×

StartUp Scale up Series EP 4: ตั้งเป้าหมายให้สูง แล้วเตรียมตัวให้พร้อมไปกับไพรซ์ซ่า

30.04.2018
  • LOADING...

ไพรซ์ซ่า ไม่มีคำว่าหยุดพัฒนา

ไพรซ์ซ่า ประเทศไทย (Priceza Thailand) เริ่มต้นขึ้นในปี 2010 จากการรวมตัวของผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คน ได้แก่ คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา, คุณวัชระ นิวาตพันธุ์ และคุณวิโรจน์ สุภาดุลย์ ทั้งหมดเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2011 ไพรซ์ซ่ามีผู้ใช้งานรวมกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน และสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 100% ในปีถัดไป

 

ด้วยการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ไพรซ์ซ่าจึงเป็นที่หมายตาของนักลงทุนที่ยื่นความจำนงในการร่วมทุน แต่ในที่สุดไพรซ์ซ่าได้ตัดสินใจร่วมทุนกับ CyberAgent Ventures ในปี 2013 การร่วมทุนครั้งนี้เปิดโอกาสให้ไพรซ์ซ่าได้ขยายไปยังตลาดใหม่ในภูมิภาคด้วยความมุ่งมั่นจะเป็นเครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) อันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ทุกๆ ปีไพรซ์ซ่าจะมีการพัฒนาเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ในปี 2014 ได้พัฒนาแพลตฟอร์มให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพและรองรับกับทุกอุปกรณ์เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะสร้างตลาดใหม่ในอินโดนีเซีย และในปี 2015 จึงได้ขยายตลาดอย่างต่อเนื่องไปยังอีก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งทำให้ ณ ตอนนั้นมีผู้ใช้งานไพรซ์ซ่ามากกว่า 9 ล้านคนต่อเดือน หลังจากนั้นในปี 2016 ไพรซ์ซ่าได้รับการระดมทุนครั้งใหญ่ระดับ Series B จาก Hubert Burda Media ในการที่จะก้าวเป็นผู้นำ Shopping Search Engine อันดับหนึ่งในอาเซียนให้ได้อย่างแท้จริง

 

 

ปัจจุบันไพรซ์ซ่าเปิดให้บริการแล้วทั้งหมด 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยมีผู้เข้าใช้งานมากกว่า 14 ล้านคนต่อเดือน และมีสินค้ารวมทุกประเทศในฐานข้อมูลกว่า 100 ล้านรายการ

 

ช่องว่างอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) คือโอกาสของไพรซ์ซ่า

กระแสอีคอมเมิร์ซที่เห็นได้อยู่ทุกวันในหน้าสื่อต่างๆ ทำให้เกิดคำถามว่าอีคอมเมิร์ซเป็น Red Ocean แล้วหรือยัง แต่สำหรับไพรซ์ซ่ามีมุมมองที่แตกต่าง ไพรซ์ซ่าเชื่อว่าอีคอมเมิร์ซเป็นตลาดที่หวานหอม แต่อีมาร์เก็ตเพลสต่างหากที่เป็นสงครามที่ดุเดือด เนื่องจากเป็นการลงทุนในระยะยาว ต้องใช้งบประมาณมหาศาลอย่างต่อเนื่อง เป็น money game นั่นคือยิ่งใครสายป่านยาวก็ยิ่งดี แต่ถ้างบน้อยหน่อยก็อาจจะแข่งขันกันเหนื่อย


แต่ในทางตรงกันข้าม ตลาดอีคอมเมิร์ซมีหลากหลายมุมให้เล่น ไพรซ์ซ่าวางตัวเองเป็น Marketing Solutions ของตลาด หากตลาดอีคอมเมิร์ซมีผู้เล่นจำนวนมาก มีการแข่งขันกันสูง ไพรซ์ซ่ายิ่งมีโอกาสจะเติบโตขึ้นได้อีก

 

Scaling ในแบบไพรซ์ซ่า

Scaling หรือการขยาย เกิดขึ้นได้หลังจากการที่สตาร์ทอัพค้นหา Product-Market Fit ในตลาดแรกเจอแล้ว หลังจากนั้นคือการนำผลิตภัณฑ์เดียวกันนั้นไปให้บริการยังต่างประเทศ เช่น สร้างตลาดในประเทศใหม่ด้วยรูปแบบบริการไพรซ์ซ่าอย่างเดียวกับในประเทศไทย


นอกจากนี้การขยายยังเกิดขึ้นได้จากการเพิ่มความหลากหลายของบริการด้วยการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ สิ่งที่ทางไพรซ์ซ่าได้ทำก็คือการเปิดตัว ไพรซ์ซ่า มันนี่ ไปเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา

 

 

อุปสรรคมีไว้ให้ก้าวผ่าน

ความท้าทายในการขยายตลาดของไพรซ์ซ่ามาจากระยะเวลาที่ใช้ค้นหา Product-Market Fit กว่าจะรู้ว่าจริงๆ แล้วผู้ใช้งานต้องการอะไรกันแน่เพื่อที่จะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาให้ตรงใจกับผู้ใช้งานของเรานั้นใช้เวลานาน การคุยกับผู้ใช้งานจริงเพื่อให้ได้คำตอบ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการสัมภาษณ์ การทำแบบสำรวจ หรือให้ผู้ใช้งานทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ เป็นสิ่งที่ไพรซ์ซ่าทำอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 

ขยายขอบเขตของตลาดอย่างต่อเนื่อง

ในปีนี้ไพรซ์ซ่ามุ่งมั่นที่จะรุกตลาดต่างประเทศอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะตลาดอินโดนีเซีย ด้วยการฟอร์มทีมงานเต็มรูปแบบ (Full Local Team) โดยหวังจะเป็นเบอร์หนึ่งในด้าน Shopping Search Engine ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยมีฝันที่จะช่วยผู้ใช้ตัดสินใจก่อนการเลือกซื้อสินค้าบนออนไลน์ให้ได้ของในราคาที่คุ้มค่าที่สุด ตลาดอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซียมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด มูลค่าตลาดคิดเป็นประมาณ 46,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การที่ไพรซ์ซ่าเป็น Shopping Search Engine จะช่วยตอบโจทย์การแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซและผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

 

นอกจากนั้นไพรซ์ซ่ายังไม่หยุดที่จะสร้างความหลากหลายของรูปแบบการให้บริการ มีการขยายบริการมาในฝั่งของ Commerce + Fintech ที่ได้เริ่มให้ได้ลองใช้งานแล้วตั้งแต่ปี 2017 เช่น บริการไพรซ์ซ่า มันนี่ ซึ่งเป็นบริการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ด้านการเงินและประกันภัย ปัจจุบันเปิดให้บริการทั้งสิ้น 3 มิติ ได้แก่ บริการเปรียบเทียบประกันรถยนต์, บริการเปรียบเทียบบัตรเครดิต และเปรียบเทียบสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นตัวล่าสุดที่ได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเล็งเห็นความเป็นไปได้จากการทำธุรกิจในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศไทยที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 3.58 แสนล้านบาท แต่ยังไม่เคยมีใครครองตลาดได้อย่างแท้จริง

 

 

คำแนะนำจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง

สตาร์ทอัพไม่จำเป็นต้องเริ่มโตจากในประเทศก็ได้ ยิ่งเป็นธุรกิจออนไลน์แล้วมีโอกาสที่จะได้ลูกค้าจากทุกมุมโลกที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จุดสำคัญที่สุดคือสินค้าหรือบริการต้องแก้ปัญหาได้จริง และเราต้องเป็นที่หนึ่งในสิ่งที่ทำ ต้องมั่นใจได้ว่าสินค้าสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้


เมื่อเราจะก้าวไปสู่ตลาดในประเทศอื่นๆ ต้องมีความเข้าใจว่าแต่ละตลาดมีความท้าทายที่ไม่เหมือนกัน ย่อมต้องใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ สตาร์ทอัพเองก็ควรเรียนรู้และเตรียมตัวก่อนที่จะขยายตลาด ที่สำคัญอยากให้โฟกัสที่ยอดขายด้วย เพราะสตาร์ทอัพก็คือธุรกิจรูปแบบหนึ่งที่ยอดขายจะเป็นตัวสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน

 

 

ไพรซ์ซ่าเป็นหนึ่งในสมาชิก AIS The StartUp ในปี 2018 ไพรซ์ซ่าได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโปรแกม Private Mentoring Session กับผู้บริหารและนักลงทุนกลุ่ม Innov8 ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการลงทุนกับ AIS The StartUp สำหรับนักคิดและนักพัฒนาธุรกิจที่อยากติดอาวุธสร้างปีกสู่การสเกลอย่างรุ่นพี่ สามารถสมัครเข้าร่วมนำเสนอผลงานได้ที่ AIS The StartUp ผ่านทาง www.ais.co.th/thestartup ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising