×

หนีห่าว เหม่ยกั๋ว! เจาะปรากฏการณ์ ‘Bubble Tea Fever’ ในอเมริกา จะมีโอกาสเกิด ‘Milk Tea Alliance’ ที่แข็งแกร่งหรือไม่?

05.04.2023
  • LOADING...
ชานมไต้หวัน อเมริกา

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • โคดี้ หวัง (Kody Wang) รองผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาธุรกิจของบริษัท CoCo Fresh Tea & Juice เชนชานมไข่มุกชื่อดังเปิดเผยตัวเลขการเติบโตของชานมไข่มุกในทวีปอเมริกาเหนือระหว่างปี 2019 จนถึงปี 2022 ว่าขยายตัวอย่างมหาศาลถึง 77% 
  • เหตุผลสำคัญที่เกิดปรากฏการณ์ชานมไข่มุกฟีเวอร์ในอเมริกา เกิดจากการที่มีบุคคลผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดหรือ ‘อินฟลูเอ็นเซอร์’ (Influencer) ที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวอเมริกันจำนวนมากที่ดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ในระหว่างการทำคอนเทนต์สั้นที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่าง TikTok 
  • “ถ้าคุณดื่มชานมไข่มุก เราคือเพื่อนกัน” มันนำไปสู่สิ่งที่เคยเป็นปรากฏการณ์น่าทึ่งที่เรียกว่า ‘พันธมิตรชานม’ (Milk Tea Alliance) ซึ่งสิ่งที่น่าจับตามองคือเมื่อชานมไข่มุกบุกอเมริกาแล้ว จะหมายถึงการมีพันธมิตรเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่?

อากาศร้อนๆ แบบนี้ใครหลายคนคงคิดถึงเครื่องดื่มหวานๆ (บางทีก็หวานตัดขา) ที่พร้อมเติมทั้งพลังกายและที่สำคัญคือพลังใจอย่าง ‘ชานมไข่มุก’ กันอยู่ใช่ไหม?

 

ความจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะคนไทยหรอกที่ชอบดื่มชานมไข่มุก เพราะตอนนี้เครื่องดื่มซึ่งมีต้นกำเนิดจากไต้หวันกลายเป็นเครื่องดื่มขวัญใจของคนทั้งโลก ที่แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองก็ยังกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมจนกลายเป็นปรากฏการณ์ไปแล้ว

 

อะไรกันที่ทำให้ความนิยมของเครื่องดื่มชนิดนี้เดินทางจากซีเหมินติงไปถึงแมนฮัตตันได้? และความนิยมของเครื่องดื่มชนิดนี้ในหมู่อเมริกันชนจะมีส่วนเชื่อมโยงกับการเดินทางไปปรากฏตัวที่สหรัฐอเมริกาของผู้นำไต้หวันอย่างไช่อิงเหวินหรือไม่

 

แล้วคนอเมริกันจะกลายเป็น ‘พันธมิตรชานม’ ด้วยหรือเปล่า?

 

จากซีเหมินติงถึงแมนฮัตตัน

 

ปรากฏการณ์ความนิยมในเครื่องดื่มที่เรียกกันว่า ‘Bubble Tea’ หรือ ‘Boba Tea’ หรือ ‘Pearl Tea’ หรือ ‘Tapioka’ ในสหรัฐอเมริกานั้นกลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

 

เพราะในขณะที่อเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกมองว่ามีการ ‘เหยียดเอเชีย’ อย่างรุนแรงโดยเฉพาะนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด ซึ่ง โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงนั้นถึงกับเรียกไวรัสตัวนี้ว่า ‘ไวรัสจีน’ จนเกิดกระแสเกลียดชัง และมีข่าวเกี่ยวกับการที่ชาวเอเชียถูกบูลลี่และทำร้ายร่างกายอยู่เนืองๆ อย่างไรก็ดีเครื่องดื่มที่กำลังมาแรงที่สุดและเป็นที่นิยมในหมู่ชาวอเมริกันเวลานี้กลับกลายเป็นเครื่องดื่มจากเอเชียที่คนจีนและไต้หวันเรียก ‘ไหน่ฉา’ เฉยเลย

 

โคดี้ หวัง (Kody Wang) รองผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาธุรกิจของบริษัท CoCo Fresh Tea & Juice เชนชานมไข่มุกชื่อดังเปิดเผยตัวเลขการเติบโตของชานมไข่มุกในทวีปอเมริกาเหนือระหว่างปี 2019 จนถึงปี 2022 ว่าขยายตัวอย่างมหาศาลถึง 77% ด้วยกัน ขณะที่ตัวเลขจำนวนร้านชานมในช่วงดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นถึง 60% โดยมีที่ชิคาโกมากที่สุด รองลงมาคือฟิลาเดลเฟีย 

 

ตัวเลขที่น่าที่งอีกอย่างคือจำนวนร้านชานมไข่มุกของเชนยักษ์ใหญ่ในวงการอย่าง Sharetea ซึ่งบริหารกิจการโดย Lian Fa บริษัทยักษ์ใหญ่ของไต้หวันที่มีจำนวนสาขาในสหรัฐอเมริกามากกว่าในบ้านเกิดอย่างไต้หวัน และแบรนด์ท้องถิ่นอย่าง Kung Fu Tea ซึ่งก่อตั้งในย่านควีนส์ นิวยอร์ก ก็มีจำนวนร้านค้ามากถึง 350 แห่ง เฉพาะในปี 2023 สามารถทำยอดขายได้ถึง 240 ล้านดอลลาร์ เป็นเชนใหญ่ที่สุดของอเมริกาไปแล้ว

 

ในขณะที่เม็ดไข่มุก (Tapioka หรือ Pearls) กลายเป็นวัตถุดิบนำเข้าที่สหรัฐอเมริกาสั่งจากไต้หวันมากที่สุดในปี 2022 เอาชนะผลไม้อบแห้ง, ไอศกรีม, น้ำอัดลม และผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยนำเข้าเม็ดไข่มุกเข้ามาถึง 30.5 ล้านกิโลกรัม หรือคิดเป็นจำนวน 69% ของตลาด

 

และต่อให้ราคาของชานมไข่มุกในสหรัฐฯ จะสูงกว่าในประเทศอื่น รวมถึงประเทศที่นิยมเครื่องดื่มชนิดนี้สุดๆ อย่างประเทศไทย (ชาวอเมริกันต้องจ่ายค่าชานมไข่มุกแพงกว่าคนไทยในราคาที่สูงกว่าถึง 64%) แต่กระนั้นก็ไม่สามารถหยุดความนิยมของเครื่องดื่มชนิดนี้ได้

 

“คุณสามารถหาไอศกรีมที่ใส่ขามุก หรือถ้าไป Costco ในแคลิฟอร์เนียก็หาชานมไข่มุกดื่มได้สบายๆ” Yong Chen ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ผู้เขียนหนังสือ ‘Chop Suey, USA: The Story of Chinese Food In America’ กล่าวถึงความนิยมของเครื่องดื่มชนิดนี้ว่า “มันอยู่ทุกที่แล้วตอนนี้ ผู้คนให้การต้อนรับมัน และมันก็กลายเป็นเครื่องดื่มในกระแสหลักแล้ว”

 

Soft Power แบบหวานๆ

 

ว่าแต่อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ชานมไข่มุกกลายเป็นเครื่องดื่ม ‘เมนสตรีม’ ของชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งมีอะไรให้กินให้ดื่มมากมายเต็มไปหมด?

 

เหตุผลสำคัญเกิดจากการที่มีบุคคลผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดหรือ ‘อินฟลูเอ็นเซอร์’ (Influencer) ที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวอเมริกันจำนวนมากที่ดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ในระหว่างการทำคอนเทนต์สั้นที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่าง TikTok 

 

นอกจากนี้ต้องให้เครดิตกับกระแสความคลั่งไคล้ในดนตรีและศิลปิน K-Pop ที่แน่นอนว่าชอบดื่มชานมไข่มุกอยู่แล้ว ซึ่งยิ่งการเห็นคนดังดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้มากเท่าไร มันก็ยิ่งกระตุ้นให้เกิดความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นเท่านั้น

 

เรียกได้ว่าชานมไข่มุกกลายเป็น ‘Soft Power’ ที่ทรงพลังอย่างยิ่งของไต้หวัน ประเทศบนเกาะเล็กๆ ที่เผชิญกับแรงกดดันจากมหาอำนาจอย่างจีน ที่ในระยะหลังความสัมพันธ์ระหว่างสองฟากฝั่งช่องแคบ (หรือในมุมของจีนคือมีประเทศเดียว) ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก แต่อย่างน้อยเครื่องดื่มชนิดหนึ่งก็ทำให้ผู้คนได้รู้จักกับไต้หวันมากขึ้น

 

การทำความรู้จักกันผ่านเครื่องดื่มชนิดนี้จะนำไปสู่การเรียนรู้ไต้หวัน และเปิดใจให้แก่วัฒนธรรมจากเอเชียมากขึ้นไปด้วย ไปจนถึงอาจนำไปสู่การท่องเที่ยวในการตามรอยเครื่องดื่มสุดฮิตชนิดนี้กันถึงแหล่งต้นกำเนิดที่ไทเป

 

ทำเป็นเล่นไป ผู้เขียนเองก็ทำมาแล้ว!

 

เครื่องดื่มประจำชาติที่เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ

 

การกำเนิดของชานมไข่มุกหรือ เจินจูไหน่ฉา (珍珠奶茶) ของชาวไต้หวันนั้นเป็นเรื่องที่คุยกันได้สนุก ชนิดที่นำไปเล่าในรายการ ‘8 Minute History’ ได้สักอีพีเลย

 

แต่ถ้าจะเล่าให้จบภายใน 8 พารากราฟนั้นต้องบอกว่า ต้นกำเนิดของชานมไข่มุกนั้นมีทฤษฎีอยู่หลากหลาย แต่ต้นธารจริงๆ ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างต้องย้อนกลับไปถึงในช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว โดย ชาวฟานชู (Chang Fan Shu) ซึ่งเปิดร้านน้ำชาได้ขายเครื่องดื่มชาแบบใหม่ที่นำมาชงแล้วเขย่าแบบเดียวกับที่ทำค็อกเทล 

 

ชาที่ได้นั้นมีความนุ่มและรสชาติที่ดีกว่ามาก ทั้งยังมีฟองอยู่ด้านบนทำให้ยิ่งจิบก็ยิ่งนุ่ม ซึ่งชาวไต้หวันเรียกชาชนิดนี้ว่า ‘โส่วเหยา’ (Shou Yao) ซึ่งก็แปลตรงตัวได้ว่า ‘เขย่าด้วยมือ’ 

 

เพียงแต่เครื่องดื่มชนิดนี้ไม่ได้รับความนิยมในวงกว้าง จะมีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้นที่ได้ลิ้มลอง จนกระทั่งเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดของไต้หวันในช่วงปี 1980 ซึ่งเครื่องดื่มชาก็กลายเป็นที่นิยมตามไปด้วย มีการผลิตในระดับอุตสาหกรรมไปจนถึงการเปิดร้านชามากมายเต็มไปหมด 

 

Tu Tsong He ศิลปินชาวไต้หวันจึงตัดสินใจเปิดร้านชาตามกระแสความนิยมดังกล่าวด้วย หลังล้มเหลวกับร้านหม้อไฟจนสูญเงินลงทุนไปกว่า 4 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน ความลำบากนั้นทำให้เขาพยายามคิดหาทางสร้างเครื่องดื่มแบบใหม่ที่แตกต่าง และมันนำไปสู่การพบเม็ดไข่มุกที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง หรือ ‘Fen Yuan’ ของกินเล่นที่เขาชอบกินสมัยเด็กๆ เลยได้ไอเดียว่าทำไมไม่ลองเอาเม็ดมาใส่ในชาเขียวดูล่ะ?

 

ด้วยความใสของเม็ดแป้งที่เหมือนไข่มุก เมื่อลงไปอยู่ในชาเขียวก็ยิ่งสวยประหนึ่งสร้อยคอไข่มุกที่แม่ของเขาใส่ Tu Tsong He จึงเรียกเครื่องดื่มชนิดนี้ว่า ‘เจินจูหลวี่ฉา’ หรือ ‘ชาเขียวไข่มุก’ ก่อนจะเปิดร้านในปี 1986 และแน่นอนว่าได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

 

แต่เขาไม่ได้เป็นคนเดียวที่เคลมว่าตัวเองเป็นผู้ให้กำเนิดชานมไข่มุก เพราะยังมี Lin Hsiu Hui ผู้จัดการร้านชา Chun Shui Tang ที่บอกว่าตัวเองต่างหากที่เป็นคนคิดค้นเครื่องดื่มชานมไข่มุกได้เป็นคนแรก 

 

โดยต้นกำเนิดของมันเกิดขึ้นในงานเลี้ยงพนักงานของร้านในปี 1988 เมื่อเธอจัดการเอาเม็ดแป้งมันสำปะหลังใส่ลงไปในชาอัสสัมร้อนของเธอที่กะว่าทำสนุกๆ แต่ปรากฏว่าพอลองกินแล้วกลับพบว่ามันอร่อย เธอจึงนำไปแบ่งให้พนักงานคนอื่นๆ ชิมด้วย และทุกคนก็ชื่นชอบ จนกลายเป็นเมนูใหม่ของร้าน

 

เมื่อมีการเปิดจำหน่ายให้ลูกค้าทั่วไป ก็ปรากฏว่าชาร้อนใส่เม็ดไข่มุกของ Chun Shui Tang ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจนเกินต้าน และกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่ไม่ใช่เฉพาะชาวไต้หวัน แต่ใครก็ตามที่ไปเที่ยวไทเปจะต้องหาโอกาสไปลิ้มลองชาร้อนนี้ดูสักครั้ง

 

และจากประสบการณ์ตรงที่เคยไปชิมที่ร้านหลัง ต้องบอกว่าอร่อยจริง!

 

ชานมไข่มุกที่เป็นมากกว่าเครื่องดื่ม

 

จากจุดกำเนิดที่มาจากความบังเอิญหรือตั้งใจก็ตาม ชานมไข่มุกกลายเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของชาวไต้หวัน และเป็นสิ่งที่ผู้คนจะคิดถึงพวกเขาเป็นอย่างแรกๆ เสมอ

 

แต่ชานมไข่มุกนั้นไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ในเรื่องของการเป็นเครื่องดื่มให้ความสดชื่นอย่างเดียวเท่านั้น เพราะมันได้ทำหน้าที่ใหม่ที่ใหญ่กว่าในระดับของการทูตเลยทีเดียว

 

ในขณะที่จีนมี ‘การทูตแพนด้า’ (Panda Diplomatic) ไต้หวันเองก็ใช้ชานมไข่มุกเป็นเครื่องมือทางการทูตแบบอ้อมๆ ในการสร้างพันธมิตรได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ยิ่งเครื่องดื่มชนิดนี้เดินทางจากไทเปออกไปไกลเท่าไร จากตะวันออกถึงตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ กรุงเทพฯ ลอนดอน หรือนิวยอร์ก ทำให้พวกเขามี ‘เพื่อน’ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย

 

“ถ้าคุณดื่มชานมไข่มุก เราคือเพื่อนกัน” มันนำไปสู่สิ่งที่เคยเป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งที่เรียกว่า ‘พันธมิตรชานม’ (Milk Tea Alliance) ซึ่งเป็นการผนึกกำลังของชาวไทย ไต้หวัน และฮ่องกงบนโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อแสดงพลังทางการเมือง หรือแสดงความเห็นอกเห็นใจกันบนโลกออนไลน์เมื่อเห็นรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเมืองฮ่องกง หรือการที่จีนพยายามอ้างสิทธิเหนือไต้หวัน

 

สิ่งที่น่าจับตามองคือ เมื่อชานมไข่มุกบุกอเมริกาแล้ว จะหมายถึงการมีพันธมิตรเพิ่มขึ้นหรือไม่?

 

ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกา ร้านชานมไข่มุกที่หาได้ไม่ยากกลายเป็นแหล่งแฮงเอาต์ของวัยรุ่นชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายเอเชีย พวกเขาอาจจะเป็นคนรุ่นที่ 2 หรือ 3 ที่อพยพมาจากตะวันออก ร้านเครื่องดื่มแสนหวานนี้จึงกลายเป็นที่รวมตัวง่ายๆ สำหรับเด็กที่เติบโตท่ามกลางวัฒนธรรมและสังคมแบบชาวตะวันตก

 

ชานมไข่มุกสำหรับชาวอเมริกาจึงมิได้ถูกสงวนว่ามีความเชื่อมโยงกับชาวไต้หวันเพียงชาติเดียว แต่เป็นเครื่องดื่มสำหรับชาวเอเชีย-อเมริกันด้วย

 

อย่างไรก็ดีจากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันระหว่างไต้หวันกับจีน ที่มีสัญญาณว่าจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้งเมื่อไช่อิงเหวินเดินทางแวะสหรัฐฯ และมีการนัดหมายพบปะกับประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ยั่วยุจีนอีกครั้งนั้น ก็ชวนให้ตั้งข้อสังเกตว่า ชาวอเมริกันที่นิยมชมชอบในเครื่องดื่มชานมไข่มุกจะหันมาจับมือร่วมกับชาวไต้หวัน และพันธมิตรชานมในการต่อสู้ทางการเมืองกับจีนหรือไม่

 

เพราะถ้าชาวอเมริกันเอาด้วย พลังของพันธมิตรบนโซเชียลมีเดียจะมีน้ำหนักขึ้น ซึ่งในการต่อสู้ทางการเมืองนั้นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าไม่อาจประมาทพลังบนโซเชียลมีเดียได้

 

แต่มันก็เป็นไปได้เช่นกันที่คนอเมริกันอาจจะไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าการดูดชานมเคี้ยวไข่มุกตุ้ยๆ สบายใจกันไป

 

เพราะมันก็เกิดมาเพื่อทำหน้าที่แค่นี้อยู่แล้ว ไม่มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่านั้น

 

ภาพ: Noam Galai / Getty Images for Uber Eats

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising