×

FETCO ห่วงรัฐเก็บภาษีขายหุ้น อาจทำวอลุ่มตลาดวูบกว่า 40% บีบต้นทุนระดมทุนภาคธุรกิจพุ่ง

07.02.2022
  • LOADING...
ภาษีขายหุ้น

FETCO เปิดเผยผลการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ได้ชี้แจงถึงผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจากนโนบายจัดเก็บภาษีขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax (FTT) ในแง่ของสภาพคล่องที่จะหายไปราว 4 หมื่นล้านบาทต่อวัน

 

นอกจากนี้ยังได้นำเสนอผลการศึกษาผลกระทบต่อตลาดหุ้นในแง่มุมอื่นๆ รวมถึงแนวทางการพัฒนาตลาดหุ้นไทยให้ยั่งยืนอีกด้วย ทั้งนี้ ทาง รมว.คลัง ได้รับฟังข้อมูลและยืนยันว่านโยบายภาษีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน 

 

โดยจากการศึกษาของ FETCO เรื่องผลกระทบด้านสภาพคล่องจากกรณีการจัดเก็บภาษี FTT พบว่า 

 

  1. สภาพคล่องในตลาดทุน 2 ปีข้างหน้า มีโอกาสลดลงอย่างแน่นอน จากการเริ่มทำ Quantitative Tightening (QT) ของ Fed หลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลก หรือเข้าสู่ภาวะเข้มงวดมากขึ้น เห็นได้จากปีที่แล้วที่มีมูลค่าการซื้อขาย (Volume) เฉลี่ยอยู่ที่ 9.3 หมื่นล้านบาทต่อวัน ขณะที่ปัจจุบันลดลงเหลือเฉลี่ย 6-8 หมื่นล้านบาทต่อวัน

 

  1. หากมีการเก็บภาษี FTT ต้นทุนในการลงทุนของนักลงทุนทุกประเภทสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 70% หรือ 0.7 เท่า และหากคำนวณเฉพาะต้นทุนนักลงทุนต่างประเทศ พบว่าจะมีต้นทุนสูงขึ้นประมาณ 1.7 เท่า หรือ 170% ซึ่งจะส่งผลทำให้นักลงทุนเหล่านี้ไม่เข้ามาลงทุนในประเทศ

 

จากข้อค้นพบดังกล่าว FETCO คาดว่าจะส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดทุนไทยลดลงราว 40% หรือมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันน่าจะเหลือประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากมูลค่าการซื้อขายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาทต่อวัน ก็จะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจลดลง

 

ขณะเดียวกัน หากมองในระยะยาวตลาดหุ้นไทยก็ไม่ได้มีจุดขายมากนัก เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งยังต้องมีการพัฒนา สร้างจุดขายกันอีกมากเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามา เช่น การดึงบริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มากขึ้น, ความจำเป็นที่จะมีการพัฒนาตราสารอีกหลายประเภท ฯลฯ หากไปเพิ่มต้นทุนในการลงทุนให้กับผู้สร้างสภาพคล่อง ให้กับผู้เล่นในตลาด และทำให้สภาพคล่องหดหาย

 

สำหรับผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ภาคการระดมทุน หรือภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นบ้านเรา เนื่องจากอาจจะได้เม็ดเงินไม่สูงเท่าที่ควรจะได้รับ และราคาหุ้นที่ดีเหมือนในช่วงที่มีสภาพคล่องสูง เพราะสภาพคล่องคือหัวใจของการลงทุนและการระดมทุน รวมถึงการพัฒนาตราสารใหม่ๆ ก็จะทำได้ยากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการแข่งขันในระยะยาว

 

โดย FETCO มองว่า สิ่งที่ตลาดหุ้นจะทำหน้าที่ได้ดีที่สุด คือทำให้รัฐบาลเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งหากสามารถรักษาสภาพคล่องเอาไว้และช่วยกันเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงดึงให้ภาคธุรกิจเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น สุดท้ายแล้วประเทศชาติจะได้ประโยชน์ จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีปริมาณสูงกว่า Transaction Tax

 

ไพบูลย์กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 2665 ยังมั่นใจว่าปีนี้ผลงานจะดีกว่า (Outperform) เมื่อเทียบกับภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ หลังจากที่ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มคลายตัว ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยปีนี้มีการเติบโตที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 

 

“เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสเติบโตจากภาคการท่องเที่ยว หลังจากเริ่มเปิด Test & Go ช่วงเดือนนี้อีกครั้ง ประกอบกับตลาดหุ้นอื่นในประเทศพัฒนาแล้วก็ปรับขึ้นไปค่อนข้างมากแล้ว ปีนี้จึงเป็นโอกาสที่หุ้นไทยจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น” 

 

โดย FETCO ยังคงคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยไว้ที่ 1,800 จุด ซึ่งน่าจะเห็นได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ภายใต้เงื่อนไขนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้มีการเติบโตได้ 4% ทั้งนี้ ข้อมูลการลงทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในเดือนธันวาคม 2564 และมกราคม 2565 พบว่าเป็นการเข้าซื้อสุทธิรวมกันราว 4หมื่นล้านบาท 

 

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนมกราคม 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.91 ปรับตัวลดลง 27.5% จากเดือนก่อนหน้าลงมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว โดยความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด 

 

รองลงมาคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด ขณะที่สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

 

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนมกราคม 2565 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เมษายน 2565) อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (ช่วงค่าดัชนี 80-119) ปรับตัวลดลง 27.5% มาอยู่ที่ระดับ 93.91
  • ความเชื่อมั่นนักรายกลุ่มนักลงทุนสำรวจเดือนมกราคม 2565 พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนบุคคลและกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศอยู่ในระดับร้อนแรง กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในระดับทรงตัว ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับตัวลดลงอยู่ในระดับซบเซา
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดธนาคาร (BANK)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดประกันภัยและประกันชีวิต (INSUR)  
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือความกังวลต่อความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed 

 

ผลสำรวจ ณ เดือนมกราคม 2565 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนบุคคลปรับลด 4.6% อยู่ที่ระดับ 121.74 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 8.3% อยู่ที่ระดับ 108.33 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 2.9% อยู่ที่ระดับ 125.00 และความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลด 64.3% มาอยู่ที่ระดับ 50.00

 

ในช่วงเดือนมกราคม 2565 SET Index เคลื่อนไหวในกรอบแคบอยู่ระหว่าง 1,634.17-1,680.02 จุด โดยดัชนีมีความผันผวนในช่วงต้นเดือนจากความกังวลที่ Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดและมีแนวโน้มปรับขึ้นหลายครั้ง รวมทั้งความกังวลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้นหลังเทศกาลปีใหม่ ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐชะลอการรับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนมกราคม SET Index ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลกหลังผลการประชุม Fed จากความกังวลของนักลงทุนต่อความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดย SET Index ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565 ปิดที่ 1,648.81 จุด ปรับตัวลดลง 0.5% จากเดือนก่อนหน้า

 

ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่

  1. การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น 

 

  1. ผลกระทบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในสหรัฐอเมริกาจากการที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น โดย Fed มีแผนปรับลด QE เร็วขึ้น ซึ่ง QE Tapering จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงิน โดยอาจปรับลดลงเร็วกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ และ Fed มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยอีกหลายครั้งในปีนี้ ปัญหาการขาดแคลนพลังงานในยุโรปซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เงินเฟ้อในยูโรโซนปรับตัวสูงขึ้น  

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางยุโรปมีแผนการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเช่นเดียวกับธนาคารกลางจีน 

 

  1. ความขัดแย้งในหลายประเทศที่ต้องจับตามอง เช่น รัสเซีย-ยูเครน สถานการณ์ในตะวันออกกลาง 

 

ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้นซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยว รวมถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising