×
SCB Omnibus Fund 2024

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานต่อเนื่อง! แต่นักวิเคราะห์เชื่อยังไม่ถึงขั้นฟองสบู่แตก แนะช้อนหุ้น ‘ระดับโลก’ ที่กำไรยังโตได้ เพราะความเหลื่อมล้ำมักสูงขึ้นหลังวิกฤต

13.05.2021
  • LOADING...
ตลาดหุ้นทั่วโลก

ช่วง 5 วันที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นภาพของการปรับฐานอย่างเห็นได้ชัด สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ นำลงโดยดัชนี Nasdaq ที่ลดลงเกือบ -5% ขณะที่ S&P 500 และ Dow Jones ลดลง -3.3% และ -2.8% ตามลำดับ ส่วนตลาดในฝั่งเอเชียที่ปรับลดลงแรงคือ ไต้หวัน -7.8% และญี่ปุ่น -6.4% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยถือว่าปรับฐานลงมาน้อยกว่า โดยลงมาเพียง 1% (อิงจากราคาปิดเมื่อ 12 พฤษภาคม) 

 

สำหรับภาพวันนี้ (13 พฤษภาคม) ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงปรับฐานลงต่อ โดยตลาดหุ้นในเอเชียติดลบราว 1-2% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยติดลบไปกว่า 2% จนลดลงไปแตะจุดต่ำสุดที่ 1,501.02 จุด ส่วนตลาดหุ้นยุโรปเปิดตลาดในช่วงแรกปรับตัวลดลงต่อราว 1.5 – 2%

 

วิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ Vice President Market Solution, Private Wealth Management ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า การปรับฐานของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาเป็นเพราะความกังวลในเรื่องของเงินเฟ้อ จากตัวเลขดัชนีผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าที่คาดไว้ โดยเพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 4.2% จากปีก่อน จากที่ตลาดคาดการณ์กันว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% และ 3.6% ตามลำดับ 

 

“ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสูงกว่าที่คาดไว้ ทำให้หุ้นถูกเทขายออกมา โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาสูงมากเมื่อปีก่อน และยังมีโอกาสที่หุ้นเหล่านี้และภาพรวมของหุ้นสหรัฐฯ จะปรับฐานลงต่อได้อีก” 

 

นอกจากนี้ จะเห็นว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีถูกกดดันอยู่ก่อนแล้ว จากการที่นักลงทุนสลับกลุ่มลงทุนไปยังหุ้น Value เช่น กลุ่มการเงิน พลังงาน และอุตสาหกรรม

 

“หากมองต่อไปข้างหน้า เชื่อว่าหุ้นในสหรัฐฯ หลายกลุ่มยังมีแนวโน้มที่กำไรจะเติบโตดีในปีนี้ หลังจากที่เห็นกำไรของหลายบริษัทในไตรมาสแรก แต่สำหรับหุ้นบางตัวที่ P/E ค่อนข้างสูง ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกขายออกมาได้อีก” 

 

สำหรับการลงทุนในสหรัฐฯ อาจต้องมองเป็นบางกลุ่มที่ยังมีโอกาสฟื้นตัวได้ต่อ เช่น กลุ่มพลังงาน ซึ่งจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของความต้องการใช้พลังงาน รวมถึงกลุ่มธนาคาร ซึ่งจะได้อานิสงส์จากการที่เงินเฟ้อเข้ามากดดันให้บอนด์ยีลด์ปรับขึ้น เชื่อว่าสองกลุ่มนี้จะยังฟื้นกลับไปได้ต่อ

 

ในระยะสั้นโมเมนตัมของตลาดหุ้นทั่วโลกยังไม่ค่อยดีนัก อย่าง S&P 500 หากหลุดระดับ 4,000 จุด ลงมา อาจเกิดแรงขายอีกระลอกตามมาได้ ขณะที่ Nasdaq มองแนวรับบริเวณ 13,000 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียก็ถูกแรงกดดันไม่แพ้กัน อย่างไต้หวันที่ปรับลงค่อนข้างแรง ส่วนหนึ่งจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

 

ขณะนี้เราแนะนำกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด โดยแนะนำลงทุนในหุ้น 40% ตราสารหนี้ 30% เงินสด 20% และกองรีท 10% ทั้งนี้ นักลงทุนอาจจะพิจารณาลงทุนในทองคำแทนเงินสดบางส่วน เพื่อลดความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ โดยเฉพาะนักลงทุนที่มีสัดส่วนหุ้นในพอร์ตค่อนข้างมาก 

 

ด้าน รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง มองว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นมาเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว เพราะช่วงไตรมาส 2 ปีก่อน เศรษฐกิจถูกกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างมาก 

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่สำคัญต่อตลาดคือ การลดวงเงินอัดฉีดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จากปัจจุบันที่อัดฉีดเดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ อาจจะเห็นการลดลงในปีหน้า ซึ่งจะกระทบต่อหุ้นที่ปรับขึ้นมาเร็วก่อนหน้านี้ ด้วยแรงหนุนจากสภาพคล่อง 

 

ส่วนตัวเชื่อว่าตลาดหุ้นยังไม่ได้จบรอบขาขึ้น เพราะยังมีหุ้นอีกส่วนหนึ่งที่ยังลงทุนได้ เชื่อว่าตลาดจะปรับฐาน 3-7% จากจุดสูงสุด สำหรับดัชนี S&P 500 มองว่าระดับ 3,900-3,950 จุด เป็นระดับที่น่าเข้าสะสม

 

“ในระยะสั้นคงต้องรอจังหวะเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วนักลงทุนควรจะเกาะไปกับหุ้นขนาดใหญ่ เพราะหลังจากวิกฤตโลกในแต่ละครั้ง มักจะเห็นความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นทุกที ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าบริษัทขนาดใหญ่ยังสามารถเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา” 

 

ส่วนหุ้นกลุ่มที่ยังไม่มีกำไร หรือมีกำไรเพียงเล็กน้อย แต่ราคาวิ่งนำไปไกลมาก แม้บางตัวจะปรับลงมาแล้ว 40-50% หุ้นเหล่านี้ก็ยังต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะสุดท้ายแล้วตลาดจะวิ่งกลับมาหาปัจจัยพื้นฐาน 

 

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่โดดเด่นขึ้นมาในปีนี้ คือกลุ่มวัฏจักร และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ตลาดผันผวนระยะสั้น การกระจายการลงทุนไปยังกลุ่มกองรีทถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ รวมถึงการเลือกหุ้นในกลุ่มธนาคารและสินค้าโภคภัณฑ์ 

 

“กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ควรจะสลับมายังหุ้นวัฏจักร โดยเน้นหุ้นที่กำไรยังเติบโต หรืออาจจะเป็นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยเลือกหุ้นที่มี P/E ไม่เกิน 25 เท่า แต่ควรจะหลีกเลี่ยงหุ้นเทคโนโลยีขนาดเล็ก หรือหุ้นที่ถูกคาดหวังว่าจะเติบโตสูง แต่ยังไม่มีกำไรชัดเจน แม้ว่าราคาจะลดลงมามากแล้ว” 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising