×

‘เริ่มก่อน จึงชนะ’ เปิดแผนรับมือโควิด-19 ของไต้หวันที่เตรียมการตั้งแต่ปลายปี 2019

โดย Master Peace
10.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาในไต้หวันมองว่า การจะรับมือการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องเริ่มต้นเร็วและทำทันทีเพื่อให้สามารถซื้อเวลาได้ หากรอจนกระทั่งการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจึงเริ่มล็อกดาวน์สถานที่ หรือใช้มาตรการแทรกแซง นั่นอาจจะสายเกินไปและไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นไวรัสก็จะอยู่ทุกหนทุกแห่ง
  • เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไต้หวันให้ความสนใจและเฝ้าระวังโรคระบาดที่ค้นพบในอู่ฮั่นตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นผลจากประสบการณ์ที่เคยรับมือการระบาดของโรคซาร์สในปี 2003 ที่ถือเป็นฝันร้ายของแพทย์ในแนวหน้า ณ ขณะนั้น
  • รัฐบาลไต้หวันยังมีการตัดสินใจหลายอย่างที่ภายหลังพิสูจน์แล้วว่าเป็นการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด เช่น ในวันที่ 24 มกราคม ภายหลังจีนประกาศปิดอู่ฮั่นเพียง 1 วัน นายกรัฐมนตรี ซูเจินชาง ของไต้หวันได้สั่งระงับการส่งออกหน้ากากอนามัยเพื่อสำรองใช้ในไต้หวันทันที และเป็นที่แรกของโลกที่ใช้มาตรการนี้
  • ประชาชนมีความตื่นตัว ตระหนักรู้ถึงภัยโรคระบาด และให้ความร่วมมือกับรัฐเป็นอย่างดี ชาวไต้หวันแทบทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและล้างมือเป็นประจำ ซึ่งกลายเป็นวัฒนธรรมการป้องกันโรคระบาด ที่ทำให้ไต้หวันสามารถรับมือการระบาดของโควิด-19 ได้ทันท่วงที

เริ่มต้นปี 2020 ในขณะที่ชาวไต้หวันกำลังตื่นตัวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่บุคลากรทางการแพทย์และนักระบาดวิทยาในไต้หวันกำลังทำงานกันอย่างหนัก เพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังกรณีโรคปอดอักเสบลึกลับที่กำลังแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีนในเวลานั้น ก่อนที่โรคปอดอักเสบดังกล่าวจะรู้จักกันในชื่อโควิด-19 (COVID-19) ในเวลาต่อมา



หลิน อายุรแพทย์โรคระบบหายใจประจำศูนย์การแพทย์แห่งหนึ่งในกรุงไทเป เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา แพทย์ในแนวหน้าทั้งหมดของศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลทั่วไต้หวัน ต่างได้รับคำเตือนอย่างเป็นทางการจากศูนย์ควบคุมโรคระบาด (CDC) ของไต้หวัน ให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไอ มีไข้สูง เจ็บคอ และน้ำมูกไหล ซึ่งแพทย์ต้องทำการสอบสวนโรค ทั้งสอบถามประวัติการเดินทาง อาชีพ และประวัติการติดต่อบุคคลต่างๆ ของผู้ป่วยเหล่านี้



ขณะเดียวกันโรงพยาบาลในไต้หวันเริ่มแจ้งให้แพทย์สวมใส่หน้ากากอนามัย N95 และอุปกรณ์ป้องกันระหว่างทำหัตถการ เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วยที่มีอาการโรคปอดอักเสบลึกลับ ซึ่งหลินเปิดเผยว่า โรงพยาบาลที่เขาทำงานนั้น เริ่มจัดตั้งพื้นที่พิเศษในห้องฉุกเฉินสำหรับรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่าย ก่อนเปิดเป็นคลินิกพิเศษสำหรับผู้ป่วยนอกแยกไปในอาคารอีกแห่งของโรงพยาบาลในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์



มาตรการเฝ้าระวังเหล่านี้ล้วนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ไต้หวันได้รับการยกย่องว่าประสบความสำเร็จในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถึงแม้ไต้หวันจะอยู่ห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดเพียงไม่ถึง 200 กิโลเมตร เห็นได้ชัดจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังมีจำนวนเพียง 380 ราย และเสียชีวิต 5 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 10 เมษายน) ซึ่งน้อยกว่าหลายประเทศข้างเคียงค่อนข้างมาก



CDC ไต้หวัน เปิดเผยว่า พวกเขารับรู้ถึงการระบาดของโรคปอดอักเสบลึกลับในอู่อั่น ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 และแจ้งเตือนการระบาดนี้ไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ก่อนที่รัฐบาลปักกิ่งจะใช้มาตรการล็อกดาวน์ปิดเมืองอู่ฮั่น ขณะที่ไต้หวันเริ่มใช้มาตรการเข้มข้นอย่างการคัดกรองและตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารเที่ยวบินต่างๆ ที่กลับจากอู่ฮั่น และส่งนักระบาดวิทยา 2 คนแรก ไปยังอู่ฮั่นเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม เพื่อตรวจสอบข้อมูลการระบาดของไวรัสชนิดนี้



อย่างไรก็ตาม WHO ซึ่งไม่มีไต้หวันเป็นสมาชิก เนื่องด้วยเหตุผลและอิทธิพลทางการเมืองภายใต้นโยบายจีนเดียว ดูจะไม่สนใจคำเตือนดังกล่าว และไม่มีท่าทีชัดเจนใดๆ ต่อการระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แถลงการณ์แรกของ WHO เรื่องการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ มีขึ้นในวันที่ 23 มกราคม หรือกว่า 3 สัปดาห์ หลังจากที่ไต้หวันแจ้งเตือน



วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ไต้หวันเริ่มต้นห้ามผู้โดยสารที่เดินทางมาจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้าเมือง และกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากฮ่องกงและมาเก๊าเป็นเวลา 14 วัน ก่อนที่จะขยายมาตรการปิดพรมแดนไม่รับชาวต่างชาติในวันที่ 19 มีนาคม และให้ชาวไต้หวันทุกคนที่กลับจากต่างประเทศกักตัวเป็นเวลา 14 วัน



Tony Chen Hsiu-hsi ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากวิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ยืนยันว่า มาตรการป้องกันการระบาดและการตระหนักรู้ถึงภัยร้ายจากโรคโควิด-19 ของประชาชนชาวไต้หวันนั้นดีมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ประชาชนแทบทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและล้างมือเป็นประจำ ซึ่งเขามองว่าเป็นวัฒนธรรมการป้องกันโรคระบาดที่ทำให้ไต้หวันสามารถรับมือการระบาดของโควิด-19 ได้ทันท่วงที



“เมษายนยังเป็นช่วงเวลาวิกฤตสำหรับไต้หวัน ในการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากที่เราปิดพรมแดนไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา แต่มาตรการป้องกันการระบาดและการตระหนักรู้ของชาวไต้หวันนั้นมหัศจรรย์มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ



“ในการรับมือการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ คุณจำเป็นต้องเริ่มต้นเร็วและทำทันทีเพื่อให้สามารถซื้อเวลาได้ หากรอจนกระทั่งการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจึงเริ่มล็อกดาวน์สถานที่หรือใช้มาตรการแทรกแซง นั่นอาจจะสายเกินไปและไม่มีประสิทธิภาพเลย เพราะเมื่อถึงเวลานั้นไวรัสก็จะอยู่ทุกหนทุกแห่ง” Chen กล่าว



ขณะที่ K. Arnold Chan นักระบาดวิทยาและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้อมูลสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยไต้หวัน ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไต้หวันและผู้ที่อยู่ในธุรกิจบริการสาธารณสุขของไต้หวัน ต่างให้ความสนใจต่อโรคปอดอักเสบลึกลับที่ระบาดในอู่ฮั่นตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ทุกฝ่ายสนใจและเฝ้าระวังอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งไต้หวันต้องรับมือการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) ในปี 2003 ที่ถือเป็นฝันร้ายของแพทย์ในแนวหน้าจำนวนมาก ณ ขณะนั้น



นอกจากนี้รัฐบาลไต้หวันยังมีการตัดสินใจหลายอย่างที่ภายหลังพิสูจน์แล้วว่าเป็นการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด เช่น ในวันที่ 24 มกราคม ภายหลังจีนประกาศปิดอู่ฮั่นเพียง 1 วัน นายกรัฐมนตรี ซูเจินชาง ของไต้หวันได้สั่งระงับการส่งออกหน้ากากอนามัยเพื่อสำรองใช้ในประเทศทันที และเป็นที่แรกของโลกที่ใช้มาตรการนี้ จากนั้นในวันที่ 30 มกราคม รัฐบาลไต้หวันขอให้โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทุกแห่งส่งหน้ากากอนามัยแก่รัฐบาลโดยตรง เพื่อที่รัฐบาลจะกระจายไปยังร้านขายยาต่างๆ ทั่วไต้หวันในทุกๆ วัน จากนั้นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์จึงใช้ระบบจัดสรร เพื่อให้ประชาชนทุกคนซื้อหน้ากากอนามัยได้อย่างเท่าเทียมในราคาที่เป็นธรรม



ด้านกระทรวงเศรษฐกิจของไต้หวันก็มีการรวบรวมผู้ผลิตเครื่องจักร ผู้ผลิตหน้ากากอนามัย และผู้ผลิตวัตถุดิบต่างๆ เพื่อขยายอัตราการผลิตหน้ากากอนามัยจากเดิมวันละ 1.8 ล้าน เป็นเกือบ 15 ล้าน ในปัจจุบัน



ขณะเดียวกัน ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นอดีตแฮกเกอร์และโปรแกรมเมอร์ ก็รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมไอที ช่วยกันสร้างเครื่องมือจัดการกับ Big Data และข้อมูลบัตรประกันสุขภาพของประชาชน เพื่อรองรับระบบจัดสรรหน้ากากอนามัยดังกล่าว พร้อมทั้งสร้างแอปพลิเคชัน เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบจำนวนหน้ากากอนามัยที่คงเหลือในร้านขายยาที่อยู่ใกล้ และปรับปรุงเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนซื้อหน้ากากอนามัยได้ทางออนไลน์และรับได้ที่ร้านสะดวกซื้อต่างๆ



ซึ่งถังยังบอกในการประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า เธอยินดีให้ Source Code ของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันเหล่านี้แก่ประเทศที่สนใจสร้างแพลตฟอร์ม ดิจิทัล เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงหน้ากากอนามัย



ทางด้านประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ยังแต่งตั้ง เฉินสือจง รัฐมนตรีสาธารณสุขและอดีตทันตแพทย์วัย 66 ปี เป็นหัวหน้าศูนย์บัญชาการรับมือการระบาด ซึ่งภาพของเขากลายเป็นที่จดจำของชาวไต้หวัน จากการสรุปข้อมูลและสถานการณ์แพร่ระบาดในแต่ละวันผ่านทางออนไลน์ และเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องจังหวะเวลาในการใช้มาตรการต่างๆ เช่น การปิดพรมแดนหรือการประกาศให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ

 

 

ขณะที่ไช่ยังใช้ความสำเร็จในการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 นี้ แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาคมโลก ด้วยการบริจาคหน้ากากอนามัย 10 ล้านชิ้นให้แก่ประเทศที่ขาดแคลน



“เราต้องการแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่า ไต้หวันไม่เพียงแต่สามารถช่วยเหลือได้ แต่ไต้หวันช่วยเหลือได้จริง” ไช่กล่าวในการแถลงเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา



อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไต้หวันยังเป็นที่จับตามอง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นจาก 50 คน เป็น 380 คน ในเวลาไม่ถึง 4 สัปดาห์



อีกทั้งในช่วงวันหยุดเทศกาลเช็งเม้ง 4 วันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีการเดินทางของประชาชนจำนวนมากไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วไต้หวัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่การแพร่ระบาดในชุมชนต่างๆ เพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งในเรื่องนี้ เฉิน รัฐมนตรีสาธารณสุขไต้หวันยืนยันว่าสิ่งสำคัญคือการที่ประชาชนต้องรักษาระยะห่างทางสังคม



“สิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่นั้นก็เพื่อที่จะซื้อเวลาให้เราจนกว่าจะค้นพบวัคซีนที่รักษาผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เฉิน กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising