×

กางแผนสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านคู่มือ ‘Sustainable Business ชนะใจผู้บริโภคโลกใหม่ด้วยวิธีคิดธุรกิจแบบยั่งยืน’ จาก THE SME HANDBOOK by UOB Season 2 [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
31.10.2021
  • LOADING...
Sustainable Business

ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าเราทุกคนล้วนมีส่วนในการสร้างก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะในฐานะผู้บริโภคหรือผู้ผลิตก็ตาม และทุกขณะที่โลกเริ่มป่วยหนักขึ้น คงไม่เหมาะที่จะโยนภาระความรับผิดชอบนี้ให้กับใคร ประเด็นนี้เองที่ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั่วโลกหันมาจับมือและสร้างพันธสัญญากันอย่างจริงจัง

 

การประกาศแผน Net Zero หรือ Carbon Credit ของหลายธุรกิจ คือแนวทางการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของโลกยุคใหม่ สิ่งนี้กำลังชี้ให้เห็นว่าภาคธุรกิจกลายเป็นตัวกลางสำคัญในการมีส่วนร่วมเช่นกัน ดังนั้นถ้าคุณตั้งเป้าจะยืนระยะในธุรกิจแบบยั่งยืน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องคิดใหม่และลงมือสร้างแนวทาง Sustainable Business อย่างจริงจัง

 

เพราะธุรกิจที่จะชนะใจผู้บริโภคในโลกยุคใหม่ได้ ต้องไม่มุ่งแต่แสวงหากำไรเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม โลก เพื่อสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนระยะยาว นัททินี แซ่โฮ ผู้ก่อตั้ง Thrive Venture Builder สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสังคมทุกมิติ จะช่วยแนะแนวทางว่าควรวางแผนธุรกิจอย่างไรถ้าคุณอยากเป็นธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืนใน THE SME HANDBOOK by UOB Season 2 รวมทริกชนะธุรกิจในโลกยุคใหม่ เพื่อสื่อสารกับผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจ ‘ขนาดกลาง’ ไปสู่ ‘ขนาดใหญ่’ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโต ใน ‘Sustainable Business ชนะใจผู้บริโภคโลกใหม่ด้วยวิธีคิดธุรกิจแบบยั่งยืน’ เอพิโสดสุดท้ายของซีซันนี้ 

 

แต่ก่อนที่จะคุยกันเรื่อง Sustainability คุณเข้าใจคำนี้ดีพอหรือยัง และความยั่งยืนจะเชื่อมโยงกับการทำธุรกิจของเราได้อย่างไร นัททินี เปิดประเด็นด้วยการชวนทุกคนตั้งคำถามว่า “เราจะทำอย่างไรเพื่อสร้างความยั่งยืน ไม่ใช่แต่กับธุรกิจ แต่กับโลกของเรา” 

 

Sustainable Business

 

เมื่อพูดถึง ‘Sustainability’ หรือ ความยั่งยืน เรามักจะอ้างอิงถึง ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)’ ของสหประชาชาติ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ทั้งหมด 17 ประการ และทั่วโลกนำมาใช้เป็นแนวทางว่าการสร้างความยั่งยืนควรจะต้องทำในมิติใดบ้าง เช่น ความเท่าเทียม การลดความยากจน 

 

อีกคำหนึ่งที่ต้องรู้จักก็คือ ESG (Environmental, Social and Governance) หรือกรอบการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นการมาสำรวจดูว่าสิ่งที่แต่ละธุรกิจหรือแต่ละองค์กรกำลังทำอยู่ จะสามารถส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยรอบได้อย่างไร

 

แต่ถ้าจำกัดวงลงมาในกลุ่มของ SMEs จะมีคำว่า Triple Bottom Line ที่พูดถึงเรื่องความยั่งยืนเช่นกัน ใจความสำคัญอยู่ที่การทำธุรกิจ จะดูแค่ผลกำไรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดู People, Profit และ Planet คือ กำไรต้องมี โลกต้องอยู่รอด และคนในองค์กรต้องแฮปปี้ 

 

เหตุผลที่ Sustainability เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องหันมาให้ความสำคัญ 

นัททินี ให้ความเห็นว่า จริงๆ แล้ว Sustainability เป็นหัวข้อที่เวทีโลกพูดถึงมากว่า 40 ปี ณ เวลานั้น ผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนหรือปัญหาขยะพลาสติกอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบใกล้ตัวนัก แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลกระทบเริ่มชัดเจน รุนแรง และใกล้ตัว 

 

“การที่เราไม่ดูแลความยั่งยืนของโลก ผลสุดท้ายมันจะวนกลับมาสร้างผลกระทบกับตัวเราเอง ทำให้คนเริ่มตระหนักมากขึ้น อีกทั้งเราอยู่ในยุคที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ยิ่งทำให้เราเห็นข้อมูลต่างๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องใกล้ตัวแล้ว”

 

Sustainable Business

 

อยากยั่งยืนระยะยาว ลองหาวิธีผนวกแนวคิดเรื่องความยั่งยืนเข้าไปกับการทำธุรกิจ

หลังจากผู้ประกอบการ SMEs ตระหนักถึงความสำคัญของ Sustainability และอยากเริ่มต้นวางแผนเป้าหมาย นัททินีให้แนวคิดง่ายๆ ว่า “ถ้าสามารถนำเรื่องความยั่งยืนมารวมกับการทำงานได้ ก็สามารถลดต้นทุนได้” พร้อมยกเคสธุรกิจที่ชัดที่สุด ธุรกิจร้านอาหาร ต้นทุนพวกผักผลไม้ที่ซื้อตามท้องตลาดแม้จะถูกกว่าผักออร์แกนิก แต่กลายเป็นว่าผักผลไม้ที่ไม่ใช่ออร์แกนิกกลับเน่าเสียเร็วกว่า เนื่องจากสารเคมีที่อยู่ในผักผลไม้เหล่านั้น โรงแรมหลายแห่งที่หันมาใช้ผักออร์แกนิก พบว่าของเหลือทิ้งจากครัวน้อยลง ผักเก็บได้นานขึ้น นี่คือตัวอย่างของการเติบโตไปด้วยทั้งกำไรและความยั่งยืน 

 

“แม้แต่การปลูกผัก ผลไม้ออร์แกนิก มองระยะยาวต้นทุนถูกกว่าปลูกแบบใช้สารเคมี และถ้าในอนาคตคนหันมาบริโภคผัก ผลไม้ออร์แกนิก จะทำให้ราคาของทั้งตลาดถูกลง หากธุรกิจหันมาสนใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ผู้บริโภคก็จะหันมาบริโภคมากขึ้น เหมือนเป็นการวางแผนสำหรับอนาคตก็ว่าได้ เพราะสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือคนยุคใหม่จะหันมาบริโภคของที่ดีต่อร่างกายมากขึ้น แล้วทำไมถึงไม่เริ่มเลยตอนนี้ ดังนั้นธุรกิจไหนมองเห็นเทรนด์นี้และนำเอามาบูรณาการกับการทำงานของธุรกิจได้ จะเกิดความคุ้มค่าในระยะยาวได้เช่นกัน” นัททินี กล่าวเสริม 

 

Sustainable Business

 

สิ่งแรกที่ต้องทำ เมื่อเริ่มต้นที่จะทำธุรกิจแบบยั่งยืน

นัททินี บอกว่า ก่อนลงมือทำจริง อยากให้เริ่มต้นด้วยการศึกษาบริบทโดยรวมของ Sustainability ก่อน เสิร์ชคำว่า SDGs, ESG และ Triple Bottom Line แล้วลองทำความเข้าใจ จากนั้นค่อยย้อนกลับมามองที่องค์กรว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่คืออะไร เรากำลังซื้อของจากใคร เรากำลังขายของให้ใคร สินค้าที่เราผลิตส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะบริษัทที่ทำเกี่ยวกับการผลิต ลองดูว่าคนที่จำหน่ายสินค้าให้เราเขาสนใจเรื่อง Sustainability หรือเปล่า แล้วของที่เขาผลิตนั้นมีการคำนึงถึงสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นกับโลกหรือไม่

 

หรือจะดูผ่านมุมของคนในองค์กรด้วยการคุยกับคนในองค์กรให้มากขึ้น เพื่อเช็กว่าเขายังโอเคที่จะทำงานกับเราหรือไม่ สิ่งตอบแทนที่เขาได้รับทำให้เขาดูแลตัวเองได้ไหม และทำอย่างไรให้คนในองค์กรมีความสุข

 

“หลายองค์กรมองว่า ถ้าเพิ่มรายได้ให้กับพนักงานจะทำให้รายได้ขององค์กรลดลง แต่หากมองผลระยะยาวมันกลับสร้างผลดีมากกว่า เพราะเมื่อไรก็ตามที่คนในองค์กรดูแลตัวเองได้ดีขึ้น สังคมโดยรวมก็จะพัฒนาให้ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน” 

 

จำเป็นแค่ไหนที่ต้องลงทุนเพื่อความยั่งยืน?

คำตอบที่ นัททินี บอกคือ ไม่จำเป็นเสมอไป แต่ให้ลองปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจดูก่อน หรือเปลี่ยนพาร์ตเนอร์ที่มีส่วนร่วมในเรื่องกระบวนการสร้างความยั่งยืน 

 

“ก่อนจะมองหาคู่ค้าหรือพาร์ตเนอร์ ต้องเริ่มจากการประเมินตัวเองก่อนว่า มีอะไรที่องค์กรเราสามารถปรับเปลี่ยน แล้วค่อยนำคอนเซปต์นี้ไปคุยกับคู่ค้า แนวทางการตัดสินใจก็อาจจะถามเรื่องคนในองค์กรของเขาว่ามีอะไรที่จะทำเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เขาทำจะสร้างความยั่งยืนในมิติไหนลองเสิร์ชข้อมูลดูก็ได้ หรือจริงๆ แล้วในประเทศไทยก็มีองค์กรที่เข้ามาช่วยดูเรื่องนี้ได้” 

 

แต่ถ้าอยากลงทุนเพื่อต้องการขยับไซซ์ธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน นัททินี แนะให้ทำ SIA (Social Impact Assessment) หรือ SROI (Social Return on Investment) โดยให้คนมาประเมินสิ่งที่เรากำลังทำภายในองค์กร ถ้าหากมีนักลงทุนมาลงทุนเพิ่มกับเราต่อ 1 เหรียญ SROI ที่ได้คือเท่าไร หรือผลลัพธ์ทางสังคมที่จะได้กลับมามันจะเป็นเท่าไร 

 

“ปัจจุบันนักลงทุนทั่วโลกสนใจองค์กรที่ทำเรื่อง Sustainability และมีบางกองทุนที่เลือกลงทุนกับองค์กรที่เห็นพ้องกับคอนเซปต์ของ ESG คาดการณ์ว่าอีกไม่กี่ปีเงินก้อนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 20% ของเงินทุนทั้งหมดของโลก ถ้าธุรกิจของคุณยังไม่ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG โอกาสที่จะได้เงินทุนก้อนนี้ก็น้อยลง ดังนั้นองค์กรไหนที่เริ่มทำแล้ว เห็นผลลัพธ์แล้ว และอยากจะเติบโตต่ออย่างยั่งยืน การทำ SIA หรือ SROI ก็สามารถนำไปต่อยอดกับนักลงทุนได้”

 

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับ SMEs ที่อยากขยับไซส์และมองหาเงินลงทุนเพิ่มเติม สถาบันการเงินหลายแห่งก็เริ่มมีนโยบายสนับสนุนธุรกิจหรือองค์กรที่ทำเรื่อง Sustainability 

 

Case Study: ของ SMEs ที่ทำเรื่อง Sustainability อย่างจริงจังและเห็นผล

เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเริ่มต้นทำเรื่อง Sustainability อย่างจริงจังได้เห็นถึงความเป็นไปได้ นัททินี ยกตัวอย่าง Case Study ของ SMEs ที่ผนวกรวมความยั่งยืนเข้ากับการทำงานขององค์กร

 

Case Study 1: PlanToys บริษัทที่ทำของเล่นไม้ ด้วยการนำไม้ที่ปกติใช้นำไปทำฟืนมาทำเป็นของเล่น เพื่อช่วยลดความสูญเสียจากการทำไปเผาและเกิดเป็นมลพิษ นอกจากนั้นเศษไม้จากการทำของเล่นยังนำไปอัดเพิ่มเพื่อทำของเล่นอีกเวอร์ชันเพื่อตอบโจทย์อีกตลาด ปัจจุบัน PlanToys ยังปรับโมเดลธุรกิจ นำของเล่นมาปล่อยเช่า แทนที่จะซื้อแล้วทิ้งหากลูกเบื่อหรือไม่อยากเล่นแล้ว

 

Case Study 2: Moreloop เป็นบริษัทที่นำผ้าเหลือใช้จากโรงงานมาชุบชีวิตใหม่ คนซื้อยังได้มีส่วนร่วม เพราะแบรนด์จะส่งข้อมูลมาให้ว่าเสื้อที่ซื้อช่วยลดคาร์บอนไปเท่าไร เป็นวิธีสร้างความตระหนักรู้ให้คนซื้อรู้สึกว่าเขาเองก็ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จากการซื้อเสื้อผ้า

 

Sustainable Business

 

Carbon Credit กับโอกาสในอนาคตของ SMEs ไทย

การปรับเปลี่ยนการทำงานในมิติใดๆ ก็ตามที่ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกสามารถนำไปแปลงค่าได้ โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ 1,000 กิโลกรัม = 1 ตัน และ 1 ตัน = 1 Carbon Credit 

 

นัททินี ยกตัวอย่าง SMEs ที่ต้องส่งสินค้าไปยุโรป ทุกอย่างที่ส่งไปจะมีการคิดภาษีที่เรียกว่า Green Taxes ยิ่งสินค้าที่ส่งไปมีการปล่อยคาร์บอนเยอะเท่าไรก็ยิ่งเสีย Green Taxes สูงขึ้น โดยปัจจุบัน 1 ตัน = 40 ยูโร ถ้าคุณอยากลดต้นทุนส่วนนี้ก็คงต้องเริ่มหันมาจริงจังกับเรื่องการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้นนั่นเอง 

 

หรือถ้าคุณไม่ได้ทำธุรกิจส่งออกไปยุโรป ยังสามารถขาย Carbon Credit ให้กับองค์กรที่เขาส่งออกของไปยังยุโรปได้เพราะองค์กรที่ไม่มีกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนสามารถซื้อเครดิตจากองค์กรที่มี Carbon Credit เพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า Carbon Offset ได้ ก็จะเป็นโอกาสหนึ่งของ SMEs เพราะตอนนี้ทั่วโลกก็พูดกันค่อนข้างเยอะว่า “Carbon credit is the new gold” 

 

ขอบเขตของความยั่งยืนครอบคลุมทุกอย่างที่จะทำให้โลกสามารถไปต่อได้ 

ตัวชี้วัดชัดเจนที่สุดในกรณีนี้คือ SDGs (Sustainable Development Goals) โดยมีจุดมุ่งหมายทั้งหมด 17 หัวข้อ ในหลายหัวข้อเกี่ยวข้องกับทุกองค์กร และหลายหัวข้อเช่นกันที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การลดความเหลื่อมล้ำ และเรื่องของคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่าพนักงานในองค์กรมีทักษะมากพอที่จะทำงานจนกระทั่งเขาเติบโตไปตามสายงานในองค์กรได้หรือเปล่า 

 

“หากมองแล้วพบว่าธุรกิจของเราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง ก็ปรับไปที่ประเด็นเรื่องการศึกษาหรือความเท่าเทียมทางเพศ เช่น ผู้หญิงกับผู้ชายต้องรับค่าตอบแทนเท่ากันในตำแหน่งเดียวกัน หรือการลาคลอด ที่บางบริษัทไม่ออกกฎเพิ่มวันลาเพื่อให้แม่ได้อยู่กับลูกหลังคลอด ฟังดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน แต่หากมองให้ลึกและไกล ครอบครัวคือพื้นฐานของชีวิตและสังคม เด็กที่ไม่ได้รับการดูแลจากพ่อแม่อย่างใกล้ชิดในเวลาที่เหมาะสม อาจกลายเป็นผลกระทบระยะยาวในเชิงสังคมวงกว้างก็เป็นไปได้” นัททินี อธิบายเพิ่มเติม

 

Sustainable Business

 

แง่คิดทิ้งท้าย “ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องที่จะเปลี่ยนได้ชั่วข้ามคืน แต่มันจะค่อยๆ เปลี่ยน ขอแค่ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน”

หากวันนี้ทุกองค์กรในโลกลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงเดินหน้าดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวคือความฟุ่มเฟือยจะเริ่มเบาลง เนื่องจากคนเข้าใจมากขึ้นว่าการที่ฉันใช้จ่ายตลอดเวลาอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีต่อโลก”

 

สิ่งสำคัญคือในภาพใหญ่ที่เราอยากให้เกิดขึ้นในอนาคต มันจะเกิดขึ้นได้จากการตัดสินใจของเราในทุกๆ วันว่าเราจะยอมเสียสละความสบายหรือความง่ายบางอย่างเพื่ออนาคตของลูกหลานหรือเปล่า 

 

“แต่เรื่องแบบนั้นก็ไม่ใช่ว่าเราจะเปลี่ยนได้ในชั่วข้ามคืน มันจะเกิดขึ้นได้จากการตัดสินใจของเราในทุกๆ วันว่าเราจะยอมเสียสละความสบายหรือความง่ายบางอย่างเพื่ออนาคตของลูกหลานหรือเปล่า ขอแค่ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานแค่นิดเดียวก็ได้ ไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาทรานส์ฟอร์มองค์กรขนาดใหญ่ในครั้งเดียว เพราะการทำอย่างนั้นมันจะเหนื่อย และเราจะท้อใจอย่างรวดเร็ว”

 

“ถ้าเป็นไปได้ วันนี้ถ้าเห็นอะไรในโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวกับความยั่งยืนที่น่าสนใจ เราก็แค่ช่วยแชร์ หรือเล่าให้เพื่อนฟัง ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อกระจายข้อมูล ใช้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้คนรอบข้าง หรือเริ่มที่ตัวเราด้วยการใช้ของที่เป็นผลิตภัณฑ์ยั่งยืน แค่นี้ก็จุดประกายให้คนอื่นได้แล้ว” 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X