×

เมื่อซิฟิลิสมาแรงแซงโค้ง

09.06.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งเฝ้าระวังโรคซิฟิลิส หลังจากพบว่าในปี 2562 มีกลุ่มผู้ป่วยวัยรุ่นสูงถึงร้อยละ 40.42 และข้อมูลจากกรมควบคุมโรคปี 2561 พบจำนวนผู้ป่วยซิฟิลิสเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจถึง 5 เท่า
  • ซิฟิลิสไม่ใช่โรคใหม่ การระบาดครั้งใหญ่เกิดตั้งแต่ปี 2038 เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศสยกทัพประกอบด้วยทหารหลายเชื้อชาติจำนวน 25,000 นาย ไปตีเมืองเนเปิลส์แห่งอิตาลี
  • หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้โรคนี้กลับมาระบาดอีกครั้ง เกิดจากการที่เด็กรุ่นใหม่ติดเชื้อซิฟิลิสได้ง่ายเพราะไม่เคยติดเชื้อมาก่อน จึงไม่มีภูมิต้านทาน กอปรกับเมืองไทยมีความเสี่ยงนอกใจกันทั้งในหญิงและชายติดอันดับโลก และเมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารเข้าถึงง่าย ช่วยให้หาคู่นอน เปลี่ยนคู่นอนง่าย และไม่ใช้ถุงยางอนามัย

ไม่นานมานี้กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งเฝ้าระวังโรคซิฟิลิส หลังจากพบว่าในปี 2562 มีกลุ่มผู้ป่วยวัยรุ่นสูงถึงร้อยละ 40.42 และข้อมูลจากกรมควบคุมโรคปี 2561 พบจำนวนผู้ป่วยซิฟิลิสเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2552 จนมีจำนวนผู้ป่วยทั่วประเทศกว่า 7 พันราย ซึ่งผู้ติดเชื้อมากสุดนั้น ร้อยละ 36.9 เป็นวัยรุ่นในสถานศึกษา อายุ 15-24 ปี จากแนวโน้มการมีเพศสัมพันธ์ที่เร็วขึ้น ไม่ใช้ถุงยางอนามัยร้อยละ 30

 

 

แต่ซิฟิลิสไม่ใช่โรคใหม่ การระบาดครั้งใหญ่เกิดตั้งแต่ปี 2038 เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศส ยกทัพประกอบด้วยทหารหลายเชื้อชาติจำนวน 25,000 นาย ไปตีเมืองเนเปิลส์แห่งอิตาลี หลังจากเมืองแตกก็เกิดการระบาดของซิฟิลิสในหมู่ทหาร แพทย์ชาวอิตาลีบันทึกว่า ‘กามโรคใหม่นี้ร้ายแรงกว่าโรคเรื้อน มีผื่นแผลน่าเกลียดเป็นหนองเฟะทั่วตัว’ และกล่าวโทษว่ากองทัพฝรั่งเศสเป็นผู้นำมา ต่อมาโรคแพร่กระจายไปทั่วทวีป จนมีการค้นพบเพนิซิลลิน (Penicillin) ในปี 2486 ใช้เป็นยาหลักในการรักษา พบว่าได้ผลดีมาก ไม่มีรายงานดื้อยาจนถึงปัจจุบัน

 

ในปี 2543 โรคซิฟิลิสสงบ เหมือนจะหายไปจากโลกนี้ แต่ต่อมาสังคมที่เปลี่ยนไปการมีเซ็กซ์ไม่ปลอดภัย ทำให้ซิฟิลิสระบาดเป็นครั้งๆ ในบางกลุ่ม เช่น ในกลุ่มชายรักชาย ในกลุ่มวัยรุ่น เป็นต้น

 

 

ซิฟิลิสคืออะไร

คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเทรโพนีมาพัลลิดัม (Treponema pallidum) ที่มีลักษณะเป็นเกลียวสว่าน (Spirochete bacteria) ผู้ค้นพบเชื้อที่เป็นสาเหตุได้แก่นักสัตววิทยาและแพทย์ผิวหนังชาวเยอรมัน โชดินน์ (Schaudinn) และฮอฟฟ์มันน์ (Hoffmann) ในปี 2448

 

การติดต่อ

โรคซิฟิลิสติดต่อจากคนสู่คนได้โดยง่าย จากการสัมผัส จูบ กอด เพศสัมพันธ์ สามารถติดผ่านผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ ได้ ทารกในครรภ์ติดเชื้อจากแม่ผ่านรกได้ สำหรับการติดต่อผ่านเลือด ติดผ่านได้ เช่น การใช้เข็มร่วมกัน การให้เลือด แต่เกิดได้น้อย เพราะซิฟิลิสมักจะตายภายใน 24-48 ชั่วโมงในที่แห้งหรือเย็น

 

โรคซิฟิลิสแบ่งเป็นระยะต่างๆ ดังนี้

 

1. ซิฟิลิสระยะเริ่ม (Early Syphilis) แบ่งเป็น

1.1. แผลริมแข็ง (Chancre) เมื่อรับเชื้อซิฟิลิสโดยการสัมผัส ภายใน 3-90 วัน ร้อยละ 30 จะเกิดแผลริมแข็งที่อวัยวะเพศ หัวนม ริมฝีปาก เยื่อบุต่างๆ เป็นแผลเดี่ยวขนาด 1-2 เซนติเมตร ไม่เจ็บ หายได้เองภายใน 3-6 สัปดาห์

1.2 ออกดอกเข้าข้อ ร้อยละ 25 ที่ไม่ได้รักษา ซิฟิลิสเข้าหลอดเลือด เกิดไข้ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว ผมที่หัวและขนคิ้วร่วงเป็นหย่อมๆ เกิดการอักเสบของตับ ไต ตา ระบบประสาท มีผื่นจำนวนมากทั่วตัวและที่ฝ่ามือฝ่าเท้า อาจเป็นตุ่มนูน ปื้น หรือตุ่มหนอง หากผื่นออกที่อวัยวะเพศ เรียก Condyloma lata มีเชื้อซิฟิลิสสูง เผยแพร่เชื้อได้ง่าย

1.3 ระยะท้าย (Late) หากไม่ได้รับการรักษา ร้อยละ 25-40 จะเกิดการอักเสบของหลอดเลือด ระบบประสาท หัวใจล้มเหลว เป็นอัมพาต ปวดประสาท ส่วนลักษณะเฉพาะแต่พบน้อย คือเกิดรอยโรคที่ผิวหนัง กระดูก เอ็น กล้ามเนื้อ เป็นแผลแข็งมีเนื้อตายตรงกลางเรียกกัมมา (Gumma)

 

2. ซิฟิลิสระยะแฝง (Latent Syphilis) คือไม่รู้ติดเชื้อมาตั้งแต่เมื่อไร ไม่มีอาการผิดปกติอะไร แต่เจาะน้ำเหลือง VDRL และ TPHA ได้ผลบวก ปัจจุบันส่วนใหญ่เจอระยะนี้

 

 

 

การรักษาโรคซิฟิลิส

ใช้ยาเพนิซิลลินชนิดฉีด ได้ผลดีรักษาหายขาด

 

สาเหตุที่ซิฟิลิสกลับมาระบาดอีก ทั้งที่ปัจจุบันมียาที่ใช้รักษา ยังมีประสิทธิภาพ มีดังนี้

1. เด็กรุ่นใหม่ติดเชื้อซิฟิลิสง่าย เพราะไม่เคยติดเชื้อมาก่อน จึงไม่มีภูมิต้านทาน

2. เมืองไทยมีความเสี่ยงนอกใจกันทั้งในหญิงและชายติดอันดับโลก

3. เทคโนโลยีการสื่อสารเข้าถึงง่าย ช่วยให้หาคู่นอน เปลี่ยนคู่นอนง่าย และไม่ใช้ถุงยางอนามัย

4. การติดเหล้า ติดสารเสพติดทุกชนิด เนื่องจากหลายต่อหลายครั้งนำไปสู่เซ็กซ์สำส่อน เพิ่มการติดซิฟิลิส

5. การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิด เพิ่มความเสี่ยงในการการติดโรคซิฟิลิส

6. ภูมิต้านทานลดลง จากชีวิตที่ไม่สมดุล พักผ่อนน้อย เครียด ไม่ได้ออกกำลังกาย กินอาหารไม่ครบหมู่

 

 

วิธีป้องกันโรคซิฟิลิส

1. รักเดียวใจเดียว ไม่มีเพศสัมพันธ์แบบ One Night Stand และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ซึ่งป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิสได้มากกว่าร้อยละ 90

2. ไม่ดื่มเหล้า ไม่ใช้สารเสพติด ที่มีโอกาสนำไปสู่การตัดสินใจผิดๆ

3. หมั่นสังเกตตุ่มก้อนแผลที่อวัยวะเพศ หัวนม ริมฝีปาก ทวารหนัก หากมี อาจจะเป็นแผลริมแข็งจากการติดเชื้อซิฟิลิส แม้ไม่เจ็บ ไม่มีอาการอะไร อย่ารอให้หายเอง ควรพบแพทย์

4. การติดเชื้อซิฟิลิสและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เพิ่มการติดเชื้อเอชไอวี และในทางกลับกัน ก่อนแต่งงานและเมื่อมีการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ทั้งหญิงชาย ควรเจาะเลือดตรวจหาซิฟิลิสและเอชไอวีด้วย

5. ในกรณีที่พบแผลริมแข็ง พบเชื้อซิฟิลิสที่ก้นแผล มีผื่นซิฟิลิส หรือเจาะน้ำเหลืองยืนยันว่าเป็นเชื้อซิฟิลิส ควรรักษาตามแพทย์แนะนำ เจาะเลือดตรวจติดตามจนกว่าจะหายขาด

6. ฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ เจาะเลือดตรวจน้ำเหลืองหาซิฟิลิส 2 ครั้งตามมาตรฐาน ครั้งแรกทันทีที่ฝากครรภ์ ครั้งที่สองตั้งครรภ์ประมาณ 28-32 สัปดาห์ ซิฟิลิสในแม่ตั้งครรภ์ หากไม่ได้รักษา ร้อยละ 50 ทารกจะแท้งหรือเสียชีวิตในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาภายใน 2 ปีจะแสดงอาการติดเชื้อซิฟิลิสแต่กำเนิด ได้แก่ ตับม้ามโต ตัวเหลือง ออกผื่น ไข้เรื้อรัง ปอดบวม อักเสบโพรงจมูก กระดูก ลำไส้ ตาบอด พิการทางสมอง หากรักษาก็จะสามารถป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิสในทารกได้

7. หากพบผู้ติดเชื้อซิฟิลิส ควรติดตามคู่นอนทั้งหมดมาตรวจร่างกายและตรวจน้ำเหลือง หากเป็นจะได้รักษาให้หายขาด ช่วยลดการระบาดของเชื้อได้

 

อ่านเรื่อง ‘เอชพีวี’ โรคเพศสัมพันธ์ของคนยุค 4.0 ที่ไม่มียารักษา คุณรู้จักหรือยัง? ได้ที่นี่

 

 

ภาพประกอบ: tuckktuck

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories