด้วยดาบ พอมีปืนเข้ามา เรากลับบอกว่ามันอันตราย แทนที่จะถือโอกาสเรียนรู้วิธีใช้ปืนไปรบก่อนคู่แข่ง

 

“จริงๆ อย่าไปมีทัศนคติลบหรือปิดกั้นสิ เราต้องพยายามเรียนรู้มันก่อน ถ้าสมมติเรายังไม่รู้ว่ามันคืออะไรก็ต้องเปิดใจ ยิ่งเราเปิดใจก็จะยิ่งได้รับโอกาส อย่าเพิ่งปฏิเสธทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีที่ยืน โลกใบใหม่มันไม่มีที่ว่างให้กับคนหัวปิดและทัศนคติลบหรอกนะครับ”

 

กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งจะออกประกาศเตือนให้ธนาคารและสถาบันการเงินทุกแห่งห้ามลงมาทำธุรกรรมสกุลเงินดิจิทัลด้วยตัวเองไปหมาดๆ ซึ่งซีอีโอจาก StockRadars มองว่าคนไทยบางส่วนเข้าใจสารในครั้งนี้ผิดไปเยอะ “เรื่องนี้เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดมาก เพราะความเป็นจริง ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งแบงก์ว่าอย่าไปทำเอง แต่คนส่วนใหญ่กลับเข้าใจว่า ‘แบงก์ชาติห้ามทำแล้วนะ เงินดิจิทัล’ ทั้งๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้หมายความเช่นนั้นเลย

 

“ชีวิตคนมันต้องลงทุน ถ้าไม่ลงทุน เราก็มีแค่ 24 ชั่วโมง 7 วันเท่ากัน ความฉลาดทางการเงินมันช่วยให้คนได้ลงทุนแล้วต่อยอดมูลค่าที่เขาสร้างได้ เขารู้ว่าเขาจะใช้ใครทำงานให้เขาได้ รู้ว่าจะเอาเงินไปงอกเงยอย่างไร ที่สำคัญคือความเชื่อผิดๆ ที่ว่า ‘คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น’ ผมมองว่ามันเป็นทัศนคติที่ผิดและเสี่ยง เพราะว่าเราจะไม่มีโอกาสเข้าถึงตลาดทุน ในขณะที่โลกมีเครื่องมือช่วยให้คนเติบโตได้เต็มไปหมดทั้งฝั่งบริษัทและนักลงทุน”

 

นอกจากนี้เขายังบอกอีกว่า ผู้ที่มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายในประเทศจะเป็นตัวละครสำคัญที่จะกำหนดอนาคตประเทศไทยกับเทรนด์เงินคริปโตฯ ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในขณะนี้  “กฎระเบียบของบ้านเราต้องเปิดโอกาสให้เราได้โต คนที่มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายอาจจะต้องเป็นคนเปิดโอกาสให้นวัตกรรมมันเกิดได้ก่อน เพราะว่าตอนนี้ทุกประเทศเขาวิ่งเข้าหาโอกาส ถ้าเราปิดกั้น มันก็จบ ทุกการเปลี่ยนแปลงจะมีแค่สองสิ่งที่เราเลือกได้ ถ้าเชื่อว่าโลกมันเปลี่ยน เราก็เลือกได้แค่เปลี่ยนตัวเองหรือให้คนอื่นมาเปลี่ยนเรา ผมเลือกที่จะเปลี่ยนให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นเวลาที่คนอื่นมาเปลี่ยนเรา มันจะเดือดร้อนมากๆ นี่คือเรื่องจุดยืนของประเทศที่จะทำให้เราเสียโอกาสอีกเยอะ ถ้าเราไม่เข้าใจมันอย่างดีแล้วรีบจัดการมัน

 

“ความภูมิใจน่าจะอยู่ที่ถ้าเราเปลี่ยนความเข้าใจบางอย่างของคนไทยให้เขาอินกับเราได้ (เงินดิจิทัล) แค่นี้ผมชนะเลย” ธีระชาติบอกกับเรา

 

ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงเสมอ การขุดบิตคอยน์หรือการเก็งกำไรจากสกุลเงินดิจิทัลก็เช่นกัน ซึ่งเผลอๆ อาจจะเสี่ยงมากกว่าการซื้อหุ้นบริษัททั่วไปเสียด้วยซ้ำ แม้แต่ธีระชาติเองก็ยังยอมรับกับเราแบบไม่อ้อมค้อมว่าการทำ ICO ตัวผู้ลงทุนเองก็มีความเสี่ยง ดังนั้นแล้วคนที่สนใจควรจะศึกษาการทำงานของบริษัทที่เปิดระดมทุนดิจิทัลให้ดีเสียก่อน เช่นเดียวกับคนในวงการที่จะต้องช่วยกันสื่อสาร เป็นหูเป็นตาให้กันและกัน เพราะทุกๆ วงการย่อมมีผู้ไม่หวังดีแฝงตัวฉวยโอกาสอยู่เสมอ

FYI
  • ชื่อ Carboneum มาจากคำว่า Carbon + Ethereum โดย Carbon หมายถึงกระดาษคาร์บอนก๊อบปี้ความสำเร็จ เพราะบริษัทเชื่อว่าสามารถเรียนรู้จากความสำเร็จของผู้อื่นได้ ส่วน Ethereum เป็นระบบ smart contact ที่ใช้กันท่ัวโลก
  • เหรียญโทเคน C8 มาจากการเล่นเสียงของคำว่า C-Eight และ Select (The Leader) หมายถึงการเลือกคนมานำอนาคตการลงทุน
  • ธีระชาติได้รับคัดเลือกเป็น LINE API Expert 1 ใน 22 คนของโลกเพื่อทำระบบ KYC หรือ Know Your Customer ยืนยันตัวตนผู้ทำธุรกรรมการเงิน และเช็กว่าเงินที่นำมาลงทุนเป็นเงินสะอาด โดยเป้าหมายของเขาคือการพัฒนาให้ LINE ต่อยอดกลายเป็นแพลตฟอร์มทำธุรกรรมการเงินได้อย่างแพร่หลาย
  • เขามองว่า ICO สามารถนำไปต่อยอดพัฒนากับธุรกิจประเภทอื่นๆ ได้ทั้งการดูแลสุขภาพ (Health Care) หรือการศึกษา (Education)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X