×

โลกกำลังจัดระเบียบใหม่! มองอนาคต ‘ปตท.’ บนทางแยกครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมพลังงานโลก กับเป้าหมายกำไร 30% จากธุรกิจใหม่

05.09.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • อุตสาหกรรมพลังงานโลกกำลังเปลี่ยนไป ในขณะที่ทั่วโลกต่างมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero ทำให้บริษัทพลังงานทั่วโลกต้องปรับแผนการลงทุนไปหาพลังงานสะอาดและธุรกิจใหม่
  • ปตท. เป็นหนึ่งในผู้ที่เผชิญความท้าทาย หลังจากก่อตั้งมาได้เกือบ 44 ปี ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่เมื่อปีก่อน คือ Powering Life with Future Energy and Beyond
  • ปตท. ตั้งเป้าที่จะมีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจใหม่ 30% ภายในปี 2030 ขณะที่ผู้บริหารย้ำว่า ธุรกิจพลังงานดั้งเดิมก็จะยังเติบโตได้
  • ธุรกิจใหม่ที่จะเป็นตัวนำในช่วงแรกคือ Renewable Energy, EV และ Life Science โดยเร่งการเติบโตผ่านการร่วมทุนกับบริษัทต่างๆ ทั่วโลก 

 

ใครสักคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า ‘สิ่งเดียวที่แน่นอนคือการเปลี่ยนแปลง’ ซึ่งก็รวมถึงภาคธุรกิจ ที่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ก็จำเป็นจะต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป 

 

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมพลังงานถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญมากที่สุด ทำให้บริษัทพลังงานแต่ละแห่ง รวมทั้ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่เรียกได้ว่าเป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของไทย และมีอายุเกือบ 44 ปี ก็จำเป็นจะต้องเดินหน้าปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อเตรียมพร้อมกับระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนไป 

 

ทิศทางของอุตสาหกรรมพลังงานโลก

ระเบียบโลกใหม่ด้านพลังงานที่ว่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศของโลก ทำให้ทั่วโลกต้องหันกลับมาร่วมมือกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่สิ่งแวดล้อม 

 

อย่างในกลุ่มประเทศยุโรปมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีการตั้งเป้าหมายดังกล่าวไว้ในปี 2065 

 

ปตท.

 

Albert Cheung หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทั่วโลก BloombergNEF กล่าวว่า การลงทุนในด้านพลังงานสะอาดรูปแบบต่างๆ ของโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2021 มูลค่าการลงทุนในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้พุ่งขึ้นแตะ 7.55 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 26.5 ล้านล้านบาท) อย่างไรก็ตาม หากทั่วโลกต้องการจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 อย่างที่ตั้งใจไว้ เราจำเป็นจะต้องเห็นการลงทุนทั่วโลกแตะระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ก่อนที่จะถึงปี 2030 

 

ส่วนแนวโน้มของอุตสาหกรรมน้ำมัน David Doherty หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านพลังงานน้ำมันของ BloombergNEF มองว่า อนาคตของความต้องการใช้น้ำมันมีความไม่แน่นอนสูงมากหลังจากนี้ จากการประเมินความเป็นไปได้ของแต่ละสถานการณ์ พบว่าความต้องการใช้น้ำมันอาจจะยังเพิ่มขึ้น 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรืออาจจะลดลงไปถึง 42 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2050 เทียบกับปี 2019 

 

ขณะที่องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) มีมุมมองว่า หากสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ความต้องการใช้น้ำมันจะลดลงไป 74 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2050 เทียบกับปี 2019 

 

ความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้บริษัทพลังงานทั่วโลกตั้งเป้าหมายในการปรับตัว ผ่านการลดการลงทุนในธุรกิจพลังงานดั้งเดิม และเปิดโอกาสลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ อย่างปี 2021 บริษัทน้ำมันและก๊าซลงทุนในพลังงานคาร์บอนต่ำกว่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ 

 

ปตท.

 

สำหรับ ปตท. ระหว่างปี 2015-2021 มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) อยู่ราว 6% ใกล้เคียงกับบริษัทพลังงานอย่าง Shell และ Eni จากการประเมินของ BloombergNEF 

 

การปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านของ ปตท.

จากจุดเริ่มต้นของ ปตท. เมื่อปี 1978 ซึ่งเป็นช่วงที่ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตด้านพลังงานในทศวรรษที่ 70 ปตท. เกิดขึ้นมาด้วยเป้าหมายสำคัญคือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ 

 

และเมื่อ 1 ปีก่อน ปตท. ได้ประกาศปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ครั้งสำคัญขององค์กรอีกครั้ง ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ภายใต้แนวคิด ‘ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต (Powering Life with Future Energy and Beyond)’ 

 

“เราต้องการให้องค์กรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะเราเดินมาเจอทางแยกแล้ว สิ่งแวดล้อมกำลังเปลี่ยนไปและบีบรัดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ปตท. ก็ต้องเปลี่ยนลักษณะการทำธุรกิจเช่นกัน” อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น 

 

“ปตท. มีจุดเริ่มต้นจากปัญหาวิกฤตพลังงานในอดีต ทำให้เรามีภารกิจสำคัญคือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งยังคงเป็นหัวใจสำคัญอยู่เช่นเดิมภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่” 

 

ในส่วนของ Future Energy and Beyond จะเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ ปตท. เติบโตไปข้างหน้า ผ่าน 9 หน่วยธุรกิจหลัก แบ่งเป็นกลุ่ม Future Energy ได้แก่ 1. Renewable 2. EV Value Chain 3. Energy Storage & System Related และ 4. Hydrogen ขณะที่กลุ่ม Beyond ได้แก่ 1. Life Science 2. Mobility & Lifestyle 3. High Value Business 4. Logistics & Infrastructure และ 5. AI, Robotics & Digitalization

 

ขณะที่แนวโน้มของความต้องการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างถ่านหินและน้ำมัน เชื่อว่าความต้องการใช้ถ่านหินน่าจะผ่านจุดพีคไปแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2017-2018 จึงเป็นที่มาของการตัดขายธุรกิจถ่านหินออกไป ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันก็มีแนวโน้มจะพีคในช่วงปี 2030-2032 ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติจะเป็นพลังงานที่ดีที่สุด และมีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานสะอาด

 

ปตท.

 

เป้าหมายของ ปตท. ในปี 2030 คือการมีสัดส่วนกำไร 30% จากธุรกิจ Future Energy and Beyond ซึ่งจะเป็นกำไรส่วนเพิ่มขึ้นมาจากธุรกิจพลังงานดั้งเดิมที่เชื่อว่าจะยังเติบโตต่อไปได้เช่นกัน 

 

“เราไม่ได้บอกว่าธุรกิจที่ทำอยู่เดิมจะหดตัวไป แต่ธุรกิจใหม่เหล่านี้จะงอกเงยและโตขึ้นจนมีสัดส่วนกำไร 30%” 

 

ผ่าแผนธุรกิจ Future Energy and Beyond ระยะแรก

นพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานของปตท. เปิดเผยว่า ในช่วงแรกธุรกิจที่จะเป็นตัวนำในการสร้างกำไรให้กับกลุ่มธุรกิจใหม่จะเป็นส่วนของพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy), ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) อย่างไรก็ดี ปตท. ได้วางแผนสำหรับแต่ละทุกธุรกิจไว้แล้ว ซึ่งจะค่อยๆ มองเห็นพัฒนาการไปตามลำดับ 

 

ในกลุ่ม Future Energy บริษัทได้ปรับเพิ่มเป้าหมายของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนจาก 8,000 เมกะวัตต์ เป็น 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2030 หลังจากที่การลงทุนประสบผลสำเร็จมากขึ้น โดยเฉพาะการให้บริษัทลูกอย่าง GPSC เข้าไปลงทุนในอินเดีย ช่วยให้ ปตท. มีสัดส่วนกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2,000 เมกะวัตต์ จากปี 2020 ที่มีอยู่ 533 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทยังได้มองหาโอกาสการลงทุนในประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม ไต้หวัน และจีน 

 

ปตท.

 

“ในอินเดียตอนนี้พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานหลักของประเทศไปแล้ว จากการที่รัฐบาลสนับสนุน ทำให้ต้นทุนสามารถแข่งขันได้ ขณะเดียวกัน ปตท. ก็มองหาโอกาสใหม่ๆ ทั้งในประเทศที่มีความต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่ต้องปรับนโยบายมาผลิตสินค้าจากพลังงานสะอาด” 

 

ส่วนธุรกิจ EV Value Chain เป็นการร่วมทุนกับบริษัท Foxconn สัญชาติไต้หวัน เพื่อตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งในส่วนนี้บริษัทมองตัวเองเป็นผู้ให้บริการกับทุกแบรนด์ที่ต้องการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ช่วยเปิดโอกาสให้เราเข้าสู่ตลาดนี้ได้ง่ายกว่าและมีความเสี่ยงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการสร้างแบรนด์ EV ของตัวเอง 

 

เช่นเดียวกับธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ ซึ่ง ปตท. ร่วมทุนกับ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่เบอร์หนึ่งของโลก เพื่อร่วมกันพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ Cell-to-Pack (CTP) เพื่อซัพพลายให้กับผู้ผลิตรถ EV แต่ละแบรนด์ ซึ่งจะทำให้มีความต้องการมากเพียงพอที่จะลงทุน 

 

ปตท.

 

สำหรับธุรกิจพลังงานจากไฮโดรเจนจะเป็นโอกาสอนาคต และจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นหลังจากนี้ ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับของการผลิตพลังงานไฮโดรเจน ในเบื้องต้นบริษัทได้ร่วมมือกับซาอุดีอาระเบีย เพื่อต่อยอดเทคโนโลยีในด้านนี้ 

 

ส่วนธุรกิจ Life Science ซึ่งได้ลงทุนผ่านบริษัทย่อยอย่าง Innobic ปัจจุบันใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ผ่านบริษัทย่อย 13 บริษัท โดยหลักเป็นการลงทุนใน Lotus Pharmaceutical บริษัทผู้ผลิตยาในไต้หวัน ด้วยงบลงทุนราว 2 พันล้านบาท เพื่อถือหุ้น 30% 

 

นอกจากนี้ อีกหน่วยธุรกิจที่จะเริ่มเห็นพัฒนาการมากขึ้นคือ NRPT ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท. และ NRF เพื่อรุกธุรกิจด้านอาหาร Plant-based ซึ่งในส่วนนี้บริษัทได้ร่วมมือกับพันธมิตรจากประเทศอังกฤษอย่าง Wicked Kitchen และ Plant & Bean ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอาหาร Plant-based อยู่ก่อนแล้ว 

 

ในเบื้องต้นบริษัทจะตั้งโรงงานผลิตอาหาร Plant-based ในไทย ด้วยกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี ซึ่งเพียงพอจะทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาดและส่งออกไปต่างประเทศได้ราว 40% และในระยะยาวบริษัทมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตไปสู่ 15,000 ตันต่อปี 

 

ปตท.

 

การสร้างสมดุลในช่วงเปลี่ยนผ่าน 

“ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา หรือเรียกได้ว่าตั้งแต่จัดตั้ง ปตท. ขึ้นมา ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่บริษัทใส่เงินลงทุนและขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะธุรกิจ Low Carbon มากที่สุด” นพดลฉายภาพทิศทางการลงทุนของ ปตท. ในปัจจุบัน 

 

ช่วง 5 ปีข้างหน้า บริษัทตั้งงบลงทุนเฉพาะส่วนของ ปตท. 1.46 แสนล้านบาท และลงทุนผ่านบริษัทในเครืออีก 9.88 แสนล้านบาท จากทั้งหมดนี้จะเป็นการลงทุนในส่วนของ Future Energy and Beyond สัดส่วน 30% 

 

นพดลย้ำว่า ธุรกิจในส่วนของพลังงานฟอสซิลยังเติบโตได้ อย่างก๊าซธรรมชาติ (LNG) ถือเป็นพลังงานสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่าน ส่วนความต้องการใช้พลังงานฟอสซิลจะหมดไปเมื่อไร ขึ้นอยู่กับว่าเทคโนโลยีใหม่จะเข้ามาแทนที่ได้เร็วเพียงใด โดยเฉพาะเรื่องของต้นทุนพลังงานใหม่ที่ยังสูงอยู่ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากสงครามรัสเซียและยูเครนก็เป็นตัวเร่งให้การเปลี่ยนผ่านเร็วยิ่งขึ้น 

 

ช่วง 1-2 ปีนี้ สัดส่วนกำไรจากธุรกิจใหม่จะยังไม่มากนัก คิดเป็นเพียง 3-4% เพราะเป็นช่วงของการเร่งลงทุน ขณะที่การลงทุนในพลังงานดั้งเดิมก็จะยังสูงอยู่ โดยเฉพาะส่วนของก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากบริษัทยังมีหน้าที่ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของน้ำมันแทบจะไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว 

 

“ในมิติของการดูเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน มันมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องทำมากกว่าแค่ธุรกิจพลังงาน ถ้าเราอยู่ในธุรกิจพลังงานอย่างเดียว ส่วนไหนไม่ดีเราก็พยายามขายออกไป แต่การที่เราดูเรื่องความมั่นคงด้วย ต่อให้ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันเป็น Sunset แต่เมื่อยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ เราก็ยังจำเป็นต้องทำและสร้างสมดุลระหว่างกัน” 

 

ที่ผ่านมาบริษัทอาจยังไม่มั่นใจนัก แต่หลังจากพยายามศึกษา ทำให้ตอนนี้ค่อนข้างมั่นใจแล้วว่าบริษัทเดินมาถูกทาง และหากเราไม่ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ก็อาจเป็นการเสียโอกาสที่จะทำสิ่งที่ดีให้กับประเทศ 

 

“แต่เรื่องพวกนี้ต้องบาลานซ์ให้ดี บางอย่างต้องไม่เร็วจนเกินไป แต่ก็ต้องไม่ช้าจนเกินไป การบาลานซ์ที่ดีไม่ได้หมายความว่าอยู่เฉยๆ ยืนบาลานซ์อยู่กับที่ แต่ต้องเดินไปข้างหน้าอย่างสมดุล”  

 

นพดลกล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกองค์กรต้องมีการปรับตัว สำหรับ ปตท. เราจะเห็นสัดส่วนของ Future Energy มากขึ้น ปตท. จะยังคงเป็นบริษัทพลังงาน แต่จะเป็นพลังงานรูปแบบใหม่

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising