×

‘สุพัฒนพงษ์’ สั่งเร่งยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าภายในปี 2573 ผลิตรถ EV กว่า 2.5 ล้านคัน

25.03.2021
  • LOADING...
‘สุพัฒนพงษ์’ สั่งเร่งยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าภายในปี 2573 ผลิตรถ EV กว่า 2.5 ล้านคัน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ครั้งแรกของปี 2564 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ว่าเป็นไปตามแผนที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยมีเป้าหมาย 30:30 หมายถึงมีกำลังการผลิตยานยนต์พลังงานสะอาด (ZEV) ในประเทศร้อยละ 30 ภายในปี 2573

 

“30% ถือว่าเยอะแล้ว เพราะจะผลิตเป็น 2.5 ล้านคัน ภายในปี 2573 ซึ่งบริษัทรถยนต์หลายเจ้าแสดงความจำนง ซึ่งภาคเอกชนอยากให้รัฐกระตุ้นให้เกิดดีมานด์ และเร่งรัดให้มีตัวอย่างการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ เพราะเราอยากให้เห็นว่า เมื่อเปิดประเทศแล้ว เรามีพัฒนาการในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจสีเขียว หรือนโยบาย BCG”

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด เพื่อพิจารณาความต้องการใช้รถไฟฟ้า และอินฟราสตักเจอร์ อาทิ แบตเตอรี่ รวมถึงสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจ โดยให้นำกลับมาหารือกันในที่ประชุมใหญ่ (บอร์ดอีวี) อีกครั้ง ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564

 

สำหรับคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ได้แก่

 

1. คณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน มีอำนาจและหน้าที่ศึกษาและกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ รถยนต์, ปิกอัพ, รถจักรยานยนต์, สามล้อ, รถบัส, รถบรรทุก, เรือ และชิ้นส่วนยานต์ยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน

 

2. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน มีอำนาจและหน้าที่ประเมินผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน และจัดทำแผน / มาตรการการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและด้านอื่นๆ เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า มาตรการส่งเสริมแบตเตอรี่ และบริหารแบตเตอรี่ใช้แล้ว   

 

3. คณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเรือนกระจกจากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน มีอำนาจและหน้าที่ประเมินผลกระทบจากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า จัดทำแผนมาตรการเตรียมการรองรับผลกระทบในด้านการผลิตและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ประเมินศักยภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก / มาตรการการลดก๊าซเรือนกระจก หรือภาษีคาร์บอน 

 

4. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ศึกษาและกำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดเป็นรูปธรรม รวมถึงพัฒนากลไกบริหารจัดการรถเก่า เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า จัดทำแผน / มาตรการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 

 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของอุปทาน (ผู้ผลิต) โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องในยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงผลักดันผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อเร่งให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเร็ว โดยมีเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทในปี 2568 รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,055,000 คัน

 

แบ่งเป็นรถยนต์ / รถปิกอัพ 402,000 คัน, รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน และรถบัส / รถบรรทุก 31,000 คัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 15,580,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ / รถปิกอัพ 6,400,000 คัน, รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน และรถบัส / รถบรรทุก 430,000 คัน

 

นอกจากนี้ได้วางเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศในปี 2568 จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,051,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ / รถปิกอัพ 400,000 คัน, รถจักรยานยนต์ 620,000 คัน และรถบัส / รถบรรทุก 31,000 คัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 18,413,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ / รถปิกอัพ 8,625,000 คัน, รถจักรยานยนต์ 9,330,000 คัน และรถบัส / รถบรรทุก 458,000 คัน

 

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้วางนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยมาตรการกระตุ้นการใช้รถ EV ระยะเร่งด่วนและมาตรการระยะ 1-5 ปี 

 

โดยมาตรการระยะเร่งด่วนจะมุ่งส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภท 2 ล้อ, 3 ล้อ และ 4 ล้อไฟฟ้า โดยวางแผนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่และการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานภายในประเทศอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรการเหล่านี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียด เพื่อนำผลสรุปมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป

 

ส่วนมาตรการกระตุ้นระยะ 1-5 ปี ดำเนินการส่งเสริมการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต การเตรียมการด้านการบริหารจัดการซากรถยนต์แบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเป็นหลักตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน (Ecosystem) เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising