×

ซูดาน ผืนทรายและดินแดนที่ผู้คนหลงลืม

25.10.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • แม้ครั้งนี้จะได้เจอประสบการณ์แปลกใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่สิ่งที่น่าจดจำมากที่สุดหาใช่อารยธรรมโบราณที่ตั้งใจมาตามหาหรือการเสี่ยงอันตรายมาอยู่ช่วงที่มีการประท้วงใหญ่ แต่คือน้ำใจและความเป็นมิตรของชาวซูดานที่สัมผัสได้ตลอดการเดินทาง ที่บางครั้งแม้จะสื่อสารกันไม่รู้เรื่องสักคำ แต่ก็สัมผัสได้ถึงไมตรีอันดีที่มีให้แก่ชาวต่างชาติอย่างเราที่ช่วยเหลือหรือตอบแทนอะไรให้พวกเขาได้ไม่มาก ได้แต่ติดตามข่าวและช่วยภาวนาให้คุณภาพชีวิตของชาวซูดานดีขึ้นในเร็ววัน

การเดินทางไปซูดานนั้น ชาวไทยต้องยื่นขอวีซ่าไปล่วงหน้าแล้วปรินต์เอกสารไปยื่นตอนผ่าน ตม. ขาเข้าอีกที ส่วนเที่ยวบินที่เลือกนั้น เราไปเปลี่ยนเครื่อง 2 จุดคือจากกรุงเทพฯ บินตรงไปยังไนโรบี ประเทศเคนยา จากนั้นต่อไปยังแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย จากนั้นถึงต่อไปยังกรุงคาร์ทูม ประเทศซูดาน เรียกได้ว่าภายใน 18 ชั่วโมง เหยียบเท้าไปแล้ว 4 ประเทศ แต่แล้วดวงเที่ยวที่คิดเอาเองว่า ‘ดี’ ก็เริ่มเกเร เริ่มจากลืมปรินต์เอกสารมาเพื่อยื่นวีซ่า แต่เอเจนต์ทางซูดานก็ช่วยเหลือได้ โล่งใจเดินพ้นด่านมาได้ไม่ทันไรก็ต้องมาพบว่ากระเป๋าเดินทางไม่มาด้วย ตกหล่นที่ไหนก็ไม่มีใครทราบ และท้ายที่สุดกระเป๋าเจ้ากรรมก็ตามมาถึงในอีก 2 วันให้หลัง โชคยังดีที่พกเสื้อผ้าของใช้บางส่วนติดตัวมา

 

Sudan

 

เราตั้งต้นเที่ยว ณ เมืองหลวงของซูดาน เริ่มจากเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติซูดาน ต่อด้วยตลาดโอมเดอร์มัน (Omdurman Market) ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และจุดรวมแม่น้ำไนล์ ซึ่งเมืองหลวงแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำไนล์ทั้งสองสาย ครอบคลุมไปจนถึงจุดรวมตัวกันของแม่น้ำไนล์สีขาว (White Nile) และแม่น้ำไนล์สีน้ำเงิน (Blue Nile) 

 

Sudan

 

ช่วงค่ำโชคดีที่ได้รับประทานอาหารค่ำกับพี่คนไทยที่อาศัยอยู่ที่นี่ เนื่องจากติดตามสามีชาวอินเดียมาทำงานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ทำให้ได้ทราบสถานการณ์บ้านเมืองของซูดาน รวมถึงวิถีชีวิตที่เรียกได้ว่าลำบากมากของประชาชน เงินเดือนอาชีพแพทย์ที่นี่น้อยกว่า 2,500 บาท ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ไม่ได้รับการจัดการและพัฒนาอย่างเหมาะสม สวนทางกับราคาสินค้าที่ทยอยปรับตัวตลอดเวลา เป็นสาเหตุให้ประชาชนจะออกมารวมตัวประท้วงในวันหยุดเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีคนปัจจุบัน 

 

Sudan

 

วันถัดมาเราเดินทางออกนอกเมือง ขับขึ้นทางเหนือเลียบแม่น้ำไนล์มาเรื่อยๆ เพื่อตามหาร่องรอยอารยธรรมของชาวนูเบียน (Nubian) ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศซูดาน ชาวนูเบียนเป็นชนผิวดำที่มักตกอยู่อาณาจักรอียิปต์ภายใต้อำนาจของชาวไอยคุปต์ เนื่องจากดินแดนแถบนี้มีทองคำเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่ต้องการของอาณาจักรอียิปต์ในขณะนั้น ฉะนั้นอาณาจักรนูเบียจึงเสมือนอาณาจักรคู่ขนานกับอาณาจักรอียิปต์ จนเมื่อ 700 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรอียิปต์อ่อนแอลง อาณาจักรนูเบียจึงสถาปนาราชวงศ์และเข้ายึดครองอาณาจักรอียิปต์ได้ ทำให้สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และเทพเจ้ามีความคล้ายคลึงกันมาก รวมถึงวัฒนธรรมการสร้างพีระมิด เพราะพีระมิดนี่ล่ะที่ทำให้เราอยากมาซูดาน ที่นี่มีพีระมิดถึง 255 แห่ง เยอะกว่าที่อียิปต์กว่า 2 เท่า! เพียงแต่รูปทรงและขนาดแตกต่างจากที่อียิปต์ และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวน้อยกว่า อันเนื่องมาจากความสะดวกสบายในการเดินทาง (รวมถึงข่าวโรคระบาดที่มีอยู่เป็นระยะ)

 

Sudan

นาชา (Naqa)

 

จุดแรกที่แวะชมคือ นาชา (Naqa) ประกอบด้วยวิหารหลัก 2 แห่งคือ วิหารเทพอามุนและวิหารสิงโต (เทพ Apedemak) ซึ่งทั้งสองวิหารตั้งอยู่กลางทะเลทราย อากาศต้นเดือนเมษายนประมาณ 42 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่เพียงแต่ร้อนเกินปกติสำหรับคนไทยอย่างเรา แต่ยังแห้งมาก ถึงขนาดล้างมือเสร็จแล้วสะบัด สักพักมือก็แห้งทันที หากเดินทางมาจึงควรพกน้ำไว้ดื่มตลอดเวลา 

นี่คือเมืองหน้าด่านของอาณาจักรนูเบีย ซึ่งทั้งอียิปต์ โรมัน อาหรับ หรือเปอร์เซียก็ตีไม่สำเร็จ เป็นเป็นเมืองที่ชาวมุสลิมและชาวคริสเตียนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีร่องรอยการสร้างทั้งมัสยิดและโบสถ์ สนธิสัญญาสงบศึกในครั้งนั้นอยู่ยาวมาถึง 700 ปี จนกลายเป็นสนธิสัญญาที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

Sudan

Sudan

มุสซาวารัต (Musawwarat Es Sufra) และภาพสลักภายในวิหารสิงโตแห่งมุสซาวารัต

 

จุดหมายถัดมาคือกลุ่มโบราณสถานมุสซาวารัต (Musawwarat Es Sufra) ประกอบด้วยวิหาร 3 แห่งที่มีทางเดินเชื่อมถึงกันและวิหารสิงโต ที่นี่คุณจะได้พบภาพแกะสลักรูปช้างและสิงโตมากมาย สะท้อนให้เห็นความเชื่อและการใช้งานสัตว์ในยุคนั้น 

 

Sudan

 

เราออกเดินทางไปยังจุดหมายสุดท้ายของวัน นั่นคือพีระมิดแห่งเมโร (Pyramids of Meroë) พีระมิดที่รูปทรงดูแหลมแปลกตากว่าของอียิปต์ กลุ่มพีระมิดแห่งเมโรถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1772 โดยนักสำรวจชาวสกอตแลนด์ น่าเสียดายที่หลายปีถัดมา จูเซปเป เฟอร์ลินี (Giuseppe Ferlini) นักสำรวจแดนมักกะโรนีก็มาล่าสมบัติและได้ทำลายยอดบนสุดของพีระมิดไปกว่า 40 หลัง ด้วยความเชื่อว่าจะมีสมบัติเก็บไว้ พีระมิดของอาณาจักรนูเบียสร้างหลังจากอาณาจักรอียิปต์กว่า 1,400 ปี 

 

Sudan

 

หากได้เดินทางมาล่าความสวยงามของพีระมิด เราแนะนำให้มาช่วงเย็น เนื่องจากอากาศที่ไม่ร้อนจัด และแสงอาทิตย์คล้อยต่ำยามเย็นที่ตกกระทบลงบนพีระมิดและผืนทรายนั้นช่วยให้ภาพโบราณสถานที่ตั้งตระหง่านท่ามกลางทะเลทรายมีแสงและเงาที่สวยยิ่งขึ้น จากนั้นพวกเราเดินทางเข้าที่พักซึ่งเป็นแคมป์กลางทะเลทราย ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกลุ่มพีระมิด เนื่องจากช่วงเช้าจะต้องขึ้นเขาเพื่อเก็บภาพกลุ่มพีระมิดจากมุมสูงอีกครั้ง 

 

Sudan

 

เราออกเดินทางต่อไปยัง นูริ (Nuri) สุสานหลวงแห่งอาณาจักรคุช (Kush) ซึ่งได้ย้ายมาจาก เอล คูรู (El-Kurru) ในช่วง 700 ปีก่อนคริสตกาล เนื่องจากใกล้เมืองหลวงของอาณาจักรในยุคนั้นคือ เจเบล บาร์คาล (Jebel Barkal) มีการสร้างพีระมิดที่สุสานหลวงแห่งนี้ 20 หลังในช่วงเวลากว่า 40 ปี 

 

และการเดินทางในวันนี้เราก็เริ่มพบว่าสัญญาณมือถือเริ่มขาดหายเป็นระยะ ปั๊มน้ำมันที่ขับผ่านมามีรถต่อคิวกันเติมน้ำมันยาวร่วมกิโลฯ ซึ่งไกด์ให้ข้อมูลว่ารัฐบาลต้องการยับยั้งการเข้าร่วมประท้วงของประชาชนในเมืองหลวงที่อาจจะยืดเยื้อ จึงออกมาตรการงดจ่ายน้ำมันเพื่อลดการเดินทางเข้าสู่เมืองหลวง ตัดสัญญาณมือถือเพื่องดการรับข่าวสารระหว่างประชาชน รวมถึงตัดไฟฟ้าตามบ้านเป็นระยะๆ

ยอดเขานี้ทิวทัศน์สวยงามอย่างที่ไกด์ว่าไว้ไม่มีผิด ทั้งวิวเมืองคาริมาที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำไนล์ วิหารเทพอามุนที่อยู่เบื้องล่าง และกลุ่มพีระมิดที่ตั้งอยู่กลางทะเลทราย ยิ่งช่วงพระอาทิตย์คล้อยต่ำ ภาพเนินทรายสลับไปมาเบื้องหลังกลุ่มพีระมิดยอดแหลมนั้นสวยงามชนิดที่ว่ากดชัตเตอร์เท่าไรก็ไม่เบื่อ

Sudan

 

ตัดภาพมาที่เมืองคาริมา (Karima) ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำไนล์ และเป็นที่ตั้งของเจเบล บาร์คาล ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่สูงประมาณ 98 เมตร ซึ่งไกด์บอกว่า “ใครมาถึงแล้วต้องปีนขึ้นไปสักครั้งเพื่อชมวิวยามเย็น แล้วจะประทับใจเมืองนี้ไปอีกนาน” 

 

มาถึงที่นี่แล้วเรามุ่งหน้าต่อไปยังวิหารแห่งเทพอามุน (Temple of Amun) ที่ตั้งอยู่เบื้องล่างของภูเขาศักดิ์สิทธิ์เจเบล บาร์คาล ซึ่งยังมีภาพแกะสลักภายในวิหารที่สภาพยังดีอยู่ รวมถึงเสางูจงอาง (Pillars of Cobra) สองแท่งที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่หน้าวิหาร จากนั้นไกด์จึงพาเราไปแวะชมกลุ่มพีระมิดแห่งเจเบล บาร์คาล ก่อนจะพาไปส่งที่เนินเขา เราก็ว่าง่าย ทำตามที่เขาบอกให้ปีนขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อชมความงาม

 

Sudan

 

ความจริงทีแรกที่มองขึ้นไปก็คิดว่าน่าจะลำบากเอาการ แต่พอเริ่มปีนขึ้นไปเรื่อยๆ แล้ว แค่คอยมองหิน มองทางให้ดีๆ ก็ค่อยๆ ขึ้นไปได้จนถึงยอดเขา บนยอดเขานี้ทิวทัศน์สวยงามอย่างที่ไกด์ว่าไว้ไม่มีผิด ทั้งวิวเมืองคาริมาที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำไนล์ วิหารเทพอามุนที่อยู่เบื้องล่าง และกลุ่มพีระมิดที่ตั้งอยู่กลางทะเลทราย ยิ่งช่วงพระอาทิตย์คล้อยต่ำ ภาพเนินทรายสลับไปมาเบื้องหลังกลุ่มพีระมิดยอดแหลมนั้นสวยงามชนิดที่ว่ากดชัตเตอร์เท่าไรก็ไม่เบื่อ 

 

Sudan

 

และแล้ววันสุดท้ายของการเที่ยวซูดานก็มาถึง Old Dongola คือสถานที่ที่เราเลือกไปชม ซึ่งสถานที่นั้นอยู่เหนือขึ้นไปอีก และทะเลทรายในเขตนี้ก็นับเป็นส่วนตะวันออกเฉียงใต้สุดของทะเลทรายซาฮารา ที่นี่คืออีกหนึ่งอาณาจักรสำคัญในประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรนูเบีย ซึ่งทั้งอียิปต์ โรมัน อาหรับ หรือเปอร์เซียไม่สามารถตีเมืองนี้ได้สำเร็จ จนถึงยุคที่คริสเตียนเข้ามามีอิทธิพลในนูเบีย เมืองนี้ได้กลายเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรเมคูเรีย และได้มีการทำสนธิสัญญาสงบศึกกันระหว่างชาวคริสเตียนและประมุขมุสลิมแห่งอียิปต์ หรือ Bakt Treaty ทำให้เป็นเมืองที่ชาวมุสลิมและชาวคริสเตียนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีร่องรอยการสร้างทั้งมัสยิดและโบสถ์ สนธิสัญญาสงบศึกในครั้งนั้นอยู่ยาวมาถึง 700 ปี จนกลายเป็นสนธิสัญญาที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์โลก 

 

Sudan

 

ความน่าทึ่งของสถานที่แห่งนี้คือหลุมศพชาวมุสลิมในรูปทรงไข่หรือรังผึ้ง และซากป้อมเก่า (Throne Hall) ในยุคที่คริสเตียนเข้ามายึดครอง ซึ่งกลายมาเป็นมัสยิดในภายหลัง อันเนื่องมาจากชาวคริสเตียนแต่งงานกับชาวมุสลิมแล้วต้องหันมานับถือศาสนาอิสลามมากขึ้นเรื่อยๆ จนชาวคริสต์เหลือน้อยลงในที่สุด 

 

เราควรจะสิ้นสุดการเดินทางครั้งนี้ที่ริมฝั่งแม่น้ำไนล์ที่ไหลขนาบข้างไปกับอาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่แห่งนี้ ถือเป็นอันเสร็จสิ้นการเดินทางมาซูดานอย่างงดงาม แต่อาจเพราะได้ใช้แต้มดวงดีมาตลอดการเดินทางเกือบหมดกระมัง ทำให้พบว่าเรามีน้ำมันไม่ถึง 1 ใน 4 ของถัง และไม่ได้เติมระหว่างทางจากมาตรการของรัฐบาล ทำให้ไม่เพียงพอในการเดินทางกลับเมืองหลวงเพื่อขึ้นเครื่องกลับในคืนนั้น

 

นี่เองทำให้พวกเราได้เห็นถึงน้ำใจของคนซูดานที่มีต่อแขกต่างชาติต่างภาษาที่พยายามช่วยอย่างเต็มที่ แม้กระทั่งยอมให้แซงคิวเข้าปั๊มน้ำมัน ขณะที่ตัวพวกเขาเองยังยืนรอที่จะได้น้ำมันไม่ต่างจากเรา 

 

Sudan

 

กว่า 6 ชั่วโมงบนถนนทอดยาวกลางทะเลทราย เราก็เดินทางกลับถึงกรุงคาร์ทูมทในสภาพที่แตกต่างจากวันแรกที่มาถึง 

 

ควันสีดำโขมงปรากฏขึ้นหลายจุดจากการเผายาง ร้านค้าหลายแห่งปิดเงียบ ผู้คนเดินไปมากันบนท้องถนน ทางโรงแรมแนะนำไม่ให้ออกไปไหนตอนกลางคืนจนกว่ารถจะมารับไปส่งที่สนามบิน ซึ่งเราเองก็ปฏิบัติตามอย่างนอบน้อม จบการเดินทางที่ต่างจากหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาที่มักจะอ้อยอิ่งหาเรื่องอยู่เที่ยวต่อ แต่รอบนี้ใจอยากกลับบ้านให้เร็วที่สุด เพราะสถานการณ์ในเมืองยังคงตึงเครียดและรุนแรงขึ้นจริงๆ 

 

หลังเราเดินทางกลับมาเอธิโอเปียได้ 2 วันก็ได้ทราบข่าวว่าเริ่มมีการยิงปะทะกันเกิดขึ้นกลางเมืองคาร์ทูม อันเป็นเรื่องน่าสลดนัก

 

Sudan

 

ถึงแม้ครั้งนี้จะได้เจอประสบการณ์แปลกใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่สิ่งที่น่าจดจำมากที่สุดหาใช่อารยธรรมโบราณที่ตั้งใจมาตามหาหรือการเสี่ยงอันตรายมาอยู่ในช่วงที่มีการประท้วงใหญ่ แต่คือน้ำใจและความเป็นมิตรของชาวซูดานที่สัมผัสได้ตลอดการเดินทาง ที่บางครั้งแม้จะสื่อสารกันไม่รู้เรื่องสักคำ แต่ก็สัมผัสได้ถึงไมตรีอันดีที่มีให้แก่ชาวต่างชาติอย่างเราที่ช่วยเหลือหรือตอบแทนอะไรให้พวกเขาได้ไม่มาก ได้แต่ติดตามข่าวและช่วยภาวนาให้คุณภาพชีวิตของชาวซูดานดีขึ้นในเร็ววัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising