×

‘ภาษีขายหุ้น’ กดดันตลาดช่วงสั้น กูรูชี้นักลงทุนกังวล ‘Fed’ ถอนเงินจากระบบมากกว่า

15.04.2022
  • LOADING...
ภาษีขายหุ้น

วงการตลาดทุนไทยคาดสภาพคล่องในตลาดหุ้นวูบ 30-40% หลังกระทรวงการคลังประกาศเดินหน้าจัดเก็บ Transaction 0.1% ตามแผนเดิม พร้อมประเมินระยะยาวสภาพคล่องจะลดลงต่อเนื่องตามนโยบายการเงินของ Fed ที่เริ่มดูดเงินออกจากระบบ และจะทำให้ความน่าสนใจในฐานะแหล่งระดมทุนหายไปในที่สุด 

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า กรณีที่กระทรวงการคลังกำลังพิจารณากลับมาเก็บภาษีรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ (Transaction Tax) อัตรา 0.1% สำหรับนักลงทุนที่มูลค่าการซื้อขายเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือนนั้น จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในด้านสภาพคล่อง ซึ่งเป็นผลกระทบที่สภาธุรกิจตลาดทุนได้เคยรวบรวมข้อมูลผลกระทบให้กับกระทรวงการคลังไปแล้วก่อนหน้านี้ 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

โดยประเมินว่าหากมีการจัดเก็บ Transaction Tax จะทำให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยหายไปราว 30-40% ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นการทำรายการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศเนื่องจากต้นทุนในการขายเพิ่มขึ้น 

 

ขณะเดียวกันยังกระทบต่อภาคการระดมทุนที่เป็นหัวใจสำคัญตลาดทุนด้วย โดยจะทำให้ระดมทุนได้ไม่คล่องตัว อีกทั้งยังกระทบต่อการพัฒนาตราสารด้านการลงทุนที่จำเป็นต้องมีสภาพคล่องมาช่วยส่งเสริมในช่วงต้นอีกด้วย 

 

เขากล่าวว่า การที่กระทรวงการคลังจะกลับมาเริ่มจัดเก็บ Transaction Tax ในปีนี้ อาจเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่เหมาะ เนื่องจากทิศทางตลาดทุนทั่วโลกกำลังตึงตัว หลังจากที่ Fed เดินหน้าลดสภาพคล่องในตลาดทุนโลก ทำให้ปริมาณเงินในระบบลดลง

 

“เรื่องผลกระทบเราก็ยังมองเหมือนเดิม ซึ่งก็แจ้งกับทางกระทรวงการคลังไปหมดแล้วว่าเรามีมุมมองอย่างไร ส่วนในเรื่องของไทมิ่ง หากยืนยันว่าจะจัดเก็บในปีนี้เลยก็น่าเสียดาย เพราะตอนนี้เงินต่างชาติกำลังไหลเข้าหุ้นไทยต่อเนื่องอยู่ หากมีเงื่อนไขหรือต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น ก็อาจะกรทบต่อกระแสฟันด์โฟลวเช่นกัน” ไพบูลย์กล่าว 

 

เขากล่าวเพิ่มอีกว่า จากประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำที่ภาครัฐคาดหวังว่านโยบายจัดเก็บภาษีจะสามารถแก้ปัญหาได้นั้น FETCO มองว่าการลดเงื่อนไขหรือความยากต่างๆ ในการเข้าถึงตลาดทุนน่าจะเป็นวิธีที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน และสามารถสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับตลาดทุนไทยได้มากกว่า 

 

“หากจะใช้ตลาดทุนลดความเหลื่อมล้ำ มองว่าใช้ประโยชน์จากตลาดทุนด้านการออมจะได้ผลระยะยาวมากกว่า เพราะจะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงตลาดทุนและใช้สร้างความมั่งคั่งในวัยเกษียณได้” ไพบูลย์กล่าว 

 

‘เอเซีย พลัส’ คาดรัฐมีรายได้เพิ่ม 1-2 หมื่นล้านบาท

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ประเด็นเก็บภาษีหุ้นปี 2565 กลับมาอีกครั้ง โดยหากภาครัฐกลับมาจัดเก็บภาษีจริง แม้จะเป็นการส่งให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถนำมาใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ในอีกทางหนึ่งก็จะสร้างผลกระบต่อตลาดหุ้นไทย 

 

โดยประเมินผลกระทบเชิงบวกคือ รัฐจะมีรายได้เพิ่มปีละประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท (ถ้ามูลค่าซื้อขายยังอยู่ในระดับใกล้เคียงอดีต) คือในปีปัจจุบันนักลงทุนประเภท Active มีการซื้อขายหุ้นเฉลี่ยราว 2-3 ล้านบาทต่อเดือน หากรัฐเรียกเก็บภาษีนักลงทุนที่มีการขายหุ้นเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน แสดงว่านักลงทุนประเภท Active ส่วนใหญ่จะถูกเก็บภาษีในเบื้องต้นหากคำนวณรายได้รัฐจากการเก็บภาษีหลักทรัพย์ 

 

และหากพิจารณาในปี 2564 ตลาดหลักทรัพย์มีมูลค่าซื้อขายรวม 21.3 ล้านล้านบาท เมื่อคูณอัตราภาษี 0.1% รัฐจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท และหากพิจารณาจากมูลค่าซื้อขายในอดีต พบว่าส่วนใหญ่แล้วรัฐจะได้รายได้เพิ่มเกิน 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นจะมีดังนี้ 

 

  1. ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากผลตอบแทนของการ Tradingลดลง จาก Transaction Cost ที่สูงขึ้นมาก ทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะจากนักเก็งกำไร

 

  1. มูลค่าการซื้อขายหดตัวลง อาจส่งผลให้การเรียกเก็บภาษีในระยาวมีโอกาสลดลง ตราบที่มูลค่าซื้อขายในอนาคตยังคงลดลงต่อเนื่อง 

 

“ประเด็นดังกล่าว หากรัฐปฏิบัติจริงถือว่ากดดันตลาดหุ้นพอสมควร ทั้งในมุมผลตอบแทนและมูลค่าซื้อขายที่ลดลง และที่น่าเป็นห่วงคือคนที่เทรดดิ้งสั้นๆ เข้า-ออกหลายรอบ ถ้าเจอภาษีจะทำให้ได้กำไรส่วนต่างลดลง เพราะต้นทุนขายเพิ่มขึ้น และจะกระทบต่อสภาพคล่องในที่สุด” เทิดศักดิ์กล่าว 

 

เขากล่าวเพิ่มว่า กระแสฟันด์โฟลวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันเป็นขาเข้าก็จริง แต่เมื่อมองต่อเนื่องถึงปลายปี ประเมินว่าฟันด์โฟลวอาจจะเริ่มแผ่วลงแม้จะเป็นขาเข้าอยู่ก็ตาม เพราะมีประเด็นเรื่อง Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเริ่มทำ Quantitative Tightening (QT) เพื่อดึงสภาพคล่องออกจากระบบการเงินโลก และเมื่อรวมกับเงื่อนไขทางภาษีในตลาดหุ้นไทยแล้ว ก็เชื่อว่าสภาพคล่องในครึ่งปีหลังจะลดลงชัดเจน 

 

‘เมย์แบงก์’ เชื่ออานิสงส์ท่องเที่ยว-เศรษฐกิจฟื้น ดูดเงินต่างชาติ

วิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เรื่องการจัดเก็บ Transaction Tax เป็นเรื่องที่นักลงทุนรับรู้อยู่แล้ว แต่ข้อมูลยังมีความสับสนอยู่บ้าง ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นที่ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจและกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทุนการขายบ้าง แต่เชื่อว่าจะเป็นผลกระทบช่วงสั้นเท่านั้น

 

“คนที่มีเวลท์สูง มีการซื้อขายต่อเดือนมูลค่าสูง ก็จะได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีแน่ๆ และก็จะกระทบต่อมูลค่าการทำรายการอยู่บ้างในช่วงแรกๆ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้พูดคุยและรับทราบข้อมูล พบว่าส่วนใหญ่ก็ยังจะลงทุนในหุ้นไทยต่อเนื่อง ตราบใดที่ยังมีกำไรส่วนต่างราคาที่น่าสนใจ และบรรยากาศตลาดหุ้นไทยโดยรวมมีความคึกคัก” วิจิตรกล่าว

 

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ให้น้ำหนักกับปัจจัยมหภาคมากกว่า โดยในช่วงนี้ถึงสิ้นปี ตลาดหุ้นไทยรวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลกยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยนโยบายการเงินของ Fed ทั้งเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการเริ่มทำ QT เพื่อดึงเงินออกจากระบบให้เหลือประมาณ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่อยู่ที่ 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะทำ QT เดือนละ 9.5 หมื่นล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะใช้เวลา 2 ปีครึ่ง 

 

“จากนโยบายลดดอกเบี้ยและเริ่มทำ QT ซึ่งเริ่มมีการคาดการณ์แนวทางการดำเนินการของ Fed ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ภาพที่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เงินอาจจะไหลกลับเข้าตลาดสหรัฐฯ และจะถูกดึงออกจากระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป” ​วิจิตรกล่าว 

 

ขณะที่ปัจจัยบวกในตลาดหุ้นไทยนั้นยังมีรออยู่ นั่นคือภาคการบริโภคในประเทศที่กำลังฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจปี 2565 ที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น และภาคการท่องเที่ยวที่จะกลับมาฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพาะในครึ่งปีหลังและพีคในไตรมาส 4/65 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวพอดี 

 

ดังนั้นจึงเชื่อว่าในช่วงที่เงินค่อยๆ เคลื่อนย้ายนี้จะมีจังหวะที่เงินทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในหุ้นไทย โดยเฉพาะหุ้นท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่โดดเด่นของประเทศไทย 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising