×

“หัวหน้าคะ จะให้คิดงานใหม่ทำไมคะ สุดท้ายหัวหน้าก็อยากให้ทำแบบเดิมๆ อยู่ดี”

22.05.2019
  • LOADING...
Successfully New Ideas At Work

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เวลาที่บอกว่า “อยากได้ไอเดียใหม่ๆ” ที่จริงแล้วเราไม่ได้ต้องการแค่ ‘ความใหม่’ อย่างเดียว แต่เรากำลังมองหาวิธีการที่ ‘เวิร์ก’ ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าโยนไอเดียใหม่ๆ ให้หัวหน้าแล้วเขาไม่เอา จุดแรกที่อาจจะต้องกลับมามองก็คือ เราให้ไอเดีย ‘ใหม่’ อย่างเดียว หรือเราให้ไอเดียที่ ‘ใหม่+เวิร์ก’ ไปด้วย
  • พี่อิ๋ว-จิรวรา วีรยวรรธน แห่งโอกิลวี่ เคยสอนพี่ว่า ไอเดียที่ดีและใหม่มักทำให้คนกลัว ที่กลัวเพราะเป็นของใหม่ ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่ามันเวิร์กหรือเปล่า ไม่เหมือนไอเดียเดิมๆ ที่เรารู้หมดแล้วว่าทำแล้วพอจะคาดเดาผลได้ เพราะทำกันมาจนชินแล้ว แน่นอน พอคนกลัว เขาก็พร้อมจะฆ่าไอเดียใหม่ๆ นั้น หน้าที่ของเราคือ เราต้องมั่นใจมากพอและสู้อย่างถึงที่สุด เพื่อปกป้องไอเดียที่ดี
  • รอบนี้หัวหน้ายังไม่ยอมออกจากกรอบก็ไม่เป็นไร เริ่มใหม่ ให้เวลาทั้งตัวเราและหัวหน้า ถ้ามันง่ายนัก เขาคงไม่ได้ต้องการคนเก่งๆ เข้ามาทำงานหรอกมั้ง ว่าไหมครับ แต่ถ้าดูทรงแล้ว ให้เวลาแล้ว ลองแล้ว หัวหน้าจะไม่ยอมออกจากคอมฟอร์ตโซนสักที ปล่อยแกเป็นฮิปโปไปครับ เขาอาจจะเลือกแล้วที่จะอยู่แบบนั้นจริงๆ เราเองก็เลือกได้นะครับว่าเราอยากเป็นแบบไหน จะอยู่กับปีศาจที่ตัวเราคุ้นเคย หรือเอาพลังเราไปอยู่ในที่ที่ควร

Q: ตอนบรีฟงานหัวหน้าก็คุยกันดิบดีว่าอยากได้อะไรใหม่ๆ บอกว่าเราต้องออกจากคอมฟอร์ตโซน องค์กรเราต้องเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม เสร็จแล้วลูกน้องอย่างเราก็คิดงานหัวแทบแตกจนได้ไอเดียใหม่ๆ ที่น่าลองทำ แต่พอไปขายงานให้หัวหน้า หัวหน้าบอกว่า ไอเดียใหม่แต่จะเวิร์กเหรอ สุดท้ายก็ให้พวกเรากลับมาทำแบบเดิมซ้ำซาก เบื่อมากเลยค่ะ อยากถามหัวหน้ามากค่ะว่า หัวหน้าคะ จะให้คิดงานใหม่ทำไมคะ สุดท้ายหัวหน้าก็อยากให้ทำแบบเดิมๆ อยู่ดี จะมาบอกว่าต้องออกจากคอมฟอร์ตโซนทำติ่งทำไมคะ ขอระบายหน่อยเถอะค่ะพี่ขา เจอแบบนี้หนูควรทำอย่างไรดีคะ

 

A: เคยได้ยินคำนี้ไหมครับ ‘Better the devil you know’ ที่เป็นเพลงของ ไคลี มิโนก ด้วยนั่นแหละครับ มีความหมายว่า รู้ว่าแย่นะ แต่ก็เป็นความแย่ที่เราคุ้นเคยและรู้ว่าจะรับมือกับมันอย่างไร บางทีมันอาจจะดีกว่าไปเสี่ยงกับสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่รู้หรอกว่ามันจะดีหรือไม่ดี สู้อยู่กับสิ่งเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยดีกว่า ถ้าเปรียบให้เห็นภาพก็เหมือนกับเรามีแฟนเยินๆ อยู่หนึ่งคนที่รู้ไส้รู้พุง รู้เช่นเห็นชาติกันหมดแล้ว รู้ว่าตานี่เลวนะ นอกใจเราก็บ่อย พูดจาก็เหมือนปล่อยหมาออกมาขย้ำคนฟัง เวลาอยู่บ้านชอบถอดกางเกงในแล้วก็ม้วนกองไว้ตรงนั้นไม่ยอมใส่ตะกร้า ฯลฯ แต่ก็เพราะรู้จักเขาดีนี่แหละ เลยคิดว่าก็อยู่ต่อไปแหละ ไม่ได้คิดจะไปมีแฟนใหม่ เพราะไม่รู้ว่าแฟนใหม่จะดีไหม อาจจะแย่กว่านี้ก็ได้ ช่างมันเถอะค่ะพี่อ้อยขา จะดีจะชั่วอย่างไรก็ผัวเรานะคะพี่ฉอด นี่แหละครับ ‘Better the devil you know’ อยู่กับปีศาจที่เราคุ้นเคยดีกว่า

 

การทำงานก็เหมือนกันครับ บางคนคุ้นเคยกับวิธีการทำงานแบบเดิมๆ และสามารถคาดเดาได้แล้วว่าผลจะเป็นอย่างไร และบังเอิญว่าผลมันก็อาจจะน่าพอใจหรือจริงๆ ก็ไม่ได้น่าพอใจหรอก แต่ก็หลอกตัวเองอยู่ บางทีก็รู้ว่าวิธีนี้มันไม่ได้เวิร์กมากหรอกนะ แต่ก็อยู่กับมันได้ เป็นปีศาจที่เราอยู่กับมันได้ว่าอย่างนั้นเถอะ

 

ปัญหาก็คือ วิธีการแบบเดิมมันอาจจะเวิร์ก ณ เวลาหนึ่ง แต่พอโลกเปลี่ยนไป วิธีการเดิมอาจจะไม่เวิร์กก็ได้ หรือถ้าเวิร์กก็อาจจะไม่ได้สำเร็จเท่าเดิมอีกแล้ว ยกตัวอย่างครับ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว นักกีฬาโอลิมปิกต้องซ้อมอย่างมีวินัยจึงจะประสบความสำเร็จใช่ไหม ใช่ แต่ปัจจุบัน นอกจากวินัยแล้ว การนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาช่วยทำให้นักกีฬาสามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้มากกว่าเดิม ถ้าเราคิดว่ามนุษย์เราทำได้แค่นี้แหละ นี่คือสถิติโลกที่ดีที่สุดแล้ว เราก็จะทำได้เท่าเดิม แต่ถ้าเราคิดว่ามันต้องดีกว่านี้ได้สิ เราก็จะหาทุกวิถีทางมาทำให้นักกีฬาทำได้มากกว่าก่อน ตั้งแต่เอาวิทยาศาสตร์การกีฬามาช่วย การสร้างระบบการฝึกซ้อมที่ดี การออกแบบรางวัลและสิ่งดึงดูดให้นักกีฬามีกำลังใจ การสร้างนโยบายของรัฐบาลที่จะมาส่งเสริมการกีฬา ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลนั่นแหละครับที่ทำให้สถิติโลกของนักกีฬาถูกขยับดีขึ้นเรื่อยๆ มาจากคำเดียวเลยครับว่า “เราว่ามนุษย์ทำได้ดียิ่งขึ้นกว่านี้อีกนะ”

 

หัวหน้าของน้องอาจจะเป็นนักกีฬาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่เชื่อว่าวิ่งทุกวันก็ทำให้เก่งได้ ถูกไหม ก็ถูก แต่มันจะดีขึ้นกว่าไหม ถ้าเราลองอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่ตะบี้ตะบันวิ่งอย่างเดียว และเอาความรู้ด้านอื่นมาช่วยทำให้วิ่งเร็วขึ้น วินัยยังอยู่ แต่มีตัวช่วยเข้ามาเยอะกว่าเดิมให้นักกีฬาเก่งขึ้น นี่แหละครับ วิธีการแบบใหม่ที่เข้ามาช่วยงานแบบเดิมให้ดีขึ้น

 

เวลาที่บอกว่า “อยากได้ไอเดียใหม่ๆ” ที่จริงแล้วเราไม่ได้การแค่ ‘ความใหม่’ อย่างเดียว แต่เรากำลังมองหาวิธีการที่ ‘เวิร์ก’ ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าโยนไอเดียใหม่ๆ ให้หัวหน้า แล้วเขาไม่เอา จุดแรกที่อาจจะต้องกลับมามองก็คือ เราให้ไอเดีย ‘ใหม่’ อย่างเดียว หรือเราให้ไอเดียที่ ‘ใหม่+เวิร์ค’ ไปด้วยคำว่า ‘ออกจากคอมฟอร์ตโซน’ ไม่ได้แปลว่า “เราทำอะไรก็ได้ขอให้มันใหม่ๆ แล้วกัน” แต่แปลว่า “เราลองมาทำอะไรใหม่ๆ ให้มันเวิร์กดีกว่าไหม”

 

ปัญหาก็คือ อ้าว! แล้วจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าไอเดียเวิร์กหรือไม่เวิร์ก แน่นอนครับว่า ไม่ใช่ทุกไอเดียใหม่ๆ ว้าวๆ จะเวิร์ก ไอ้ที่ใหม่ๆ ว้าวๆ แต่ไม่เวิร์กก็มีเยอะไป วิธีการเดียวที่เราจะรู้ว่าไอเดียใหม่ที่เราสู้อุตส่าห์คิดมานั้นมันเวิร์กไหมก็คือ ‘ลองลงมือทำ’

 

ถ้าเป็นวิธีคิดแบบ Design Thinking ก็คือ เอาไอเดียที่เราคิดมาลองทำ ‘ต้นแบบ’ หรือ Prototype ดู ว่ากันง่ายๆ ก็คือ อยากรู้ว่ามันเวิร์กไหม ก็ลองเอาไอเดียนั้นไปทำจริงกับกลุ่มตัวอย่างในวงจำกัดก่อน การทดลองนี้แหละครับที่จะบอกเราได้ว่าอะไรจะเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ซึ่งแน่นอนว่ามันจะไม่ได้เวิร์กตั้งแต่แรกหรอกครับ แต่การทดลองทำจริงนี้จะทำให้เราเห็นเค้าลางว่าเราจะพัฒนาต่ออย่างไรให้เวิร์กได้

 

เวลานำเสนอไอเดียใหม่ๆ นั้น เราจึงไม่ควรพกไปแค่ความมั่นใจว่าเราเชื่อว่ามันดีจากอากาศ แต่เราควรพกความมั่นใจจากการพิสูจน์มาแล้ว ทดลองแล้วว่ามันเวิร์ก พอเรามีตัวอย่างให้เห็น มีการทดสอบมาก่อน ทั้งตัวเรา ทั้งหัวหน้า ก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น ถ้าเราไม่เคยลงมือทำมาก่อน เราไม่มีทางรู้เลยครับว่าไอเดียใหม่ที่เราภูมิใจนำเสนอนั้นมันจะเวิร์กจริงไหม เราจะมีแต่ความมั่นใจจากอากาศที่สุดท้ายมันอาจจะไม่ได้มีน้ำหนักพอที่เราจะทำให้ใครเชื่อได้ว่ามันดีจริง

 

พี่อิ๋ว-จิรวรา วีรยวรรธน แห่งโอกิลวี่ เคยสอนพี่ว่า ไอเดียที่ดีและใหม่มักทำให้คนกลัว ที่กลัวเพราะเป็นของใหม่ ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่ามันเวิร์กหรือเปล่า ไม่เหมือนไอเดียเดิมๆ ที่เรารู้หมดแล้วว่าทำแล้วพอจะคาดเดาผลได้ เพราะทำกันมาจนชินแล้ว แน่นอน พอคนกลัว เขาก็พร้อมจะฆ่าไอเดียใหม่ๆ นั้น หน้าที่ของเราคือ เราต้องมั่นใจมากพอ และสู้อย่างถึงที่สุด เพื่อปกป้องไอเดียที่ดี

 

ที่เราปกป้องไอเดียที่ดี ไม่ใช่เพราะเราทะนงตนหรือทำเพื่อรักษาอีโก้เราหรอกนะครับ แต่เพราะเราเชื่อว่าไอเดียนี้จะช่วยให้ลูกค้าไปสู่เป้าหมายได้ ที่จริงแล้วมันคือการปกป้องลูกค้าไม่ให้ลูกค้าฆ่าตัวเองนั่นแหละครับ

 

กลับไปเรื่องเดิมครับ เราจะทำให้คนที่มีอำนาจตัดสินใจมั่นใจในไอเดียของเราได้ก็มาจากความเชื่อมั่นของเรานี่แหละครับ และความเชื่อมั่นนี้ต้องมาจากการทดลองมาก่อนแล้ว จนเรารู้มากพอที่จะหาทางปกป้องไอเดียนั้น หากมีใครพยายามฆ่าไอเดีย พออยู่ในจุดที่เขารู้สึกมั่นใจว่าเราคิดมาอย่างดีพอ ทดสอบมาอย่างดีพอ เขาก็จะเชื่อมั่นในไอเดียนั้นเอง

 

ไม่ผิดนะครับที่เขาจะหาทางฆ่าไอเดียนั้น ผมว่าบางทีเราอาจต้องมีคนที่พยายามหาจุดโหว่ของไอเดียเรา ซึ่งถ้าจะให้ดี เราควรมีคนทำหน้าที่นี้ก่อนที่จะไปขายงานกับคนที่ตัดสินใจด้วยซ้ำ อย่างเวลาเราทำงานกันในทีมเอง อาจจะต้องมี 1 คนที่ทำหน้าที่ ‘Bad Cop’ หรือตำรวจที่เลวที่จะทำทุกทางเพื่อฆ่าไอเดียนี้ให้ได้ คนนี้จะคอยหาจุดอ่อนของไอเดียนั้น คิดสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดมา เพื่อให้ในทีมเราเองได้ลองเตรียมตัวหรือได้ช่วยกันคิดเพิ่มว่าจะอุดรอยรั่วของไอเดียอย่างไร ปัญหาคือ ก่อนไปขายงานหัวหน้า เราไม่เคยมีคน Role Play เป็น Bad Cop ก่อน แล้วเราไปปล่อยให้หัวหน้ากลายเป็น Bad Cop ฆ่างานของเราเองในห้องประชุม อันนั้นสิครับที่ไม่เวิร์ก แต่ถ้าเราเตรียมตัวมาก่อน หาทางอุดรอยรั่วมาก่อน พอไปถึงตอนขายงานกับหัวหน้า แล้วเขาจะฆ่าไอเดียเราขึ้นมา เราก็เหมือนได้ซ้อมรับมือไว้แล้ว

 

แต่ลำพังแค่เราอย่างเดียวไม่พอหรอกครับที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรได้ (แต่แน่นอนว่าตัวเรานี่แหละต้องเปลี่ยน) ผมคิดว่า ผู้ใหญ่หรือหัวหน้าในองค์กรก็ต้องเปลี่ยนเหมือนกัน ถ้าอยากให้คำว่า ‘คอมฟอร์ตโซน’ ไม่ได้เป็นแค่คำเท่ๆ กลวงๆ คนเป็นผู้ใหญ่ในองค์กรต้องออกมาทำจริงครับ พูดอย่างเดียวไม่เท่หรอก ลงมือทำให้เห็นสิ ถึงเป็นตัวจริง องค์กรจะขยับได้อย่างไรถ้าหัวหน้ายังอยู่ในกรอบเดิม หัวหน้าต้องปล่อยให้ลูกน้องได้ทดลอง ต่อให้ผลออกมาเวิร์กหรือไม่เวิร์ก แต่ทั้งหัวหน้าและลูกน้องจะได้เรียนรู้ร่วมกันทั้งหมด อยากได้อะไรใหม่ๆ ก็ต้องพร้อมจะทดลองครับ

 

ถ้าองค์กรฟังแต่คนแบบ ‘ฮิปโป’ หรือ HIPPO: Highest Paid People’s Opinion หรือเลือกฟังเฉพาะเสียงของคนที่เงินเยอะที่สุด องค์กรนั้นจะพัง นี่ไม่ใช่แค่กับ ‘ผู้ใหญ่’ นะครับ แต่พวกผู้บริหารรุ่นใหม่ก็เหมือนกัน คือต่อให้อายุมากหรือน้อย แต่เมื่อไรก็ตามที่องค์กรกลายเป็นองค์กรที่มีเสียงไม่กี่เสียงที่พูดแล้วดังกว่า และสามารถล้มล้างทุกเสียงได้ เหมือนธานอสดีดนิ้วเป๊าะแล้วล้มงานทั้งหมดที่คิดมา องค์กรนั้นโตยากครับ มันยากเพราะไม่มีใครกล้าแย้งฮิปโปหรอกครับ พูดไปก็ไม่ฟัง แหม…พูดแล้วไม่ฟัง ดึงดันเอาแต่ความคิดตัวเองเป็นใหญ่นี่มันคุ้นๆ นะครับ ฮ่าๆ

 

สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ องค์กรที่แข็งแกร่งไม่ใช่แค่ต้องมี Know How ว่าอะไรเวิร์กอย่างเดียวนะครับ แต่ต้องมี Know How ของความไม่เวิร์กด้วย คือต้องรู้ว่าทำอะไรแล้วไม่เวิร์กให้มาก เหมือนรู้ว่าทำอะไรแล้วเวิร์ก ที่สำคัญคือต้องรู้ว่าไอ้ที่ไม่เวิร์กนั้นจะทำอย่างไรให้เปลี่ยนหรือเวิร์กให้ได้

 

ทีนี้ถ้าทำทุกวิถีทางแล้วแต่คนที่ตัดสินใจเขาไม่เอากับเราด้วย เขาอยากใช้วิธีเดิมๆ จะทำอย่างไร ผมเคยเจอสถานการณ์แบบนั้นเหมือนกัน วิธีคิดของผมเป็นแบบนี้ครับ มันเหมือนเราเป็นดีไซเนอร์ที่ตัดเสื้อให้ลูกค้า เราดูทรงแล้วลูกค้าน่าจะใส่เสื้อผ้าแบบโอต์กูตูร์ได้เลยนะ พยายามโน้มน้าวลูกค้าแล้ว แต่ลูกค้าบอกว่า ไม่ล่ะ ขอใส่แบบยูนิโคล่ก็พอ หน้าที่ของเราคือ เราจะตัดยูนิโคล่ที่มีคุณภาพมากกว่ายูนิโคล่ให้ลูกค้า เวลานี้เขาอาจจะยังไม่มั่นใจพอที่จะกระโดดไปใส่โอต์กูตูร์ เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ตัดเสื้อตัวที่ดีที่สุดให้เขาอย่างที่เขาใส่แล้วจะสบายใจ อยากได้ยูนิโคล่ก็ได้ แต่เราจะตัดให้ดีกว่ายูนิโคล่อีก แล้วเราค่อยๆ ทำให้เขาเห็นและมั่นใจมากขึ้นว่าเราทำงานได้ดีนะ พอมั่นใจในตัวเรามากขึ้น เราถึงค่อยๆ ขยับจากยูนิโคล่ไปเป็นอย่างอื่น เพื่อที่วันหนึ่งที่เขามั่นใจมากขึ้น เขาอาจจะลองใส่โอต์กูตูร์ก็ได้ ของแบบนี้ต้องใช้เวลาสร้างความมั่นใจ ลูกค้าแต่ละคนมีความช้าเร็วต่างกัน แต่หน้าที่เราเหมือนเดิมคือ ต้องตัดเสื้อที่ดีที่สุดให้เขา

 

หัวหน้าของน้องก็เหมือนกันครับ ณ วันนี้เขาอาจจะคุ้นเคยกับไอเดียเดิมๆ แต่เป็นไปได้ไหมว่า เราจะค่อยๆ เพิ่มความแปลกใหม่ให้ไอเดียเดิมๆ ที่เขาคุ้นเคยนั่นแหละ จากเดิมเป็นไอเดียเก่า 100% ก็ขยับมาเป็นมีอะไรใหม่บ้าง 10% แล้วค่อยๆ ขยับไป บางคนพร้อมจะลองสิ่งใหม่ๆ บางคนก็อาจจะไม่พร้อม ของแบบนี้ต้องใช้เวลา

 

เหมือนเดิมครับ อย่าเสียใจที่ได้ทำงานดีๆ ไปแล้วหัวหน้าไม่ยอมรับไอเดียนั้น เพราะคนที่ต้องเสียใจคือองค์กรและหัวหน้า หรือถ้าเราทำงานแบบเขี่ยๆ ออกมาแล้ว เขาไม่โอเค อันนั้นแหละที่เราควรเสียใจ แต่ถ้าเราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรต้องเสียใจ

 

รอบนี้หัวหน้ายังไม่ยอมออกจากกรอบก็ไม่เป็นไร เริ่มใหม่ ให้เวลาทั้งตัวเราและหัวหน้า ถ้ามันง่ายนักเขาคงไม่ได้ต้องการคนเก่งๆ เข้ามาทำงานหรอกมั้ง ว่าไหมครับ แต่ถ้าดูทรงแล้ว ให้เวลาแล้ว ลองแล้ว หัวหน้าจะไม่ยอมออกจากคอมฟอร์ตโซนสักที ปล่อยแกเป็นฮิปโปไปครับ เขาอาจจะเลือกแล้วที่จะอยู่แบบนั้นจริงๆ เราเองก็เลือกได้นะครับว่าเราอยากเป็นแบบไหน จะอยู่กับปีศาจที่ตัวเราคุ้นเคย หรือเอาพลังเราไปอยู่ในที่ที่ควร น้องก็น่าจะมีคำตอบให้ตัวเองได้

 

เอาว่าวันหนึ่งขอให้น้องอย่าเป็นฮิปโปหรือปีศาจเองก็แล้วกันครับ

 

ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising